parallax background
 

โครงการพัฒนาระบบการดูแล
ผู้ป่วยระยะสุดท้าย
โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

ผู้เขียน: วรรณา จารุสมบูรณ์ หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

หลายปีมานี้ดิฉันมักตั้งคำถามกับตัวเองว่า งานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร จึงใช้เวลาอยู่หลายเดือนในการเดินสายพูดคุยกับโรงพยาบาลต่างๆ ที่เคยผ่านการอบรมเผชิญความตายอย่างสงบกับเครือข่ายพุทธิกาและเสมสิกขาลัย ซึ่งทำให้ดิฉันเกิดแรงบันดาลใจใหม่และอยากชวนกัลยาณมิตรทั้งหลายให้เดินทางและเรียนรู้ร่วมไปกับดิฉันด้วย

คนที่ผ่านการอบรมส่วนใหญ่เห็นว่าการอบรมทำให้เข้าใจและมีมุมมองที่ช่วยเหลือผู้ป่วยได้มากขึ้น แต่ก็มีความจริงอีกด้านหนึ่งว่า แม้จะมีความรู้และพอมีทักษะในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแต่เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่ได้ทำด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ

ประการแรก คือ ภาระงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งงานรักษาพยาบาลตามสิทธิประโยชน์ต่างๆ และงานเอกสารที่ต้องรวบรวมเพื่อให้มีร่องรอยที่จะชี้วัดผลงานและความสำเร็จของโรงพยาบาล สุดท้ายก็ทำได้แค่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ “บางคนที่พอรู้ว่าเราสนใจและเคยไปอบรมมาเค้าก็มาปรึกษา หรือตามให้ไปช่วยคุยกับคนไข้ ก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะบางทีเราก็มีภาระงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบ” (เสียงสะท้อนจากพยาบาลวิชาชีพท่านหนึ่ง) พอได้ยินแบบนี้รู้สึกเห็นใจคนทำงานขึ้นมาทีเดียว

ประการที่สอง คือ จำนวนบุคลากรไม่สมดุลกับงาน หลายโรงพยาบาลเกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรอย่างหนักในทุกแผนก ทำให้การจัดสรรคนให้ลงตัวกับงานกลายเป็นปัญหา บางวอร์ดจัดเวรยากถึงขนาดว่า ต้องทำงานต่อเนื่องกันโดยไม่มีวันหยุด จนเจ้าหน้าที่อ่อนล้าและเหน็ดเหนื่อยกันมาก

ประการที่สาม คือ ขาดความมั่นใจในการดูแล เนื่องจากพยาบาลส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการดูแลทางกาย เมื่อต้องมาดูแลด้านจิตใจจึงขาดความเชื่อมั่นที่จะเริ่มต้น ด้วยเกรงว่าจะไปซ้ำเติมความทุกข์ให้กับผู้ป่วยและญาติเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็ขาดระบบพี่เลี้ยงที่จะคอยช่วยชี้แนะและให้คำปรึกษา

ประการสุดท้าย คือ ขาดระบบสนับสนุนทั้งจากผู้บริหารและอื่นๆ มีหลายโรงพยาบาล ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นงานที่ไม่ได้แสดงศักยภาพและผลงานของโรงพยาบาล เพราะผลงานเด่นส่วนใหญ่จะเน้นประสิทธิภาพในการรักษา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การขยายพื้นที่และความสะดวกในการให้บริการ (หางบประมาณมาสร้างตึกใหม่ๆ ได้ ) เป็นต้น การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแม้จะเป็นเรื่องที่ดี จึงอยู่ในความสำคัญลำดับท้ายๆ และกลายเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลมากกว่าเป็นภารกิจหลักของโรงพยาบาล โอกาสในการพัฒนาความรู้ ทีมงานและได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้างานจึงเป็นไปได้ยาก

ที่กล่าวเช่นนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกโรงพยาบาลจะคิดแบบเดียวกันหมด ดิฉันพบเห็นศักยภาพและโอกาสที่จะพัฒนางานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในหลายๆ โรงพยาบาลที่ริเริ่มจากเจ้าหน้าที่เอง มีทีมงานที่พัฒนาขึ้นอย่างแข็งขัน มีเครือข่ายจิตอาสาที่เข้ามาเป็นกำลังสนับสนุน และบางโรงพยาบาลก็สามารถขยายงานได้อย่างมีพลัง ซึ่งดิฉันเองก็เชื่อในการพัฒนาจากจุดเล็กๆ แต่ทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และเราไม่สามารถเร่งรัดให้สำเร็จในเร็ววัน เพราะทุกอย่างย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัย

แต่กระนั้น ดิฉันก็ยังมีความกังวลว่า อัตราการครองเตียงและจำนวนผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่เพิ่มสูงอย่างชัดเจนนั้น จะทำให้หลายโรงพยาบาลต้องตกที่นั่งลำบาก ผู้ป่วยและญาติเองก็ต้องทุกข์ทรมานจากกระบวนการยืดชีวิตโดยไม่จำเป็น จึงกลับมานั่งคิดต่อว่า หากเราสามารถพัฒนาเชิงระบบหรือกลไกอะไรสักอย่างที่ช่วยทำให้งานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ได้กระจุกตัวอยู่แต่ในโรงพยาบาล ก็คงจะเป็นทางออกได้บ้าง และรวมถึงว่า ทำอย่างไรให้องค์ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่จำกัดอยู่แต่คนในโรงพยาบาลเท่านั้น

และนี่เองที่เป็นเหตุให้ดิฉันกับอาจารย์หมอศรีเวียง ไพโรจน์กุล เดินทางไปดูงานที่รัฐเกราลา ประเทศอินเดีย (หาอ่านได้ใน อาทิตย์อัสดง เล่มที่ ๗) สิ่งที่น่าสนใจของเกราลาก็คือ งานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายถูกริเริ่มและพัฒนาโดยชุมชนเป็นฐาน อาศัยกลไกจิตอาสา ผู้นำชุมชน และเครือข่ายในพื้นที่ที่ทำงานร่วมกับพยาบาลเยี่ยมบ้านเพียง ๑-๒ คน ต่อ ๑ ตำบล มีหมอครอบครัวติดตามเยี่ยม จ่ายยาที่จำเป็น และให้คำปรึกษาเป็นครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเกือบ ๑๐๐ เปอร์เซนต์ ได้เสียชีวิตที่บ้านตามความปรารถนา ท่ามกลางญาติมิตร เพื่อนบ้านและผู้นำทางศาสนา

ดิฉัน และ อ.ศรีเวียง พกแรงบันดาลใจกลับมาเต็มเปี่ยม และได้ช่วยกันเขียนโครงการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยชุมชนเป็นฐานขึ้นมา ภายใต้การสนับสนุนของสปสช.เขตพื้นที่ ๗ ขอนแก่น โดยชักชวนโรงพยาบาลชุมชน ๒ แห่งในจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่นำร่อง ได้แก่ รพ.น้ำพอง และรพ.อุบลรัตน์ ซึ่งโรงพยาบาลทั้ง ๒ แห่งนี้ขึ้นชื่อในเรื่อง ชุมชนเข็มแข็ง เพราะโรงพยาบาลทำงานร่วมกับชุมชนมานาน และยังมีผู้บริหารที่เอาจริงเอาจังและสนใจชุมชนอย่าง นพ.วิชัย และนพ.อภิสิทธิ์ มาร่วมขบวนด้วย โดยตกลงกันว่าเราจะทดลองนำร่องสัก ๑ ปี แล้วดูว่าจะไปต่อกันอย่างไร ผู้บริหารทั้งสองท่านก็ตอบรับและสนับสนุนอย่างเต็มที่

การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยใช้ชุมชนเป็นฐานที่รัฐเกราลานั้นเขาให้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ประกอบ ๔ ด้าน คือ
๑) การพัฒนาความรู้และทักษะพื้นฐานให้กับบุคลากรและจิตอาสา ๒) การพัฒนาระบบงานในโรงพยาบาลและชุมชน
๓) การพัฒนาระบบข้อมูลและการส่งต่อ
๔) การพัฒนาระบบยาแก้ปวด

ในช่วง ๔ เดือนแรก ดิฉัน และ อ.ศรีเวียง ตกลงใจที่จะพัฒนาด้านความรู้และทักษะให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล ร่วมไปกับการพัฒนาระบบงาน โดยแบ่งงานกันว่า ทางเครือข่ายพุทธิกาซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานจิตอาสามาระยะหนึ่งจะรับหน้าที่อบรมให้ความรู้กับจิตอาสาในพื้นที่ และพัฒนากลไกที่จะเชื่อมต่อจิตอาสาเข้ากับระบบของโรงพยาบาล ในขณะที่ทางรพ.ศรีนครินทร์ โดยอ.ศรีเวียง จะรับหน้าที่อบรมให้ความรู้พื้นฐาน และเพิ่มทักษะในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล เพื่อจะได้ทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และพัฒนาระบบข้อมูลที่สามารถเชื่อมโยงถึงกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ถูกส่งกลับจากรพ.ศรีนครินทร์ ปัจจุบัน อ.ศรีเวียง ได้จัดอบรมให้กับพยาบาลไปแล้ว ๓ รุ่น ดิฉันและคุณเพ็รชลดา ก็ได้จัดอบรมให้กับจิตอาสารพ.น้ำพอง และรพ.อุบลรัตน์ ไปแล้ว โรงพยาบาลละ ๑ รุ่น และกำลังอยู่ในระหว่างติดตาม ฉบับหน้าคงได้เล่าสู่กันฟังว่า ได้ค้นพบบทเรียนอะไรที่สำคัญบ้าง คอยติดตามนะคะ

[seed_social]
28 กุมภาพันธ์, 2561

แผนกให้กำลังใจ

“สาธุ...”  เสียงพยาบาลนับยี่สิบคนเปล่งคำอนุโมทนาพร้อมยกมือขึ้นประนม เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุขที่อบอวลอยู่ในใจของทุกคน
2 เมษายน, 2563

เมื่อทุกอย่างพังทลาย หนทางฝึกใจในช่วงวิกฤตของชีวิต

งานเขียนเล่มนี้เพม่าเชื่อมโยงการปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมเข้ากับวิถีชีวิตสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายจากแรงขับเคลื่อนของความหวังและความกลัว เพื่อบ่มเพาะปัญญาและความกรุณาตามหลักไตรยาน
17 กันยายน, 2561

อัลไซเมอร์, ตัวตนที่หล่นหาย กับชีวิตที่ไม่ง่ายของคนใกล้ตัว

โรคอัลไซเมอร์ หรือความจำเสื่อม เป็นภาวะสุขภาพที่คุกคามคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ และก่อภาระในการดูแลของครอบครัวในขณะเดียวกัน ทัศนคติของผู้ให้การดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก แม้ว่าการให้ความรักและกำลังใจแก่ผู้ป่วยเป็นสิ่งจำเป็น แต่สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือ ความเข้าใจธรรมชาติของโรค และการดูแลตัวเอง