parallax background
 

งานศพนี้ไม่มีสีดำ
สำรวจงานศพที่ออกแบบ
ตามความประสงค์สุดท้ายของผู้เสียชีวิต

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ขนบธรรมเนียมในการประกอบพิธีศพมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของมันอยู่เสมอตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งพิธีศพของคนไทยไม่นิยมไว้ทุกข์โดยการแต่งดำล้วน แต่กระทำโดยสวมชุดสีขาว ดำ ม่วงแก่ น้ำเงินแก่ ตามลำดับอายุของผู้ไว้ทุกข์กับผู้เสียชีวิต ในขณะที่ปัจจุบันนิยมไว้อาลัยโดยการแต่งดำทุกชั้นอายุเท่านั้นหรือในพิธีกงเต็กของชาวจีนในอดีตก็ไม่ปรากฏธรรมเนียม การเผาบ้านกระดาษ รถกระดาษเพื่อส่งไปให้ผู้ตายในโลกหน้านี้แต่ประการใด

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนรายละเอียดต่างๆ ในพิธีศพนั้นจึงเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในวันวานและสามารถเกิดขึ้นได้ในวันนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปรับเปลี่ยนภายใต้ความประสงค์สุดท้ายของผู้เสียชีวิต เพราะนอกจากจะนำความสบายใจมาสู่ผู้เสียชีวิตและญาติสนิทเองแล้ว ความประสงค์เหล่านี้ยังเป็นเสมือนสาส์นสุดท้ายที่ผู้ตายทิ้งเอาไว้บนโลกใบนี้อีกด้วย

การออกแบบงานศพตามความประสงค์ของผู้เสียชีวิตเคยเกิดขึ้นบ้างหรือไม่ในสังคมไทย ?

ต้นเดือนเมษายน พ.ศ.2562 ณ วัดบึงทองหลาง ศาลา 12 เวลาย่ำสนธยา ปรากฏงานศพที่หากมองอย่างผิวเผินแล้วไม่แตกต่างไปจากงานศพทั่วไปแต่ประการใด ทว่าหากพิจารณาอย่างละเอียดก็จะพบว่าผู้ที่มาร่วมงานไม่ได้สวมชุดสีดำตามธรรมเนียมไว้ทุกข์ ไว้อาลัยกับผู้เสียชีวิต เจ้าภาพงานศพไม่รับซองเป็นเงินแต่รับเป็นหนังสือ และภายในศาลาก่อนสวดพระอภิธรรมยังเปิดเพลง ‘หนิงหน่อง’ของ สังข์ทอง สีใส อีกด้วย

นางสาวชลธาร ตันชรากรณ์ เล่าว่า สิ่งที่ปรากฏในงานเป็นความต้องการของ นายภรินทร์ ตันชรากรณ์ หรือพ่อผู้เสียชีวิตของเธอ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่พูดคุยกันไว้ในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยพ่ออยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในงานศพของตัวเอง

• ขอให้มีพิธีสวด 5 วัน ตามจำนวนคนในครอบครัวและขอเลือกวัดทำพิธี รวมถึงที่เก็บกระดูกของตัวเอง • ขอให้เปิดเพลง หนิงหน่อง ของ สังข์ทอง สีใส และขอไม่ให้มีการไว้ทุกข์เพราะความตายไม่ใช่เรื่องทุกข์ ดังนั้นจึงสวมชุดสีใดเข้าร่วมพิธีก็ได้ แต่ไม่ให้ใส่สีดำ • ขอเลือกภาพทะเลซึ่งให้ความรู้สึกถึงความอิสระลงบนโปสการ์ดที่ใช้เป็นของชำร่วย ภายในรูปภาพมีประโยคหนึ่งซึ่งมาจากเพลง Something good ของวง นั่งเล่น ที่พ่อมักจะบอกกับครอบครัวอยู่เสมอว่า ‘ทุกๆ วันอาจไม่ใช่วันดีๆ แต่ก็มีสิ่งดีๆ ในทุกๆ วัน’ เป็นของชำร่วย • นอกจากโปสการ์ดแล้ว ให้แจกหนังสือแสงสุดท้ายของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ที่พ่อชื่นชอบ เป็นของชำร่วยภายในงานอีกด้วย

ความเป็นมาในการออกแบบงานศพของตัวเอง

งานศพคุณพ่อภรินทร์ ตันชรากรณ์ เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือน เมษายน 2562 แต่วันเวลาที่ครอบครัว ตันชรากรณ์ ทราบว่าคุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งระยะลุกลามนั้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 นั่นหมายความว่าครอบครัว ตันชรากรณ์ มีเวลาไม่ถึง 4 เดือนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวาระสุดท้าย

แม้ว่าครั้งหนึ่งคุณพ่อเคยเข้าร่วมกิจกรรม Happy death day ของพระไพศาล วิสาโล กิจกรรมที่ชวนใคร่ครวญเกี่ยวกับวาระสุดท้ายและเคยได้รับสมุดเบาใจมาเล่มหนึ่ง แต่ภายหลังปรากฏว่าสมุดเบาใจเล่มดังกล่าวหายไป

นั่นทำให้การเตรียมความพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

“มะเร็งของพ่อก็อยู่ในระยะที่ไม่ไหวแล้ว ในขณะที่พี่น้องของเราก็หาสมุดเบาใจของแกไม่เจอ เราก็เลยตัดสินใจว่า ต้องคุยเรื่องวาระสุดท้ายกับพ่อให้ได้” ชลธาร ตันชรากรณ์ กล่าว แม้ว่าตามธรรมเนียมทั่วไปของครอบครัวเชื้อสายไทย - จีน บทสนทนาเกี่ยวกับความตายมักถูกมองว่าเป็นเรื่องอัปมงคล และถูกเก็บไว้ในซอกลึกของใจเสมอ คุณพ่อภรินทร์ ตันชรากรณ์ (ผู้เสียชีวิต) ก็เคยเป็นคนหนึ่งที่ยึดถือธรรมเนียมปฏิบัตินี้เช่นกัน แต่สุดท้ายครอบครัว ตันชรากรณ์ ก็สามารถพาคุณพ่อวางความเชื่อดังกล่าวลง และได้พูดคุยถึงความต้องการของท่านเกี่ยวกับช่วงวาระสุดท้ายของชีวิตได้

“เราเริ่มคุยเรื่องพวกนี้ตั้งแต่พ่ออยู่โรงพยาบาลเลยนะ เพราะไม่รู้ว่าเรื่องนั้นจะมาวันไหน ความจริงพ่อถือความเชื่อของคนจีนโบราณที่ว่า การพูดเรื่องความตายเป็นการสาปแช่งตัวเองเหมือนกัน

“แต่เราก็คุยในลักษณะติดตลก ไม่จริงจัง คุยแบบทีเล่นทีจริง พอเจอบทสนทนาลักษณะนี้ พ่อเขาก็คลาย ยังเล่นมุขตอบกลับเรามาด้วยเหมือนกัน เช่น ขอให้เปิดเพลง ‘หนิงหน่องนวลน้องนั้นมาเมื่อไหร่’ ในศาลาทำพิธี

“จากนั้นพอเริ่มคุยได้ลึกขึ้นเราก็เริ่มยิงคำถามต่างๆ เกี่ยวกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในงานศพ เช่น การไว้ทุกข์ พ่อตอบเราว่าไม่ให้ไว้ทุกข์เพราะมันไม่ใช่เรื่องทุกข์ เราก็ถามแกไปอีกว่าจะให้สวดกี่วัน ... คุยกันไปจนถึงวันเผาเลยว่าอยากให้ของชำร่วยเป็นหนังสือของ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ที่แกชอบ

“เราเริ่มต้นแบบทีเล่นทีจริง แต่ทั้งพ่อและเราต่างก็รู้กันอยู่ในทีว่าเป็นบทสนทนาแบบจริงจัง” ชลธาร ตันชรากรณ์ กล่าว

บทสนทนาเรื่องการออกแบบงานศพตัวเองของคุณพ่อภรินทร์ ตันชรากรณ์ (ผู้เสียชีวิต) กับครอบครัวเกิดขึ้นได้ เพราะลูก ๆ กล้าเปิดใจพูดคุยถึงสิ่งที่ท่านต้องการอย่างแท้จริง พูดคุยอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเข้าใจ ใส่ใจความรู้สึกความต้องการของผู้ป่วยเป็นสำคัญ จึงทลายความกังวลใจในความเชื่อเรื่องอัปมงคลลงได้

คุณค่าออกแบบได้

แม้รูปแบบการจัดงานศพของคุณพ่อภรินทร์จะมีความแตกต่างขนบธรรมเนียมทั่วไป แต่ก็เป็นการแตกต่างที่ไม่ได้ปรากฏเรื่องเสียหายประการใดเลย แถมยังมีคุณประโยชน์ต่างๆ ดังปรากฏภายในงาน ตัวอย่างเช่น ลูกและญาติสนิทพร้อมใจกันจัดงานโดยไม่มีความขัดแย้งหรือเห็นต่างใดๆ เพราะต้องยึดเอาคำสั่งเสียของผู้เสียชีวิตเป็นใจความสำคัญ ลูกหลานเกิดความสบายใจที่ได้ทำคำขอสุดท้ายของผู้เสียชีวิตสำเร็จ หรือ หนังสือที่รับแทนซองเงินจากผู้อาลัย สุดท้ายได้ถูกนำไปบริจาคให้แก่สำนักสงฆ์และโรงเรียนเด็กเล็กจังหวัดชัยภูมิ (รวมทั้งสิ้น 1,973 เล่ม) ซึ่งเป็นบุญกุศลกับทั้งญาติมิตรสหายที่มีชีวิตอยู่ ผู้ล่วงลับและผู้เข้าร่วมอาลัยอีกด้วย

งานศพที่ออกแบบจากความต้องการของตัวผู้เสียชีวิตเอง นับเป็นทางเลือกใหม่อีกประการของผู้ที่ต้องการเตรียมพร้อมในช่วงระยะท้ายของชีวิต แม้จะเป็นการเปลี่ยนไปจากขนบเดิมบ้าง แต่ก็ยังประโยชน์ให้เกิดและไม่มีข้อเสียหายแต่ประการใดเลย

*หมายเหตุ งานศพของคุณพ่อภรินทร์ ตันชรากรณ์ เกิดขึ้นที่วัดบึงทองหลาง ศาลา 12 วันที่ 18 - 22 เมษายน 2562 มีครอบครัวตันชรากรณ์เป็นผู้จัดงาน ทั้งนี้ผู้เขียนขอขอบคุณคุณชลธาร ตันชรากรณ์และครอบครัวตันชรากรณ์ ไว้ ณ ที่นี้ด้วย

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.silpa-mag.com/history/article_3358 http://www.tcdc.or.th/articles/others/14952/#-กงเต็ก-พิธีกรรมเชื่อมความตายและคนเป็น

18 เมษายน, 2561

อุบัติเหตุ อุบัติธรรม

อริยสัจสี่เห็นเลยว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างไร คือไม่ถึงกับว่าหลุดพ้น แต่อย่างน้อยเราเข้าใจกระบวนการเกิดทุกข์ เพียงแต่สติเรายังไม่มากพอที่จะชึบๆๆ ยังไม่คมพอ ปัญญาเรายังไม่เฉียบคมพอ ต้องลับไปเรื่อยๆ
18 เมษายน, 2561

ท่ามกลางเทคโนโลยียังมีหัวใจ

อานนท์ เป็นเด็กพิเศษ ดาวน์ ซินโดรม ถูกพ่อ แม่ ทิ้งไว้ให้ยายเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก แม้จะอายุสามสิบกว่าปีแล้ว แต่ยายกลับต้องดูแลอานนท์อย่างใกล้ชิด
12 เมษายน, 2561

อุดรอยรั่วหลังคามาดูแลผู้ป่วย

แสงแดดที่ร้อนแรงมาหลายวัน พลันมีมวลเมฆดำทาบบนท้องฟ้า เป็นสัญญาณเตือนของการเปลี่ยนฤดูกาล ย่างเข้าสู่ฝนเดือนห้าแล้ว ทำให้หวนรำลึกย้อนไปเมื่อสองปีก่อนที่น้ำหลากมหานทีจู่โจมแทบทั่วทุกสารทิศ ยังขยาดความกลัว