parallax background
 

โปรดวางใจในตัวฉัน

ผู้เขียน: เวสารัช โทณผลิน หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ตอนที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ยังเป็นสีขาวโพลนก่อนที่ผมจะเขียนบทความนี้ แม่เดินเข้ามาทางด้านซ้าย วางของที่ถือมาลงบนโต๊ะเสียงดังปังแล้วถอนหายใจยาว ก่อนจะบ่นถึงพ่อที่ป่วยด้วยอาการสมองเสื่อมว่าพ่อทำกุญแจบ้านหายเป็นรอบที่สองแล้วสำหรับวันนี้ ผมละสายตาไปมองใบหน้าของแม่ นี่เป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่ผมได้เห็นความเหน็ดเหนื่อยและความท้อแท้ปนเปื้อนทั่วใบหน้าของแม่ ทุกสิ่งที่ปรากฏบนใบหน้าของแม่แทบไม่ต่างจากสิ่งที่ปรากฏอยู่ในดวงตาและใบหน้าของคนที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้ง 7 คนที่ผมตระเวณสัมภาษณ์มาตลอดสองสัปดาห์

คุณพ่อของผมอายุใกล้เจ็ดสิบมีอาการสมองเสื่อมอย่างชัดเจน หลงๆ ลืมๆ เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำของหายโดยการนำไปซุกใส่ในที่ที่มันไม่ควรจะอยู่เป็นประจำ ถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ และไม่เข้าใจตรรกะเหตุผลอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจได้โดยง่าย คนใกล้ชิดที่ดูแลพ่อก็คือ แม่ คู่ชีวิตที่อยู่ด้วยกันมานานกว่าสี่สิบปี แม้ว่าแม่จะไม่ใช่คนเดียวที่อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกับพ่อ แต่หน้าที่ในการดูแลพ่อตั้งแต่ตื่นไปจนถึงเข้านอนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ตกอยู่ที่แม่

ผู้หญิงวัยใกล้เจ็ดสิบที่ต้องทำงานบ้านเกือบทุกอย่าง ต้องดูแลหลานสาววัย 4 กับ 8 ขวบ แล้วยังต้องแบ่งเวลากับพลังงานมาดูแลสามีที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมนับว่าเป็นงานที่หนักหนาเอาการ ผมเคยถามแม่ว่าทำไมเธอถึงไม่จ้างผู้ช่วยหรือให้คนอื่นมาดูแลพ่อบ้าง แม่บอกกับผมสั้นๆ ว่า

“แม่ไม่ไว้ใจคนอื่นน่ะ"

คำตอบจากปากของแม่ทำให้ผมนึกไปถึงคำกล่าวของญาติผู้ป่วยทั้ง 7 คนที่บอกกับผมคล้ายคลึงกัน ในสังคมที่มีข่าวพี่เลี้ยงทำร้ายเด็ก คนดูแลผู้สูงอายุทำร้ายผู้สูงอายุผลิตออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ คงไม่แปลกอะไรถ้า 'ความไว้วางใจ' จะสัมผัสได้ยากยิ่งไม่ว่าจะภายในใจของแม่หรือภายในตัวของคนแปลกหน้าสักคนก็ตาม

“ช่วงนั้น ขอเพียงแค่พี่ได้เดินออกจากห้องที่คุณแม่นอนป่วยอยู่แล้วเข้าไปซื้อขนมในเซเว่นฯ กินก็พอแล้ว" พี่หญิง ฟรีแลนซ์วัย 48 ปีบอกกับผมแบบนั้น นี่คือข้อมูลที่สอดคล้องกับคนอีกหลายคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยในระยะที่ค่อนข้างหนักซึ่งต้องอุทิศชีวิตเกือบทั้งหมดให้แก่การดูแล ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าขอแค่ได้เดินออกมาจากบริเวณที่ต้องดูแลซึ่งต้องทำงานนี้ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อไปเปลี่ยนอิริยาบถด้วยการเดินเล่นในร้านสะดวกซื้อ กินขนม หรือเดินทอดน่องสัก 10 นาที ก็นับว่าสามารถเติมพลังให้แก่พวกเขาได้มากเพียงพอแล้ว

ท็อป ผู้จัดการปั๊มน้ำมันวัย 31 ที่ดูแลคุณแม่อายุ 58 ปีซึ่งป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายมา 4 ปีเต็มก็ยอมรับว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นงานที่หนักหนา แม้ว่าเขาจะมีทั้งคุณพ่อ น้องชาย และคนในบ้านสลับสับเปลี่ยนมาช่วยดูแลก็ตาม

"มันจะท้อมากครับ ถ้าคุณรักษาแล้วมันไม่ดีขึ้นน่ะ ก็มีแต่ทรมาน เจ็บปวด สภาพจิตใจสำคัญมาก คนที่เป็นคนไข้ก็เก่งมากพอแล้ว ส่วนคนที่ดูแลเนี่ย บอกตรงๆ ช่วงปีแรก ผม น้องชาย คุณพ่อผมไม่เข้าใจว่ามันอะไร ทำไมแม่ต้องหงุดหงิดตลอดเวลา ทำไมแม่เอาแต่ใจจัง ซึ่งบางทีผมก็หงุดหงิดจนทะเลาะกับท่านเลย"

"คุณแม่ผมเป็นหนักมาก ท่านต้องกินมอร์ฟีนเพื่อระงับปวด พอกินมอร์ฟีนนานๆ ความจำก็จะกลับไปกลับมา เขาจะจำว่าผมเป็นเด็กเหมือนในอดีต จำผมในแต่ละช่วงชีวิตไม่เหมือนกัน บางทีจำผมในช่วงวัยรุ่นที่ผมเกเร เนี่ยเป็นเด็กไม่ดี แล้วเขาก็ด่าผมรุนแรงถึงตัดแม่ตัดลูกเลย ตอนที่เขาป่วยน่ะ แล้วอีกห้านาทีสิบนาทีพอเขาดีขึ้น เขาก็กลับมาเป็นปกติ"

ทางด้านพี่เปิ้ล ที่ปรึกษาธุรกิจวัยหกสิบปีก็เล่าถึงประสบการณ์ที่เคยดูแลคุณแม่ที่ป่วยด้วยอาการอัลไซเมอร์ระยะสุดท้ายเมื่อสิบปีที่แล้วว่าเป็นช่วงชีวิตที่หนักหน่วงที่สุดเพราะเธอต้องทำงานไปด้วย ดูแลคุณแม่ไปด้วย

"แม่จะถ่ายหนัก ถ่ายเบาทุกที่ที่ท่านอยากถ่าย เพราะท่านเป็นอัลไซเมอร์น่ะ ท่านก็นั่งถ่ายแล้วก็จะเอาของไปใส่โถส้วมบ้าง เก็บผ้าเช็ดเท้าโยนใส่โถ แล้วก็จะเก็บของ เก็บนั่นใส่นี่ใส่นั่น”

ด้วยความที่ร่างกายกับจิตใจสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เมื่อร่างกายเสื่อม จิตใจก็พลอยชำรุดไปด้วย ผู้ป่วยอาการหนักหรือผู้ป่วยระยะสุดท้ายแทบทุกคนจึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ และนี่คือโจทย์ที่ท้าทายที่สุดสำหรับผู้ดูแล

"ช่วงที่แย่มากๆ คือ ช่วงที่แม่อาละวาด เป็นช่วงที่เขา aggressive น่ะ เขาจะตบเรา เขาตบทุกคนแหล่ะ ใครเผลอปุ๊ปเขาตบ ตบแรงมากจนเห็นดาวเลยนะ" พี่เปิ้ลบอก

เช่นเดียวกับ เฟื่อง พนักงานบริษัท วัย 36 ปี ที่บอกว่าสิ่งที่เธอรู้สึกว่าทำให้เหน็ดเหนื่อยที่สุดก็คือการที่ต้องรองรับอารมณ์ของผู้ป่วยซึ่งพอไม่สบายกายก็จะมีอาการโมโหจนเหวี่ยงอย่างรุนแรงทั้งต่อว่าด่าทอและขว้างปาข้าวของ นอกจากนั้นเธอยังต้องรองรับอารมณ์ของญาติพี่น้องคนอื่นที่มักจะบ่นว่าเธอดูแลผู้ป่วยได้ไม่ดีพออีกด้วย

“บอกเลยว่าช่วงที่ยากลำบากไม่ใช่ช่วงที่เขาอาการทรุดหนัก แต่คือช่วงที่ต้องฟังคำคนบ่นของญาติพี่น้อง ทำไมดูแลไม่ดี ทำถึงความดันขึ้น ทำไมไข้ขึ้น ทำไมทำกับข้าวจืด ทำไมใช้ของไม่ดี การอดทนต่ออารมณ์ของผู้ป่วยเองก็หนักหนาพออยู่แล้วนี่ต้องมาเจออารมณ์ของญาติพี่น้องอีก สิ่งที่ต้องการเป็นอย่างมากเลยคือ กำลังใจและความเข้าใจจากญาติพี่น้อง จากคนรอบข้าง"

น่าสนใจที่แม้จะต้องเผชิญกับงานที่หนักหนาสาหัสขนาดนี้ แต่ทั้งเจ็ดคนก็แทบจะไม่ยอมให้อาสาสมัครเข้าไปช่วยแบ่งเบาภาระของตัวเองเลย

หรือว่าหากต้องชั่งน้ำหนักเทียบวัดระหว่างความเหน็ดเหนื่อยท้อแท้ กับ ความไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกที่สองจะมีมากกว่าเสียจนไม่ว่าจะเหนื่อยหรือท้อแค่ไหนพวกเขาก็จะไม่มีวันเปิดประตูให้คนอื่นเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องนี้

ถ้าความไว้วางใจ คือ ความรู้สึกสำคัญที่ยังขาดพร่องระหว่างตัวผู้ป่วยเอง ญาติผู้ป่วย กับ อาสาสมัครที่ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูง คนรู้จัก หรือ อาสาสมัครทั่วไป คำถามสำคัญก็คือ ทำอย่างไรที่เราทุกคนจะช่วยกันเพิ่มพูนความไว้วางใจระหว่างกันให้มากขึ้นจนถึงจุดที่สามารถเปิดประตูต้อนรับอาสาสมัครเข้าไปช่วยแบ่งเบาได้

จากการสัมภาษณ์ญาติที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยตัวเองทั้ง 7 คน เราสามารถแบ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นที่ญาติผู้ป่วยจะมีต่ออาสาสมัครได้ดังนี้

หนึ่ง คือ ปัจจัยในเรื่องความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคนั้นๆ และความรู้ในเรื่องการดูแลผู้ป่วยเบื้องต้น ตั้งแต่อาหารการกิน การพักผ่อน การเคลื่อนไหวร่างกาย ความสะอาด และรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ

สอง คือ ปัจจัยในเรื่องของจิตใจ โดยเฉพาะความเมตตา กรุณา(compassion) ความอดทนข่มกลั้น ความใจเย็น ความใจกว้าง ความเข้าอกเข้าใจอย่างลึกซึ้ง (empathy) ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ญาติผู้ป่วยมีความกังวล เพราะถ้าไม่ใช่คนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้จริงๆ ก็ยากที่จะดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้

นอกจากปัจจัยทั้งสอง พี่หญิงก็บอกว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาด้วย ถ้าเป็นช่วงที่อาการยังไม่ทรุดหนักการขอให้มีคนมาช่วยดูแลอาจเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า แต่ถ้าเป็นช่วงเวลาสำคัญ เช่น อาการหนักมากหรือใกล้จะถึงวาระสุดท้ายแล้วจริงๆ ช่วงเวลานั้นผู้ช่วยหรืออาสาสมัครก็คงไม่สำคัญเท่ากับคนใกล้ตัว

“พี่ว่าอยู่ที่อาการของผู้ป่วยเป็นหลักเลย ถ้าผู้ป่วยมีอาการที่ไม่เซนซิทีฟมากในเรื่องอาหารการกิน หรือการลุกไปไหนมาไหน อันนี้ก็ฝากดูแลกันได้สำหรับคนที่ไว้ใจ แต่ถ้าอาการผู้ป่วยหนักมากพี่ว่าไม่ไหวนะ มันยากมากเลย”

พี่หญิงพูดก่อนจะเล่าถึงวาระสุดท้ายของคุณแม่ซึ่งจากไปในอ้อมแขนของเธอ แต่แล้วตัวเธอก็เผชิญกับความละเอียดอ่อนที่มีทั้งเรื่องอารมณ์ความรู้สึก วัฒนธรรม สังคม ประเพณี และอื่นๆ จนท้ายที่สุด หมอก็ต้องปั๊มหัวใจเพื่อให้แม่ของเธอ 'หัวใจเต้น' อีกครั้ง เพื่อรอให้ญาติพี่น้องคนอื่นๆ เข้ามาสั่งเสียและบอกลาเป็นครั้งสุดท้าย

"พี่ว่าช่วงเวลาสุดท้ายควรจะเป็นเวลาของคนสนิทที่สุดที่จะดูแลกันน่ะ ไม่ว่าจะเป็นญาติ ลูก พ่อ สามี ต้องใกล้ที่สุด แค่วงที่ใกล้ที่สุดแค่วงเดียวน่ะ มันไม่ควรจะไกลมากกว่านั้น”

ในขณะที่ท็อปเสนอความคิดว่าหากมีหน่วยงานหลักที่รับรองในเรื่องนี้โดยตรงก็จะช่วยสร้างความอุ่นใจให้แก่ญาติพี่น้องที่ต้องเปิดประตูต้อนรับอาสาสมัครไม่น้อย

"ถ้าถามผม อาสามัครเนี่ย ต้องเชื่อถือได้พอสมควรเลยนะ เพราะคนไข้มะเร็ง อารมณ์เขาสุดๆ แน่นอน ว่าคุณต้องเจอ ขนาดผมเป็นลูก ผมต้องใช้เวลาปรับตัวพอสมควร กว่าจะทนกับอะไรหลายๆ อย่างได้ มะเร็งแต่ละขั้นคุณต้องเจอน้ำเหลือง น้ำหนอง การขับถ่าย มันยากกว่าคนไข้ทั่วไปด้วยซ้ำ ถ้ามีองค์กรหรือมีใครรับรอง มาจากสถานที่ที่มีการเทรน ที่น่าเชื่อถือ มันน่าสนใจมากเลยนะ มันเป็นโครงการที่ดีมากๆ แต่ต้องเป็นอะไรที่ make sure กับญาติและคนที่เป็นมะเร็งว่าจะไม่โดนทำร้าย”

จากการสำรวจประเทศไทยเป็นประเทศที่มีคนทำงานจิตอาสามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เพราะโดยพื้นฐานคนไทยเป็นคนโอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น แต่สำหรับเรื่องที่ละเอียดอ่อนเช่นนี้ ลำพังจิตใจที่อยากช่วยอาจเป็นแค่พื้นฐานเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรความรู้และทักษะความสามารถในการที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี

แต่สถานการณ์ที่ผ่านมา แม้กระทั่งอาสาสมัครที่มีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายก็ยังได้รับความไว้วางใจที่น้อยเกินกว่าที่เขาจะได้เข้าไปทำหน้าที่นี้

หรือแท้จริงแล้ว ความรู้ความสามารถ กับ ความไว้วางใจเป็นสองสิ่งที่ต้องเพิ่มพูนให้มากขึ้นไปพร้อมๆ กัน

แล้วเราต้องทำอย่างไรล่ะจึงจะเกิดความไว้วางใจต่อกันได้อย่างแท้จริง

ความไว้วางใจ หรือ trust เป็นสิ่งที่น่าสนใจตรงที่มันเป็นทั้งคุณสมบัติของเราและเป็นทั้งความสามารถของเราด้วย

ในแง่คุณสมบัติ หมายถึงการที่เราเป็นคนที่คนอื่นไว้วางใจได้ ผู้คนเชื่อถือในตัวเรา ส่วนในแง่ของความสามารถก็คือ ตัวเราสามารถไว้วางใจผู้อื่นได้หรือไม่

ดร.มาร์กาเร็ต พอล นักจิตวิทยาเขียนบทความไว้ในนิตยสาร Psychology today ว่าไม่ว่าจะมองความไว้วางใจทั้งในแง่คุณสมบัติหรือในแง่ความสามารถ ทั้งสองต่างก็เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ กล่าวคือคนที่มีคุณสมบัติเป็นคนที่ผู้คนส่วนใหญ่ไว้วางใจก็มักจะมีความสามารถในการไว้วางใจในตัวผู้อื่นสูงด้วยเช่นกัน

ที่น่าสนใจก็คือ ดร.มาร์กาเร็ต บอกว่าความไว้วางใจก็ไม่ต่างอะไรจากกล้ามเนื้อ นั่นคือเราสามารถฝึกฝนเพื่อให้มันแข็งแรงและเติบโตได้

มื่อพิจารณาความไว้วางใจว่าเราทุกคนต่างก็ฝึกฝนได้แล้วนั้น ผมก็นึกถึง Frances Frei ศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีและการจัดการการดำเนินงานที่ Harvard Business School ซึ่งขึ้นไปพูดหัวข้อ How to build (and rebuild) trust บนเวที ted talk เธอบอกว่าความไว้วางใจเกิดจากองค์ประกอบสามอย่างที่สำคัญนั่นคือ ความเป็นเนื้อแท้ ซึ่ง หมายถึงคุณต้องเป็นตัวจริงที่คิด พูด และทำทุกสิ่งสอดคล้องกันทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้อื่น การมีหลักการที่ชัดเจนเป็นแก่นในการดำเนินชีวิต และการมีความสามารถที่จะเข้าอกเข้าใจผู้อื่นอย่างลึกซึ้ง(empathy)

ทั้งสามสิ่งเกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติทางจิตใจ เชื่อมโยงกับการเจริญงอกงามทางจิตใจ การเป็นเนื้อแท้คือการเป็นและยอมรับในทุกสิ่งที่ตัวเองเป็นซึ่งเป็นงานที่เราต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตคล้ายการลอกคราบ การมีหลักการก็เป็นดั่งเข็มทิศที่ช่วยนำทางให้เราก้าวเดินไปในทิศที่เอื้อต่อการเกิดความไว้วางใจ ส่วน empathy นั้นเป็นสิ่งที่เราทุกคนมีอยู่แล้ว แต่น้อยคนที่จะตระหนักรู้และมุ่งมั่นที่จะให้พลังแก่มัน

สำหรับชายหนุ่มที่ต้องดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายอย่างท็อปก็มีประสบการณ์ตรงในเรื่อง empathy หลังจากที่ทะเลาะกับแม่ในเรื่องที่แม่โมโห เกรี้ยวกราดและเอาแต่ใจมาตลอด คุณหมอที่ดูแลแม่ก็บอกกับเขาว่า

“ให้นึกถึงว่าตัวคุณเดินเตะโต๊ะตลอดเวลาน่ะ คุณทนได้ไหมล่ะ คุณแม่คุณต้องรู้สึกแบบนั้นตลอดเวลา”

ท็อปอธิบายถึงความรู้สึกนี้ว่า "สุดท้ายเรามาเข้าใจจริงๆ ว่าถ้าเป็นเราก็คงไม่ไหว ผมเข้าใจสิ่งที่คุณแม่เป็น ตอนที่คุณหมอบอกผมแบบนั้น วันนั้นเป็นวันที่ผม get เลย ผมไม่เคยเข้าใจว่าแม่ผมปวดขนาดไหน พอคุณหมอบอกว่าคุณลองเตะโต๊ะดูสิว่าคุณรู้สึกยังไง มันเจ็บอย่างนั้นตลอดน่ะ ทำให้ผมรู้เลยว่าเราต้องปรับเรื่องอื่นหมดเลยนะ ผมยอมให้แม่ผมงี่เง่า สปอลย์ เต็มที่เลย คุณแม่ตัดสินใจยังไงก็อย่างนั้นเลยครับ สภาพจิตใจของคนที่ดูแลคุณต้องเข้าใจเลยน่ะ ว่าอารมณ์ประมาณไหน คุณถึงจะดูแลเขาได้นาน”

ท็อปกล่าวกับผมในวันที่หัวใจของเขาเปิดกว้างกว่าเดิม กว้างจนเขามองเห็นเรื่องที่เคยใหญ่โตในอดีตเล็กจ้อยจนเขาสามารถที่จะมองข้ามไปได้ และผมเชื่อมั่นว่านี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทุกคนเมื่อผ่านเรื่องนี้ไปได้แล้ว

“ถ้ามีหน่วยงานรับรองคนที่จะมาช่วยดูแลแม่โอเคไหม” ผมถามแม่เพราะอยากจะรู้ว่าสิ่งนี้พอจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ท่านสบายใจขึ้นได้ไหม
“โอ้ย ไม่มีหรอก ไม่มีที่ไหนจะมารับประกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกลูก”

ถ้ามองจากมุมของคนที่เป็นห่วงใครสักคนมากๆ แม่ก็อาจจะพูดถูก แต่ที่ผ่านมามีอาสาสมัครจิตอาสาในภาคการรักษาพยาบาลและดูแลผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 8,000 คน(สำรวจเมื่อปีพ.ศ. 2551) ส่วนใหญ่จะขึ้นตรงกับโรงพยาบาล โดยมีทีมแพทย์ พยาบาลคอยทำหน้าที่ให้ความรู้และฝึกฝนทักษะในการดูแลผู้ป่วยให้แก่อาสาสมัครที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่เคยมีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยที่เป็นคนใกล้ตัวมาก่อน

นอกจากนั้นยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่ผ่านการอบรมจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขซึ่งกระจายตัวอยู่ตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศอีกด้วย

ถ้าผู้ป่วยระยะสุดท้ายพักอยู่ในโรงพยาบาล โรงพยาบาลจะมีหน้าที่ในการอนุญาตว่าอาสาสมัครคนนั้นสามารถเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยได้หรือไม่

ส่วนถ้าเป็นผู้ป่วยที่พักอยู่กับคนในครอบครัว คนในครอบครัวนี่แหล่ะที่มีหน้าที่ในการอนุญาตว่าจะยอมให้อาสาสมัครคนนั้นมาช่วยเหลือดูแลไหม ซึ่งนอกจาก อสม. แล้วก็สามารถตรวจสอบกับองค์กรใหญ่ๆ เช่น กระทรวงสาธารณสุข สภากาชาดไทย ที่จะมีการจัดอบรมนักบริบาลเพื่อมาช่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ด้วยซึ่งการตัดสินใจยอมเปิดประตูให้อาสาสมัครเข้ามาช่วยเหลือนี่อยู่ที่ครอบครัวของผู้ป่วยโดยตรง

ใช่ครับ ไม่มีใครที่สามารถรับรองสิ่งใดได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก

แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็คือ การเสริมสร้างความไว้วางใจเป็นเรื่องของการตัดสินใจของเราที่จะไว้เนื้อเชื่อใจธรรมชาติ ถ้าเราไม่ค่อยไว้วางใจธรรมชาติ ไม่เชื่อมั่นในทุกสิ่งที่ปรากฏว่ามันคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว ความไว้วางใจก็ยากที่จะเกิดขึ้น

และเมื่อประตูบ้านของเราไม่เปิดกว้างให้ใครสักคนเข้ามาช่วยเหลือ ประตูบานเดียวกันก็จะปิดกั้นไม่ให้แม่ของผมสามารถเดินออกไปซื้อขนมในเซเว่นฯ ได้ด้วยเช่นกัน

[seed_social]
12 เมษายน, 2561

อุดรอยรั่วหลังคามาดูแลผู้ป่วย

แสงแดดที่ร้อนแรงมาหลายวัน พลันมีมวลเมฆดำทาบบนท้องฟ้า เป็นสัญญาณเตือนของการเปลี่ยนฤดูกาล ย่างเข้าสู่ฝนเดือนห้าแล้ว ทำให้หวนรำลึกย้อนไปเมื่อสองปีก่อนที่น้ำหลากมหานทีจู่โจมแทบทั่วทุกสารทิศ ยังขยาดความกลัว
18 เมษายน, 2561

อากง จะบอกอย่างไรดี

การบอกความจริงให้อากง (ปู่ของตนเอง) ทราบว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดี จะบอกอย่างไรดี เพราะกลัวอากงรับไม่ได้ และลูกๆ อากงก็ไม่ต้องการให้ท่านทราบว่าป่วยเป็นอะไร
25 เมษายน, 2561

สะสางสิ่งคาใจ ปลดเปลื้องภาระติดค้างเพื่อคนอยู่ข้างหลัง

เรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายเพื่อให้ตายสงบ คือการได้สะสางสิ่งค้างคาใจจากสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ในช่วงที่มีชีวิตร่วมหรือเกี่ยวข้องกับผู้อื่น อาจมีเรื่องกระทบกระทั่งทำให้ผิดใจกัน