“โอบกอดความเศร้า” บอกเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านและเติบโตหลังความสูญเสีย สุดท้ายความเป็นมนุษย์ที่งดงามและมีศักยภาพเต็มเปี่ยม พร้อมจะดำเนินชีวิตอีกครั้ง แม้ผ่านประสบการณ์อันหม่นเศร้า เมื่อเรียนรู้อารมณ์และเข้าใจความสูญเสียการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รัก เพื่อหล่อหลอมและสร้างพลังในการก้าวเดินต่อไป
ร่วมสนทนากับ คุณพัด ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์, คุณสุ้ย วรรณา จารุสมบูรณ์ และคุณมาร์ท เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หนังสือ โอบกอดความเศร้า ทั้ง 5 บท เป็นการรวบรวม 11 กรณีศึกษาของผู้ผ่านประสบการณ์การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก โดยคุณพัดในฐานะบรรณาธิการ ได้เล่าถึงแรงบันดาลใจจากการเข้าร่วมกิจกรรมการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชุมชนกรุณา ว่าทำให้มองเห็นความสูญเสียเป็นสภาวการณ์ที่เตรียมการกันได้ โดยการปรับมุมมองให้เห็นเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าในสังคม บางครั้งประเด็นเรื่องความสูญเสียไม่สามารถพูดคุยกันในวงกว้าง และใช้คำอธิบายทางศาสนาเข้ามาแทนที่ แต่เรื่องการตายอย่างสงบ (Peaceful Death) เป็นเรื่องทางใจและประสบการณ์ส่วนบุคคล เรื่องราวใน โอบกอดความเศร้า บอกเล่าการพบเจอความสูญเสียที่หลากหลาย แต่ละเรื่องจะมีจุดเปลี่ยนผ่าน วิถีทางสู่การหลุดพ้นและอยู่กับความเศร้าในแบบของตัวเอง
เรื่องราวในหนังสือถูกเรียบเรียงผ่านบทสัมภาษณ์ให้อ่านง่ายและอยู่ในบริบทของสังคมไทย ผู้อ่านน่าจะเกิดความรู้สึกเชื่อมโยงและนำมาปรับใช้กับการดำเนินชีวิตหลังความสูญเสียได้ไม่ยาก โดยทีมงานใช้เวลาเกือบ 2 ปี เลือกสรรผู้ให้ข้อมูล ผลิตความรู้ และบันทึกรายละเอียดผ่านตัวอักษร จึงเชื่อมั่นว่า สารจากหนังสือจะทรงพลังต่อกลุ่มผู้อ่านที่เพิ่งผ่านความสูญเสีย เพราะช่วยเปิดมุมมองใหม่ในการก้าวข้ามพ้นช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากประเด็นเรื่องความตายและความสูญเสียในสังคมไทย เป็นเรื่องอ่อนไหวและมีพื้นที่ให้ได้เรียนรู้ บอกเล่า พูดคุยน้อย ทำให้ความโศกเศร้าถูกกดทับจนกัดกินผู้สูญเสีย หากปรับมุมมองความคิดต่อความสูญเสียว่าเป็นสภาวการณ์สามัญ และมีพื้นที่ให้ผู้สูญเสียได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและนำมาใช้เยียวยาตนเองเพื่อเติบโตต่อไปได้
คุณพัดบอกเล่าประสบการณ์การทำงานกับความเศร้าและการเติบโตผ่านเรื่องเล่า ซึ่งเชื่อมโยงกับประสบการณ์ส่วนตัวที่สูญเสียคุณแม่ว่า สังคมไทยจะมองว่าความตายเท่ากับการสูญเสีย แต่มีคำอธิบายทางศาสนาและวิทยาศาสตร์ว่าความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนสภาพ จุดสำคัญคือมุมมองต่อความตาย หากยอมรับและมองความตายอย่างเป็นเหตุเป็นผล จะเข้าใจว่าความตายเป็นสภาวะธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อการรับมือเมื่อเกิดความสูญเสียขึ้น เพราะในหลายกรณีคนใกล้ชิดผู้สูญเสียมักเลือกที่จะปฏิบัติตามธรรมเนียมสังคม พยายามกำหนดระยะเวลาของความโศกสลด เร่งให้ผู้เผชิญความสูญเสียยอมรับความสูญเสียและให้ดำเนินชีวิตตามปกติต่อไปโดยเร็ว ทั้งที่จริงแล้วแต่ละคนใช้เวลาปลดล็อกจากความเศร้าของตนเองไม่เท่ากันและด้วยหลากหลายวิธี ทั้งการดูซีรีส์ การไปทำบุญ การออกไปท่องเที่ยว ฯลฯ
การเรียนรู้เรื่องราวต่างแง่มุมของความเศร้า จะช่วยให้ผู้ที่กำลังเผชิญความสูญเสียนำมาปรับใช้กับตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกฎเกณฑ์ทางสังคม เช่น ความรู้สึกผิด ภาระ ความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มากจนเกินไป จนเร่งตัวเองให้ก้าวเดินต่อไปในเวลาที่ยังไม่พร้อม จุดสำคัญคือการใส่ใจอยู่กับปัจจุบันขณะของผู้เผชิญความสูญเสียและคนรอบข้าง เข้าใจให้ได้ว่าอารมณ์ของตนเองในขณะนั้นคืออะไร จะได้ไม่จมดิ่งไปพร้อมกับอารมณ์นั้น แต่โอบกอดและวางลง เพื่อเยียวยาและก้าวเดินต่อไป
ชุมชนกรุณามีการจัดเวิร์กชอปเพื่อจัดการกับความโศกเศร้า ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนการจากไป ครอบครัวที่ต้องดูแลผู้ป่วยที่เหลือเวลาชีวิตอีกไม่นาน อาจเลือกใช้ช่วงเวลาสุดท้ายอย่างมีคุณภาพด้วยกันเพื่อไม่ให้รู้สึกติดค้างภายในใจหลังจากผู้ป่วยจากไปแล้ว เพราะมีความทรงจำที่ดีเป็นพลังให้ก้าวเดินต่อไป หรือบางครั้งที่ผู้เผชิญกับความสูญเสียแม้จะรู้สึกเศร้าโศกมาก แต่ต้องการบอกเล่าเพื่อถ่ายทอดความนึกคิด มุมมองต่อบุคคลอันเป็นที่รักที่จากไป จึงต้องมีพื้นที่ในการบอกเล่า เพราะการละเลยไม่พูดถึงเท่ากับกดทับความรู้สึกเศร้าโศก ไม่เป็นผลดีต่อการเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้สูญเสีย
สำหรับผู้สนใจแนวทางการจัดกิจกรรมของชุมชนกรุณา เข้าเยี่ยมชมรายละเอียดและดาวน์โหลดคู่มือการจัดกิจกรรมเพื่อเยียวยาความสูญเสียได้จากทางเว็บไซต์ และสำหรับผู้สนใจหนังสือ โอบกอดความเศร้า ร่วมสมทบทุนการพิมพ์เพื่อรับผลงานได้ทางเว็บไซต์เช่นเดียวกัน
วันที่ออกอากาศ: 27 มิถุนายน 2564
ผู้เรียบเรียง: พสินี ธีระกานตภิรัตน์ (แตงกวา)