parallax background
 

แม่อุ้ยสม

ผู้เขียน: อัจฉรา บุญสุข หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

“ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องตาย ตายเป็นรุ่นๆ ถึงจะรักและห่วงลูกหลานเพียงใด เมื่อถึงเวลาก็ต้องจากไป ชีวิตเป็นเรื่องของแต่ละคนที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เอาเอง”

เป็นคำพูดของแม่อุ้ยสมที่เอ่ยขึ้นในวงสนทนาระหว่างลูกๆ เมื่อ ๔ ปีก่อน ซึ่งปกติมักจะเปิดวงสนทนาระหว่างเครือญาติพูดคุยเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเรื่องการเตรียมตัวก่อนตาย

แม่อุ้ยสม บุญสุข อายุ ๙๑ ปี มีโรคประจำตัวเป็นถุงลมโป่งพอง ต้องทานยาขยายหลอดลมมานานหลายปี ด้วยร่างกายที่เล็ก บอบบาง หากจริงๆ แล้วเป็นบุคคลที่มีจิตใจเข้มแข็ง เนื่องจากมีพื้นฐานการดำเนินชีวิตเป็นลูกคนโตของพ่ออุ้ยจู แม่อุ้ยดี วุฒิรังษี มีพี่น้องท้องเดียวกันทั้งหมด ๖ คน ชีวิตแม่อุ้ยสมจึงเป็นหลักให้ครอบครัวตั้งแต่เยาว์วัย จนเมื่อถึงคราวครองเรือนกับพ่อก๋องแก้ว บุญสุข คู่ชีวิตคู่ทุกข์คู่ยากที่ร่วมกันก่อร่างสร้างตัวมาด้วยกัน พร้อมกับการเลี้ยงดูลูกๆ ให้เติบใหญ่และมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ จำนวน ๕ คน

ตลอดชีวิตของแม่อุ้ยสมได้ทุ่มเทให้กับการดูแลครอบครัว สร้างฐานะ ด้วยความพากเพียร ตามหลักคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจริญสติภาวนาพุทธโทเป็นกิจวัตร ดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท

ในวงสนทนาร่วมกันระหว่างลูกๆ มักพูดคุยเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเรื่องความตายของบุคคลที่แม่อุ้ยสมเคยได้ดูแลในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นการทบทวนเรื่องความตายในสายตระกูลสู่แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการเตรียมรับความตายตามความปรารถนาของแม่อุ้ยสม การพูดคุยเรื่องความตายของครอบครัวจึงกลายเป็นเรื่องปกติ อย่างเช่น การดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การขอรับการดูแลที่บ้านแทนการไปนอนในโรงพยาบาล การเตรียมอุปกรณ์ที่จะต้องใช้เมื่อหมดลมหายใจ เช่น เสื่อ (สาดต๋องขาวห่อศพ) ด้ายสายสิญจน์ เป็นต้น

เมื่อปลายเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ แม่อุ้ยสมป่วยด้วยอาการหอบ หายใจลำบากจนต้องใส่ออกซิเจนตลอดเวลา ลูกๆ ช่วยกันดูแลอย่างใกล้ชิด ประคับประคองทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ภายในบ้านหลังเล็กๆ ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้ใบหญ้าที่แม่อุ้ยคุ้นเคย ท่ามกลางความรักความอบอุ่นของลูกหลานและเพื่อนบ้านในชุมชน หลายๆครั้งที่แม่อุ้ยสมมีอาการที่บ่งบอกถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เหมือนจะเตือนให้ตนเองและผู้คนใกล้ชิดได้รับรู้และเตรียมรับความตาย การน้อมนำจิตระลึกถึงพระรัตนตรัยผ่านการภาวนาพุธโท ระลึกถึงความดีงามที่เคยได้กระทำ นิมนต์พระรับการถวายต้นเงินที่บ้าน การให้พรแก่ลูกหลาน ขอขมา อโหสิกรรม ทุกอย่างล้วนกระทำด้วยความรักความเมตตาที่มีต่อกันและกัน เพื่อนำพาทุกสิ่งทุกอย่างให้ผ่านพ้นไปด้วยดี

ครั้งหนึ่ง ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ขณะที่แม่อุ้ยกำลังมีอาการเหมือนหลับ มือเท้าเขียวและเย็น หายใจติดขัด ติ่งหูหดสั้น มีเส้นเลือดดำที่คอโป่งตึง ในนิมิตของแม่อุ้ยสมมีคนบอกให้แม่อุ้ยจับตุงที่มีลวดลายระยิบระยับสวยงาม รู้สึกถึงความเย็นและนุ่มมือเมื่อจับต้อง พักหนึ่งก็หลุดลอยไปจากมือ จึงตื่นจากนิมิต และได้บอกเล่าเรื่องราวสู่ลูกหลาน ชีวิตแม่อุ้ยจึงยืนยาวอีกช่วงหนึ่ง เมื่อได้มีการพูดคุยกับพระอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านบอกว่าเป็นนิมิตอันดี น่าจะเป็นนิมิตจากการทำบุญถวายตุงปอยหลวงซึ่งแม่อุ้ยมักจะทำทุกครั้งเมื่อมีโอกาส

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๕ แม่อุ้ยสมตื่นขึ้นมารับประทานอาหารเช้าได้มากกว่าปกติ ทั้งที่เมื่อคืนที่ผ่านมามีเสมหะติดในลำคอตลอดทั้งคืน หายใจลำบากมากกว่าทุกครั้ง แม่อุ้ยสมลุกนั่ง บอกว่า “ถึงเวลาจะต้องไปแล้ว พระเขาก็ว่าดี ขออโหสิกรรม ไม่ต้องห่วง มีคนมารับแล้วเป็นครูบา ไม่กลัวแล้ว”

หลังจากนั้นแม่อุ้ยสมนอนหลับตา บอกให้เอาสายออกซิเจนออก ลมหายใจค่อยๆแผ่วเบาลงและจากไปอย่างสงบ เวลา ๘.๔๕ น. ท่ามกลางลูกหลานที่ส่งสายตาและกำลังใจให้อย่างอบอุ่น

การตายของแม้อุ้ยสม ถึงจะเป็นการตายตามธรรมชาติ ตามอายุขัยแต่ก็เป็นกรณีตัวอย่างของการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจที่บ้าน แทนการดูแลในโรงพยาบาล ได้สัมผัสความรักความเอื้ออาทรของลูกหลานและผู้คนในชุมชน ขอภาวนาตั้งจิตอธิฐานน้อมนำความดีงามทั้งหลายทั้งปวงที่ได้กระทำมาทั้งในอดีต ปัจจุบันจงเป็นพละปัจจัยนำส่งให้ดวงวิญญาณของแม่อุ้ยสม บุญสุข สู่สุขคติ ในชาติภพที่ดีงามด้วยเทอญ..

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

ขอบคุณความเจ็บป่วย ขอบคุณความตาย

สำหรับเราความตายเป็นเหมือนของขวัญ เราโชคดีที่ความตายยังให้โอกาส ทำให้เรากลับมามองชีวิตเราว่าที่คุณใช้มานั้นไม่ใช่แล้วนะ ถึงได้มีความเจ็บป่วยมาเตือน
24 มกราคม, 2561

แมวมอง มองแมว

อยากลองเป็นแมวดูบ้าง ระหว่างที่กำลังจินตนาการตามที่คิด ก็เผลอหลับไปเมื่อลืมตาขึ้นอีกที ก็มีความรู้สึกแปลกๆ แบบบอกไม่ถูก เรากลายเป็นแมวไปแล้วจริงๆ
28 พฤศจิกายน, 2560

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า