parallax background
 

แรงอธิษฐาน

ผู้เขียน: เสกสรรค์ นันทนวคุณ หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

สายลมเย็นยามดึกปะทะเข้ากับใบหน้าและผิวกายของข้าพเจ้าขณะขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางมาปฏิบัติงาน ทำให้รู้สึกได้ถึงความสดชื่นและผ่อนคลายความง่วงงุนไปได้มาก เนื่องจากเพิ่งลุกจากที่นอนเพื่อมาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยในฐานะพยาบาล อาชีพที่นาฬิกาของชีวิตนั้นมักจะเดินไม่ค่อยเหมือนกับใครๆ

และทันทีที่ข้าพเจ้าเลี้ยวเข้าสู่หน้าหอผู้ป่วย ภาพที่ปรากฏก็คือมีญาติของผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ ต่างก็นั่งบ้างยืนบ้างและมีสีหน้าท่าทางเหมือนวิตกกังวลอะไรบางอย่าง ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยปกติเท่าไรนักสำหรับโรงพยาบาลเล็กๆ ในยามวิกาลเช่นนี้

ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้รับคำตอบขณะรับเวรว่า ผู้คนทั้งหมดนั้นเป็นญาติของผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้ายรายหนึ่งซึ่งมาถึงโรงพยาบาลเมื่อเวลาประมาณสามทุ่ม โดยแพทย์เจ้าของไข้ให้ทำใจกลับมารักษาแบบประคับประคองที่บ้านมาเป็นเวลาประมาณห้าเดือนแล้ว และสองสัปดาห์ที่ผ่านมารับประทานอาหารได้น้อยมากมีอาการอ่อนเพลีย แต่เหตุผลสำคัญที่ญาติตัดสินใจนำผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาครั้งนี้ก็คือ “ผู้ป่วยต้องการมาตายที่โรงพยาบาล”

ลุงแดงเป็นชายไทยสูงอายุผิวคล้ำรูปร่างเล็กผอมแกร็น เบ้าตาลึกโหลแลเห็นซี่โครงและปุ่มกระดูกต่างๆ ที่โผล่ขึ้นมาได้ชัดเจน ส่วนหน้าท้องนั้นโตตึงลักษณะการหายใจเบาเร็วและตื้นดูไม่สุขสบาย แต่สติสัมปชัญญะยังดีรับรู้ได้ทุกอย่างยังคงพูดคุยตอบคำถามต่างๆ ได้เมื่อข้าพเจ้าทำการประเมินสภาพร่างกายและความต้องการ

“ลุงครับ ตอนนี้ลุงกำลังไม่สบายและอ่อนเพลีย สิ่งที่ร่างกายของลุงต้องการมากคือการพักผ่อน และไม่ควรคิดวิตกกังวลอะไรพยายามทำใจสบายๆ คิดถึงแต่บุญกุศล คิดถึงแต่สิ่งดีๆ ตลอดจนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ลุงเคารพนับถือจิตใจจะได้ไม่เศร้าหมอง แล้วอะไรๆ ก็จะดีตามมาเอง” ข้าพเจ้าให้กำลังใจและแนวทางการทำจิตใจให้เกิดสมาธิ จดจ่ออยู่กับสิ่งดีงาม อันเป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะต้องทำให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ป่วยในระยะสุดท้ายทุกๆ คน เพราะจะช่วยให้ความทุกข์ลดลงไม่ทุรนทุรายกระสับกระส่าย รวมถึงสามารถเป็นสุขและสงบได้จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

“ขออนุญาตพูดคุยเกี่ยวกับแผนการดูแลผู้ป่วยร่วมกันหน่อยนะครับ” ข้าพเจ้าเอ่ยขึ้นทันทีที่เดินไปถึงบริเวณที่ญาติส่วนใหญ่ของลุงแดงนั่งอยู่และกล่าวเปิดการสนทนา และกล่าวต่อเมื่อได้รับการตอบรับ

“ผมอยากจะพูดคุยเกี่ยวกับการดูแลประคับประคองจิตใจของผู้ป่วยในระยะสุดท้าย เพื่อที่จะปฏิบัติกันถูกต้องเมื่อเวลานั้นมาถึง ซึ่งนั่นหมายถึงการจากไปอย่างสงบอันเป็นคุณภาพชีวิตที่เราทุกคนต้องการมี แต่ผมไม่ได้หมายถึงว่ามันจะเกิดเร็วๆ นี้หรือเมื่อใดนะครับ เพราะทุกๆ อย่างก็คือความไม่แน่นอน”

จากนั้น ข้าพเจ้าก็ได้อธิบายแนวทางการดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายแบบวิถีพุทธตามแนวทางของเครือข่ายพุทธิกาเจ็ดขั้นตอน อันเริ่มตั้งแต่การเข้าใจและยอมรับในตัวผู้ป่วย การช่วยให้ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น การทำให้จิตใจของผู้ป่วยได้จดจ่อกับสิ่งที่ดีงาม การปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ เช่นภารกิจต่างๆ หรือความขุ่นเคืองโกรธแค้นน้อยเนื้อต่ำใจ การปล่อยวางทุกสิ่งตั้งแต่ความห่วงใยทั้งหลายทั้งปวงจนแม้กระทั่งตัวเอง การสร้างบรรยากาศที่สุขสงบเพื่อให้จิตสุดท้ายที่จะออกจากร่างเป็นจิตที่เป็นกุศลรวมถึงการขออโหสิกรรมการกล่าวคำอำลาและคอยบอกทาง

ซึ่งระหว่างการสนทนาภรรยาบุตรตลอดจนญาติของผู้ป่วยก็ให้ความร่วมมือในการรับฟังเป็นอย่างดี จนกระทั่งใกล้จบพี่สวยซึ่งเป็นบุตรคนโตก็กล่าวถามขึ้นว่า

“แล้วระหว่างพ่อกับลุงเพชรใครจะไปก่อนกัน” ลุงเพชรที่พี่สวยกล่าวถึงนั้นก็คือคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายอีกรายหนึ่ง ซึ่งกำลังนอนรอวาระสุดท้ายแห่งชีวิตอยู่ที่บ้านในละแวกใกล้เคียงอยู่เช่นกัน

“อันนี้ผมไม่สามารถบอกได้จริงๆ ครับ เพราะทุกอย่างล้วนตั้งอยู่บนความไม่แน่นอน กำหนดอะไรไม่ได้เลย” ผมกล่าวตอบอย่างจริงใจและน้อมระลึกถึงกฎแห่งพระไตรลักษณ์คือ อนิจจัง-ทุกข์ขัง-อนัตตา ว่าเที่ยงแท้แน่นอนที่สุดไม่มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะสามารถหลุดรอดพ้นจากกฎเกณฑ์นี้ไปได้

“หมอๆ ช่วยไปดูพ่อให้หน่อยดูแกไม่ค่อยดีเลย” ลูกคนหนึ่งของลุงแดงวิ่งมาเรียกที่ห้องทำงาน ข้าพเจ้ารีบเดินไปที่เตียงผู้ป่วยทันที พร้อมกับเหลือบดูนาฬิกาที่ฝาผนังซึ่งขณะนั้นบอกเวลาสองนาฬิกากับห้าสิบนาที ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ ๒๐ นาทีข้าพเจ้าก็เพิ่งเดินมาตรวจเยี่ยมอาการ โดยขณะนั้น อาการทั่วไปของผู้ป่วยก็ยังปกติ ซึ่งก็มีอาการกระสับกระส่ายไม่สุขสบายบ้างตามธรรมดาของผู้ป่วยระยะนี้ทั่วๆ ไป แต่คราวนี้ลุงแดงกลับนอนสงบนิ่งไม่มีการเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนใด มีเพียงทรวงอกเท่านั้นที่ขยับเขยื้อนให้เห็นว่ายังมีการหายใจ

“ความดัน ๘๐/๕๐ ชีพจร ๙๒ ค่อนข้างเบา” น้องพยาบาลคู่เวรแจ้งให้ทราบถึงค่าของสัญญาณชีพที่วัดได้ และเมื่อข้าพเจ้าก้มดูที่เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงก็ปรากฏว่าค่าของชีพจรใกล้เคียงกัน แต่ปริมานออกซิเจนที่วัดได้เพียง ๖๙ นั้นแสดงให้เห็นถึงภาวะพร่องออกซิเจนอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่ลุงแดงได้รับออกซิเจนทางจมูกตั้งแต่แรกรับแล้ว

“ลุงน่าจะเหลือเวลาอยู่กับเราได้อีกไม่นานแล้วให้ทุกคนเข้ามาอยู่เป็นกำลังใจใกล้ๆ และพยายามอยู่ในอาการที่สงบ” ข้าพเจ้ากล่าวให้ทุกคนทราบพร้อมทั้งเปิดโอกาสให้มีการขออโหสิกรรมล่ำลารวมถึงให้พี่สวยกล่าวคำภาวนา “พุทโธๆ ” ตามจังหวะการหายใจส่วนข้าพเจ้าเปิดเพลง “จุฬามณี” เบาๆ เพื่อหวังว่าดวงจิตสุดท้ายของลุงแดงจะได้มีที่ยึดเหนี่ยวและน้อมนำไปสู่สุคติภูมิได้ในที่สุด จากนั้นช่วงระยะเวลาประมาณ ๑๐ นาที สัญญาณชีพจากเครื่องวัดที่ปลายนิ้วก็ค่อยๆ ลดลงจนไม่แสดงค่าใดๆ แต่ดวงตาทั้งสองข้างของลุงแดงก็ยังคงลืมค้างอยู่คล้ายครึ่งหลับครึ่งตื่น และแม้ว่าป้านงผู้เป็นภรรยาจะพยายามใช้มือลูบเปลือกตาให้ปิดลงอยู่หลายครั้งก็ไม่สำเร็จ

“ติ๊ดๆ ๆ ๆ ” อยู่ๆ เสียงจากเครื่องวัดปริมานออกซิเจนที่ยังคงเปิดค้างไว้ดังขึ้นอีกครั้ง หลังจากไม่มีสัญญาณใดๆ มานานกว่าสองนาทีพร้อมๆ กับค่าชีพจรที่รัวเร็วนับได้ถึง ๑๔๙ ส่วนค่าของออกซิเจนอยู่ที่ ๖๘ และขณะที่ทุกคนเงยหน้าขึ้นมามองตากันอยู่นั้น สิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็ปรากฏขึ้นตรงหน้านั่นคือ ดวงตาทั้งสองข้างของลุงแดงที่ลืมค้างอยู่นั้นเปลือกตาก็ค่อยๆ เบิกกว้างขึ้นๆ จนกระทั่งกว้างที่สุดเท่าที่จะกว้างได้ซึ่งทุกคนล้วนตกใจ แต่เมื่อข้าพเจ้าจ้องมองลงไปดวงตาทั้งสองข้างก็พบว่ามันช่างแวววาวและใสกระจ่างไม่แตกต่างไปจากดวงตาของทารกน้อยแรกเกิดแต่อย่างใด ก็เข้าใจได้ทันทีว่าลุงแดงกลับมาอีกครั้งเพื่อบอกลา

“พ่อๆ” เสียงของพี่สวยดังขึ้นเมื่อเห็นเหตุการณ์ตรงหน้าและสิ่งที่ทุกคนเห็นพร้อมๆ กันอีกครั้งก็คือเปลือกตาทั้งสองข้างของลุงแดงมีการขยับตอบรับติดกันสองครั้งแล้วก็ค่อยๆ หรี่ลงจนมาลืมค้างอยู่เท่าเดิมเหมือนจะรอมือของภรรยาคู่ชีวิตมาปิดให้และเมื่อป้านงลูบเปลือกตาลงอีกเพียงแค่ครั้งเดียวคราวนี้ดวงตาทั้งคู่ก็ปิดสนิทลงอย่างง่ายดาย รวมถึงไม่มีสัญญาณการมีชีวิตใดๆ เหลืออยู่อีกเลย ลุงแดงจากไปอย่างสงบงามมีศักดิ์ศรีและสมความตั้งใจ

“ถ้ามีสติกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ มีการเตรียมไม่ต่อสู้ว่าไม่อยากตาย ตายโดยวัย อายุโรค สมัครใจตายให้แตกดับตามธรรมดาสังขาร ถ้าอย่างนี้ไม่เรียกว่าตายแต่เป็นนิพพาน คือดับความยึดมั่นถือมั่นส่วนถ้าตายโดยดิ้นรนไม่อยากตายนั่นคือตายโหง เพราะไม่อยากตายแต่ก็ต้องตาย” นี่คือการตายดีในทรรศนะของหลวงพ่อพุทธทาส แล้วพวกเราล่ะ อธิษฐาน (ตั้งใจ) กันบ้างหรือยังว่าจะตายกันอย่างไร

[seed_social]
25 เมษายน, 2561

โรคพุ่มพวง กับชีวิตที่ไม่ห่วงอะไรอีกแล้วของคุณต้อย ณัทยา

ไม่น่าเชื่อว่า ผู้หญิงวัยกลางคนที่นั่งอยู่ข้างหน้าตรงนี้ เมื่อหลายเดือนก่อน จะป่วยหนักจนแพทย์แผนปัจจุบันถึงกับเอ่ยปากว่า ธาตุไฟของเธอแตก ระบบอวัยวะภายในไปหมดแล้ว
22 เมษายน, 2561

วิถีแห่งจิตวิญญาณ

“ถามว่าทำอย่างไร ถ้าพี่ตอบเป็นข้อๆ เป็นขั้นเป็นตอนเลย ก็จะไม่เห็น How to ขอเล่าเรื่องการดูแลคนไข้ให้ฟังสักคนดีกว่า แล้วตอนท้ายเราอาจได้วิธีการประเมิน และเข้าถึงความต้องการของคนไข้ได้บ้างนะคะ”
19 เมษายน, 2561

ตำราเล่มใหญ่คือคนไข้

“พี่ทำงานแบบนี้ตั้งแต่ยังไม่มีการสั่งการ” ระยะเวลายาวนานที่พี่เกื้อ หรือคุณเกื้อจิตร แขรัมย์ ทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ทำให้ได้พบคนไข้และญาติจำนวนมากซึ่งมีความต้องการต่างกัน