parallax background
 

เราจะเสื่อมสลายไปด้วยกัน

ผู้เขียน: เวสารัช โทณผลิน หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ชายชราหันไปถามหญิงสาวที่นั่งข้างๆ ว่าเอารถจอดไว้ที่ไหนเป็นครั้งที่สิบแปดในเวลายี่สิบนาทีที่ทั้งสองนั่งรอพยาบาลเรียกเข้าไปพบแพทย์ นั่นหมายความว่าเขาหันมาถามลูกสาวด้วยประโยคเดิมแทบจะทุกสองนาที ความหงุดหงิดรำคาญทำให้เธอเลือกที่จะนั่งก้มหน้าอยู่กับโทรศัพท์มือถือแล้วปล่อยความคิดจมดิ่งไปในนั้น พอเงยหน้าขึ้นมาอีกทีเธอก็พบว่าพ่อไม่ได้นั่งอยู่ข้างๆ แล้ว

ห่างจากจุดที่หญิงสาวนั่งไปประมาณสองร้อยเมตร ชายชราเดินเรื่อยเปื่อยไปตามทาง เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลลอบมองเขาไม่วางตาก่อนจะเดินตามไปห่างๆ เมื่อชายชราหลบมายืนที่มุมแคบๆ บริเวณบันได พนักงานทำความสะอาดที่ได้รับสัญญาณจากเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปสอบถามจนรู้ว่าเขาปวดปัสสาวะเธอจึงพาชายชราไปเข้าห้องน้ำและยืนรอเขาอยู่ด้านหน้า เมื่อเขาเสร็จธุระแล้วจึงเดินออกมา ทั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานทำความสะอาดตรวจสอบกับพยาบาลจนรู้ว่าเขาคือใครจึงพาชายชราเดินกลับไปพบลูกสาวที่ยืนรออยู่กับพยาบาลไม่ไกลจากตำแหน่งที่เขาเดินหลงไป

ไม่เพียงแค่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล พนักงานทำความสะอาด และพยาบาลที่รับรู้ว่าชายชราคือผู้มีภาวะสมองเสื่อม แต่พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานต้อนรับ พนักงานร้านสะดวกซื้อ คนขี่มอเตอร์ไซต์รับจ้างที่อยู่หน้าโรงพยาบาลต่างก็รับรู้และมีทักษะในการดูแลคนกลุ่มนี้ เมื่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมเดินทางมาถึงทุกคนจะได้รับการประสานให้รับรู้ร่วมกันอย่างพร้อมเพรียงเพื่อที่จะช่วยเหลือดูแลพวกเขาได้อย่างเต็มที่

ทั้งหมดคือภาพที่เกิดขึ้นในหัวของผม หลังจากที่ฟังผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง สิรินทร ฉันศิริกาญจน หรือ อาจารย์อ้อย ผู้ก่อตั้งสมาคมผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมซึ่งทำงานคร่ำหวอดในแวดวงการดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมมายาวนานเล่าให้ฟังถึงภาพอนาคตที่เธอกำลังสร้างให้เกิดขึ้นจริง

"คุณดูไม่ออกหรอกค่ะว่าใครเป็นผู้มีภาวะสมองเสื่อมบ้าง เพราะเขาก็ดูเหมือนปกติ แต่การคิดกับพฤติกรรมของเขาได้เปลี่ยนไปแล้ว”

คำพูดของอาจารย์อ้อยคล้ายแรงกระตุกเบาๆ ให้ผมกลับมาที่ห้องประชุมที่เรากำลังนั่งสนทนากันอยู่ ผมเหลือบมองผู้คนโดยรอบแทบจะอัตโนมัติหลังจากฟังเธอพูดประโยคเมื่อสักครู่

“ตอนนี้เราใช้คำว่า ผู้มีภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่ผู้ป่วย เพราะเรารักเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งซึ่งมีภาวะบางอย่างแตกต่างจากเรา เหมือนกับที่สมัยก่อนเราเห็นคนพิการ หรือ เห็นคนติดเชื้อHIV แล้วเราก็จะรู้สึกแบบนึง แต่ตอนหลังเราจะรู้สึกว่าเขาก็คือคนซึ่งมีภาวะเช่นนั้นอยู่ ซึ่งเขาก็อยู่ร่วมในสังคมกับเราได้"

การอยู่ร่วมกันในสังคมคือประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการเริ่มต้นสร้างชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นโปรเจคล่าสุดที่อาจารย์อ้อยเป็นผู้ขับเคลื่อน เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตระหนักแล้วว่าการพาผู้มีภาวะสมองเสื่อมไปพำนักที่ศูนย์รับเลี้ยงดูเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสภาพจิตใจ เป้าหมายของชุมชนนี้คือทำอย่างไรที่จะให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวและอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีความสุขและยาวนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

"เรากำลังช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้คนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้จะได้รับการดูแลอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้มีการตระหนักรู้เรื่องสมองเสื่อมและเป็นมิตรต่อกัน (Dementia Awareness and Friendliness) นี่คือพูดในเรื่องของการรักษา แต่ถ้าเราไม่อยากให้เขาเป็นต้องทำอย่างไรที่จะลดความเสี่ยงในเรื่องสมองเสื่อมได้ ซึ่งเราก็ทำเหมือนกัน เราให้การวินิจฉัยและดูแล สมาคมผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมทำเรื่องสนับสนุนผู้ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่เรียกว่า support dementia carers ทำอย่างไรที่คุณจะได้รับประโยชน์จากตรงนี้ แล้วเราจะจัดการเกี่ยวกับข้อมูลภาวะสมองเสื่อม และมีหลายที่ที่ทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ทั้งศิริราช และจุฬาฯ ก็ช่วยกันทำอยู่”

“ตอนนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ไม่ได้อยู่เฉย เขาเห็นปัญหานี้มาก่อนเรา เขาจึงจัดให้สมองเสื่อมเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ตั้งแต่เมื่อหลายปีที่ผ่านมา เขา Report มาตั้งแต่ ค.ศ. 2012 แล้วก็มีประชุมของ WHO จนเริ่มมี world dementia council เกี่ยวกับเรื่องสมองเสื่อม แล้วจะมี report มีการประชุมของรัฐมนตรีครั้งแรกของWHO ที่เอารัฐมนตรีที่ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมมาคุยกัน เพื่อให้มีการบริหารจัดการทั้งหลายที่ต่อยอดจากการประชุมนั้น”

“ถามว่าคนมีภาวะสมองเสื่อมมีเยอะไหม ประเทศเรามีประชากร 60 กว่าล้านคน มีคนที่มีภาวะสมองเสื่อมประมาณ 6 แสนคน" อาจารย์อ้อยหยุดพูดแล้วส่งยิ้มให้ผมก่อนจะพูดต่อ

"แต่คนเดียวก็เกินพอแล้วล่ะค่ะ”

คนมีภาวะสมองเสื่อมคนเดียวก็เกินพอแล้วเหรอ แสดงว่าภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อสังคมไม่ใช่น้อย

แล้วมันร้ายแรงขนาดไหนกันล่ะ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง สิรินทร ฉันศิริกาญจน

ใบหน้าของ 'ปิติพร สิริทิพากร' ก็ดูมีความสุขดีนี่นา

ปิติพรคือพยาบาลที่ดูแลผู้สูงอายุซึ่งแม่ของเธอมีภาวะสมองเสื่อมมานานกว่าสิบปีแล้ว

"คุณแม่เริ่มเป็นสมองเสื่อมตั้งแต่อายุ 67 ปี ตอนนั้นท่านยังเป็นแม่ค้าขายของอยู่ในตลาด อยู่มาวันหนึ่งที่ท่านเริ่มทอนเงินผิด ลูกค้าก็บอกว่า เจ๊ๆ ทอนเงินผิด แม่ก็บอกว่าอะไร ชั้นเป็นแม่ค้ามาหลายสิบปี ไม่เคยทอนผิด แม่ก็ไปต่อว่าว่าลูกค้าโกงเขา”

ผมเริ่มสังเกตเห็นตะกอนความเหนื่อย ความเครียด และความทุกข์ที่เผยออกมาผ่านเรื่องราวที่เธอเล่า แม้ปัจจุบันสิ่งเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เข้มข้นเช่นในอดีตแต่ความรู้สึกเหล่านั้นเคยเกิดขึ้นกับผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้แน่นอน

"แล้วแม่ก็เริ่มหุงต้มอะไรที่ตลาดแล้วลืมปิดแก๊ส ไฟก็เริ่มไหม้ คนที่ตลาดกลัวตลาดไหม้เขาเลยโทรให้เราพาแม่ไปหาหมอเถอะ เพราะดูมีอาการเยอะ แต่พอรู้ว่าเป็นกว่าจะให้ท่านเลิกขายของได้ก็ใช้เวลาเกือบสามปีเลยนะคะ"

"สุดท้ายเราต้องพาคุณแม่จากลำพูนมาอยู่ที่กรุงเทพฯ คุณแม่ก็อยู่ไม่ได้ค่ะ เพราะเราอยู่ที่หอพัก พอเขาตื่นมาพบว่าที่นี่ไม่ใช่บ้านของเขา เขาก็จะเดินออกไปวันละหลายๆ รอบ เราเข้าเวรดึกมาบอกแม่ขอนอนแป๊บนึง พอตื่นมาแม่ก็หายไปแล้ว แล้วในตลาดวังหลังไม่ได้หากันง่ายๆ แม่จะเดินข้ามถนนเข้าไปใน รพ. ศิริราช เขาก็ถามแม่ว่ามาหาใคร แม่บอกลูกเป็นพยาบาลที่นี่ พี่พยาบาลที่รู้จักเราเขาก็จะพาไปที่วอร์ดที่ตึกที่เราทำงานอยู่ หัวหน้าก็โทรมาบอกว่าแม่เดินมาที่นี่นะ”

สถานการณ์ของปิติพรเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ที่ต้องพาแม่ไปเข้าเวรด้วยเพราะเป็นห่วง แต่แม่ก็ไม่ได้อยู่เฉย เดินไปเปิดประตูห้องนั้นห้องนี้ทั่วโรงพยาบาล เดินหลงไปขึ้นแท็กซี่เพื่อจะไปบ้านญาติแต่ก็จำไม่ได้ เมื่อย้ายไปอยู่ที่บ้านก็พยายามออกจากบ้านโดยการทั้งทุบประตู ปีนรั้ว พังกระจก จนสุดท้ายปิติพรจึงตัดสินใจพาแม่ไปพักอยู่กับป้าที่จังหวัดลำพูนตามเดิม

“แต่ก็ไม่จบหรอกค่ะ เพราะพอตื่นมามันไม่ใช่บ้านแม่ เขาก็จะไปที่ตลาด เพราะบ้านคุณป้าห่างจากตลาดกิโลเมตรเดียว แต่วันนึงไปประมาณยี่สิบกว่ารอบ บางวันไม่ได้ไปเวลาปกติด้วย ตีหนึ่ง ตีสองก็ไป ท่านบอกไปตลาดแล้วจะไปเปิดร้านแล้ว ลูกค้ามารอเต็มแล้ว พอเราให้เหตุผลว่ายังไม่มีใครมานะแม่ก็ไม่ฟัง ไม่ใช่ไม่จริง เราก็ต้องปล่อยให้ท่านไป”

"แล้วถ้าเดินไปช่วงกลางวันระหว่างบ้านป้าไปตลาดจะต้องเดินผ่านบ้านคนนั้นคนนี้ ท่านเดินผ่านไปเจอรองเท้าท่านก็เก็บมา แล้วจะไม่เอาสองข้างนะ จะถือมาข้างเดียว กุญแจรถบ้าง อะไรที่ใครวางเอาไว้ เพราะที่ต่างจังหวัด เขาจะไม่ค่อยเก็บของกันอยู่แล้ว นาฬิกา แว่นตา กุญแจบ้าน กุญแจรถ เดินผ่านวัดก็เอาขันน้ำมา แกเห็นอะไรก็จะเก็บมาแล้วเราก็ไม่รู้ว่าแกไปเอาของใครมาบ้าง พอมาถึงบ้านเราก็จะมีตระกร้าใบนึงมาแล้วบอกว่าแม่หนูขอเอาของไปใช้ที่กรุงเทพฯ นะ พอขอเสร็จเราก็จะเอามาใส่ตระกร้านี้ แล้วเจ้าของเขาก็จะมาเอาคืนเพราะเราไม่รู้ว่าจะไปคืนใคร ที่ไหน ลองนึกภาพว่าเจ้าของก็จะมาด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัวมาก ประมาณว่าแม่เธอทำแบบนี้อีกแล้วนะ”

ผมจินตนาการภาพตามที่ปิติพรเล่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจไปจนกระทั่งสามารถยอมรับผู้มีภาวะสมองเสื่อมที่พูดและทำสิ่งต่างๆ โดยแทบจะไม่มีเหตุผลใดใดรองรับได้ ทั้งนอกเหตุเหนือผล ทั้งเหนือการคาดเดาและหลักตรรกะต่างๆ ตลอดจนแทบจะไม่สามารถยึดถือและสื่อสารอะไรในเชิงเหตุผลกับพวกเขาได้เลย

อย่าว่าแต่ชุมชนที่เป็นมิตรต่อพวกเขาเหล่านั้นเลย ผมคิดว่าลำพังแค่ครอบครัวที่เป็นมิตรก็ยากจนแทบจะเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ถ้าไม่มีกฏเกณฑ์ หลักการ และเหตุผลการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ผู้เปราะบางจะเป็นอย่างไร คิดให้หัวแทบแตกอย่างไรก็แทบจะไม่เห็นหนทางว่าใครจะมาร่วมสร้างชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมกับอาจารย์อ้อยเลย

คนสิบกว่าคนที่นั่งล้อมเป็นวงอยู่กับผมตอนนี้มาจากหลากธุรกิจหลายที่มา ทั้งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) , ร้านขนมหวานชื่อดัง After you , บริษัทที่ผลิตนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่าง Good Factory , เสถียรธรรมสถาน , บริษัททรู จำกัด(มหาชน) และ มูลนิธิกระจกเงา

คนกลุ่มนี้นี่แหล่ะครับที่เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้างชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม

ถ้าเขียนเส้นทางของชุมชนนี้โดยเริ่มตั้งแต่ต้นทางก็คือตรวจเช็คและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสมองเสื่อม ก็คงต้องเริ่มกันที่บริษัท Good Factory ที่สร้างสรรค์เกมสำหรับตรวจสอบสมองชื่อ Brain Check ซึ่งเป็นเกมที่ถูกพัฒนาร่วมกับแพทย์ที่มีความรู้เรื่องสมองผ่านการทดสอบกับกลุ่มผู้สูงอายุหลายคนจนได้เกมที่สามารถตรวจเช็คประสิทธิภาพของสมองว่ามีภาวะสมองเสื่อมหรือกระทั่งสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมหรือเปล่า (เข้าไปเล่นได้ที่ braincheck.net)

รับไม้ต่อจาก Good Factory ก็คือการทำงานของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน หรือ กศน. ที่คิดค้นรูปแบบทัศนศึกษาและค่ายสำหรับผู้สูงอายุเพื่อให้พวกเขามีกิจกรรมในการพัฒนาสมองและเข้าสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นที่ท้องฟ้าจำลอง ซึ่งจะเปิดให้กลุ่มผู้สูงอายุที่รวมตัวกันเข้าไปติดต่อขอให้ทาง กศน. พาไปทัวร์เต็มวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว

สำหรับผู้ที่เริ่มประสบภาวะสมองเสื่อมกับคนในครอบครัวที่ต้องดูแลคนกลุ่มนี้ก็จะมีเสถียรธรรมสถาน สถานปฏิบัติธรรมย่านวัชรพลที่จัด day camp ให้เข้าไปฝึกปฏิบัติเพื่อดูแลจิตใจ ตลอดจนมีกิจกรรมเพื่อให้ผู้สูงอายุได้ไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น ย้อมผ้า ปลูกต้นไม้ หรือดูแลเด็กๆ อีกด้วย

ร้านขนมยอดฮิตสำหรับคนหนุ่มสาว after you ก็กำลังคิดค้นโปรเจคช่วงเวลาสุดพิเศษสำหรับครอบครัวที่ต้องดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่และช่วงเวลาที่จะได้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นส่วนตัว เพราะการที่ครอบครัวต้องพาผู้มีภาวะสมองเสื่อมออกมานอกบ้านแล้วใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนกลุ่มนี้อาจเดินช้า รับประทานอาหารหกเลอะเทอะ หรือมีพฤติกรรมที่ยากจะเข้าใจได้

ส่วนในกรณีที่ผู้มีภาวะสมองเสื่อมอาจจะพลัดหลง ทางบริษัททรู คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด(มหาชน) ก็ร่วมมือกับมูลนิธิกระจกเงาในการคิดค้นนวัตกรรมริสต์แบนด์ หรือ สายรัดข้อมืออัจฉริยะที่เป็นทั้งสัญลักษณ์ให้คนในสังคมรับรู้ว่าบุคคลนี้คือผู้มีภาวะสมองเสื่อม นอกจากนั้นยังทำงานร่วมกับแอพพลิเคชั่นที่สามารถส่งข้อมูลของคนๆ นั้นไปให้กับตำรวจและมูลนิธิกระจกเงาได้ในกรณีที่พบเห็นบุคคลนั้นในลักษณะที่สงสัยว่าอาจจะกำลังหลงทางอยู่ โดยใช้วิธีสแกนจากระยะไกลเพื่อที่จะไม่ต้องเข้าไปใกล้พวกเขาจนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่ดีในใจของพวกเขา

เมื่อเขียนโครงสร้างเส้นทางทั้งหมดของการสร้างชุมชนเริ่มตั้งแต่ป้องกัน ตรวจเช็ค ดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม ไปจนถึงตามหาผู้ที่สูญหาย ทำให้มองเห็นภาพรวมของชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมชัดขึ้นว่าคือชุมชนที่ประกอบด้วยผู้คนที่รับรู้และตระหนักถึงปัญหานี้ร่วมกันจนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือดูแลภายใต้ทรัพยากรและความถนัดที่ตัวเองมีเพื่อสร้างชุมชนที่เป็นมิตรกับผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้แผ่วงกว้างออกไปไม่มีประมาณ

วงกลมที่พวกเรานั่งอยู่ดูคล้ายต้นแบบที่เป็นรูปธรรมของชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อม อาจารย์อ้อยที่นั่งอยู่ในวงยิ้มต้อนรับทุกคนอย่างเป็นมิตร หลายคนเคยพบอาจารย์อ้อยมาแล้วหลายครั้ง ทั้งที่มาในฐานะพันธมิตรซึ่งทำงานด้านนี้ร่วมกันมายาวนาน และในฐานะที่ต้องดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อมซึ่งเป็นคนใกล้ตัวของตัวเองจนเกิดแรงบันดาลใจอยากร่วมสร้างชุมชนนี้ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบสถานการณ์เดียวกับตัวเอง

อาจารย์อ้อยพูดถึงโครงการโรงพยาบาลที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมให้พวกเราฟังว่า

"จัดไปแล้วหกรุ่น ทั้งแพทย์ พยาบาลและบุคลากรสายสนับสนุนทั้งหลาย ตั้งแต่คนที่ให้ข้อมูล เวรเปล ยามรักษาความปลอดภัย มีคนที่ผ่านการอบรมไป 400 คนแล้ว ซึ่งต่อไปคนถูพื้น คนขายของที่ร้านสะดวกซื้อและร้านรอบโรงพยาบาลจะต้องรู้ว่าคนไข้คนนี้ดูแปลกๆ น่าจะมีภาวะสมองเสื่อม คนจะรู้จักภาวะสมองเสื่อมมากขึ้น คนกลุ่มนี้เป็นคนที่เราเรียกว่า dementia friends หรือ กัลยณมิตรของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมค่ะ”

Dementia friend จะได้รับสัญลักษณ์ดอกไม้ติดที่บริเวณอก อาจารย์อ้อยย้ำว่าถ้าวันไหนคนผู้นั้นรู้สึกว่าตัวเองพร้อมที่จะช่วยเหลือดูแลคนที่มีภาวะสมองเสื่อมให้หยิบเข็มกลัดรูปดอกไม้มาติดแล้วออกไปปฏิบัติภารกิจเป็นมิตรกับคนกลุ่มนี้อย่างเต็มที่

"แต่ถ้าวันไหน โอ้โห เมื่อคืนนี้ชั้นเยินไปหมดทั้งคืน ก็เอาดอกไม้ออกเถอะค่ะ วันนี้ขอไม่เป็นมิตรแล้วค่ะ เป็นไม่ไหว จะแย่อยู่แล้ว ไม่เป็นพยาบาลแล้ววันนี้เป็นพยามารก็เอาดอกไม้ออกไปก่อน แต่ถ้าวันไหนคุณมีดอกไม้ นี่เป็นสัญลักษณ์ว่าวันนี้ชั้นพร้อมดูแลผู้มีภาวะสมองเสื่อม”

ในมุมมองของผม ความรู้อาจไม่สำคัญเท่าความรักสำหรับ Dementia friend เพราะทฤษฎี หลักการต่างๆ เป็นเรื่องที่ศึกษากันได้ไม่ยาก สิ่งที่ท้าทายกว่าคือการนำความรู้เหล่านั้นมาปฏิบัติเพื่อดูแลผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมด้วยหัวใจอย่างแท้จริง

หรือบางทีชุมชนที่เป็นมิตรต่อผู้มีภาวะสมองเสื่อมก็คือชุมชนที่มีการตระหนักรู้ (awareness) ถึงความรักความเมตตาที่เราทุกคนต่างก็มีเหมือนกัน ไม่ว่ามันจะได้รับการฝึกฝนบ่มเพาะให้แข็งแรงหรือไม่ก็ตาม

อาจารย์อ้อยเล่าถึงร้านอาหารแห่งหนึ่งในญี่ปุ่นที่มีโปรเจคให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมเป็นพนักงานรับออเดอร์และเสิร์ฟอาหาร

"เป็นร้านอาหารที่เราจะไม่ได้กินที่เราสั่งนะคะ เขาจะบอกแขกว่าบริกรเป็นผู้มีภาวะสมองเสื่อม พอแขกมาถึงบริกรก็จะวิ่งมา พอเดินมาถึงปุ๊ปก็นึกไม่ออกแล้วว่าต้องมาทำอะไร ลูกค้าจะบอกว่ามานี่ๆ มารับออเดอร์อาหาร พอสั่งอาหารไปแล้วก็ทำใจหน่อยนะว่าจะได้อะไร เพราะตอนที่มาก็อาจจะไม่ได้อย่างนั้น แต่ลูกค้าบอกว่าพอได้อย่างอื่นก็อร่อยเหมือนกัน กินได้เหมือนกัน แต่มันสร้างคุณค่าให้เขาได้จริงๆ”

ใช่แล้ว ถ้าเราตระหนักรู้ในใจอยู่เสมอว่าเขาก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่เปราะบาง เป็นมนุษย์ที่ไม่ต้องการความเข้าใจจากสมอง แต่โหยหาความรักซึ่งมาจากหัวใจที่ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการคิดและตรรกะหลักการใดใด

"ถ้าเราเข้าใจ เราจะคาดหวังน้อยลง เราจะทำร้ายกันน้อยลง และเราจะมีความสุขมากขึ้นจริงๆ" อาจารย์อ้อยพูดทิ้งท้าย

หรือการยึดโยงเกาะเกี่ยวกันของชุมชนแห่งนี้อยู่ที่หัวใจ

เป็นอีกระบบของมนุษย์ที่พวกเราให้ความสำคัญในการพัฒนาน้อยเหลือเกิน

………………….
บุคคลสำคัญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิง สิรินทร ฉันศิริกาญจน
เครดิตภาพประกอบ https://med.mahidol.ac.th/med/th/division/geriatic/staff

[seed_social]
9 พฤษภาคม, 2561

ค่ำวันหนึ่ง

ค่ำวันหนึ่ง อยู่ๆ การล้มป่วยก็เกิดขึ้นกับฉัน โดยที่ยังไม่ทันได้ตั้งตัวเลยด้วยซ้ำ ฉันเพียงแต่ยืนคุยอยู่ข้างเตียงเพื่อนที่นอนป่วยอยู่ในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ฉันยืนคุยได้เพียงแค่ครู่เดียว ครู่เดียวเท่านั้น
17 มกราคม, 2561

คืนความสุขให้คนในครอบครัว

ปัจจุบัน วิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญขึ้นมาก ความรู้ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ในการช่วยชีวิตต่างๆ ได้รับการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยในระยะวิกฤตเพิ่มมากขึ้น
18 เมษายน, 2561

จะบอกแม่ที่ป่วยเป็นโรคร้ายอย่างไร

แม่ป่วยเป็นมะเร็งสมอง ปวดหัวมา ๑๐ วัน ครอบครัวเลือกแนวทางการรักษาตามอาการ ไม่ใช้รังสี คีโม เนื่องจากมะเร็งอยู่ในระยะที่กระจายจุดในสมอง มีเลือดซึมออก แม่จึงปวดหัว