parallax background
 

เป็น-อยู่-คือ

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

ณ สวนหย่อมโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง…

‘การได้อยู่กับธรรมชาติ ได้สังเกตสิ่งมีชีวิตอื่นๆ’ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ชอบนั่งเล่นใต้ต้นไม้ เปิดโอกาสให้ชีวิตดื่มด่ำเรียนรู้ที่จะเคารพนบนอบต่อธรรมชาติอย่างกลมกลืน หลายครั้งมักพบ ‘เพื่อน’ อย่างไม่คาดคิด

“จิ๊บ-จิ๊บ-จิ๊บ” เสียงทักทายของนกกระจิบ…ลำตัวด้านบนสีเขียว ลำตัวด้านล่างสีขาว ปากบนสีเทาเข้ม ปากล่างสีน้ำตาลอ่อน จุดเด่นคือกระหม่อมสีน้ำตาลแดง “คู-ครู-ครู” เสียงขันของนกเขาใหญ่ หรือ นกเขาหลวง…หัวสีเทาอมน้ำตาลแดง หลังคอมีจุดกลมเล็กๆ กระจายอยู่บนพื้นสีดำ โคนหางด้านล่างสีขาว หางยาว ขาสีแดง รวมไปถึงนกเขาชวา นกกระติ๊ดขี้หมู นกอีแพรดแถบอกดำหรือที่เรารู้จักกันทั่วไปว่า ‘นกสามัญประจำบ้าน’ เพราะช่วยกำจัดยุงและแมลงให้เรา แถมเป็นนกที่ ‘รักความสะอาด’ เพราะชอบอาบน้ำมากๆ เป็นขาประจำเวลาเรารดน้ำต้นไม้และแอ่งน้ำขังในสวน รวมไปถึงนกขมิ้นน้อยสีเหลืองสดใส ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงนกร้องกันระงมในสวนแห่งนี้ ชวนให้คิดว่า

‘หากนกวาดภาพขณะโบยบินบนท้องฟ้า ภาพที่เห็นจะเป็นเช่นไร?’

คนทั่วไปเข้าใจว่าการที่นกลอยตัวอยู่บนท้องฟ้าได้ เป็นเพราะ ‘บิน’

ในความเป็นจริง นกหลายสายพันธุ์อาศัยอากาศร้อนที่โรยตัวขึ้นจากพื้นดินพยุงตัวไว้ แล้วใช้วิธีกางปีกอย่างสง่างาม… ‘ร่อน’ อยู่กลางอากาศ โดยแทบไม่กระพือปีกเลย เช่น นกอินทรี และมีบางสายพันธุ์ที่สามารถกำหนดเส้นทางบินได้หลายทิศทาง ไม่ใช่แค่ทะยานไปข้างหน้า หากยังมี ‘เกียร์ถอยหลัง’ อีกด้วย เช่น นกฮัมมิงเบิร์ด เป็นต้น

การได้เฝ้าสังเกตพฤติกรรมของนก ทั้งจากธรรมชาติในสวนหย่อม จากการอ่านหนังสือหรือแม้แต่รับชมผ่านรายการสารคดี ชวนให้คิดว่าการดำรงชีวิตของคนเราทุกวันนี้ ตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็ก จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เรามีชีวิตเพื่ออะไร ทั้งๆ ที่ขึ้นชื่อว่า ‘ชีวิต’ ไม่ว่าจะเป็นพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ มีวิวัฒนาการจากการเรียนรู้จากธรรมชาติทั้งสิ้น ขณะที่สายพันธุ์ต่างๆ ล้วนมี ‘ความฉลาดทางสิ่งแวดล้อม’ หรือที่เรียกว่า Eco intelligence เพื่อใช้ในการดำรงชีวิตรักษาเผ่าพันธุ์ตนเอง หากมนุษย์กลับมีสิ่งนี้ลดน้อยถอยลง เพราะความเป็นอยู่ของมนุษย์ล้ำสมัยมากขึ้น ทำให้ความฉลาดประเภทนี้ค่อยๆ หายไป

‘ความรักต่อชีวิตหรือระบบของชีวิต’ หรือที่เรียกว่า ‘Biophilia’ ซึ่งมีสมมุติฐานว่าคนเราล้วนมีความต้องการตามธรรมชาติที่จะสำรวจ เรียนรู้ พักผ่อน เติบโต รวมไปถึงเล่นกับดอกไม้ใบหญ้า และอยากใช้เวลากลางแจ้งในธรรมชาติ ทุกคนจึงควรเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ โดยเฉพาะชีวิตของเด็กๆ ที่นับวันจะถูกแทรกแซงด้วยเทคโนโลยี การใช้ชีวิต การกิน การอยู่สะดวกสบายมากขึ้น แม้แต่การเล่นของเด็กๆ วนเวียนอยู่กับของปลอม ไร้ชีวิตที่ผิวสัมผัสเดียวที่เด็กหยิบจับคือผิวสัมผัสอันหยาบแข็งกระด้างของพลาสติก ไม่ใช่การสัมผัสใบไม้ ดอกไม้ ต้นหญ้า และวัสดุธรรมชาติต่างๆ ที่มีผิวสัมผัสหลากหลายกว่า ชวนให้เด็กใช้จินตนาการได้อย่างไม่รู้จบ

ไม่แปลกที่การเรียนรู้จึงดำเนินไปแบบ ‘สูตรสำเร็จ’ เน้นให้ความรู้ด้วยการท่องจำ มากกว่าการสังเกตที่ต้องใช้การฝึกฝนตลอดชีวิต…ใช่! ตลอดชีวิต เพราะ… ใบไม้ทุกใบ ใช่มีแต่สีเขียว…

ประสบการณ์เพียงครั้งเดียว ใช่ชี้ชัดที่จริง

คุณครูเคยสอนกลอนนี้ตั้งแต่สมัยผู้เขียนยังเป็นเด็กวัยประถม และห้องเรียนคือสวนหย่อมโรงเรียนนั่นเอง ผ่านเกมที่มีชื่อว่า ‘หาใบไม้ที่เหมือนกัน’ โดยคุณครูให้เด็กนักเรียนหาใบไม้มา 1 ใบ แล้วให้นักเรียนไปหาใบไม้ที่มีรูปร่างและขนาดเหมือนกันที่สุดมา หากใครหาใบไม้ได้เหมือนตัวอย่างจะได้เป็นผู้ตั้งโจทย์ข้อต่อไปเป็นรางวัล จำได้ว่าด้วยความที่อยาก ‘เล่น’ เป็นคุณครูบ้าง จึงมุ่งมั่นหาใบไม้ที่คุณครูให้ดู ทั้งดูตามใต้ต้นไม้ ค้นตามถังขยะ แม้กระทั่งปีนต้นไม้!

ไม่มีสิ่งใดที่เหมือนกันราวกับแกะ
แม้จะหาใบไม้เหมือนกันมาได้ แต่ก็ใช่ว่าจะเหมือนกันทุกกระเบียดนิ้ว แม้จะเป็นใบไม้จากต้นเดียวกัน…ยังมีความต่าง…ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ก็เช่นกัน
การมองเห็นและยอมรับความแตกต่างของทุกอย่างรอบตัว จึงเป็นเคล็ดไม่ลับของการดำรงชีวิต

คนส่วนใหญ่ มุ่งเป้าไปที่ ‘จุดหมาย’ มากกว่าเก็บเกี่ยว ‘ประสบการณ์’ ระหว่างทาง เพราะการเติบโตมาด้วยทุกอย่างมีสูตรสำเร็จ ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยมองแต่ผลลัพธ์ จนลืมไปว่าการเดินทางเราสามารถเลือกได้…แม้แต่ความตาย…ก็ไม่เว้น

จริงอยู่ที่ทุกชีวิตย่อมจบลงที่ความตาย…เหมือนกัน… หากที่ต่างกันคือ ‘กระบวนการ’
แน่นอนว่าทุกชีวิตปรารถนาที่จะตายอย่างสงบ…หากที่ต่างกันคือ ‘จังหวะการใช้ชีวิต’ ที่มีความหนัก เบา เศร้า สุข เคียดแค้น ปรารถนาดี คาดหวัง ปล่อยวาง…ไม่เท่ากัน สิ่งเหล่านี้เป็นประสบการณ์ตรงที่ใช้ฝึกจิตใจให้เข้าถึงการปล่อยวาง ก่อนที่ ‘ต้อง’ วางทั้งหมดลงจริงๆ

ตอนมีชีวิต ‘ชนะ’ หรือ ‘แพ้’ วัดกันที่ใครไปถึงจุดหมายได้ก่อน เพราะนั่นคือ ‘เส้นชัย’
จะว่าไปแล้ว การที่เรามีชีวิตโดยกำหนดให้มีเส้นชัยไม่กี่เส้น ออกจะได้กำไรน้อยไปหน่อย ยิ่งหากใครกำหนดเส้นชัยมีเพียงเส้นเดียว ยิ่งเท่ากับว่า ใส่ไข่ไก่หลายฟองในตะกร้าใบเดียว หากทำตะกร้าใบนั้นหลุดมือ คงไม่ต้องบอกว่าสภาพไข่ที่ตกกระจายอยู่บนพื้นจะเป็นเช่นไร
หากเปลี่ยนให้ ‘เส้นชัย’ คือ ‘เส้นตาย’ ยังอยากจะมีใครบุกตะลุยไปให้ถึงเส้นนั้นก่อนผู้อื่นหรือไม่…น่าคิด
ระหว่างการเกิด กับ การตาย สิ่งที่มาเชื่อมกันระหว่างสองจุดคือ การ ‘เป็น อยู่ คือ’
‘เป็น’ ที่ไม่มากไป ไม่น้อยไปจากจุดที่ยืน
‘อยู่’ ที่ไม่บ่มเพาะความทุกข์ให้กับตัวเอง และไม่เพิ่มความทุกข์ให้กับผู้อื่น
‘คือ’ ที่ไม่ใช่ใฝ่ฝันหาความสุข จนไม่สามารถยืนอยู่ด้านความทุกข์ได้เลย

เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งที่เราตามหาทั้งชีวิต อาจไม่ใช่ความสุข แต่เป็นความพอใจของแต่ละจังหวะก้าวเดินในแต่ละวัน ไม่เรียกร้องให้ชีวิตเป็นอะไรมากกว่าที่ควรจะเป็นจนเสียสมดุล ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ขอให้ทำทุกอย่างด้วยจังหวะ ‘เบาๆ’ เรื่องบางเรื่องก็ต้องรอเวลา เหมือนกับเวลาของดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ที่ต่างส่องแสงมายังโลกต่างเวลา ช่วงกลางวันเป็นเวลาของดวงอาทิตย์ ขณะที่กลางคืนเป็นเวลาของดวงจันทร์ แต่ไม่ได้หมายความว่า ดาวทั้งสองดวงไม่ได้มีอยู่จริงในเวลาเดียวกัน เพียงแต่ ‘รอ’ ให้เป็น

เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งที่มองไม่เห็น…ที่เรียกว่า ‘เส้นชัย’…ให้ปรากฏ ด้วยสิ่งที่ไม่มีวันไร้ค่าที่ชื่อว่า ‘พยายาม’ ถึงทำงานหนัก เครียดกับผู้ร่วมงาน มุ่งทะยานสู่เส้นชัย เราก็สามารถเลียนแบบ ‘เจ้าเวหา’ ได้ ไม่มีความจำเป็นต้องแบกโลกไว้ อยากจะเดินหน้า จะเข้าเกียร์ถอยหลัง หรือแม้แต่ร่อนเพื่อลด ระดับหรือรักษาระดับการบินก็ทำได้

ก็… ‘เพื่อน’ เขาก็บอกแล้วไงว่า ‘ชีวิต’ เป็นเรื่อง จิ๊บ-จิ๊บ

___________

ข้อมูลอ้างอิง:
1. หนังสือ Thailand Bird Guide, คุณรุ่งโรจน์ จุกมงคล, สำนักพิมพ์สารคดี
2. หนังสือ ‘ธาตุสี่ในทุกสิ่ง ไฟ: จากดวงอาทิตย์ถึงพลังงานหมุนโลก’ คุณนิรมล มูนจินดา: มูลนิธิโลกสีเขียว
3. ภาพประกอบ: www.unsplash.com

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

ชายชราผู้ปรารถนาจะชื่นชมธรรมชาติเป็นครั้งสุดท้าย

“เอ็ด” ชายชราผู้รักษาตัวอยู่ในสถานบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ไม่เคยออกไปดูโลกภายนอกมานานหลายปีแล้ว เนื่องจากมีโรคร้ายและการเคลื่อนย้ายตัวทำได้ยาก เมื่อเอ็ดได้บอกเล่าความปรารถนาสุดท้ายของเขาต่อเคิร์ต ฮูเบอร์
20 เมษายน, 2561

นำร่อง ๗ โรงพยาบาล หนุนระบบดูแล “ผู้ป่วยระยะสุดท้าย”

กรมการแพทย์จับมือโรงพยาบาลในสังกัด ตั้ง “หน่วยอภิบาลคุณภาพชีวิต” ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ครอบคลุม ๔ มิติ มุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย เริ่มนำร่อง ๗ โรงพยาบาลใหญ่
23 เมษายน, 2561

การรักษาสัมพันธภาพในขณะให้การดูแล

ผู้คนราว ๕๔ ล้านคนในสหรัฐอเมริกากำลังดูแลคนชราหรือคนรักที่ป่วยเรื้อรัง ตามข้อมูลของสมาคมผู้ดูแลแห่งชาติ คนที่ดูแลบางคนก็เป็นคู่ บางคนก็เป็นพ่อแม่ที่แก่เฒ่า เจน มิลเลอร์ (เป็นนามสมมุติ) ต้องดูแลทั้งสองกรณีและเธอรู้ด้วยตนเองว่าความเครียดที่เกิดจากการดูแลจะมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์