parallax background
 

แยกกายดูจิตคลายเจ็บ

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล และคณะ หมวด: How to


 

เรานั่งจนเจ็บมากๆ แต่ก็ไม่ลุก แล้วก็หลุดจากความเจ็บไปแป๊บนึง แล้วพอมันหลุดไปแป๊บหนึ่งเราก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างที่อาจารย์บอกเลย

คำถาม

เป็นผู้พยายามปฏิบัติระยะเริ่มต้น ก็เคยปฏิบัติบ้าง อาศัยฟังจากครูบาอาจารย์บ้าง จากซีดีบ้างก็มีพระอาจารย์บางท่านพยายามสอนว่าเวลานั่งสมาธิแล้วเจ็บปวด เราก็ให้ทนไป แล้วถึงจุดหนึ่งแล้วก็ให้แยกจิตออกมาดูกายแล้วก็จะคลายเจ็บ แล้วก็พยายามทำ ในชีวิตเคยประสบอย่างนั้นครั้งเดียว ว่าเรานั่งจนเจ็บมากๆ แต่ก็ไม่ลุก แล้วก็หลุดจากความเจ็บไปแป๊บนึง แล้วพอมันหลุดไปแป๊บหนึ่งเราก็รู้สึกว่ามันเป็นอย่างที่อาจารย์บอกเลย พอคิดได้อย่างนี้ก็กลับมาเจ็บเหมือนเดิม ครั้งสองครั้งในชีวิต ผมก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยากมาก ที่อาจารย์ว่ามีคนปวดมากแล้วก็เอาจิตมาไว้ที่ไหล่แล้วก็หายปวด อาจารย์ครับในฐานะที่เราเป็นแพทย์แล้วมีเวลาไม่มาก เรามีวิธีแยกกายดูจิตอย่างไร ?

พระไพศาล 

วิธีดูจิตหรือการการเจริญสติเป็นเรื่องไม่ง่าย ถ้าไม่ได้ฝึกฝนมาก่อน จะทำได้ยาก อาตมาจึงพูดเป็นเรื่องท้าย ๆ   ในเบื้องต้น สิ่งที่น่าทำก่อนก็คือ การให้กำลังใจเขา  ทำให้เขารู้สึกดี เช่น ให้ความรักความเมตตาแก่เขา ความมีน้ำใจของเราเป็นสิ่งแรกที่ผู้ป่วยสามารถสัมผัสได้  ถ้าเริ่มต้นตรงนี้ก่อน ก็จะช่วยให้เขาคลายความกังวล จากนั้นก็ควรแนะนำให้เขาลองสังเกตความเจ็บความปวดดู แต่ไม่ต้องถึงกับแยกกายแยกจิตออกมา

เพราะศัพท์นี้อาจทำให้ดูเป็นเรื่องยาก แต่ให้เขาสังเกตดูกาย ดูปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นกับกาย เช่น ลมหายใจ กาเรต้นของหัวใจ  รวมทั้งสังเกตดูอารมณ์ความรู้สึกของตน ทีแรก เขาอาจจะยังทำได้ไม่ต่อเนื่อง  หรือทำไม่ค่อยได้ เช่น ทำไปสักพักก็ไปปักตรึงอยู่กับความเจ็บปวดนั้น  แต่หากบ่อยๆ ก็จะทำได้คล่องขึ้น  อย่างไรก็ตามอาตมาคิดว่าต้องใช้หลายวิธี อย่างคนบางคน เขามีความโกรธเกลียดกังวล เขามีความทุกข์ใจ  เราก็ต้องช่วยเขาหาด้วยว่าเขามีอะไรอยู่ในใจหรือเปล่า  เพราะถ้ามีความกังวล ความเครียด ก็จะทุกข์มากขึ้น ปวดมากขึ้น 

เดี๋ยวนี้คนมีความเครียดความกังวลมาก ทำให้เกิดอาการอย่างหนึ่ง คือใจสั่น หายใจไม่เต็มที่ หนึ่งในสี่ของคนที่ไปหาหมอ จะมีอาการพวกนี้มาก เกิดจากความกังวลเรื่องหนี้สิน เรื่องลูก เรื่องสามี  ถ้าเราเข้าใจและพยายามคุยกับเขา คุยกับเขาไม่ใช่แต่เรื่องอาการทางกาย แต่คุยเรื่องอื่นด้วย เหมือนกับที่อาตมาเล่าถึงหมอที่ขอให้คนไข้พูดเรื่องชีวิตของเขา แทนที่จะพูดแต่เรื่องอาการ บางทีชีวิตเขาอาจมีปมบางอย่าง ซึ่งทำให้เจ็บปวดมากขึ้น  เป็นความเจ็บปวดเพราะปัจจัยที่เรียกว่า จิตสังคม (psychosocial) ไม่ใช่ กายภาพ (physical) เลยก็ได้ ตรงนี้ถ้าเราทำให้เขาคลายความรู้สึกดังกล่าวก็จะช่วยได้มาก คือมันมีหลายวิธี แต่อยากจะแนะว่าการดูความเจ็บปวดก็ต้องทำเป็นขั้นเป็นตอนไป อย่างที่คุณหมอวิธานแนะนำคนไข้ เริ่มจากการให้คะแนนความกลัว  วิธีนี้ทำให้จิตคอยสังเกตความกลัว ไม่จมอยู่กับความกลัว  แต่เราเป็นผู้ดูมัน แล้วก็ลองยอมรับมัน วิธีนี้ใช้กับความปวดได้ด้วย แต่ความปวดจะยากกว่า การดูความกลัวกับการดูความปวดนั้นต่างกัน ดูความกลัวอาจจะง่ายกว่าดูความปวด  เพราะความปวดมีแรงดึงดูดมากกว่า

ที่มา: วารสาร ธรรม(ะ)ชาติบำบัด ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๕๕

[seed_social]
24 มกราคม, 2561

ขึ้นฉ่าย-กระเทียม ลดความดัน ป้องกันโรคหลอดเลือด

สองปีที่ผ่านมา คนในครอบครัวของผู้เขียนสองคนต้องเผชิญกับโรคหลอดเลือดสมองตีบ คนหนึ่งคือพ่อ อยู่ๆ ก็เกิดอาการแขนซ้ายอ่อนแรง ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด ส่วนอีกคนหนึ่งคือน้องเขย
18 เมษายน, 2561

ติดค้างในใจที่ไม่ได้อยู่กับลูกในวาระสุดท้าย

สำหรับการบรรเทาความรู้สึกติดค้างใจนั้น อาตมาอยากแนะนำให้คุณเขียน จดหมายถึงลูก บอกเล่าถึง ความรู้สึกของคุณทุกอย่างที่มีต่อเขา ไม่ว่าความรัก ความห่วงหาอาลัย รวมทั้งความรู้สึกผิด หากคุณอยากจะขอโทษเขา
19 เมษายน, 2561

แม่ป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองตีบ ยังทำใจไม่ค่อยได้ ควรวางใจอย่างไร

แม่ของกระผมต้องประสบกับอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้ร่างกายส่วนขวาของแม่อ่อนแรง ชา ไม่สามารถทำกิจกรรมได้อย่างปกติ