parallax background
 

เคล็ดลับ จับหัวใจคนไข้

ผู้เขียน: เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

ผมเดินทางลึกเข้าไปในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ในอำเภอนาฝาย จังหวัดชัยภูมิ เพียงเพื่อสนทนากับพระรังสิยา ถิระปญฺโญ ศิษย์ของพระอาจารย์ครรชิต อกิญฺจโน วิทยากรประจำโครงการสังฆะกับการดูแลผู้ป่วย เครือข่ายพุทธิกา เพื่อถามไถ่ถึงเคล็ดลับ จับหัวใจคนไข้ ที่ท่านเพิ่งเรียนรู้มาในเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ทว่าได้ผลจนเป็นขวัญใจคนไข้ของชุมชนใกล้- ไกล วัดวีรวงศาราม อารามประจำของท่านทั้งสอง

พระรังสิยา เล่าถึงประสบการณ์การเยียวยาผู้ป่วยรายแรก ว่าเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ "วันนั้น พระอาจารย์จะไปยื่นหนังสือที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน แต่เมื่อตะโกนเรียกก็ไม่มีใครตอบ อาตมาเข้าไปในบ้านก็พบผู้ชายคนหนึ่งนอนป่วยอยู่บนเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ถามดูก็พบว่าเขาถูกรถชน รักษาก็ไม่หาย" เมื่อสนทนาเป็นเบื้องต้นจึงกล่าวลา พรุ่งนี้จะมาเยี่ยมใหม่

วันรุ่งขึ้นพระรังสิยา นำนมกล่องแพ็คหนึ่งมาเยี่ยม หลังจากปราศรัยกันพอสมควร พระรังสิยาจึงชวนผู้ป่วยทำอะไรบ้างอย่าง

"มาสิ พระอาจารย์จะพาไปดูอะไร"

"ผมไปไม่ได้หรอกอาจารย์ ผมลุกไม่ไหว" คนไข้ตอบ

พระรังสิยากล่าว "ไม่ต้องไปไหนหรอก อยู่ตรงนี้แหละ คราวนี้หงายมือซิ” คนไข้หงายมือ

“คราวนี้ให้ตั้งใจคว่ำมือ ...ตั้งใจหงายมือ ฯลฯ"

คนไข้ตั้งใจหงาย-คว่ำมือทำตาม ทำสักพักสายตาก็หลุดลอยไป พระอาจารย์จึงสะกิดคนไข้ "นั่นเห็นไหม เมื่อสักครู่ไปจมอยู่กับความคิดใช่ไหม อย่าไปจมแบบนั้น ให้กลับมานี่ กลับมาตั้งใจหงายมือ คว่ำมือนี้"

พระอาจารย์ไปเยี่ยมและพาผู้ป่วยเจริญภาวนาโดยไม่รู้ตัวเช่นนั้นอยู่สามวัน จากนั้นจึงไปเยี่ยมอาทิตย์ละครั้ง สองอาทิตย์ต่อมา คนไข้ก็ลุกนั่งได้ จากนั้นก็ยกมือไหว้ได้ กินข้าวได้ แปรงฟันเองได้ ปัจจุบันคนไข้หายจากความป่วยไข้ ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างสมบูรณ์

พระอาจารย์สอนเรื่องการวางจิตใจให้คนไข้ พอจิตใจดี ร่างกายก็จะปรับสภาพตามได้เอง" พระรังสิยากล่าวสรุปบทเรียนจากการเยียวยาจิตใจคนไข้ ตลอดขั้นตอนกระบวนการเยียวยาจิตใจ พระรังสิยาไม่ได้พูดคำว่า "ธรรมะ" เลย หากแต่ทำให้ผู้ป่วยได้มีประสบการณ์ตรงกับการเจริญสติภาวนา ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการอยู่กับความทุกข์ทางกาย แต่จิตใจไม่ได้พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย

หลังจากที่พระรังสิยาประสบความสำเร็จจากการเยี่ยมเยียวยาจิตใจคนไข้คนแรก ก็เกิดจากความมั่นใจในการเยี่ยมคนไข้รายต่อไป ยิ่งเยี่ยมก็ยิ่งได้เรียนรู้ เกิดความสุข สนุก ที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย ในบางรายพระรังสิยาดูแลอย่างต่อเนื่องจวบจนผู้ป่วยเผชิญความตายอย่างสงบ

"ความรู้ ประสบการณ์ในการเยี่ยมผู้ป่วย ก็อาศัยจากที่เคยเห็นจากครูบาอาจารย์ท่านได้ทำกับผู้ป่วย" อีกส่วนหนึ่งก็ได้เรียนรู้จากการลองผิดลองถูกจากประสบการณ์จริงในการเยี่ยมคนไข้ การสังเกตอย่างใกล้ชิดถึงสีหน้า แววตา ปฏิกิริยาของผู้ป่วย ย่อมทำให้รู้ถึงสภาพอารมณ์ ความคิด จิตใจของผู้ป่วย ทั้งนี้การมีสติรู้ตัวอยู่กับปัจจุบันมีส่วนสำคัญอย่างมากในการประเมินสิ่งต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไป

เมื่อถามพระรังสิยาว่า ท่านมีเคล็ดลับอะไรในการเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ท่านให้คำตอบว่า "การไปเยี่ยมผู้ป่วยไม่ใช่เราเอาความรู้ไปยัดเยียดให้เขา เคล็ดลับของการเยี่ยมคือไปฟังผู้ป่วย ถามเขา แล้วตั้งใจฟังเขา บีบนวดมือไม้ของเขา เหมือนกับว่าเราเป็นลูกหลาน อีกอย่างหนึ่ง การไปเยี่ยมทำให้อาตมาได้ความรู้มากนะ ถึงจะเป็นผู้ป่วยแต่เขาให้ความรู้แก่อาตมาเยอะแยะเลย"

เคล็ดลับอีกประการหนึ่งคือ ถามความดีงามของผู้ป่วย “การไปเยี่ยมไม่ใช่เรื่องยาก ถามเขาว่าเวลาไปวัดทำอะไรบ้าง คนไข้ก็จะเล่าความดีให้เราฟัง คนเราพอได้เล่าความดีของตัวเองก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส มีจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน”

“การไปเยี่ยมผู้ป่วยช่วยให้อาตมาได้พัฒนาจิตใจมากเลยนะ เพราะไปเยี่ยมผู้ป่วยต้องมีใจที่นิ่ง เป็นการฝึกใจไปในตัว การเยี่ยมผู้ป่วยทำให้อาตมารู้สึกว่าชีวิตมีค่าขึ้นเยอะ แต่ก่อนเราคิดว่าชีวิตของเรานี้มีประโยชน์แล้วนะ แต่พอมาเยี่ยมผู้ป่วย มันทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเราได้เอื้อประโยชน์ต่อคนอื่นมากขึ้นไปอีก”

ผมได้ฟังเรื่องเล่าของพระรังสิยาด้วยหัวใจพองโต สนุกสนานและเบิกบาน การทำงานเร้ากุศลในใจผู้ป่วย ด้วยท่าทีที่เป็นกุศล แบบนี้กระมัง ที่เป็นยอดเคล็ดลับ จับหัวใจคนไข้ รวมถึงพวกเราทุกคน

[seed_social]
4 เมษายน, 2561

เบาคลายความเจ็บปวด ด้วยนวดสัมผัสแห่งรัก

คนส่วนใหญ่อาจรู้อยู่แล้วว่า การนวดเป็นวิธีการผ่อนคลายร่างกายจากความเมื่อยล้าอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากประโยชน์ทางด้านร่างกายแล้ว การนวดยังมีคุณค่าทางใจ
19 เมษายน, 2561

เยียวยาด้วยใจรัก

“มีพบย่อมมีพลัดพราก หรือจากลา” เป็นคำที่เราคุ้นหู หรือได้ยินบ่อยๆ ซึ่งในยามปกติเราอาจจะไม่มีความรู้สึกใดๆ ต่อคำพูดนี้ หรืออาจจะรู้สึกว่า เออ ก็จริงนะ แต่เมื่อเกิดความสูญเสียกับเรา เราจะรู้สึกทันทีว่า “จริง”
22 พฤศจิกายน, 2560

ความผิดปกติ…ที่เป็นปกติ

ย้อนไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ในขณะที่หลายคนกำลังดูโทรทัศน์อยู่ พลันภาพจากจอโทรทัศน์ก็เปลี่ยนเป็นสีดำ ตัดภาพมามีผู้ประกาศข่าวใส่ชุดสีดำนั่งหน้าตรง