parallax background
 

10 ปี คิลานธรรม

1 เมษายน 2561

ผู้เขียน: สรนันท์ ภิญโญ หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

การศึกษาและปฏิบัติขัดเกลาตัวเองตามหลักพุทธธรรม เพื่อพัฒนาจิตใจให้เป็นอิสระ รวมถึงเป็นแบบอย่างและช่วยเหลือผู้คนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ เป็นแนวทางการใช้ชีวิตตามอุดมคติของพระสงฆ์มาแต่พุทธกาล แต่สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้บทบาทพระสงฆ์เกิดการปรับเปลี่ยนไปด้วย พระสงฆ์ไทยในอดีตที่เคยเป็นหลักในด้านจิตใจและเป็นศูนย์รวมของศิลปวิทยาการทางโลก แต่เมื่อวิทยาการสมัยใหม่จากประเทศทางตะวันตกเข้ามาแทนที่ความรู้แบบเดิมเมื่อร้อยกว่าปีก่อน สถาบันสงฆ์ไม่สามารถปรับตัวได้ จึงทำให้พระสงฆ์ส่วนใหญ่ค่อยๆ สูญเสียบทบาทดังกล่าวไปจนเหลือเพียงผู้ทำพิธีกรรมในวัด แต่ยังมีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งที่พยายามจะแสวงหาบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมร่วมสมัย ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การศึกษา และเศรษฐกิจความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ต่อเนื่องมาหลายสิบปี จนถึงปัจจุบัน มีบทบาทพระสงฆ์อีกรูปแบบหนึ่งที่อาจยังเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นแล้ว ยังช่วยขัดเกลาจิตใจตัวเองและทำให้ท่านตระหนักถึงคุณค่าของพุทธธรรมและความเป็นพระอีกด้วย นั่นคือบทบาทการเป็นจิตอาสาเยียวยาใจผู้ป่วยและญาติของพระสงฆ์กลุ่มคิลานธรรม ที่ทำมาถึงสิบปีแล้ว นับเป็นการช่วยเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้กับคณะสงฆ์ในการเข้ามาช่วยเหลือสังคม และนับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นในสังคมไทยที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มตัว

เรามาทำความรู้จักพระสงฆ์กลุ่มคิลานธรรม ผ่านการบอกเล่าของสมาชิกกลุ่มและผู้สนับสนุนที่กลุ่มนับถือเป็นครูอีกสามท่าน ในงานสิบปีคิลานธรรม เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2561 ณ ห้องนิพพานชิมลอง สวนโมกข์กรุงเทพกัน

พระสุเทพ สุทธิญาโณ ประธานกลุ่มคิลานธรรมย้อนรำลึกถึง 10 ปีของการเป็นจิตอาสาในโรงพยาบาลของกลุ่มคิลานธรรม ว่าแบ่งออกเป็นสามช่วง

ช่วงสามปีแรก ท่านและเพื่อนๆ ในกลุ่มหลายคนศึกษาหลักสูตรพุทธศาสตร์บัณฑิต สาขาชีวิตและความตาย ณ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เรื่องมิติการเข้าใจชีวิตตนเองและการช่วยเหลือผู้คน เมื่อปี พ.ศ.2551 และท่านกับเพื่อนๆ ชวนกันไปเป็นจิตอาสาที่โรงพยาบาลศิริราช เพราะเห็นว่ามีพระที่ทำงานดังกล่าวน้อย แม้ว่าโรงพยาบาลจะรับท่านเป็นจิตอาสาและอบรมถวายความรู้ให้แล้ว แต่ยังต้องรอถึงอีกหนึ่งปีต่อมา กว่าทางโรงพยาบาลจะชวนท่านมาสนทนาว่าพระสงฆ์จิตอาสาจะช่วยเติมเต็มการเยียวยาผู้ป่วยได้อย่างไร ก่อนตกลงกันว่าจะใช้การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ป่วยที่สนใจสนทนาธรรมแจ้งความประสงค์มาเพื่อนัดหมายกัน แต่ประสบการณ์เยี่ยมผู้ป่วยหนแรกเหนือความคาดหมายและทำให้เห็นว่างานจิตอาสาของพระสงฆ์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแทนที่จะเข้าไปเยี่ยมไปสนทนากับผู้ป่วยอย่างตัวต่อตัวอย่างที่วาดภาพไว้ เมื่อไปถึงห้องที่นัดหมาย “ข้างในห้องกลับมีผู้ป่วย 4 คน หมอ 3-4 คน นักจิตวิทยาและพยาบาลอีกหลายคนรอสนทนากับพระ” อยากรู้ว่าพวกท่านจะทำอย่างไร เพราะการมีพระสงฆ์เข้าไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลนอกจากจะเป็นเรื่องใหม่แล้ว ยังต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดทัศนคติผิดๆ ว่าเป็นการไปแช่งผู้ป่วยจนส่งผลในด้านลบด้วย หลังจากผ่านเหตุการณ์ไปได้ด้วยดี ท่านจึงรีบเขียนประสบการณ์ส่งไปให้เพื่อนที่จะต้องมาเยี่ยมผู้ป่วยต่อได้รับรู้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ท่านเป็นจิตอาสาเยี่ยมผู้ป่วยเรื่อยมา จากโรงพยาบาลหนึ่งไปสู่อีกโรงพยาบาลหนึ่ง พร้อมกับชักชวนเพื่อนในวัดเดียว เรียนสาขาเดียวกันและต่างสาขา และวัดข้างๆ ไปเป็นจิตอาสาด้วย จนกลายเป็นกลุ่มจิตอาสา เมื่อแต่ละท่านไปเยี่ยมผู้ป่วยแล้ว จะชักชวนมานั่งพูดคุยกัน ท่านพบว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก

แต่เมื่อเริ่มทำงานกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ท่านและเพื่อนคิดว่าจำเป็นต้องมีการเติมความรู้และเครื่องมือเพื่อใช้ในการพัฒนาตัวเองและการทำงาน จึงแสวงหาและเชิญชวนครูมาถวายความรู้ เป็นการเข้าสู่ช่วงที่สองของกลุ่ม ในปี พ.ศ.2555 คือ ผศ.ดร.ปาริชาด สุวรรณบุบผา (ผู้ล่วงลับ) รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว และคุณวิศิษฐ์ วังวิญญู ที่นอกจากจะถวายความรู้ ทักษะการฟัง การให้คำปรึกษา และการเป็นกระบวนกรที่หาได้ยากแล้ว ยังช่วยเสริมกำลังใจทางจิตวิญญาณให้อีกด้วย

จนการทำงานของกลุ่มมีประสิทธิภาพ และในช่วงสามปีหลัง เริ่มได้รับความสนใจและยอมรับจากแวดวงคณะสงฆ์ เมื่อเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร เกิดความสนใจเรื่องการทำงานเยี่ยมผู้ป่วยของกลุ่ม จึงชักชวนกลุ่มคิลานธรรมจัดถวายความรู้แก่พระสงฆ์ในกรุงเทพฯ เรื่อง "บทบาทพระสงฆ์ไทยในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วยและญาติ" ก่อนที่ในปัจจุบันจะขยายไปทั่วภาค 1 โดยมีรองเจ้าคณะภาค เป็นผู้สนับสนุนการจัดอบรม 3 เดือน ในโครงการ "เยียวยาใจด้วยธรรมะ" อย่างต่อเนื่องมาถึงรุ่นที่สาม โดยรุ่นล่าสุดที่เพิ่งจบไปมีพระถึง 70 รูปจาก 28 จังหวัดมาเข้าร่วมเลยทีเดียว

เมื่อครูพูดถึงคิลานธรรม

รศ.ดร.โสรีช์ โพธิแก้ว ปรมาจารย์นักจิตวิทยาการปรึกษา นายกสมาคมจิตวิทยาแห่งประเทศไทยและอาเซียน กล่าวถึงสิ่งที่ตนถวายความรู้ให้กับกลุ่มพระคิลานธรรมว่า "เป็นการชวนให้ท่านระลึกเวลาทำงานกับผู้คนว่า คือการทำให้ผู้ป่วยดื่มด่ำ ยินดีกับความมีชีวิต แต่ต้องอยู่ด้วยความเข้าใจว่า ชีวิตผันแปรตลอดเวลา จึงจะอยู่อย่างไม่หวั่นไหว" เมื่อผู้ป่วยหวั่นไหว ต้องช่วยให้อยู่ด้วยความไม่หวั่นไหว เข้าใจว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมดา

โดยหลอมรวมกระบวนการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาคือการพาคนจากที่แคบไปที่กว้าง จากมืดไปสว่าง กับพุทธศาสนาคือพาคนจากที่ทุกข์ ไปสู่ที่ไม่ทุกข์ เพื่อให้ผู้คนมีอิสรภาพแม้ในยามเจ็บป่วย มาใช้ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายข้างเตียงได้ “เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยตายสนิท ชวนคนชำระใจ ไม่ให้สิ่งติดค้างใจ เพื่อให้จากไปอย่างอิสระ ตัวเบา เป็นการส่งคนข้ามภาพ ยุติชีวิตอย่างสง่างาม” แต่ข้อจำกัดอย่างหนึ่งของกลุ่มคิลานธรรมที่ดร.โสรีช์พบในตอนที่พบกันครั้งแรกคือ แม้จะมีความตั้งใจในการทำงานช่วยเหลือผู้คน แต่บางเรื่องยังใช้วิธีการที่ไม่ถูกต้อง เช่นไปสวดมนต์โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องการ ปัญหาดังกล่าว สะท้อนช่องว่างระหว่างพระกับฆราวาส ต่างจากสมัยตนเองเป็นเด็กที่เวลามีพระสงฆ์มาเยี่ยมบ้านอยู่เนืองๆ ทำให้รู้สึกอบอุ่นใจ แต่พระในปัจจุบันเมื่อไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านแล้วจะโดนไล่ เพราะคิดว่ามาแช่งให้ผู้ป่วยตาย การทำให้พระสงฆ์กับฆราวาสกลับมาใกล้ชิดกัน จึงต้องมีกิจกรรมที่แยบยลเพิ่มเติมจากการปฏิบัติธรรมหรือเทศน์สั่งสอน แต่ให้คนแบกที่ความทุกข์มาหา วางความทุกข์ได้ จากใจกระเพื่อมเมื่อมีความทุกข์ ทำให้ใจใสสะอาด

“ลึกๆ แล้ว สิ่งที่ผมนำเสนอให้เวลาพระสงฆ์ไปเยี่ยมผู้ป่วย คือการไปทำใจให้ว่างๆ เพื่อซึมซับทุกอย่างของผู้ป่วยเข้ามา การฟังที่ใสสะอาด จะลดความเจ็บปวดในหัวใจของผู้ป่วย แต่พระสงฆ์จะทำได้ ท่านต้องมีใจใสสะอาดจากการฝึกฝนตัวเองอย่างยาวนานเสียก่อน”

ทางด้านคุณวิศิษฐ์ วังวิญญู กระบวนกรผู้บุกเบิกสุนทรียสนทนาในสังคมไทย มองว่ากลุ่มอาสาคิลานธรรมมีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทย เพราะ “แม้ว่าแต่ละท่านจะไม่ได้เพียบพร้อม เป็นมนุษย์ธรรมดาที่ชีวิตยังมีความสับสน แต่เมื่อมาอยู่ด้วยกัน กลับเกิดบรรยากาศ ความรู้สึกพิเศษที่กลับไปหาสงฆ์สมัยพุทธกาล เพราะท่านไม่ถือยศ ตำแหน่ง พรรษา และภายในกลุ่มมีอิสรภาพ ภราดรภาพ เสมอภาพ ของความเป็นมนุษย์ที่มุ่งสิ่งดีงาม ไม่เอาสำนักตัวเองมาข่มคนอื่น แม้จะมาจากสำนักสำคัญๆ ทั่วประเทศ ทุกท่านเสมอกัน ไม่ติดยึดสังกัด ทำสิ่งที่เป็นแก่นของพระธรรมวินัย พยายามขัดเกลาตัวเอง ไปพ้นอัตตาตัวเอง ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มพ้นจากสภาพหลงตัวเอง และทำให้ก้าวหน้าได้ไม่มีที่สิ้นสุด”

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คุณวิศิษฐ์ประทับใจคือ พระสงฆ์กลุ่มคิลานธรรมล้วนแต่มีภูมิปัญญาพุทธศาสนา แม้ว่าความรู้ที่ถวายให้กลุ่มจะเป็นเรื่องยากถึงสามเรื่อง คือ สุนทรียสนทนา (Dialogue) การหลอมรวมวิชากระบวนกรที่มีมิติทางจิตวิญญาณ และเรื่องจิตวิทยาตัวตน (Psychology of self) แต่ท่านสามารถเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยหรือจัดกระบวนการเรียนรู้ได้ดีไม่แพ้กระบวนกรฝ่ายฆราวาส จนวงการสงฆ์ด้วยกันเองยอมรับและเชิญท่านไปอบรมให้กับพระเป็นจำนวนมาก และเริ่มจะมีพระสังฆาธิกาการเข้ามาสนับสนุนด้วยแล้ว จึงอาจเป็นความหวังของประเทศไทยที่นำไปสู่การปฏิรูปพระศาสนาได้เลยทีเดียว

ส่วน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เจ้าพ่อแห่งวงการจัดการความรู้ กล่าวว่าที่ผ่านมา “วงการพุทธศาสนาเวลามีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านใช้วิธีไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อย คือเอาธรรมะเป็นตัวตั้ง แต่กลุ่มคิลานธรรมเอาชีวิตผู้คนเป็นตัวตั้ง แล้วเอาธรรมะไปใส่ กิจกรรมของท่านจึงไปโยงกับสภาพชีวิตผู้คนโดยเฉพาะตอนที่ต้องการความสนับสนุนทางใจ โดยเข้าไปช่วยเยียวยา สร้างความเข้มแข็งในยามที่ต้องการ”

ถ้าสามารถโยงมาสู่เรื่องการจัดการความรู้ โดยใช้กิจกรรมเป็นข้อเรียนรู้ในกลุ่มพระอาสากันเอง จะมีคุณค่ามาก เพราะการเรียนรู้ที่มีพลังและเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดความรู้ แต่เกิดจากการปฏิบัติ แล้วนำมาใคร่ครวญสะท้อนคิดด้วยตนเอง ยิ่งถ้ามีกัลยาณมิตรที่เปิดใจต่อกัน จะเป็นการเรียนรู้ที่ลึกและกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการการทำงานช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งอยู่ในแดนสนธยามานาน

ดูจากภายนอกงานจิตอาสาอาจจะเน้นไปที่การช่วยเหลือผู้อื่น แต่พระมหาสุเทพกล่าวว่า กลุ่มคิลานธรรมไม่เคยลืมเป้าหมายหลักในฐานะนักบวช คือการใช้งานเป็นเครื่องมือพัฒนาภายในของตัวเอง ใช้งานเยียวยาใจเป็นเครื่องเยียวยาใจตนเอง ไม่ได้ทำงานให้เกิดผลงาน แต่ทำงานเพื่อพัฒนาใจ พัฒนากลุ่ม ก่อนทำงาน จะมีการสนทนากัน ขอบคุณกัน ชี้ขุมทรัพย์ บอกข้อบกพร่อง ให้กำลังใจกัน ชื่นชมกัน เติมเต็มกันและกัน “นี่เป็นภาวะของพระธรรมวินัย ทำให้เห็นวิธีการของสังฆะ เห็นวิถีของหลักธรรมคำสอนต่างๆ ผุดขึ้นมาทีละนิด อาจเกิดจากตัวเอง หรือจากเพื่อนที่มาแนะนำไม่ให้เราหลงตัวเอง จนมีความชัดเจนเรื่องพระธรรมวินัยมากขึ้น”

เป็นเช่นเดียวกับที่พระเทพปริยัติมุนี รองเจ้าคณะภาค 1 เน้นย้ำกับกลุ่มเสมอว่า “เราไปข้างนอกไกลเท่าไหร่ ภายในของเราต้องลึกให้ได้เท่านั้น”

หมายเหตุ: กิจกรรม 10 ปี คิลานธรรม จัดขึ้นวันที่ 1 - 3 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส กรุงเทพฯ ท่านที่สนใจกิจกรรมของคิลานธรรม ติดตามได้ที่ https://web.facebook.com/gilanadhamma

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

ความตายในสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงในรอบศตวรรษ

บทบาทพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบันได้ถูกลดทอนลงอย่างมาก จากอดีตที่วัดและพระต่างสัมพันธ์ และพึ่งพาซึ่งกันกับชุมชนและญาติโยม ทั้งในเรื่องการศึกษา วัฒนธรรมประเพณี หรือแม้แต่การสาธารณสุข
13 เมษายน, 2561

สู่วิถีคิลานธรรม วิถีสังฆะเพื่อการดับทุกข์

หากท่านป่วย ท่านปรารถนาที่จะพบพระสงฆ์ที่คุ้นเคยและไว้ใจมาเยี่ยมสักครั้งหรือไม่? หากท่านตอบว่าไม่ อาจเป็นเพราะท่านยังไม่รู้จักพระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งในกลุ่มคิลานธรรม
10 พฤษภาคม, 2561

เป็น-อยู่-คือ

‘การได้อยู่กับธรรมชาติ ได้สังเกตสิ่งมีชีวิตอื่นๆ’ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชอบนั่งเล่นใต้ต้นไม้ เปิดโอกาสให้ชีวิตดื่มด่ำเรียนรู้ที่จะเคารพนบนอบต่อธรรมชาติอย่างกลมกลืน หลายครั้งมักพบ ‘เพื่อน’ อย่างไม่คาดคิด