parallax background
 

พระสงฆ์ สุขภาวะทางปัญญา
กับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ผู้เขียน: ศรินธร รัตน์เจริญขจร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

การส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์เป็นยุทธศาสตร์ของเครือข่ายพุทธิกามาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งองค์กร แต่ด้วยเหตุเหตุปัจจัยยังไม่เอื้ออำนวยจึงทำให้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ดังกล่าวเป็นไปอย่างล่าช้า จนกระทั่งหลังจากทำงานส่งเสริมเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบมานานถึงสิบปี จึงพบว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนอกจากจะเป็นส่งเสริมให้พระสงฆ์เข้ามามีบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมแล้ว ยังช่วยให้พระคุณเจ้าได้เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าของสมณเพศได้อีกด้วย เครือข่ายพุทธิกาจึงร่วมกับ สสส. ริเริ่มโครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ โรงพยาบาล และชุมชน ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔

ผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่องสองปี ทำให้คณะทำงานโครงการฯ ค้นพบว่า ในหลายพื้นที่มีทีมสุขภาพที่ทำงานดูแลผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ มีพยาบาลที่ผ่านการอบรมสามารถกลับไปสร้างทีมเยียวยาจิตใจผู้ป่วยได้ จิตอาสามีทักษะการรับฟังและสามารถเข้าใจผู้ป่วย ส่วนพระสงฆ์สามารถใช้ศักยภาพสอดแทรกหลักธรรมและเยี่ยมผู้ป่วยร่วมกับทีม ซึ่งช่วยให้เยียวยาและเป็นกำลังใจแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ดี แต่ในขณะเดียวกัน ยังพบอุปสรรคบางอย่าง เช่น แกนนำพยาบาลขาดความมั่นใจในการเคลื่อนงาน หรือขาดทักษะในการทำงานร่วมกันของทีมและกับพระสงฆ์ เป็นต้น

โครงการขับเคลื่อนมิติสุขภาวะทางปัญญาผ่านการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมบทบาทพระสงฆ์ฯ ระยะที่สอง จึงต้องการทำงานอย่างต่อเนื่องโดยเน้นการเปิดพื้นที่เรียนรู้เรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองอย่างเป็นองค์รวมร่วมกัน เสริมศักยภาพให้กับทีมงานในพื้นที่ร่วมงานเดิม และขยายผลไปยังพื้นที่ใหม่ ให้ทีมสุขภาพสามารถทำงานอย่างเป็นระบบโดยเน้นมิติสุขภาวะด้านสังคมและจิตวิญญาณเพิ่มขึ้น ส่งเสริมจิตอาสาให้มีบทบาทเชื่อมต่อกับชุมชนในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ต้องการกลับไปพักที่บ้าน และมีพระสงฆ์มาช่วยในเรื่องพลังใจ ตลอดจนเสริมมิติด้านจิตวิญญาณ อย่างเช่น ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง ไม่มีแรงเดิน แต่อยากไปวัด เมื่อมีพระสงฆ์ไปเยี่ยมถึงบ้าน จะช่วยให้ผู้ป่วยมีพลัง หรือแม้กระทั่งอาจจะเป็นผู้นำทางให้ผู้ป่วยวาระสุดท้ายจากไปอย่างสงบตามวิถีศรัทธาได้อีกด้วย

โครงการจะจัดกิจกรรมอบรมเสริมความรู้เรื่องตายสงบ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการเยี่ยมผู้ป่วย และประสบการณ์การทำงานร่วมกับพระสงฆ์ เป็นต้น ส่งเสริมให้ทีมสุขภาพได้ปฏิบัติงานจริง และติดตามการทำงาน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง

เมื่อทีมสุขภาพมีประสบการณ์จากการเยี่ยมผู้ป่วยแล้ว เชื่อว่าจะมีเรื่องราวน่าสนใจที่สะท้อนมากกว่าการเจ็บไข้ของคนในหมู่บ้านเดียวกัน แต่จะได้เห็นการทำงานเป็นทีม ได้เห็นสายสัมพันธ์ของชุมชน และสายใยของความศรัทธาที่ยังคงเชื่อมร้อยให้ชีวิตมีคุณค่า และดำรงอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล ซึ่งควรได้รับการถ่ายทอดออกมาเพื่อให้ทีมสุขภาพพื้นที่ต่างๆ ได้เกิดการเรียนรู้ นอกเหนือจากเรื่องความตายและการตายดี โดยโครงการฯ จะนำเรื่องราวที่น่าสนใจมาเสนอในคอลัมน์สังฆะกับการดูแลผู้ป่วย และโซเชียลมีเดียให้ผู้สนใจได้ติดต่ออย่างต่อเนื่องต่อไป

[seed_social]
13 พฤศจิกายน, 2560

ตายดีที่บ้านคนแบกรับคือผู้ดูแลในครอบครัว

การตายที่บ้านอาจจะเป็นทางเลือกในฝันสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายจำนวนมากในปัจจุบัน เพราะเชื่อว่าถ้าได้ตายท่ามกลางคนที่รักและสถานที่คุ้นเคย ย่อมช่วยให้ผู้ป่วยตายดี
17 เมษายน, 2561

เปิดบ้านเฟซบุ๊กแฟนเพจ Peaceful Death

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน เฟซบุ๊ก (Facebook) ทำหน้าที่เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลความคิดกันอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งองค์กรเพื่อสังคมหรือบริษัทธุรกิจ ยังต้องอาศัยเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์
4 เมษายน, 2561

ข้อถกเถียงเรื่องการุณยฆาตในอังกฤษ

วาทยกรเลื่องชื่อชาวอังกฤษพร้อมด้วยภรรยาในวัย ๘๕ ปีและ ๗๔ ปีตามลำดับ ได้ตัดสินใจที่จะฆ่าตัวตาย เนื่องจากสภาพร่างกายของเขาสูญเสียการมองเห็นและการได้ยิน