parallax background
 

เพียงแค่ยื่นมือออกไป

ผู้เขียน: ฮูนายเมี้ยน หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

หลายคนเลือกใช้ชีวิตที่ทำอะไรก็ได้ ที่ไม่เดือดร้อนคนอื่นและตนเอง แต่บางคนก็เลือกที่จะทำให้ตนเองเดือดร้อนวุ่นวาย แต่ก็ทำเพื่อคนอื่นได้มากขึ้น

ช่วงมหาวิทยาลัย ฉันมีโอกาสออกค่ายเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง รู้สึกประทับใจถึงชีวิตเรียบง่ายที่พึ่งพิงธรรมชาติ และความน่ารักเป็นมิตรของผู้คน ทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากทำงานบนดอย ดังนั้นเมื่อจบมหาวิทยาลัยจึงตัดสินใจเดินทางไปเป็นครูอาสาสอนหนังสือเด็ก ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

ต่อมาได้ทำงานกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ทำโครงการเด็กกำพร้าเอดส์แถบพื้นที่ราบอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรณรงค์เผยแพร่ให้ผู้คนเข้าใจว่าสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้ป่วยได้โดยไม่ติดเชื้อเอดส์ แต่ทำได้เพียงสองเดือนก็ลาออก เพราะแน่ใจแล้วว่าไม่อยากทำงานในเมืองอีกต่อไป

จนท้ายสุดฉันตัดสินใจทำงานกับชาวกะเหรี่ยงโดยตรง โดยซื้อฝ้ายจากในเมือง แล้วให้ชาวบ้านย้อมด้วยสีธรรมชาติ แล้วทอผ้าตามที่ฉันออกแบบ และนำกลับไปขายในเมือง ทุกครั้งที่ฉันกลับไปบนดอยฉันก็ซื้อขนมและผลไม้ติดไม้ติดมือไปแจกเด็กๆ ด้วย

ครั้นพ่อของฉันป่วย ฉันจึงย้ายกลับมาขายผ้าที่กรุงเทพฯ แต่พบว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ได้สนใจผ้าทอนัก ทำให้ขายยาก จึงเปลี่ยนมาขายเครื่องเงิน โดยชาวบ้านจะซื้อเงินดิบเป็นกิโลกรัม แล้วนำมาตีเป็นเครื่องประดับ

ครั้งหนึ่งฉันได้รู้จักคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยและสามารถนำทางเข้ารัฐกะเหรี่ยงได้ จึงเป็นครั้งแรกที่ฉันมีโอกาสนำขนม ผลไม้ และเครื่องเขียนไปแจกเด็กที่โรงเรียนทีหล่อทิ (แปลว่า น้ำตก) หลังจากฉันกลับมาฝั่งไทยได้ไม่นาน ก็เกิดสงครามกลางเมืองในรัฐกะเหรี่ยง มีผู้พลัดถิ่นจำนวนมากหนีภัยสงครามมาอยู่ติดริมแม่น้ำเมย ฉันกับเพื่อนๆ จึงระดมเงินช่วยเหลือด้านอาหาร และของใช้จำเป็นต่างๆ ทั้ง ยา ผ้าเต็นท์ ผ้าห่ม เสื้อกันหนาว รวมทั้งสร้างสุขาให้ด้วย

ต่อมาที่ค่ายอิตุท่า ซึ่งเป็นศูนย์พักพิงผู้หนีภัยสงครามอีกแห่ง ถูกตัดความช่วยเหลือไม่ว่าจะเป็นข้าวสาร อาหาร ยารักษาโรค และงบการศึกษา จึงได้ประชาสัมพันธ์ระดมทุน โดยเริ่มต้นจากการช่วยเหลือเด็กในหอพักซึ่งอยู่ในค่ายอิตุท่าให้มีอาหารการกินที่ดีขึ้นก่อน และประกาศรับสมัครผู้อุปถัมภ์เพื่อนำเงินมาสมทบเป็นค่าอาหารรายเดือนให้เด็กแต่ละคน นอกจากนี้ยังมีการบริจาคทั่วไปที่ไม่เฉพาะเจาะจงให้กับเด็กคนใดคนหนึ่งอีกด้วย

หลังจากนั้นฉันก็มีโอกาสช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยสงครามอยู่เรื่อยๆ ครั้งหนึ่งมีพยาบาลส่งข่าวมาว่ามีเด็กกะเหรี่ยงโดนสะเก็ดระเบิด และเข้ารักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดตาก ฉันจึงระดมทุนเพื่อซื้อบัตรประกันสุขภาพจนสามารถรักษาตัวจนหาย หลายคนช่วยเหลือให้การสนับสนุนฉัน แต่ก็มีบางคนไม่พอใจ เห็นว่าเด็กไทยมีตั้งเยอะ ทำไมไม่ช่วยเหลือเด็กไทยก่อน บ้างก็ตั้งคำถามว่าทำไมช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ไม่มีวันสิ้นสุด น่าจะสอนให้ชาวบ้านพึ่งพาตนเองได้

ฉันรู้ว่าเขาไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เป็นเรื่องทัศนคติที่ไม่ดีต่อผู้ลี้ภัยหรือการแบ่งแยก ที่ฉันช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นไม่ได้คิดถึงเรื่องชาติพันธุ์ คิดเพียงแต่ว่าได้ช่วยเหลือคนกะเหรี่ยงทั้งที่อยู่ในไทยและพม่า และคิดว่าเขาคือมนุษย์คนหนึ่งที่หนีภัยสงคราม มีความเป็นอยู่ที่ลำบากจนแทบเอาชีวิตไม่รอด และสิ่งหนึ่งที่ฉันจำติดตา คือ แววตาของเด็กที่เต็มไปด้วยความเศร้า ยิ้มยาก หลบสายตา ไม่กล้าสบตา เพราะชีวิตที่ต้องหลบหนีสงครามทำให้หวาดระแวง และรู้สึกต่ำต้อยอยู่เสมอ ทุกวันนี้ผู้พลัดถิ่นที่อิตุท่าได้รับการบริจาคข้าวจากกะเหรี่ยงฝั่งไทย แต่ก็ไม่เพียงพอ จึงดิ้นรนหาเงินซื้อข้าวเอง และรายได้หลักมาจากการหาเห็ดถอบ ซึ่งหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว และปลูกพืชผักได้บ้างเล็กน้อยแต่ไม่สามารถเพาะปลูกข้าวได้ เพราะพื้นที่บางส่วนยังมีระเบิด และชาวบ้านไม่สามารถเก็บกู้เองได้ ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ และที่สำคัญไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปในพื้นที่ได้จนกว่าสงครามจะยุติ

ช่วงเวลานับสองปี ที่ได้เจอคนหนีภัยสงคราม ฉันรับรู้ว่าชีวิตพวกเขาเต็มไปด้วยความกลัว ความหวาดระแวง ความไม่แน่นอน และถูกจำกัดพื้นที่ จะข้ามไปไทยก็ผิดกฎหมาย กลับไปยังพื้นที่เดิมก็ไม่ปลอดภัย ดังนั้นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นสันติภาพ และความสงบสุข

แม้ฉันจะถูกต่อว่าว่าช่วยเหลือคนที่ไม่ใช่คนไทย หรือบางคนก็บอกว่าหากินกับกะเหรี่ยง แต่ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไร เมื่อมาชั่งน้ำหนักแล้ว ฉันพบว่าการที่ฉันไม่อยู่เฉย เพียงแค่ยื่นมือออกไปและลงมือทำ จับมือสองฝั่ง ระหว่างเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือกับผู้บริจาค ก็เกิดประโยชน์กับเด็กมาก ฉันได้เห็นถึงความรู้สึกดีๆ ความบริสุทธิ์ใจของผู้ให้ และเห็นความสุขของผู้รับ รวมถึงความสุขที่เกิดขึ้นในใจของฉันเองด้วย

ขอขอบคุณ
อุมาภรณ์ ตั้งเจริญบำรุงสุข เฟซบุ๊ก Lek Silver

เครดิตภาพ
https://pixabay.com/th/barbwire- ได้รับการป้องกัน-1765900/
ภาพเด็กในทิเตฆิ่ โดย Lek Silver
https://pxhere.com/th/photo/561900

[seed_social]
17 มกราคม, 2561

ความรักของซิเซลี ซอนเดอร์ส(ตอนจบ)

หลังจากซิเซลี ซอนเดอร์ เห็นความจำเป็นที่จะก่อตั้งฮอสพิซแห่งใหม่ เพื่อบริการผู้ป่วยระยะท้ายด้วยวิถีทางที่ค้นพบ เธอจึงเริ่มระดมทุนตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 ด้วยความตั้งใจอย่างแรงกล้า ระหว่างระดมทุน ซอนเดอร์สร่างแผนผังฮอสพิซอย่างประณีตไปพร้อมกัน
28 กันยายน, 2560

สั่งมาแบบนี้ก็แย่น่ะสิ!

"ศักดิ์ศรี" คือคำที่เราอาจรู้สึกเฉยๆ เวลาที่ร่างกายแข็งแรงดี สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น แต่เมื่อเราเจ็บป่วยอ่อนแอ สั่งอะไรใครไม่ค่อยได้...