คุณอัจฉรา วัฒนาภา หรือ คุณหยิ่ว เป็นอาจารย์ทันตแพทย์ที่สอนนักศึกษาเรื่องทันตกรรมชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ซึ่งใช้แรงบันดาลใจจากเกมส์ไพ่ไขชีวิตและนำเรื่องความตายมาใช้กับระบบการศึกษา คุณหยิ่วเล่าถึงจุดเริ่มต้นว่าในช่วงปี พ.ศ.2553 – 2555 เป็นช่วงที่ตัวเธอเองต้องดูแลคุณแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะที่ 3 ช่วงของการรักษาให้คีโมบำบัดจนถึงจุดหนึ่งที่คุณแม่ให้การปฏิเสธการรักษาคิดว่าจะไม่ให้คีโมแล้ว ตรงนี้เองที่ถึงช่วงการดูแลระยะท้ายดูแลประคับประคองให้คุณแม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพบว่าการเตรียมตัวจากไปหรือการตายเป็นเรื่องที่ดีในชีวิตได้ นี่คือประสบการณ์เตรียมที่จะส่งคุณแม่ทำให้คุณหยิ่วต้องมาหาความรู้เพื่อดูแลช่วงท้ายของชีวิตเพื่อให้คุณแม่เตรียมตัวจากไปอย่างสงบและมีความสุขที่สุด การสร้างเรื่องราวที่ดีที่ทำให้ผู้ดูแลไม่เศร้าโศกมากมายแต่มีความอาลัย นั้นคือความหมายของการตายดี ที่ทั้งคนที่อยู่และคนที่จากไปต่างรู้สึกสงบใจทั้งสองฝ่าย
การค้นหาวิธีเรื่องการเตรียมตัวตายดีนั้น คุณหยิ่วเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่องของการ “เตรียมตัวตาย” อ่านหนังสือของพระอาจารย์ไพศาล “สภาวะใหม่ของการตายแบบทิเบต” พยายามค้นหากิจกรรมใน internet ตอนนั้นเองที่คณะแพทยศาสตร์มีจัดกิจกรรมเรียนในหัวข้อ “การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” ซึ่งทำให้คุณหยิ่วมีโอกาสได้เรียนรู้กับนักวิชาการที่มีความรู้เรื่องเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สิ่งที่ช่วยได้มากคือความรู้เรื่องการดูแลช่วงท้าย เครือข่ายทั้งด้านกายและจิตวิญญาณช่วยได้มาก ทำให้เราเลือกวิธีการที่เหมาะกับครอบครัวของเราชีวิตของเรามาปรับใช้ได้
แรงบันดาลใจที่นำเรื่องความตายและกระบวนการเข้าใจความตายมาปรับใช้ในการเรียนกับนักศึกษานั้น คุณหยิ่ว มองว่าที่ภาควิชานั้นมีวิชาที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้อื่นและมีเรื่องทักษะชีวิต เป็นวิชาเป้าหมายที่ต้องเข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และสามารถรับรู้ความรู้สึก ไม่ตัดสินผู้อื่น กระบวนการที่จะกระตุ้นให้เราเกิดความรู้สึกอยากเข้าใจคนอื่นได้
“บางทีเวลาที่เราเห็นเจ็บป่วยมีความทุกข์มันคือสิ่งที่เร้าความกรุณา เร้าให้หัวใจเรารู้สึกว่ามันเปิดรับที่จะเข้าอกเข้าใจคนอื่นได้ง่าย ดังนั้นกระบวนการเรียนจึงเชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงด้วยส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้นนักศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 เขาก็มีโอกาสได้เรียนรู้และได้เข้าไปประสบกับผู้ป่วยเรื้อรัง การดูแลในที่นี้ไม่ใช่แค่เรื่องร่างกายแต่รวมถึงจิตใจที่จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยมีความสุขขึ้น ประเด็นในส่วนนี้จึงยังไม่ได้มุ่งสู่ความตายแต่มองว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ป่วย คนที่เปราะบาง สามารถสร้างสมดุลในชีวิตที่มีความสุขได้”
เครื่องมือของกลุ่ม Peaceful Death ที่จะช่วยทำกระบวนการในการเข้าใจตนเองและการเข้าใจคนอื่น หัวใจสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการเข้าใจคือ “การฟังด้วยหัวใจ” และการเรียนรู้ตัวเองและผู้อื่นว่าตัวเราเองเป็นคนอย่างไร คนอื่นเขาเป็นอย่างไร และเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไรได้บ้าง การใช้กิจกรรมที่หลากหลายเพื่อการค้นหาตนเองและผู้อื่น ซึ่งการใช้เกมส์ไพ่ไขชีวิตช่วยได้มากในการทำให้เกิดกระบวนการตั้งคำถามต่อตัวเอง กระบวนการนี้ทำให้เกิดการทบทวนตนเอง เป็นการให้นักศึกษากลับเข้ามาหาตัวเองเปิดพื้นที่ทำความเข้าใจและพร้อมที่จะเปิดรับให้คนอื่นด้วย
เกมไพ่ไขชีวิต ที่หยิบเครื่องมือนี้มาใช้กับนักศึกษาเนื่องจากประเด็นคำถามในเกมส์ เป็นคำถามที่โดนใจที่จะกลับมาทบทวนชีวิตตัวเอง ด้วยบรรยากาศการฟังที่เรามองว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัย โดยกติกาจะทำให้เรากล้าที่จะดึงสิ่งลึกๆของเราออกมาพูดได้ ถ้าเราเปล่งเสียงเรื่องนี้ออกมาแล้วทำให้เรายืนยันความคิดของเรา ยืนยันสิ่งที่เรามีอยู่ข้างในให้ชัดเจนมากขึ้น ตัวคำถามที่มันโดนนั้นจะทำให้ผู้เล่นเดินคุ้ยเข้าไปในในตัวเอง เช่น ถ้าเรามีผู้ป่วยระยะท้ายติดเตียงใครจะดูแลเรา ซึ่งการเล่นเกมส์ไพ่นี้ไม่ว่าเล่นกี่ครั้งมันจะทำให้เราได้เรียนรู้ และคุณหยิวเชื่อว่าเด็กๆเหล่านี้มีคำถามที่โดนใจเขา บางอย่างเข้าไม่ได้ฉุกคิด เด็กๆบางคนที่มาเรียนแพทย์อาจจะไม่ได้มาด้วยความต้องการตนเองและการมีพื้นที่ให้เขาพูดทำให้เขาได้มีพื้นที่ได้พูดออกไป ประกอบกับผู้รับฟังรอบข้างทำให้การพูดออกมานั้นได้เป็นช่วงเวลาดูแลใจซึ่งกันและกัน
ผลตอบรับจากนักศึกษาโดยรวมนักศึกษาชอบกิจกรรมนี้ แต่บางครั้งนักศึกษาบางคนก็สะเทือนใจร้องไห้ออกมา เพราะบางคนไม่มีโอกาสได้พูดสิ่งที่อยู่ในจิตใจออกมา ยิ่งการได้เล่นเกมส์นี้ตอนปี 1 ทำให้เกิดการสร้างสัมพันธ์ระหว่างเด็กๆที่เข้ามาใหม่ให้เรียนรู้เข้าใจกันและกัน เพื่อนคิดอย่างไร มันสร้างความสัมพันธ์วางใจให้นักศึกษารู้สึกสนิทสนมมากขึ้น ชีวิตคนเราไม่มีได้มีชีวิตด้านเรียนอย่างเดียวการได้เปิดวงคุยเรื่องชีวิตกับนักศึกษามีเรื่องราวที่อะไรที่แตกมาในชีวิตของตัวเอง มันคือการเปิดพื้นที่แห่งความสัมพันธ์ที่ดี
การได้ทบทวนชีวิตในวัยหนุ่มสาวถือเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการศึกษา เพราะความตายไม่ได้จำกัดไว้ว่าจะเกิดขึ้นกับวัยใด การสร้างช่วงเวลาในการเรียนรู้ การสร้างทักษะการฟัง การทำงานด้วยกิจกรรมกลุ่มกับนักศึกษา ทำให้นักศึกษาทันตแพทย์ได้เพิ่มทักษะชีวิตซึ่งเป็นส่วนสำคัญของชีวิตไม่แพ้ทักษะอาชีพ อย่างน้อยนักศึกษาได้ติดเครื่องมือ “การฟังด้วยหัวใจ” การฟังที่ไม่ตัดสินและไม่มีอคติจะทำให้นักศึกษาสามารถเปิดพื้นที่เรียนรู้ความสุขทั้งตนเองและผู้อื่นได้
วันที่ออกอากาศ: 21 กุมภาพันธ์ 2564
ผู้เรียบเรียง: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ