parallax background
 

แผ่เมตตา - จินตนาการ
แปรพลังสู่การเยียวยา (๑)

ผู้เขียน: เทียนสี หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

วิธีการคลายเครียดด้วยลมหายใจตามคำแนะนำของ ดร.จอห์น แมคคอนแนล ซึ่งจะช่วยให้เราหลุดพ้นจากวงจรความคิดความรู้สึกวิตกกังวลอันเป็นสาเหตุของความเครียด เพราะเกิดสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบันขณะ ทำให้จิตใจสงบนิ่ง ผ่องใส มีพลัง สามารถนำสตินั้นมารับรู้ ทำความเข้าใจ และยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งมองเห็นลู่ทางที่จะทำได้ ณ ขณะนั้นอย่างเป็นจริงมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อจิตนิ่ง มีสติ ความเมตตาจะผุดขึ้นในใจอย่างเป็นธรรมชาติ และเราสามารถนำพลังเมตตานี้มาเยียวยาตัวเองได้อีกด้วย

ดร.จอห์นแนะนำว่า เราสามารถบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจได้ด้วยการแผ่เมตตาสม่ำเสมอหลังจากนั่งสมาธิ โดยใช้เวลาประมาณ ๕ - ๑๐ นาที อาจใช้บทสวดแผ่เมตตาทางศาสนาก็ได้ แต่ไม่ควรสวดแบบท่องตามไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่ซาบซึ้งกับความหมาย หรือจะคิดคำแผ่เมตตาของตัวเองเพื่อให้ตรงกับความคิดความรู้สึกของเรา ซึ่งคำพูดอาจจะแตกต่างกันไปตามเป้าหมาย วัตถุประสงค์ หรือสิ่งที่เราตั้งใจในแต่ละโอกาส ขึ้นกับสถานการณ์หรือภาวะจิตใจของเรา ณ ขณะนั้น คำแผ่เมตตาที่ดีควรมีลักษณะดังนี้ค่ะ

เป็นคำที่มีความหมายสากล สั้น เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน แผ่ให้ตัวเองและผู้อื่นได้ง่ายๆ
เป็นสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเองและผู้อื่น เช่น ให้มีความสุข เป็นอิสระจากความทุกข์ ให้มีเมตตาในใจ เป็นต้น
เป็นคำที่ให้พลัง สามารถเยียวยาตนเอง เยียวยาผู้อื่นได้

พึงระลึกไว้เสมอว่าเราแผ่เมตตาเพื่อให้ความเมตตาผุดขึ้นในใจเรา ไม่ใช่เพื่อขอให้ได้บางสิ่งที่ต้องการ เช่น ขอให้รวย ขอให้ถูกหวย ฯลฯ และควรแผ่เมตตาให้กับตัวเองก่อน จากนั้นค่อยแผ่ขยายไปยังคนใกล้ชิดที่เรารัก บุคคลที่แวดล้อม รวมถึงคนที่เราไม่ชอบหรือไม่ชอบเรา กล่าวคือ แผ่ไปยังทุกๆ คนได้อย่างไม่มีเงื่อนไขจะดีที่สุด เพราะเมื่อเขาเป็นสุข เขาก็จะไม่สร้างความทุกข์ให้เรา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ใจเราจะไม่เป็นทุกข์เพราะเขาอีกต่อไป

และเนื่องจากดร.จอห์นเห็นประโยชน์ของการมีสติตระหนักรู้ว่า ช่วยให้เขามีความรู้สึกต่อเรื่องต่างๆ ดีขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะฉะนั้นเวลาแผ่เมตตา เขาจะให้ความสำคัญกับความตระหนักรู้ คำแผ่เมตตาของเขาจึงกล่าวว่า “ขอให้ผมมีความตระหนักรู้อย่างลึกซึ้ง ขอให้การตระหนักรู้ของผมนำไปสู่การเยียวยา ทำให้เกิดความสุข มีสันติในใจ มีความสมานฉันท์กับคนอื่น และขอให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นกับคนอื่นๆ เพื่อนๆ คนรู้จัก และกับคนที่ผมไม่ชอบ”

หรือในกรณีที่มีความเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับตัวเอง ดร.จอห์นกล่าวถึงคำแผ่เมตตาไว้ในหนังสือ คลายเครียดด้วยลมหายใจ เยียวยาความเครียดด้วยวิถีพุทธแปลโดยคุณสุรภี ชูตระกูล ว่า “ขอให้มีสติอยู่กับปัจจุบัน ฉันได้ละวางจากจิตที่ชอบยึดมั่นถือมั่น หรือชอบต่อต้านอาการของโรคที่เป็นอยู่ จะหายหรือไม่หาย สันติสุขจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ฉันยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างที่มันเป็นอยู่ และยอมรับทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น ฉันขอแผ่เมตตาให้กับ (ระบุชื่อคนอื่นๆ ) ขอให้พวกเขาได้ปล่อยวางจากจิตที่ชอบยึดมั่นถือมั่น จิตที่ชอบต่อต้าน และมีความเบิกบานกับความสงบเย็นเกิดตามมา”

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นของผู้เข้าร่วมอบรม “การฝึกฝนทางจิตวิญญาณเพื่อการดูแลตนเองสำหรับผู้ทำงานเยียวยา” ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำแผ่เมตตาที่น่าสนใจ เธอกล่าวว่า “ขอให้ความตระหนักรู้นำพาความรัก ความเมตตาต่อตัวเรา เพื่อให้เราสามารถเป็นอิสระจากความทุกข์ สามารถให้อภัยตนเองและผู้อื่น แล้วน้อมนำความสุข ความสงบ มาสู่ตัวเอง เพื่อนฝูง และศัตรู”

การฝึกฝนประจำวันเราอาจฝึกสติด้วยการนั่งสมาธิก่อนประมาณ ๒๐ นาที จากนั้นจึงแผ่เมตตาอีก ๕ - ๑๐ นาที หรือหากวันไหนมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้น เราอาจเจริญสติสั้นๆ ๒ - ๓ นาที โดยมีสติอยู่กับความรู้สึก และใช้เวลาอีกครู่หนึ่งแผ่เมตตา จากนั้นค่อยกลับเข้าไปจัดการกับปัญหาก็ได้ หรืออีกวิธีหนึ่งเป็นการทำสมาธิและแผ่เมตตาเพื่อการเยียวยาโดยเชื่อมโยงเข้ากับการหายใจ ซึ่งดร.จอห์นแนะนำว่าเราอาจภาวนาสั้นๆ ว่า หายใจเข้า ... “มีสติ” หายใจออก ... “ขอให้เซลล์ทุกเซลล์มีสุขภาพแข็งแรง” หรือ “ขอให้เซลล์แต่ละเซลล์ได้รับการเยียวยา” หรือ “ขอให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน” การฝึกฝนสม่ำเสมอเช่นนี้จะช่วยให้สติเข้มแข็งและบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจ รวมทั้งช่วยดึงพลังดีๆ ที่มีอยู่ในตัวเราให้ออกมาได้ เป็นการแปรเปลี่ยนความเคยชินเดิมๆ ที่เมื่อมีปัญหาแล้วก็คิดจนเครียด มาเป็นการนิ่ง มีสติ และมีปฏิกิริยาทางบวกต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และนำพลังงานนั้นมาเยียวยาตนเอง ซึ่งจะทำได้อย่างไรต้องอดใจรอติดตามต่อตอนที่ ๒ ในฉบับหน้าค่ะ

[seed_social]
25 เมษายน, 2561

เราตายอย่างไร

มีความเข้าใจผิดมาตลอดว่าการแพทย์ การรักษาพยาบาลนั้นสามารถ "ช่วยชีวิต" (life-saving) แท้จริงสิ่งที่ทำได้ คือ การชะลอความตายหรือการยื้อชีวิตได้เท่านั้น เพราะท้ายสุดเราทุกคนต้องตาย
19 เมษายน, 2561

ใจเดียว

ชายหนุ่มเงยหน้าขึ้นหลังอ่านเรื่องราวจบลงด้วยน้ำตาคลอ ทำให้ฉันเริ่มรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจในสิ่งที่ทำลงไป “พี่ต้องขอโทษด้วยถ้าเรื่องราวของเอกและเมรวมถึงครอบครัว ที่พี่เขียนทำให้เอกรู้สึกสะเทือนใจ มีเนื้อหาส่วนไหนที่เอกรู้สึกว่ามันไม่ใช่ หรือต้องแก้ไขหรือเปล่า”
4 เมษายน, 2561

เครือข่ายชีวิตสิกขา

หลังจากที่นิสิตปริญญาโทภาคจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ สาขาชีวิตและความตาย รุ่นแรกของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ผ่านการเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลศิริราชในปี ๒๕๕๐