parallax background
 

เปิดบ้านเฟซบุ๊กแฟนเพจ
Peaceful Death

ผู้เขียน: admin 814 หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน เฟซบุ๊ก (Facebook) ทำหน้าที่เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร เผยแพร่ข้อมูลความคิดกันอย่างกว้างขวาง แม้กระทั่งองค์กรเพื่อสังคมหรือบริษัทธุรกิจ ยังต้องอาศัยเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์ และพูดคุยกับลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายอย่างเป็นกันเอง โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยมีกลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กอย่างน้อย ๑๕ ล้านคน ในปี ๒๕๕๖

โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ เครือข่ายพุทธิกา คิดว่าเฟซบุ๊กน่าจะเป็นช่องทางในการเผยแพร่แนวคิดของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบไปยังสังคมออนไลน์เช่นกัน จึงได้เริ่มสร้างบัญชีแฟนเพจ ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๔ โดยใช้ชื่อว่า Peaceful Death แทนที่จะใช้ใช้ชื่อภาษาไทยว่า เผชิญความตายอย่างสงบ เนื่องจากเกรงว่าจะน่ากลัวและหนักหน่วงเกินไปสำหรับผู้ชม

ในสองปีแรก ผู้ดูแลแฟนเพจโพสต์ (post) เนื้อหานานๆ ครั้ง เพราะทีมงานที่ดูแลเฟซบุ๊กมีเพียงคนเดียว โดยเน้นคติธรรมจากพระไพศาล วิสาโล ซึ่งมีคำบรรยายและข้อเขียนที่กล่าวถึงการเผชิญความตายอย่างสงบไว้หลายแห่ง รวมถึงยังมีบทความจากจดหมายข่าวอาทิตย์อัสดงบ้างเป็นครั้งคราว

จนกระทั่งปลายปี ๒๕๕๕ ทีมงานเผชิญความตายอย่างสงบสังเกตเห็นว่า แฟนเพจของ Peaceful Death เป็นกลุ่มเดียวกับผู้ชมที่ติดตามพระไพศาล วิสาโล จึงกลับมาปรับปรุงเนื้อหาให้มีความหลากหลายขึ้น เช่น มรณานุสติของพระอาจารย์หรือฆราวาสท่านอื่น การเจริญมรณานุสติในชีวิตประจำวัน สื่อบันเทิงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชีวิตและความตาย กิจกรรมของภาคีที่ทำงานเรื่องชีวิตและความตาย ตลอดจนการเปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นเผชิญความตายอย่างสงบ

พร้อมๆ กับมีเพื่อนๆ มาร่วมหาเนื้อหาและโพสต์บทความมากขึ้น ผมเอง (admin 814) ก็เข้ามาร่วมดูแลแฟนเพจเมื่อปลายปีที่แล้ว เนื้อหาในแฟนเพจจึงค่อยๆ เพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่องและหลากหลายขึ้น จนมีความถี่ในการโพสต์เนื้อหาวันละ ๑ ครั้งในปัจจุบัน

ความคิดเห็น (comment) ในแฟนเพจก็เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน จากเดิมที่มีแต่คำว่า “สาธุ” ผู้ติดตามแฟนเพจก็เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนมากขึ้น บางคนก็มาสะท้อนความคิดที่น่าสนใจ บางคนก็เข้ามาตั้งคำถาม หรือติดตามไถ่ถามข่าวคราวของโครงการ ทำให้ทางทีมงานชื่นใจและรู้สึกอบอุ่น การพูดคุยเรื่องความตายดูจะมีความผ่อนคลายและเป็นธรรมดามากขึ้น อย่างน้อยในโลกออนไลน์ซึ่งมีผู้ติดตามแฟนเพจแล้วประมาณ ๘ พันคน

ผมสังเกตว่าผู้ติดตามเนื้อหาใน Peaceful Death เฟซบุ๊กแฟนเพจ มีความสนใจเนื้อหาที่เข้มข้น ติดตามอ่านอย่างจริงจัง ไม่รู้สึกลำบากที่จะอ่านเนื้อหายาวๆ จนจบ โดยเฉพาะโพสต์ที่มีความแรง มีถ้อยคำที่กระตุกเตือนสติอย่างชัดเจน จะมีจำนวน Like และการแสดงความคิดเห็นมากกว่าโพสต์ในลักษณะอื่นๆ เช่น

เราเกิดมาอย่างเดียวดายและเปลือยเปล่า ขณะที่ชีวิตดำเนินไป เราได้ผ่านพบความผันแปรทุกรูปแบบ อยากได้ใคร่มี ได้มา เสียไป เป็นทุกข์ ร่ำไห้ เพียรพยายาม

...แต่แล้วเราก็ตาย และตายเพียงลำพังเท่านั้น ไม่ว่าเราจะเป็นเศรษฐีหรือยาจก มีชื่อเสียงหรือไม่เป็นที่รู้จัก ความตายเป็นผู้เลิศในการสร้างความเท่าเทียมให้กับทุกชีวิต ในสุสาน ศพทุกร่างล้วนเหมือนกัน

จากหนังสือ "สู่ความตายอย่างสงบ" โดย ชักดุด ตุลกู รินโปเช

นี่คือโพสต์แรกที่มียอด Like เกิน ๕๐๐ ในประวัติศาสตร์การเปิดเพจ Peaceful Death

โพสต์เกี่ยวกับหลักการเจริญมรณานุสติ ที่ให้วิธีการเป็นรูปธรรมชัดเจน ปฏิบัติตามได้ไม่ยากในชีวิตประจำวัน ก็เป็นลักษณะเนื้อหาที่ผู้ชมให้ความสนใจเช่นกัน เช่น

หลักการเตรียมตัวเพื่อการจากไปอย่างสงบ ๒ แบบ

๑) เตรียมตัวในภาวะปกติ คือ ให้หมั่นเจริญมรณสติเสมอว่าความตายเป็นของแน่นอน เพราะเราไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ จะตายอย่างไร ที่ไหน ด้วยสาเหตุอะไร จึงต้องพิจารณาและเตรียมใจว่าความตายมาเยือนเราได้เสมอ เวลาไปเยี่ยมผู้ป่วย ไปงานศพ ก็ให้น้อมเข้ามาใส่ตัวว่าวันหนึ่งเราอาจเป็นอย่างเขา และคิดว่าถ้าจะเป็นหรือไม่เป็นอย่างเขาเราจะทำอย่างไร ให้เป็นการบ้านที่สอนใจเราอยู่ตลอด

๒) เตรียมตัวภาวะไม่ปกติ คือ เวลาเจ็บป่วย พลัดพราก สูญเสีย ให้มองว่าความเจ็บปวด พลัดพราก สูญเสียนั้นเป็นการซักซ้อมของความตาย อย่าตีโพยตีพายหรือทุกข์กับมัน ควรรักษาใจให้เป็นปกติ ฝึกสติให้เห็นความเจ็บแต่ไม่ใช่ผู้เจ็บ จะทำให้เราแคล่วคล่องว่องไวเมื่อเผชิญความทุกข์ในวาระสุดท้ายได้

เป็นโพสต์ที่มียอด Like สูงสุดเป็นประวัติการณ์

นอกจากนี้ ยังมีโพสต์ที่เปิดพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน ตั้งคำถามสนทนาถึงประเด็นความตาย ซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมสนทนามากขึ้นเรื่อยๆ ครั้งหนึ่งทีมงานตั้งคำถามกับผู้ชมว่า “ในปกติประจำวัน เราใช้คำสละสลวยใดแทนคำว่าตายบ้าง” ไม่น่าเชื่อว่าลูกเพจจะร่วมกันระดมคำสละสลวยที่ใช้แทนคำว่า “ตาย” ได้มากกว่า ๑๒๐ คำ

การมีส่วนร่วมดังกล่าวทำให้ทีมงานมีกำลังใจที่จะพัฒนาเนื้อหาและกิจกรรมในอนาคต ทีมงานยังคิดถึงกิจกรรมทำให้ผู้ชมเนื้อหาในแฟนเพจได้มาร่วมกิจกรรม พบเจอกันอย่างเห็นหน้าเห็นตากันมากขึ้น เพราะโพสต์และความคิดเห็นในโลกออนไลน์นั้นคงโต้ตอบกันได้เพียงครั้งละสั้นๆ แต่การพบปะแลกเปลี่ยนในโลกจริงนั้นย่อมจะมีโอกาสในการแบ่งปันความรู้ ความคิด มิตรภาพในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น

[seed_social]
6 กุมภาพันธ์, 2561

การถอดเครื่องช่วยชีวิตออกจะเป็นบาปไหม?

การใช้สิทธิที่จะตายไม่จำเป็นต้องหมายความถึงการเลือกตายด้วยการุณยฆาตเสมอไป คนที่รู้ตัวว่ารักษาไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเป็นโรคที่หายยาก และอายุก็มากแล้ว ถึงรอดตายไปวันนี้อีกไม่นานก็ต้องเจออีก
20 มีนาคม, 2561

เราควรใช้ชีวิตอย่างไร เมื่อผู้ป่วยเด็กใกล้ตายสอนคุณหมอ

มื่อปี ค.ศ. 2017 คุณหมออลาสแตร์ แมคอัลไพน์ กุมารแพทย์ดูแลผู้ป่วยเด็กแบบประคับประคอง ทำการประเมินทัศนคติของผู้ป่วยเด็กที่มีต่อชีวิต ว่าอะไรทำให้พวกเขามีความสุขและชีวิตมีความหมาย
18 เมษายน, 2561

วิวาทะ (ล่าสุด) เรื่องการุณยฆาต

เจสสิกาเกิดที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ พร้อมกับความผิดปกติของหัวใจขั้นรุนแรง โดยมีอาการลิ้นหัวใจตีบตันและหัวใจห้องล่างพัฒนาไม่เต็มที่