parallax background
 

ราควรใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อผู้ป่วยเด็กใกล้ตายสอนคุณหมอ

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ ภาพถ่าย: ชนาทิป แก้วสุข หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

เมื่อปี ค.ศ. 2017 คุณหมออลาสแตร์ แมคอัลไพน์ กุมารแพทย์ดูแลผู้ป่วยเด็กแบบประคับประคอง ทำการประเมินทัศนคติของผู้ป่วยเด็กที่มีต่อชีวิต ว่าอะไรทำให้พวกเขามีความสุขและชีวิตมีความหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาโทเรื่องการดูแลผู้ป่วยเด็กแบบประคับประคอง คำตอบที่ได้รับทั้งน่าประหลาดใจและมองโลกในแง่ดี จนทำให้เขาต้องประเมินค่าความสัมพันธ์ของตัวเองกับครอบครัวและเพื่อนฝูงใหม่หมด และทำให้คุณหมออลาสแตร์เปลี่ยนมาใช้เวลาอยู่กับคนที่เขารัก บอกกล่าวความรู้สึกที่มีต่อพวกเขา และพยายามใช้ชีวิตด้วยความเมตตากรุณา

เด็กๆ ไม่หลงใหลในวัตถุข้าวของ สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาคือสิ่งต่างๆ ที่ในใจของทุกคนรู้อยู่แล้วว่าสำคัญ แต่ถูกความเร่งรีบวุ่นวายในชีวิตกลบจนลืมไป บทเรียนสำคัญที่สุดที่คุณหมอได้รับคือ ช่วงเวลาที่มีความสุขและมีความหมายที่สุดของชีวิตเป็นเรื่องที่เรียบง่าย ไม่ต้องใช้เงินทองหรือความพยายามมากมายเพื่อบรรลุถึง แค่โอบรับความสัมพันธ์ของมนุษย์ น่าประหลาดใจว่าบ่อย

ครั้งสิ่งที่เรียกกันว่าเป็นเรื่องเล็กๆ กลับให้ผลอย่างมหาศาลในตอนจบของชีวิต

นี่คือข้อคิด 6 ลำดับแรกที่ผู้ป่วยตัวน้อยได้สอนคุณหมออลาสแตร์เกี่ยวกับเรื่องของชีวิต

  1. การใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและสัตว์เลี้ยงของคุณมีความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะพูดคุย หัวเราะ เล่น หรือแค่อยู่ด้วยกันเงียบๆ การใช้เวลาอยู่กับคนและสัตว์เลี้ยงที่เรารักเป็นเรื่องประมาณค่ามิได้ เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ความเสียใจเพียงอย่างเดียวของเด็กจำนวนไม่น้อยคือพวกเขาไม่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับแม่ พ่อ และพี่เบิ้ม (สัตว์เลี้ยง) ของพวกเขา
  2. อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะจำเป็นสำหรับชีวิต แม้ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับความตายโดยตรง แต่เด็กๆ เหล่านี้ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากเรื่องเดียวกับเด็กทั่วไป เช่น เรื่องตลกเหลวไหล ความเซอะซะซุ่มซ่าม ละครตลกโปกฮา การหัวเราะเป็นสิ่งสำคัญด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่เหตุผลหลักคือการช่วยลดความเจ็บปวด การมองหาความทะเล้นจากใบหน้าของคนที่กำลังโศกเศร้าอย่างเปี่ยมล้นเป็นเรื่องยาก พ่อแม่บางคนต้องขุดเอาความกล้าหาญออกมาเพื่อจะมอบความรื่นเริงให้ลูกน้อยในยามที่หัวใจของตนเองแหลกสลาย พ่อคนหนึ่งทำหน้าตลกทั้งที่น้ำตาตกใน แต่สิ่งที่ทำให้ผลคุ้มค่าเสมอ ไม่ว่าจะในยามป่วยหรือยามดี
  3. การเล่าหรืออ่านเรื่องราวดีๆ โดยคนที่เด็กๆ รัก ช่วยให้เด็กได้รับแรงบันดาลใจ การบอกเล่าถ้อยคำและเรื่องราวจินตนาการ กับตุ๊กตาธรรมดาๆ ช่วยให้เด็กสร้างสรรค์ความจริงทางเลือกที่ไกลออกไปจากสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาล มีแหล่งกำเนิดแรงบันดาลมากมายที่ทำให้พวกเขาสู้ต่อ แม้ในยามที่ดูเหมือนกำลังจะพ่ายแพ้ ถ้าแฮร์รี พอตเตอร์ยังสามารถเผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ได้ พวกเขาก็อาจจะเอาชนะเจ้าสัตว์ร้ายในตัวของพวกเขาได้เช่นกัน เรื่องราวต่างๆ อนุญาตให้เด็กๆ ก่อประกอบเรื่องเล่าที่มีความหมายเพื่ออธิบายโรคร้ายที่พวกเขากำลังเผชิญหน้าและยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ มีคนจำนวนมากเชื่อว่าความสามารถในการสร้างสรรค์และแบ่งปันเรื่องราวคือสิ่งที่นิยามความเป็นมนุษย์ และเด็กๆ เหล่านี้กำลังทำสิ่งที่ว่านั้นอยู่
  4. การว่ายน้ำในทะเล เล่นทราย และกินไอศกรีม (แม้ในวันที่อากาศหนาว) คือความสุขที่เรียบง่ายและน่าจดจำ เด็กๆ จะจดจำความสุขที่เรียบง่ายซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิดเว้นแต่การพยายามอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง ช่วงเวลาที่ว่ามักจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยในตอนนั้น แต่ประมาณค่าไม่ได้เมื่อมองย้อนกลับไป
  5. แม้แต่เด็กวัย 4 ขวบก็เป็นห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแม่ เด็กๆ จำนวนมากยอมรับชะตากรรมของพวกเขาอย่างสงบ แต่ต้องการปกป้องพ่อแม่ของพวกเขาจากความปวดใจ การพลิกบทบาทดังกล่าวทั้งน่าประหลาดใจและชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ ปรับตัวเข้ากับสภาพร่างกายของพวกเขาได้มากกว่าที่พวกเราคิด ความตายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนหลีกเลี่ยงการพูดถึง แต่งานของหมอคือการให้กำลังใจอย่างซื่อตรงและทำให้ทุกคนพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว แม้ว่าจะเจ็บปวดก็ตาม
  6. การแสดงความเมตตากรุณาตามปกติธรรมดาคือขุมทรัพย์และจะได้รับจดจำแม้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ความเมตตาไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้องที่แบ่งแซนวิชให้กินหรือรอยยิ้มของพี่พยาบาล คือความดีที่ส่งผลสะเทือนต่อเด็กๆ อย่างใหญ่หลวง พวกเขารักคนที่มีเมตตาและจะจดจำการแสดงความเมตตากรุณาไปจนถึงวาระสุดท้าย คำพูดสุดท้ายที่คุณหมอได้ยินจากเด็กหญิงน้อยคนหนึ่งคือ “ขอบคุณที่กุมมือหนูไว้ตอนที่หนูกลัว”

สิ่งต่างๆ ที่คุณหมออลาสแตร์เปิดเผยออกไปไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องสั่นสะเทือนโลก แต่เมื่อมาจากบรรดาเด็กๆ ผู้เผชิญกับความตายอย่างกล้าหาญ ย่อมเพิ่มความลึกซึ้งกินใจเข้าไป ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเตือนให้คนจำนวนมากประเมินค่าสิ่งสำคัญในเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดมากเสียใหม่

ข้อมูลอ้างอิง: “What terminally ill children taught this doctor about how to live,” https://www.theguardian.com/society/2018/feb/09/pets-laughter-and-kindness-lessons-on-life-from-terminally-ill-children [seed_social]

14 พฤศจิกายน, 2560

ชุมชนแห่งความเอื้ออาทร (2) รูปธรรมจากแนวคิด

การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการตายอย่างสงบ จึงมีตัวละครเกี่ยวข้องที่มากกว่าผู้ป่วย ญาติผู้ดูแล และแพทย์เท่านั้น แต่สมาชิกทุกคนในชุมชนมีบทบาทที่ต้องเล่นและมีส่วนรับผิดชอบต่อการตายในทางใดทางหนึ่งเสมอ
17 เมษายน, 2561

นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายฯ จี้ สปสช. ผลักดัน Palliative Care เข้าไปอยู่ในระบบ ๓๐ บาท

เมื่อเร็วๆ นี้ พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
19 เมษายน, 2561

แคปซูลฝังศพที่สามารถเปลี่ยนสุสานให้กลายเป็นป่า

บริษัทออกแบบสัญชาติอิตาลี แคปซูล่า มุนดิ (Capsula Mundi) คิดค้นวิธีการสร้างแคปซูลฝังศพพลาสติกอินทรีย์ที่ทำจากแป้งซึ่งเมล็ดพืชสามารถเติบโตแหวกออกมาภายนอกได้