parallax background
 

เกมไพ่ไขชีวิต
สื่อการสอนนักศึกษาแพทย์

ผู้เขียน: ศรินธร รัตน์เจริญขจร หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ที่คุ้มครองการทำหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย (Living Will) เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสตัดสินใจเกี่ยวกับการรักษาด้วยตนเองภายใต้การปรึกษาแพทย์ แต่ Living Will รวมถึงแผนการดูแลล่วงหน้า (Advance Care Planning-ACP) ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก อาจเป็นเพราะเรื่องความตายเป็นประเด็นอ่อนไหวในสังคมไทย และแพทย์ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่อง ACP จึงไม่สามารถให้คำปรึกษาและร่วมวางแผนกับผู้ป่วยและญาติที่มีความต้องการดังกล่าวได้

นายแพทย์ธารินทร์ เพ็ญวรรณ อาจารย์ประจำสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงศึกษาการใช้ “เกมไพ่ไขชีวิต” เป็นสื่อการสอนในห้องเรียน เนื่องจากเกมไพ่เป็นวงสนทนาที่ทำให้ผู้เข้าร่วมตระหนักถึงความสำคัญของแผนการดูแลล่วงหน้า พูดคุยเรื่องความตายและภาวะใกล้ตายได้ด้วยความรู้สึกปลอดภัย จากงานศึกษาในต่างประเทศหลายชิ้นพบว่า ผู้ร่วมวงไพ่พูดถึงความตายและแผนการดูแลล่วงหน้าได้อย่างสบายใจขึ้น บางคนสามารถวางแผนการดูแลล่วงหน้าได้เลย

ส่วนการศึกษานี้ทำขึ้นเพื่อประเมินมุมมองของนักศึกษาแพทย์ที่มีต่อเกมไพ่ และประเมินประสิทธิผลในการใช้เกมไพ่เป็นสื่อการสอน โดยใช้การสุ่มเลือกกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่สองจำนวน 48 คนมาเข้าร่วมการทดลอง แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มๆ ละ 6 คน (และผู้นำวงเล่นเกมไพ่อีก 1 คน) ประกอบด้วยนักศึกษาอายุเฉลี่ย 20 ปี ชาย 26 คน หญิง 22 คน มี 20 คนเคยสูญเสียคนใกล้ชิดในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทุกกลุ่มจะเล่นเกมไพ่ทั้งหมด 8 เกม แต่ละเกมใช้เวลา 90-120 นาที

หลังเกมจบจะใช้การประชุมกลุ่มย่อย การสัมภาษณ์รายบุคคลในการเก็บข้อมูล และรวบรวมข้อคิดเห็นของนักศึกษาในขณะที่เล่นเกมไพ่ ข้อความที่เขียนในไพ่ปรารถนา (wish card) มาวิเคราะห์ หลังการนั้นอีก 3 เดือน จะโทรศัพท์ติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรมของกลุ่มนักศึกษาที่เข้าร่วมการทดลอง แล้วใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ มาวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) และวิเคราะห์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลง 5 ขั้นตามแนวคิด Prochaska’s transtheoretical model (TTM) ในเรื่องมุมมองต่อความตายและแผนการดูแลล่วงหน้า คือ 1) ขั้นเริ่มต้นก่อนที่จะเกิดการคิดใคร่ครวญ [ถึงเรื่องความตาย] 2) ขั้นคิดทบทวน 3) ขั้นเตรียมตัว 4) ขั้นลงมือเปลี่ยนแปลง และ 5) ขั้นการดูแลต่อเนื่อง

ผลการศึกษาพบว่า ก่อนเล่นเกมไพ่ นักศึกษาแพทย์ 42 คน (87.5%) จะมีพฤติกรรมอยู่ในขั้นแรกคือไม่เคยคิดเรื่องความตายมาก่อนเลย อีก 6 คน (12.5%) อยู่ในขั้นคิดทบทวนเรื่องความตาย แต่เมื่อเล่นเกมไพ่จบ พบว่า นักศึกษา 15 คน (31.25%) เปลี่ยนไปเป็นขั้นคิดทบทวนถึงความตาย อีก 33 คน (68.75%) ข้ามขั้นไปถึงเรื่องการเตรียมพร้อมก่อนตาย เมื่อติดตามผลทางโทรศัพท์หลังเล่นเกมไพ่ผ่านไปสามเดือนพบว่า ไม่มีนักศึกษาคนใดย้อนกลับไปสู่ขั้นเริ่มต้นที่ไม่เคยคิดเรื่องความตายมาก่อนเลย ขณะที่มีนักศึกษา 12 คน (25%) และ 32 คน (66.7%) อยู่ในขั้นคิดทบทวนเรื่องความตายและขั้นเตรียมตัวตายตามลำดับ อีก 4 คน (8.3%) อยู่ในขั้นลงมือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

แสดงให้เห็นว่า การเล่นเกมไพ่นอกจากจะทำให้นักศึกษาตระหนักถึงแนวคิดเรื่องความตายแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ก่อนการเล่นเกมไพ่ นักศึกษาคิดว่าความตายเป็นเรื่องไกลตัวและน่าอึดอัด ไม่อยากพูดถึง เพราะกลัวตายและคิดว่าตนเองอายุยังน้อย ร่างกายแข็งแรง ดังมีข้อความที่นักศึกษาสะท้อนออกมา เช่น “ฉันอายุยังน้อยและแข็งแรงด้วย ไม่น่าจะตายเร็วๆ นี้” “ฉันรู้สึกแย่มากเลยที่จะพูดหรือคิดถึงมัน [ความตาย] คุยเรื่องอื่นไม่ได้หรือ” “มันจะเกิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ พรุ่งนี้ หรือปีหน้า เลยทำให้ฉันกลัว” แต่เมื่อได้ร่วมเล่นเกมไพ่ มุมมองต่อเรื่องความตายก็เปลี่ยนแปลงไป

นักศึกษาทุกคนรู้สึกปลอดภัยในวงเล่นเกมไพ่ เพราะไม่ถูกตัดสินจากผู้นำวงซึ่งเป็นกันเองและร่วมเล่นเกมกับพวกเขาด้วย ทำให้สบายใจและกล้าพูดเรื่องส่วนตัว นอกจากนี้ยังเห็นว่าเกมไพ่เป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยในกลุ่มพูดคุย และช่วยให้เห็นมุมมองที่แตกต่าง สร้างสรรค์ ได้แบ่งปันประสบการณ์กับเพื่อน ทำให้เกิดการเรียนรู้ คำถามคำตอบก็ชวนให้ตื่นเต้น ประหลาดใจ ได้ความรู้และมุมมองใหม่ๆ มีนักศึกษาสะท้อนว่า “แต่ละคำถามมันมีคำตอบหลากหลาย ไม่มีถูกมีผิด เช่น เมื่อเราคุยถึงสถานที่ตาย ฉันอยากตายที่บ้าน แต่เพื่อนฉันไม่อยาก เพื่อนบอกว่าจะทำให้คนข้างหลังเสียใจมาก” “คำถามเกือบทั้งหมดเป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยคิดถึงมาก่อน เช่น คุณจะทำยังไงถ้ารู้ว่าพรุ่งนี้ตัวเองต้องตาย ทำให้รู้ว่าฉันต้องเตรียมตัวเยอะมาก”

หลังเกมไพ่จบ นักศึกษาจะมีมุมมองต่อเรื่องความตายเปลี่ยนไป พวกเขาเห็นว่าความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด มองเห็นผลที่เกิดตามมาหลังความตาย ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป คือมีการทบทวนตนเอง มีสติ ใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท รวมถึงวางแผนการดูแลล่วงหน้าด้วย ตัวอย่างเช่น “ฉันรู้แล้วว่าความตายใกล้ตัวกว่าที่คิด ฉันนึกว่าพวกเราจะตายตอนอายุ 80-90 แต่หลังเล่นเกมไพ่ ฉันรู้แล้วว่าไม่ใช่ทุกกรณี เราตายได้ทุกขณะ” “ความตายส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น ถ้าฉันตาย พ่อแม่ฉันคงใจสลาย อีกอย่างใครจะดูแลแมวที่ฉันเลี้ยง พ่อแม่ก็เรื่องหนึ่ง แต่แมวมันมีฉันแค่คนเดียวนะ” “ฉันขับรถเร็วมาก เคยฝ่าไฟแดงและข้ามเครื่องกีดขวางด้วย ต่อไปฉันจะขับช้าลง ระวังมากขึ้น เพราะฉันไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น [ถ้ายังขับรถแบบเดิม]” นอกจากนี้ยังเห็นความเปลี่ยนแปลงจากไพ่ปรารถนาที่นักศึกษาตั้งใจจะสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้มากขึ้น เช่น “ฉันจะเป็นลูกสาวที่ดี และจะพูดคุยกับยายให้มากขึ้น” “ฉันจะทำตามความตั้งใจ ฉันจะเก็บเงินให้แมวที่ฉันเลี้ยง และจะถามคำถาม [แบบในไพ่] กับพ่อแม่ด้วย”

เมื่อกล่าวถึงการนำเกมไพ่มาเป็นสื่อการสอน นักศึกษาทั้ง 48 คนสะท้อนว่า เกมไพ่ช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีในการพูดคุยเรื่องความตายและภาวะใกล้ตาย และทำให้พวกเขาได้เห็นมุมมองที่แตกต่างของเพื่อน นักศึกษาส่วนใหญ่ (45 คน) ชอบวิธีการสอนแบบนี้มากกว่านั่งฟังบรรยายจากอาจารย์ในห้องเรียน จึงกล่าวได้ว่า “เกมไพ่ไขชีวิต” เป็นเครื่องมือการเรียนการสอนเรื่องความตายที่มีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี การทดลองนี้ยังมีข้อจำกัดสองประการ คือ การไม่ได้ควบคุมตัวแปรโดยนำวิธีการสอนแบบอื่นมาเปรียบเทียบกับเกมไพ่ และการเลือกกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาแพทย์ปีสองที่ยังไม่ได้เรียนการตรวจคนไข้จริง (pre-clinical year students) ยังไม่เคยเจอผู้ป่วยใกล้ตายมาก่อน ถ้าทดลองเล่นเกมไพ่กับกลุ่มนักศึกษาที่เรียนผ่านการตรวจคนไข้จริง (clinical year students) แล้ว อาจแสดงผลที่ต่างไปเพราะพวกเขามีโอกาสได้สังเกตหรืออยู่ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยกำลังใกล้ตาย จึงมีข้อเสนอว่าควรนำเกมไพ่ไปทดลองเล่นกับนักศึกษาแพทย์ที่เรียนผ่านการตรวจคนไข้จริง หรือนักศึกษาแพทย์ที่เรียนจบแล้วต่อไป

เกมไพ่ไขชีวิต

เกมไพ่ไขชีวิต มีคำถาม 45 ข้อ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคำถาม คือ 1) คำถามเพื่อผ่อนคลายความรู้สึก 2) ประเด็นเรื่องความตายและภาวะใกล้ตาย และ 3) การวางแผนดูแลล่วงหน้า เกมไพ่เป็นการพูดคุยถึงเรื่องที่ยากและอ่อนไหว เพื่อให้มีการตระหนักถึงความตายและภาวะใกล้ตาย รวมถึงความสำคัญของแผนการดูแลล่วงหน้า การตั้งวงเล่นไพ่ มีผู้เล่นได้วงละ 4-10 คน และมีผู้นำวงอีก 1 คน

วิธีเล่น

เริ่มต้นการสนทนาด้วยคำถามอุ่นเครื่อง 2 ข้อ คือ 1) กังวลใจอะไรบ้างที่จะเล่นเกมไพ่ 2) มีความคาดหวังอะไรต่อการร่วมวงเล่นไพ่ หลังจากนั้นจะสับไพ่ ดึงไพ่ใบบนสุดออกมาอ่านคำถามดังๆ ให้ทุกคนในวงฟัง ทุกคนในวงจะคิดและตอบคำถามนั้นหรือเขียนลงในกระดาษ จากนั้นจะแลกเปลี่ยนคำตอบกันรอบวง หากถูกใจคำตอบของคนใด หรือต้องการให้กำลังใจ เพื่อนร่วมวงสามารถมอบไพ่ like ให้กับคนตอบได้ เมื่อตอบครบทั้งวงแล้ว คนต่อไปจะหยิบไพ่สำหรับคำถามใหม่ และทุกคนในวงจะตอบทีละคน การเล่นจะวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 90-120 นาที ก่อนที่จะจบเกมด้วยคำถาม 2 ข้อคือ 1) คุณเรียนรู้อะไรจากเกมนี้บ้าง และ 2) คุณจะกลับไปทำอะไรบ้างหลังจากเล่นเกมนี้

แปลและเรียบเรียงจาก Phenwan T, Apichanakulchai T, Sittiwantana E, Life unlocking card game in death and dying classroom for medical students, MedEdPublish, 2018, 7, [3], 43, doi : https://doi.org/10.15694/mep.2018.0000181.1 https://www.mededpublish.org/manuscripts/1853 [seed_social]
13 เมษายน, 2561

โมงยามที่เปี่ยมชีวิตชีวา

วิลโก จอห์นสัน เป็นนักร้องและมือกีตาร์ชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการก่อเกิดขบวนการพังค์ในอังกฤษ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา
18 เมษายน, 2561

เหมือนรู้ว่าต้องจากกัน

“หมอๆ ช่วยดูให้ฉันหน่อยสิว่า ผัวฉันมีข้าวกินหรือเปล่า” นั่นเป็นเสียงของป้าแสงคนไข้ที่มาด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
13 เมษายน, 2561

เตือนตายในเดินทาง

ด้วยงานที่ทำคือกระบวนกรฝึกอบรมซึ่งต้องตระเวนไปจัดอบรมทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งงานอดิเรกคือการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ