parallax background
 

ตายเพื่อจะเกิดใหม่

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

ในห้องขนาดใหญ่ที่มีเพียงแสงเทียนสลัว ชายและหญิงต่างวัยหลายสิบคนในชุดสำหรับ "คนตาย" ตามธรรมเนียมเกาหลีที่ทำมาจากต้นปอ ค่อยๆ ก้าวลงโลงศพที่ทำจากไม้ ฝาโลงค่อยๆ ปิดลง พร้อมกับเสียงค้อนที่ตอกลง

แท้จริงแล้วนี่ไม่ใช่พิธีศพ ฝาโลงถูกปิดเพียง ๕ นาที และการตอกค้อนลงบนฝาโลง เป็นเพียงการตอกแบบหลอกๆ เพื่อเป็นการสื่อบางสิ่งให้แก่ผู้ที่อยู่ในโลงทราบเท่านั้น

เป็นพิธีกรรมขั้นตอนสุดท้ายของ "มรณาสมาคม" (Coffin Academy) ของเกาหลีใต้ และ "นักเรียน" ยังต้องเขียนคำจารึกบนหลุมฝังศพ และถ้อยคำสรรเสริญคนตาย โดยต้องจ่ายเงินราว ๓๐ ดอลลาร์ สำหรับการสัมนาและพิธีกรรมนาน ๔ ชั่วโมง

นายจุง จุน วัย ๔๐ ปี ผู้ก่อตั้งกลุ่มบำบัด "มรณาสมาคม" กล่าวว่า การกระทำเช่นนี้อาจทำให้คนที่ไม่เข้าใจรู้สึกตกใจในตอนแรก แต่พวกเขาจะเข้าใจความหมายของการมีชีวิตอยู่ในที่สุด

ในห้องมืดที่มีเพียงแสงจากเทียนส่อง โลงศพถูกวางเรียงกันเป็นแถว แต่ละคนค่อยๆ ก้าวลงไปนอนในโลงศพอย่างช้าๆ ในท่านอนราบ และแขนแนบลำตัว ก่อนที่โลงศพจะถูกปิดลงเป็นเวลาราว ๕-๑๐ นาที

"ในอเมริกามีเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ในเฮติมีเหตุแผ่นดินไหว ชีวิตของเรามีความไม่แน่นอนและอาจถูกพรากไปเมื่อไหร่ก็ได้ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องตระหนักว่าชีวิตเรามีค่ามากเพียงใด" นายจุนยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ เขาเคยพยายามจะฆ่าตัวตายมาแล้วเกินกว่าหนึ่งครั้ง โดยหลังจากเรียนจบ เขาเริ่มจับธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ หลายตัว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้รู้สึกอับอาย และต้องการจบชีวิตตนเอง "ผมเคยพยายามกระโดดสะพาน แต่ล้มเหลว พยายามเชือดข้อมือตัวเอง แต่ก็พลาดอีก"

นั่นเป็นเรื่องไม่น่าแปลกใจนัก เกาหลีใต้ถือเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงที่สุดในบรรดา ๓๐ ชาติสมาชิกขององค์การเพื่อการพัฒนาและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ จากการสำรวจเมื่อปีค.ศ.๒๐๐๙ จนกระทั่งปัจจุบัน แม้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศอื่นๆ จะลดลง แต่ของเกาหลีใต้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง และสูงเป็นสองเท่าของสหรัฐฯ

แต่ที่สุดแล้วจุนก็ค่อยๆ คิดได้ว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีค่าเกินกว่าจะโยนทิ้งไปเฉยๆ และเป็นสาเหตุที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น

ในระหว่างการสัมนา นายโอ คุน ยัง ถ่ายรูปตนเอง โดยเบื้องหลังทำเป็นรูปดอกไม้สำหรับไว้อาลัยให้คนตายที่จะถูกนำไปเป็นรูปประดับโลงศพ เขากล่าวว่า ชีวิตเขาสิ้นไร้หนทาง เขาจึงมาที่นี่เพื่อช่วยเปิดทางให้มีชีวิตใหม่อีกครั้ง

นายโอกล่าวว่า จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตเขาเกิดขึ้นในระหว่างที่กำลังอ่านคำจารึกบนหลุมศพต่อหน้าคนอื่นๆ ในระหว่างที่กำลังเขียนมัน เขาเริ่มคิดถึงครอบครัว ภรรยาและลูก ว่าจะรู้สึกอย่างไรหากเขาตาย และตอนนั้นเองเขารู้สึกว่าตนเองกำลังจะร้องไห้

ต่อมา เมื่อได้ทอดร่างลงในโลงศพที่ปิดตาย นั่นทำให้เขาคิดได้ว่าควรจะเริ่มชีวิตใหม่ต่อไปอย่างไรต่อไป

ด้านนายกวาง มุน ลี เปิดเผยถึงความรู้สึกที่คล้ายคลึงกัน เขาเคยคิดว่า เหตุใดคนอื่นจึงดีกว่าตนเอง คนอื่นมีดีอย่างไร แต่หลังจากการเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ทำให้เขาตระหนักได้ว่าตนเองมีดีเช่นใด และจะดึงสิ่งเหล่านั้นออกมาได้อย่างไร

ผู้เข้าร่วมโครงการนี้ส่วนใหญ่ ถูกส่งมาจากองค์กรหรือบริษัท แต่นายจุง จุน เชื่อว่า โครงการนี้ทำให้บุคคลที่พยายามจะจบทุกสิ่งในชีวิตของตนเองรู้สึกสนใจได้

ขณะที่นายยู ซอบ ฮา จิตแพทย์และประธานสมาคมการป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งเกาหลี ตั้งข้อสงสัยว่า อาการป่วยทางจิตและการฆ่าตัวตายในเกาหลีใต้ ถูกปลูกฝังอยู่ในความคิดของคนเกาหลีว่า คนที่ต้องการความช่วยเหลือมักจะไม่ใช้วิธีเช่นนั้น และชี้ว่า คนที่ต้องการค้นหาความหมายให้แก่ชีวิตของตนเอง ก็สามารถลงไปนอนในโลงศพได้ แต่คนที่ต้องการฆ่าตัวตายจริงๆ แล้วยังจะต้องการไปร่วมพิธีกรรมเช่นนั้นหรือไม่

เรียบเรียงจาก “ตาย, เพื่อจะเกิดใหม่ วิธีการรับมือ ชีวิต "บัดซบ" แบบเกาหลี”
มติชน ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๔
[seed_social]
28 กุมภาพันธ์, 2561

แผนกให้กำลังใจ

“สาธุ...”  เสียงพยาบาลนับยี่สิบคนเปล่งคำอนุโมทนาพร้อมยกมือขึ้นประนม เป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุขที่อบอวลอยู่ในใจของทุกคน
14 พฤศจิกายน, 2560

ชุมชนแห่งความเอื้ออาทร (2) รูปธรรมจากแนวคิด

การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการตายอย่างสงบ จึงมีตัวละครเกี่ยวข้องที่มากกว่าผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล และแพทย์เท่านั้น แต่สมาชิกทุกคนในชุมชนมีบทบาทที่ต้องเล่นและมีส่วนรับผิดชอบต่อการตายในทางใดทางหนึ่งเสมอ
20 กุมภาพันธ์, 2561

ตามรอยซิเซลี

ซิเซลี ซอนเดอร์ส แพทย์หญิงชาวอังกฤษ ผู้บุกเบิกสถานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายสมัยใหม่จนกลายเป็นต้นแบบของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในปัจจุบัน แม้ว่าเธอจะเสียชีวิตไปนานเกือบสิบปีแล้ว แต่การอุทิศตัวเพื่อให้ผู้ป่วยมีความสุขและได้ตายดีของเธอ