parallax background
 

ห้องเรียนชั่วโมงแรก

ผู้เขียน: ชเอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: อาสามีเรื่องเล่า


 

หลายคนคงยังจำบรรยากาศชั่วโมงแรกห้องเรียนเมื่อเริ่มขึ้นชั้นมัธยมได้ มันเป็นชั่วโมงแห่งความเบิกบานและตื่นเต้น นักเรียนทุกคนจะได้รู้จักครูใหม่ เพื่อนใหม่ สมุดจดเล่มใหม่ ตารางสอนใหม่ จะมีการแนะนำชื่อครู เพื่อนร่วมชั้น ชื่อวิชา วิธีเรียน ตลอดจนการบ้านชิ้นใหญ่ที่จะต้องส่งเมื่อสิ้นสุดภาคการศึกษา

ดูเหมือนบรรยากาศคล้ายๆ กันนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งในการอบรมโครงการสังฆะกับการดูแลผู้ป่วยที่จัดขึ้น ๔ รุ่น และเริ่มขึ้นแล้วในเดือนกันยายน ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา

พระสงฆ์ พยาบาล และจิตอาสาในชุมชน ที่จะร่วมเป็นสังฆะหรือชุมชนดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย จะได้เข้าร่วมอบรมเพื่อทำความรู้จักโครงการ ภารกิจ เพื่อนร่วมงานทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ เรียนรู้วิธีการดูแลผู้ป่วยและดูแลจิตใจของตนเองเบื้องต้น ตลอดจนตกลงวิธีการทำงานดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลหรือชุมชนของทีมดูแลผู้ป่วยไปอีกอย่างน้อย ๒ ปี

ตลอดระยะเวลา ๓ วัน ๒ คืน นักเรียนหรือผู้เข้าร่วมอบรมที่ประกอบไปด้วย พระ พยาบาล และจิตอาสา จะได้ทำความรู้จักเพื่อนร่วมงานทั้งจากพื้นที่เดียวกันและจากต่างพื้นที่ ด้วยแนวคิดการเรียนที่แตกต่างไปจากการเรียนในห้องเรียนมัธยม นั่นคือ ผู้เข้าร่วมอบรมต่างก็เป็นทั้งนักเรียนและคุณครูได้ในเวลาเดียวกัน เพราะต่างคนย่อมมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังที่คุณเกื้อจิต แขรัมย์ พยาบาลวิชาชีพและวิทยากรย้ำในการอบรมว่า "ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยไม่ได้อยู่ในตำรา ภูมิปัญญาในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายมีอยู่แล้วในพ่อแม่ปู่ย่าตายายทั้งสิ้น"

ดังนั้น กระบวนการเรียนรู้ในการอบรมครั้งนี้ จึงไม่ใช่การสอนแบบครูบรรยาย-นักเรียนจด แต่เป็นการเปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วม ให้ความรู้ของแต่ละคนได้มีโอกาสถ่ายเทและแบ่งปันกันในกลุ่ม ผ่านกิจกรรมการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติและประสบการณ์ ตลอดจนทดลองดูแลผู้ป่วยเองผ่านกิจกรรมบทบาทสมมติ วิทยากรมีหน้าที่เพียงดึงเอาความรู้ที่มีอยู่แล้วในตัวผู้อบรมแต่ละคนมากางแผ่ให้เห็นชัดเจนและเป็นระบบระเบียบมากขึ้นเท่านั้น

ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้เรียนรู้วิธีการฟังอย่างลึกซึ้งตลอดการอบรม และตระหนักรู้ได้ไม่ยากนักว่าการฟังที่ตั้งใจ เอาใจใส่ ไม่ตัดสิน มิเพียงช่วยให้ได้ข้อมูลที่ลึกซึ้งจากผู้ป่วย แต่ยังช่วยคลายปมที่ค้างคาใจของผู้ป่วย สร้างสายใยสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและผู้ดูแลซึ่งช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วยได้

นอกจากนี้ พระอธิการครรชิต อกิญฺจโน (เจ้าอาวาสวัดป่าสันติธรรม) ยังแนะนำวิธีการดูแลผู้ป่วยและดูแลจิตใจตัวเองด้วยการแนะนำวิธีการเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียน ให้ผู้ดูแลแต่ละคนมีสติตระหนักรู้ความเคลื่อนไหวทั้งกายและใจในปัจจุบันขณะ เพื่อให้สามารถช่วยน้อมนำผู้ป่วยให้กลับมาอยู่กับกายและใจของตนเองในขณะปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญแห่งการเยียวยาความทุกข์ทั้งทางกายและใจ

คุณเกื้อจิต ยังเล่าประสบการณ์การดูแลผู้ป่วย แนะนำให้ผู้ดูแลวางตัวผู้ป่วยไว้ที่จุดศูนย์กลางของการดูแล มิใช่ญาติหรือบุคลากรในโรงพยาบาล หาโอกาสสร้างบรรยากาศให้ผู้ป่วยได้น้อมนำจิตใจไปเกาะเกี่ยวไว้กับคุณงามความดีหรือความสงบสันติ หมั่นบ่มเพาะความกรุณาในใจของผู้ดูแล เหล่านี้คือหัวใจสำคัญของการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม ความรู้เหล่านี้เป็นเพียงความรู้ตั้งต้นในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายของผู้ดูแลแต่ละคน ยังมิใช่การดูแลที่สร้างการมีส่วนร่วมและเป็นระบบ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยในอนาคตอันใกล้ที่กำลังจะเต็มไปด้วยผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้าย

ดังนั้นผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการสังฆะกับการดูแลผู้ป่วยจึงยังคงต้องทำการบ้านชิ้นใหญ่เพื่อส่งก่อนปิดเทอม นั่นคือ งานดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายที่สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถาบันศาสนา โรงพยาบาล และชุมชนที่เป็นระบบควรเป็นไปในรูปแบบใด อะไรคือกุญแจสำคัญในการทำงานส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเรื้อรังและระยะสุดท้ายเชิงระบบที่มีความยั่งยืน

เมื่อจบชั่วโมงแรกของการเรียน นักเรียนแต่ทีมต่างแยกย้ายกลับท้องถิ่นเพื่อเรียนรู้วิชาการดูแลผู้ป่วยในชั่วโมงต่อๆ ไปในห้องเรียนที่ใหญ่กว่า จากครูผู้ป่วยทั้งที่อยู่ในโรงพยาบาลและในชุมชน โดยจะได้รับรางวัลเป็นความสุขจากการดูแลปรนนิบัติคุณครูผู้สอนนักเรียนให้เห็นธรรมชาติของความจริงว่าด้วยชีวิต ความเจ็บป่วย และความตาย

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ระหว่างทางสองสาย

ไถ่ถามถึงแง่งามแห่งจิตวิญญาณ สืบสายจากบรรพกาลถึงปัจจุบันสมัย เป็นทางคดโค้งเคี้ยวไกลแสนไกล ความจริงมันสถิตนิ่งภายในตลอดมา
24 เมษายน, 2562

คนแปลกหน้าในตัวฉัน

ในยามที่ทุกคนตื่น ฉันพยายามฝืนยิ้ม ฝืนทำเหมือนทุกอย่างยังคงปกติ นี่ฉันเอง นี่แม่เอง แต่ฉันรู้ว่ามันไม่ใช่ คนที่อยู่ข้างในไม่ใช่ฉัน