parallax background
 

ปลอบเซลล์...เพี้ยง...หาย

ผู้เรียบเรียง: เทียนสี หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

“ตึ้ง...โอ๊ย!!!!!!” เสียงเก้าอี้ล้มฟาดพื้นตามมาด้วยเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของคุณวรรณา จารุสมบูรณ์ ... เพราะเก้าอี้ไม่ได้ล้มฟาดพื้นเพียงอย่างเดียวแต่ยังทับเอาเท้าของเธอ จนห้อเลือดและบวมเป่งจากการกระแทกอย่างแรง 

“โอ๋...โอ๋...ไม่เป็นไรนะๆ ไม่ต้องตกใจ เดี๋ยวก็ดีขึ้น” เธอพูดกับเท้าที่ห้อเลือดด้วยเสียงนุ่มนวล พร้อมกับเอามือลูบเบาๆ ราวกับแม่ปลอบโยนลูกยามได้รับบาดเจ็บ เธอทำเช่นนี้สักพักโดยไม่มีอาการตื่นตกใจกับอาการบวมและความเจ็บปวดที่กำลังเผชิญอยู่แม้แต่น้อย จนเมื่ออาการดีขึ้นเธอก็ลุกขึ้นมานำกิจกรรมอบรมต่อไป

คุณวรรณาเล่าให้ฟังว่านี่เป็นเทคนิคส่วนตัวที่เรียกว่าการ “ปลอบเซลล์” ซึ่งเธอประยุกต์มาจากวิธีจินตนาการเพื่อการเยียวยาที่ ดร.จอห์น แมคคอนแนล แนะนำ ดังที่กล่าวไว้ในฉบับที่แล้ว โดยจะใช้ในเวลาที่เจออุบัติเหตุหกล้ม ชน กระแทก ฯลฯ จนทำให้เกิดการฟกช้ำดำเขียว ปวด บวม เป็นหลัก เธอกล่าวว่าเวลาที่เกิดอุบัติเหตุชน กระแทก จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นเกิดอาการฟกช้ำ บวม และอาจเจ็บปวดจากการอักเสบ ซึ่งถ้าหากเรายิ่งร้องครวญครางด้วยความตกใจ หรืออาจก่นด่าด้วยความโกรธ ก็จะยิ่งทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายซึ่งมีชีวิตและอาจรับรู้ความรู้สึกจากจิตใจเรา เกิดอาการตกใจและโกรธตามไปด้วย และอาจวิ่งวุ่นขาดสติ จนทำให้อาการที่เป็นอยู่อาจรุนแรงขึ้นกว่าเดิม การปลอบเซลล์จึงเป็นทั้งการช่วยตัวเองและเซลล์ต่างๆ ในร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บให้มีสติด้วยในเวลาเดียวกัน

หากคุณได้รับบาดเจ็บจากการชน กระแทก จนเกิดอาการฟกช้ำ บวม ลองปลอบเซลล์และปฐมพยาบาลตามคำแนะนำนี้ดูค่ะ

ตั้งสติ ปล่อยวางความกังวลว่ามันจะเป็นอะไรมากหรือไม่ กลับมารับรู้ลมหายใจเพื่อให้คลายจากอาการตกใจเมื่อแรกเจออุบัติเหตุและเกิดความสงบขึ้นในใจ

ใช้มือลูบเบาๆ บริเวณที่ได้รับการกระแทก พร้อมกับพูดปลอบโยนเซลล์ โดยพูดออกเสียงให้ได้ยินเพื่อให้เขาตั้งสติ ใจเย็นๆ และไม่ตกใจกับอาการที่เกิดขึ้น พร้อมกับให้กำลังใจว่าเดี๋ยวก็จะดีขึ้นหรือเดี๋ยวก็หาย ไม่เป็นอะไรมาก ฯลฯ โดยพูดในรูปแบบที่เป็นตัวเราเอง พูดจากใจที่หวังดีจริงๆ

 

ปฐมพยาบาลโดยใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือถุงประคบเย็นที่มีขายตามร้านขายยาประคบบริเวณที่ถูกกระแทกทันที โดยประคบประมาณ ๑๐ นาที แล้วพักสัก ๒๐ นาที แล้วค่อยประคบต่อ ทำต่อเนื่องประมาณ ๒-๓ ครั้ง ทำซ้ำเป็นระยะใน ๒๔ ชั่วโมงแรก ความเย็นจากน้ำแข็งจะช่วยลดการไหลเวียนของเลือดทำให้ไม่เป็นรอยคล้ำมากนัก รวมทั้งยังลดอาการอักเสบ บวมได้ชะงัดนัก ผู้เขียนประทับใจในฤทธิ์ของน้ำเข็งมากๆ ก็ตอนที่หลานหกล้มแล้วมือกระแทกพื้นบวมเป่ง เมื่อใช้น้ำแข็งประคบได้สักพัก มือที่บวมอยู่ยุบลงให้เห็นกับตาราวปาฏิหาริย์ และวันรุ่งขึ้นก็ไม่อักเสบรุนแรง หายเร็วด้วยค่ะ 

หลังจาก ๒๔ ชั่วโมงไปแล้ว ค่อยใช้ถุงประคบร้อน หรือผ้าจุ่มน้ำอุ่นๆ บิดพอหมาด นำมาประคบรอยฟกช้ำครั้งละ ๒๐ นาที วันละ ๒-๓ ครั้ง เพื่อช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีและกำจัดเลือดที่คั่งอยู่ออกไป จะทำให้รอยฟกช้ำค่อยๆ จางลง

อีกวิธีหนึ่งจะใช้ดินสอพองผสมน้ำมะนาวให้เหลวกำลังดีทาบริเวณที่ฟกช้ำ บวม จะช่วยลดการบวมอักเสบและลดรอยฟกช้ำได้ดีเช่นกันค่ะ

       

แม้วิธีการปลอบเซลล์ที่คุณวรรณาประยุกต์ใช้นี้ดูเหมือนจะมีฐานมาจากความคิดความเชื่อส่วนตัวที่ว่าเซลล์สามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกได้ โดยไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ แต่หลายๆ ครั้งที่ได้ทดลองใช้วิธีการปลอบเซลล์ คุณวรรณารู้สึกว่าอาการฟกช้ำ บวม นั้นไม่รุนแรงหรือเจ็บปวดมากอย่างที่ควรจะเป็น (แม้ถูกกระแทกอย่างแรง) รวมทั้งช่วยให้ร่างกายเยียวยาตัวเองให้หายเร็วขึ้นด้วย ผู้เขียนคิดว่าอย่างน้อยที่สุดการพูดปลอบเซลล์ก็ช่วยเรื่องจิตใจได้แน่นอน คงเหมือนกับที่ปู่ย่าตายายเราเป่า “เพี้ยงหาย” เวลาที่ลูกหลานบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ เป่าแล้วเด็กน้อยก็รู้สึกดีที่มีคนห่วงใยดูแล ใจมาซะอย่าง อะไรๆ ก็ดีขึ้นว่าไหมคะ

ผู้เขียนเองเวลาที่ชน กระแทก หรือเกิดอุบัติเหตุกับร่างกาย หรือแม้แต่เวลาที่หลานๆ เกิดอุบัติเหตุ ก็มักพูดปลอบเซลล์ไปพร้อมๆ กับการปฐมพยาบาลเสมอๆ เมื่อครั้งที่หลานชายอายุ ๓ ขวบครึ่งตกจากบ้านชั้นสองลงมาขาหัก บวมเป่ง และมีเลือดออกจากแผลที่กระดูกทิ่มทะลุเนื้อออกมา ระหว่างทางที่พาไปโรงพยาบาลก็เอามือลูบเบาๆ บริเวณแผล และพูดปลอบไปตลอดทาง ซึ่งช่วยให้บรรยากาศที่ดูน่ากลัวจากอุบัติเหตุรุนแรงนั้นดูผ่อนคลาย และมีสติพอที่จะขับรถไปถึงโรงพยาบาลได้อย่างปลอดภัย จึงอยากชวนให้ลองใช้วิธีการปลอบเซลล์นี้ดูกันค่ะ

[seed_social]

22 กันยายน, 2560

ความตายไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ความกลัวตายเป็นความรู้สึกร่วมอย่างหนึ่งของมนุษย์ เรากลัวความเจ็บปวดทุกข์ทรมานและกังวลว่าจะต้องเผชิญกับวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
8 พฤศจิกายน, 2560

จากตะวันสู่ตะวัน

ตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ชาวไทยผูกพันใกล้ชิดกับสายน้ำมาโดยตลอด เพราะแม่น้ำเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญ อีกทั้ง ‘น้ำ’ เป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตทั้งในด้านการผลิตและบริโภค
23 เมษายน, 2561

สช. พร้อมเสนอ ๖ ยุทธศาสตร์ การสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต เป็นวาระระดับชาติ

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อพิจารณาร่าง "แผนยุทธศาสตร์ระดับชาติว่าด้วยการสร้างเสริมสุขภาวะในระยะท้ายของชีวิต พ.ศ. ๒๕๕๖-๒๕๕๙”