ชีวิตและความตาย เป็นหัวข้อสำคัญที่ควรพูดคุยกันในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด แต่การสร้างบทสนทนาในเรื่องดังกล่าวมักเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก และส่วนใหญ่เป็นการพูดคุยถึงความตายของคนอื่นๆ ความตายของเพื่อนบ้าน หรือตัวละครในโทรทัศน์ ที่รู้สึกไม่ใช่เรื่องของเรา
น้อยครั้งนักที่เราจะพูดคุยหรือตระเตรียมเรื่องชีวิตและความตายอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
เพราะอะไรน่ะหรือ! นอกจากเพราะความตายเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นเรื่องอัปมงคลที่ไม่ควรพูดถึงในสังคมปัจจุบันแล้ว การพูดคุยเรื่องชีวิตและความตายยังถูกทำให้เป็นเรื่องจริงจังเคร่งขรึม “เกินไป” น่ะสิ!
กลุ่มแอคชันมิล (Action Mill) มองเห็นข้อจำกัดในการสร้างบทสนทนาเรื่องชีวิตและความตายดังกล่าว โจทย์คือทำอย่างไรจึงจะพูดคุยเรื่องความตายได้อย่างไม่เคร่งเครียด แต่ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารในเรื่องดังกล่าวได้ ทีมงานจึงประดิษฐ์เครื่องมือสร้างบทสนทนาในรูปแบบการ์ดเกมที่ชื่อ “My Gift of Grace” (อ่านเพิ่มเติมใน อาทิตย์อัสดง ฉบับที่ ๒๐ “ความตาย พูดได้”) เมื่อคุยเรื่องชีวิตและความตายในวงเกม ความเคร่งขรึมจะกลายเป็นความสนุกสนาน ผ่อนคลาย ทว่ายังคงได้ขบคิดถึงประเด็นดังกล่าวอย่างลึกซึ้ง และเกิดอานิสงส์ข้างเคียงอื่นๆ มากมาย
เครือข่ายพุทธิกาเห็นประโยชน์และความคิดสร้างสรรค์ของเครื่องมือชิ้นนี้ จึงติดต่อองค์กรต้นคิด ขอแปล ปรับปรุง เครื่องมือดังกล่าว ผลิตเป็นชุดเครื่องมือการเรียนรู้และสนทนาเรื่องชีวิตและความตาย ในชื่อ “เกมไพ่ ไขชีวิต”
เกมไพ่ ไขชีวิต: เกมสร้างบทสนทนาเรื่องชีวิตและความตาย อย่างง่าย และสนุกสนาน
ชีวิตและความตาย เป็นเรื่องที่เราน่าจะได้คุยกัน กับเพื่อนหรือครอบครัว การพูดคุยเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง จะทำให้เราได้ทบทวนตนเอง และเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น เมื่อถึงเวลาวิกฤติของชีวิต ก็จะทำให้เรารับมือได้อย่างเท่าทัน
หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องยาก ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร เกมไพ่ ไขชีวิต จะช่วยให้คุณเริ่มต้นพูดคุยเรื่องชีวิตและความตายได้อย่างง่าย และสนุก
วิธีเล่น
เพียงรวบรวมเพื่อนหรือคนในครอบครัว ๔-๕ คน ล้อมวงกันเล่นเกมถามตอบ เจ้ามือเปิดไพ่คำถาม ให้ทุกคนได้คิด เขียนคำตอบ และเล่าคำตอบของตน แต่ละคนก็จะได้ทบทวนชีวิตและความตายของตน ทั้งยังได้เข้าใจมุมมองดีๆ ของคนอื่นด้วย เมื่อตอบเสร็จแล้วก็เปิดไพ่คำถามถัดไป
ก่อนจะเริ่มทำคำถามจริงจัง จะมีคำถามอุ่นเครื่อง และเมื่อเล่นเสร็จจะมีคำถามเพื่อสรุปปิดวง ระหว่างเล่น หากใครชอบคำตอบของใคร ก็สามารถให้ไพ่ถูกใจไปเก็บไว้เป็นคะแนนได้ด้วยนะ
เกมนี้ใช้เวลาเล่นประมาณ ๑-๒ ชั่วโมง แต่ถ้าใครนึกสนุก จะเล่นทั้งวันก็ได้
อ่านวิธีเล่นเพิ่มเติมได้จากคู่มือวิธีเล่น และอ่านเนื้อหาความรู้เพิ่มเติมได้จาก “จดหมายถึงเจ้ามือ” ที่แถมมาในกล่อง
เกมไพ่ ไขชีวิต ใช้เล่นกับใครได้บ้าง
เกมไพ่ ไขชีวิต ถูกออกแบบมาสำหรับการเล่นกับคนทั่วไป อายุ ๒๐ ปีขึ้นไป โดยที่ยังมีสุขภาพดีไปจนถึงผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ ยังสามารถเล่นได้หลายกลุ่ม หลายโอกาส เช่น
เล่นในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวจะได้รู้จัก ทำความเข้าใจกันและกันมากขึ้น เราอาจได้สำรวจความพร้อมในการรับมือกับความเจ็บป่วยและความตาย โยงใยความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งและเปราะบาง ความรู้สึกผิดติดค้าง ความคาดหวังและความภาคภูมิใจ ตลอดจนประวัติศาสตร์ครอบครัว เราอาจเข้าใจว่าทำไมคนคนนี้จึงคิด-เห็น-เป็น เช่นนี้
เล่นในกลุ่มเพื่อน เราจะทำความเข้าใจ ความคิด ทัศนคติของเพื่อนในแง่มุมเกี่ยวกับชีวิตและความตายมากขึ้น ได้สำรวจความปรารถนาของกันและกัน การเข้าใจสิ่งที่อยู่ภายในของแต่ละคนเป็นพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ นำไปสู่มิตรภาพที่แน่นแฟ้นและอ่อนโยน
เล่นในกลุ่มบุคลากรสุขภาพ รวมไปถึงนักเรียนแพทย์-พยาบาล ผู้เล่นจะได้สำรวจพื้นฐานทัศนคติเกี่ยวกับชีวิตและความตายของตัวเราเอง การได้ฝึกฝนใคร่ครวญสนทนาเรื่องความตาย ทำความเข้าใจตนเอง ย่อมจะช่วยให้บุคลากรเกิดความมั่นใจในการสนทนาเรื่องนี้กับผู้ป่วยหรือผู้ดูแลด้วยเช่นกัน
เล่นกับผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ผู้นำเกมอาจเลือกถามบางคำถามที่เหมาะสม ไม่สะเทือนใจมากเกินไป เราอาจถามคำถามผ่านเกมไพ่โดยตรงกับผู้ป่วย หรือคนที่เราอยากฟังความคิดของเขา ตัวอย่างเช่น ผู้ดูแลคนหนึ่งอาศัยช่วงเวลารวมญาติในเทศกาลวันหยุดยาว นำเกมมาเปิดถามหมู่พี่น้องทีละใบ เธอได้ยินคำตอบที่น่าสนใจ ญาติบางคนพร้อมรับมือกับความตายอยู่เสมอ ในขณะที่บางคนกริ่งกลัวเกินความคาดหมาย
เล่นแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง
เกมไพ่ ไขชีวิต มีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อเปิดพื้นที่การพูดคุย สร้างบทสนทนาเรื่องชีวิตและความตาย มุ่งหวังให้เกิดความมั่นใจว่า การพูดคุยเรื่องนี้ไม่ได้ยากเย็นและเคร่งเครียดเกินไปนัก หากเป็นหัวข้อธรรมดาหัวข้อหนึ่งที่คุยกันได้ในเวลาสบายๆ หรือแม้แต่ช่วงละครหลังข่าว
ที่น่าสนใจคือ นอกจากจะให้ผลดังกล่าวแล้ว ยังเกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ ที่ผู้จัดทำไม่ได้คาดคิดมาก่อน เช่น ความมั่นใจว่าจะสามารถพูดคุยสื่อสารเรื่องนี้ในครอบครัวได้ด้วยตนเอง ผู้เล่นบางคนตัดสินใจร่างพินัยกรรมชีวิต (Living Will) ขึ้นมาหนึ่งฉบับทันทีที่เล่นเกมจบ ผู้เล่นบางคนตกลงที่จะเป็นเจ้าภาพกฐิน ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรารถนามานานแต่ไม่ได้มีโอกาสลงมือทำเสียที
อาจารย์ – นักศึกษา กลุ่มหนึ่ง เล่นเกมแล้วเกิดความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น ศิษย์ก็กลัวอาจารย์น้อยลงเพราะเห็นแง่มุมที่มีความเป็นมนุษย์ของอาจารย์ ในขณะที่อาจารย์ก็รู้ว่าจะดูแลลูกศิษย์อย่างไร
ตัวผู้เขียนเองก็เพิ่งจะมีโอกาสในสนทนาเรื่องชีวิตและความตายกับครอบครัวอย่างจริงจังผ่านวงเล่นเกม จึงค่อยรู้ความคาดหวังของพ่อแม่และน้องๆ ตลอดจนความปรารถนา ความพร้อมในการเผชิญความเจ็บป่วยและความตาย บทสนทนาเช่นนี้เป็นสิ่งใหม่ที่น่าตื่นเต้น มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในครอบครัวของผู้เขียน
คำถามบางส่วน
• สถานที่ใดที่คุณต้องการให้เป็นที่ตายของคน
• คุณจะแจกอะไรเป็นของที่ระลึกในงานศพของคุณ
• คุณให้เวลากับกิจกรรมใดมากที่สุด ในชีวิตช่วงนี้
• คุณจะแจ้งข่าวการตายของคุณบนเฟซบุ๊กหรือไม่ เพราะเหตุใด
• ของสำคัญอะไรที่คุณต้องการมอบให้ผู้อื่นก่อนที่คุณจะตาย คนที่ได้รับของชิ้นนั้นคือใคร
• ฯลฯ
สนใจ “เกมไพ่ ไขชีวิต” ติดต่อหรือดูรายละเอียดได้ที่เครือข่ายพุทธิกา: www.budnet.org หรือ เฟซบุ๊ก: เกมไพ่ ไขชีวิต ส่วนเกมไพ่ภาษาอังกฤษ ติดต่อได้ที่เว็บไซต์ My Gift of Grace: http://mygiftofgrace.com
[seed_social]