parallax background
 

ราควรใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อผู้ป่วยเด็กใกล้ตายสอนคุณหมอ

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ ภาพถ่าย: ชนาทิป แก้วสุข หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

เมื่อปี ค.ศ. 2017 คุณหมออลาสแตร์ แมคอัลไพน์ กุมารแพทย์ดูแลผู้ป่วยเด็กแบบประคับประคอง ทำการประเมินทัศนคติของผู้ป่วยเด็กที่มีต่อชีวิต ว่าอะไรทำให้พวกเขามีความสุขและชีวิตมีความหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับปริญญาโทเรื่องการดูแลผู้ป่วยเด็กแบบประคับประคอง คำตอบที่ได้รับทั้งน่าประหลาดใจและมองโลกในแง่ดี จนทำให้เขาต้องประเมินค่าความสัมพันธ์ของตัวเองกับครอบครัวและเพื่อนฝูงใหม่หมด และทำให้คุณหมออลาสแตร์เปลี่ยนมาใช้เวลาอยู่กับคนที่เขารัก บอกกล่าวความรู้สึกที่มีต่อพวกเขา และพยายามใช้ชีวิตด้วยความเมตตากรุณา

เด็กๆ ไม่หลงใหลในวัตถุข้าวของ สิ่งสำคัญสำหรับพวกเขาคือสิ่งต่างๆ ที่ในใจของทุกคนรู้อยู่แล้วว่าสำคัญ แต่ถูกความเร่งรีบวุ่นวายในชีวิตกลบจนลืมไป บทเรียนสำคัญที่สุดที่คุณหมอได้รับคือ ช่วงเวลาที่มีความสุขและมีความหมายที่สุดของชีวิตเป็นเรื่องที่เรียบง่าย ไม่ต้องใช้เงินทองหรือความพยายามมากมายเพื่อบรรลุถึง แค่โอบรับความสัมพันธ์ของมนุษย์ น่าประหลาดใจว่าบ่อย

ครั้งสิ่งที่เรียกกันว่าเป็นเรื่องเล็กๆ กลับให้ผลอย่างมหาศาลในตอนจบของชีวิต

นี่คือข้อคิด 6 ลำดับแรกที่ผู้ป่วยตัวน้อยได้สอนคุณหมออลาสแตร์เกี่ยวกับเรื่องของชีวิต

  1. การใช้เวลาอยู่กับครอบครัวและสัตว์เลี้ยงของคุณมีความสำคัญอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะพูดคุย หัวเราะ เล่น หรือแค่อยู่ด้วยกันเงียบๆ การใช้เวลาอยู่กับคนและสัตว์เลี้ยงที่เรารักเป็นเรื่องประมาณค่ามิได้ เมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ความเสียใจเพียงอย่างเดียวของเด็กจำนวนไม่น้อยคือพวกเขาไม่ได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับแม่ พ่อ และพี่เบิ้ม (สัตว์เลี้ยง) ของพวกเขา
  2. อารมณ์ขันและเสียงหัวเราะจำเป็นสำหรับชีวิต แม้ว่าพวกเขาจะต้องเผชิญหน้ากับความตายโดยตรง แต่เด็กๆ เหล่านี้ได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากเรื่องเดียวกับเด็กทั่วไป เช่น เรื่องตลกเหลวไหล ความเซอะซะซุ่มซ่าม ละครตลกโปกฮา การหัวเราะเป็นสิ่งสำคัญด้วยเหตุผลหลายอย่าง แต่เหตุผลหลักคือการช่วยลดความเจ็บปวด การมองหาความทะเล้นจากใบหน้าของคนที่กำลังโศกเศร้าอย่างเปี่ยมล้นเป็นเรื่องยาก พ่อแม่บางคนต้องขุดเอาความกล้าหาญออกมาเพื่อจะมอบความรื่นเริงให้ลูกน้อยในยามที่หัวใจของตนเองแหลกสลาย พ่อคนหนึ่งทำหน้าตลกทั้งที่น้ำตาตกใน แต่สิ่งที่ทำให้ผลคุ้มค่าเสมอ ไม่ว่าจะในยามป่วยหรือยามดี
  3. การเล่าหรืออ่านเรื่องราวดีๆ โดยคนที่เด็กๆ รัก ช่วยให้เด็กได้รับแรงบันดาลใจ การบอกเล่าถ้อยคำและเรื่องราวจินตนาการ กับตุ๊กตาธรรมดาๆ ช่วยให้เด็กสร้างสรรค์ความจริงทางเลือกที่ไกลออกไปจากสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาล มีแหล่งกำเนิดแรงบันดาลมากมายที่ทำให้พวกเขาสู้ต่อ แม้ในยามที่ดูเหมือนกำลังจะพ่ายแพ้ ถ้าแฮร์รี พอตเตอร์ยังสามารถเผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ได้ พวกเขาก็อาจจะเอาชนะเจ้าสัตว์ร้ายในตัวของพวกเขาได้เช่นกัน เรื่องราวต่างๆ อนุญาตให้เด็กๆ ก่อประกอบเรื่องเล่าที่มีความหมายเพื่ออธิบายโรคร้ายที่พวกเขากำลังเผชิญหน้าและยากเกินกว่าจะเข้าใจได้ มีคนจำนวนมากเชื่อว่าความสามารถในการสร้างสรรค์และแบ่งปันเรื่องราวคือสิ่งที่นิยามความเป็นมนุษย์ และเด็กๆ เหล่านี้กำลังทำสิ่งที่ว่านั้นอยู่
  4. การว่ายน้ำในทะเล เล่นทราย และกินไอศกรีม (แม้ในวันที่อากาศหนาว) คือความสุขที่เรียบง่ายและน่าจดจำ เด็กๆ จะจดจำความสุขที่เรียบง่ายซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิดเว้นแต่การพยายามอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง ช่วงเวลาที่ว่ามักจะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อยในตอนนั้น แต่ประมาณค่าไม่ได้เมื่อมองย้อนกลับไป
  5. แม้แต่เด็กวัย 4 ขวบก็เป็นห่วงว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแม่ เด็กๆ จำนวนมากยอมรับชะตากรรมของพวกเขาอย่างสงบ แต่ต้องการปกป้องพ่อแม่ของพวกเขาจากความปวดใจ การพลิกบทบาทดังกล่าวทั้งน่าประหลาดใจและชี้ให้เห็นว่าเด็กๆ ปรับตัวเข้ากับสภาพร่างกายของพวกเขาได้มากกว่าที่พวกเราคิด ความตายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกคนหลีกเลี่ยงการพูดถึง แต่งานของหมอคือการให้กำลังใจอย่างซื่อตรงและทำให้ทุกคนพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว แม้ว่าจะเจ็บปวดก็ตาม
  6. การแสดงความเมตตากรุณาตามปกติธรรมดาคือขุมทรัพย์และจะได้รับจดจำแม้ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ความเมตตาไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้องที่แบ่งแซนวิชให้กินหรือรอยยิ้มของพี่พยาบาล คือความดีที่ส่งผลสะเทือนต่อเด็กๆ อย่างใหญ่หลวง พวกเขารักคนที่มีเมตตาและจะจดจำการแสดงความเมตตากรุณาไปจนถึงวาระสุดท้าย คำพูดสุดท้ายที่คุณหมอได้ยินจากเด็กหญิงน้อยคนหนึ่งคือ “ขอบคุณที่กุมมือหนูไว้ตอนที่หนูกลัว”

สิ่งต่างๆ ที่คุณหมออลาสแตร์เปิดเผยออกไปไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเรื่องสั่นสะเทือนโลก แต่เมื่อมาจากบรรดาเด็กๆ ผู้เผชิญกับความตายอย่างกล้าหาญ ย่อมเพิ่มความลึกซึ้งกินใจเข้าไป ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเตือนให้คนจำนวนมากประเมินค่าสิ่งสำคัญในเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดมากเสียใหม่

ข้อมูลอ้างอิง: “What terminally ill children taught this doctor about how to live,” https://www.theguardian.com/society/2018/feb/09/pets-laughter-and-kindness-lessons-on-life-from-terminally-ill-children [seed_social]

13 เมษายน, 2561

คันฉ่อง ส่องการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน

ค่ำคืนหนึ่ง ในบ้านหลังเล็กกลางเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ หญิงวัยกลางคนตอนปลายและสาวต่างชาติคนหนึ่ง กำลังช่วยกันดูแลหญิงชราวัยเก้าสิบปีที่เกิดอาการตึงบริเวณท้องเหมือนกำลังจะถ่าย
19 เมษายน, 2561

ความตายในสังคมไทย การเปลี่ยนแปลงในรอบศตวรรษ

บทบาทพระสงฆ์ในสังคมไทยปัจจุบันได้ถูกลดทอนลงอย่างมาก จากอดีตที่วัดและพระต่างสัมพันธ์ และพึ่งพาซึ่งกันกับชุมชนและญาติโยม ทั้งในเรื่องการศึกษา วัฒนธรรมประเพณี หรือแม้แต่การสาธารณสุข
10 พฤษภาคม, 2561

เป็น-อยู่-คือ

‘การได้อยู่กับธรรมชาติ ได้สังเกตสิ่งมีชีวิตอื่นๆ’ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชอบนั่งเล่นใต้ต้นไม้ เปิดโอกาสให้ชีวิตดื่มด่ำเรียนรู้ที่จะเคารพนบนอบต่อธรรมชาติอย่างกลมกลืน หลายครั้งมักพบ ‘เพื่อน’ อย่างไม่คาดคิด