“ห้องสมุดผีเสื้อ” พื้นที่สาธารณะ ที่ใช้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับผู้สนใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ห้องสมุดนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดศรีสะเกษ เกิดขึ้นจากแนวคิดของคุณอ้อ หทัยรัตน์ สุดา นักวิชาการอิสระ และอดีตเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระ ที่ตัดสินใจกลับบ้านเกิด หลังจากมาเป็นเวลา 30 ปี คุณอ้อพยายามหาการเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่บ้านเกิดกับตัวคุณอ้อเอง และต้องการทำกิจกรรมที่มีต้นทุนจากความสามารถและความชอบของตนเองขึ้นมา เพื่อตอบแทนสังคม ทั้งนี้ด้วยความชอบอ่านหนังสือ มีหนังสือจำนวนมาก และเล็งเห็นความสำคัญของประโยชน์ที่จะได้จากการอ่าน เพราะเชื่อว่าการอ่านจะช่วยสร้างจิตนาการ นำพาความคิดเดินทางไปในที่ต่างๆ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก จึงตัดสินใจสร้างห้องสมุดผีเสื้อขึ้น โดยการแบ่งพื้นที่บ้านของตนเอง สร้างเป็นห้องสมุดด้วยเงินส่วนตัว จำนวนหนึ่ง พร้อมกับซื้อหนังสือสำหรับเด็กเพิ่มเติม เพื่อให้เด็กในหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียงได้เข้ามาอ่านหนังสือ ยืมหนังสือ เล่นเกม หรือทำกิจกรรมอื่นๆ นอกจากนั้นยังจัดอบรมเรื่องกระบวนการจัดการเรียนรู้ เช่นการเรียนรู้แบบ Active Leaning หรือการสอนเรื่องเพศวิถีศึกษา ให้กับครู เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือผู้ที่สนใจอีกด้วย
นอกเหนือจากจะให้บริการห้องสมุด และการอบรมเรื่องกระบวนการจัดการเรียนรู้แล้ว ห้องสมุดผีเสื้อยังเป็นพื้นที่แห่งความปลอดภัย ในการพูดคุย เล่าเรื่อง หรือขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับสภาวะภายในจิตใจ โดยใช้หลักการ counseling ควบคู่ไปกับการใช้เครื่องมือไพ่ในการพูดคุย ซึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้ห้องสมุดผีเสื้อเชื่อมเข้ากับชุมชนกรุณา เกิดขึ้นจากคุณอ้อ ได้เป็นวิทยากรที่เรือนจำกลางขอนแก่น แล้วมีโอกาสฟังเรื่องการเผชิญความตาย จึงเกิดความสนใจเกี่ยวกับการจัดอบรมเรื่องความตายให้ผู้อื่นได้เรียนรู้ และจากการฟังเรื่องการเผชิญความตายนี้ยังเป็นการดึงคุณอ้อกลับเข้าสู่เรื่องการตายดี ซึ่งคุณอ้อเคยมีประสบการณ์ทำงานในด้านนี้ จากการเป็นอาสาสมัครดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์ ได้ฝึกการดูแล และนำพาเข้าสู่การเสียชีวิตอย่างสงบ เป็นกิจกรรมที่คุณอ้อทำอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้เป็นกิจจะลักษณะนัก ดังนั้นคุณอ้อจึงได้เข้าอบรมเรื่องการเผชิญความตายเพิ่มเติมจากกลุ่ม ICU ต่อมาจึงได้รู้จักกับ Peaceful Death ทั้งนี้คุณอ้อได้ประยุกต์เครื่องมือจาก Peaceful Death และแนวคิดต่างๆ ที่ได้รับจากการอบรมและเรียนรู้ ควบรวมเข้ากับประสบการณ์ส่วนตัว ออกแบบหลักสูตรเผชิญความตายอย่างสงบ (อยู่ดี ตายดี) ขึ้นมา โดยแบ่งเป็น 2 หลักสูตร คือ หนึ่ง หลักสูตรที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุ เป็นหลักสูตรที่เกี่ยวกับการใคร่ครวญชีวิตตัวเอง และสอง หลักสูตรเพื่อผู้ดูแล และบุคลากรที่ทำงานในระบบสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับความตายของคนในชุมชน ได้ฝึกทักษะในการดูแลและเตรียมผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ในการอบรมจะแบ่งเป็นการอบรม 1 วัน สำหรับหลักสูตรผู้สูงอายุ และ 2 วัน สำหรับผู้ดูแล วันแรกเป็นการให้ความหมายเรื่องการอยู่ดี ตายดี มีอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรมคือไพ่ไขชีวิต และสมุดเบาใจ เพื่อให้เกิดใคร่ครวญ และละวางเรื่องราวต่างๆในชีวิต ส่วนวันที่สอง หลักสูตรสำหรับผู้ดูแล มีการฝึกทักษะ 3 ด้านด้วยกันคือ หนึ่ง ทักษะในการทำความเข้าใจอารมณ์ของผู้สูงอายุ ที่มักจะรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าและเป็นภาระ สอง ฝึกทักษะเรื่องการสังเกต การถาม และการฟังอย่างตั้งใจ เพื่อรับรู้ได้ถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุ และเพื่อหลีกเลี่ยงการให้ความช่วยเหลือที่จะเข้าไปศักยภาพของผู้สูงอายุ ทักษะที่สาม ฝึก coaching ให้ผู้ดูแลมีสถานะเป็น coach ให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดหลักสูตรการเผชิญความตาย เป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาของ care giver และ care manager ที่ไม่ได้เน้นเรื่องการเตรียมใจ และการยอมรับความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะความตายที่เป็นเรื่องปกติสามัญ ส่วนหนึ่งเพราะการออกแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมักให้ความสำคัญกับเรื่องกายภาพ หรือการอยู่ดี มากกว่าเรื่องทางใจหรือการตายดี ดังนั้นจะเห็นความพยายามในการทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บน้อยที่สุด หรือการยื้อชีวิต มากกว่าการปล่อยวาง แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งกายภาพและใจควรไปพร้อมกัน ซึ่งพี่อ้อเล็งเห็นความสำคัญข้อนี้ และตนเองก็มีความสามารถในกระบวนการเตรียมตัวตาย จึงจัดหลักสูตรขึ้นเพื่อปิดช่องว่างของข้อบกพร่อง ซึ่งขอแนะนำเบื้องต้นในการฝึกการดูแลทางใจในผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเริ่มต้นจากคนในครอบครัว แบ่งเป็นสองช่วงระยะ ระยะแรก หากอยู่ในช่วงที่ผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ควรให้ความสำคัญกับการพูดคุยและการฟัง รับรู้ให้ได้ว่าเขาต้องการอะไร และควรหลีกเลี่ยงการคิดแทนผู้ป่วย ส่วนระยะที่สอง เป็นช่วงที่ผู้ป่วยไม่มีสติสัมปชัญญะแล้ว ผู้ดูแลควรเตรียมจิตใจของตนเองให้สงบ และใช้การสัมผัสแทนคำพูด เพราะการสัมผัสจะให้ความรู้สึกลึกลงไปมากกว่าคำพูด เขาจะรับรู้ได้ถึงการมีคนโอบกอดและมีเพื่อนคอยรวมเดินทางอยู่ด้วย ทั้งนี้คุณอ้อได้เปรียบเทียบช่วงการเตรียมใจของผู้ดูแล กับการใช้เครื่องมือของ Peaceful Death ที่ต้องรักษาใจให้สงบ พร้อมที่จะรับฟังผู้คนเหล่านั้นในปัจจุบันขณะ จะช่วยเชื่อมความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามกับเราให้ติดกันได้ เป็นรูปแบบเดียวกับหลักการ counseling
ในการสร้างห้องสมุด รวมถึงกิจกรรมต่างๆขึ้นมา คุณอ้อมุ่งหวังอย่างที่สุดว่า สิ่งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนได้เรียนรู้ผ่านการเห็น ที่ไม่ใช่เพียงคำพูดนำทาง ว่าหากต้องการแบ่งปัน ไม่จำเป็นต้องแบ่งปันเป็นตัวเงินเท่านั้น สามารถแบ่งปันในสิ่งที่เรามีได้ เช่นการใช้ความรู้ ความสามารถ หรือสถานที่ที่ปลอดภัยให้ผู้คนมาใช้แลกเปลี่ยนความรู้และเรื่องราวระหว่างกัน
สุดท้ายนี้ สำหรับใครที่ต้องการกลับบ้านเกิด แล้วตอบแทนสังคม คุณอ้อมีขอแนะนำคือ เริ่มต้นจากการจัดใจของตัวเองให้พร้อม ฝึกเรียนรู้ที่จะหยุดนิ่ง ขั้นต่อไปจึงเข้าไปดูแลและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวให้มีความสุข ด้วยการมองความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ให้ความแก่กรุณาตนเองและคนใกล้ชิด แล้วจึงแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่น ผ่านสิ่งที่ตนเองมีทักษะ ความรู้ และเป็นสิ่งที่รัก ซึ่งสิ่งนั้นจะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อื่น พร้อมกันนั้นตัวเราเองก็สุขใจด้วย และหากผู้สนใจห้องสมุดผีเสื้อ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ของห้องสมุดผีเสื้อ
วันที่ออกอากาศ: 25 เมษายน 2021
ผู้เรียบเรียง: สุรพิน อยู่สว่าง