parallax background
 

หัวใจตะวัน

ผู้เขียน: ทอรุ้ง หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 
หนึ่งคำถาม…ความฝันที่เราอยากจะทำ กับความฝันที่กระแสหลักของสังคมชี้แนะให้ทำ เราควรเลือกอะไร?

หลากคำตอบ…หากเลือกกระแสหลัก เรามักได้ยินคำตอบว่า…อะไรก็ได้ที่มั่นคง เชิดชูวงศ์ตระกูล เป็นหน้าเป็นตาทางสังคม ที่สำคัญคือสภาพคล่องทางการเงินต้องเติบโตออกดอกออกผลชนิดยิ่งเร็วยิ่งดี เพราะนั่นคือ ‘ความสำเร็จ’ ส่วนบางกลุ่มที่เลือกเดินตามความฝัน แม้จะล้มลุกคลุกคลานระหว่างเส้นทางฝัน มีทั้งบาดแผลสด แผลเก่า ไม่เว้นแม้แต่แผลลึกที่อาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเย็บแผลซ้ำแล้วซ้ำอีก จนเป็นเหตุให้ได้แผลใหม่ ไม่เพียงแต่เขาเหล่านี้จะ ‘กล้าฝัน’ หาก ‘กล้าทำ’ ความฝันให้กลายเป็นจริง โดยมิไยดีกับอุปสรรคและความล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วน รวมไปถึงคำครหาว่า ‘ไร้สาระ’ ที่มักจะเริ่มจากคนใกล้ตัวทั้งสิ้น

ไม่ว่าคำตอบนั้นคืออะไร ก็คงดีกว่าตอบว่า ‘ไม่รู้’ และคงจะยิ่งมืดแปดด้านเมื่อได้ยินว่า ‘ไม่รู้ว่า..ไม่รู้อะไร’

บนทางเดินที่มีขวากหนาม
ถ้าเธอคร้ามถอยไปฉันคงเก้อ
ฉัน
ยังพร้อมช่วยเธอเสมอ
เพียงตัวเธอไม่หนีไปเสียก่อน

เพลง ‘รางวัลแด่คนช่างฝัน’

ไม่รู้ควรจะสงสาร ‘เธอ’ ผู้เป็นเจ้าของความฝัน หรือ ‘ฉัน’ ตัวความฝันเองที่ได้แต่ร้องเพลงรอแล้วรอเล่า…แต่ก็ไม่มีคนเดินมาถึงสักที ทั้งๆ ที่เป็นความฝันของเธอ แต่ฉันกลับได้รับการตีค่าจากคำตอบเริ่มต้นว่า ‘อะไรก็ได้’

บางครั้ง…เราก็ลืมรักตัวเอง
ถึงเวลาหรือยังที่ ทั้งเธอ และฉัน รวมตัวกันเป็น ‘เรา’ เพื่อหันมารักตัวเองโดยการมอบสิ่งดีๆ ให้แก่ตัวเราเอง...ไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่หันกลับมาดูแลจิตใจตัวเองให้แข็งแรง ไม่โยนขยะเข้าไปหมักหมมในหัวใจ บรรดาขยะพิษทั้งปวงที่ทำร้ายหัวใจทุกดวงอย่างร้ายกาจที่สุด คงไม่พ้นการมองโลกในแง่ลบ ส่งผลให้กำลังใจของเจ้าของชีวิตขาดแหว่งร่วงหล่นจนอาจถึงกับพังทลายกลายเป็นเถ้าธุลีระหว่างการเดินทางไปตามหาความฝัน

‘ความฝันที่เป็นไปไม่ได้’ ที่หลายๆ คนพยายามจะพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า ‘เป็นไปได้’ หากเมื่อเจออุปสรรคระหว่างทาง ผนวกกับเราอยู่ในโลกอันแสนวุ่นวาย เต็มไปด้วยกติกามากมาย ความสับสนฉงนสงสัยต่างประดังประเดเข้ามา ความท้อถอยถาโถมเข้ามากัดกินหัวใจ เกิดความรู้สึกท้อแท้ จนอาจเลือกหนีปัญหาด้วยการฆ่าตัวตายในที่สุด

บินระโหย…โรยปีกอย่างอ่อนล้า
อยู่กลางป่า…เหนือยอดไม้สุดปลายลม
ชีวิตเอย…ถลาไปอย่างซานซม
สุดขื่นขม...เที่ยวมองหา…ไม่เห็นทาง

เพลง ‘สุดปลายปีกฝัน’

รุ่งขึ้น ขณะที่นั่งดื่มกาแฟถ้วยโปรดในร้านกาแฟบรรยากาศเงียบสงบแห่งหนึ่ง สมองกำลังคิดทบทวนเรื่อง ‘ความฝันกับเป้าหมาย’ ก็ได้อ่านเจอข้อความในหนังสือ ‘ยิ้มสู้’ เขียนว่า

“แม้มนุษย์เราจะอยู่ในภาวะที่ต้องรอการช่วยเหลือจากผู้อื่นในเรื่องหนึ่ง แต่มนุษย์เราอยู่ในภาวะที่อาจจะให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในเรื่องอื่นได้…การยิ้มของคนตาบอดนั้น ได้ช่วยให้หลายคนไม่ฆ่าตัวตาย”

คำพูดนี้ไม่ได้เป็นการกล่าวเกินจริง เมื่อผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยกับศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน เจ้าของผลงานหนังสือ ‘ยิ้มสู้'และผู้ริเริ่มโครงการ ‘ปั่นไปไม่ทิ้งกัน’ ครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นกิจกรรมปั่นสามัคคีระหว่างคนตาดีช่วยคนตาบอด โดยปั่นจักรยานจากกรุงเทพฯ – เชียงใหม่เป็นเวลา 9 วัน 9 จังหวัด ระยะทาง 867 กิโลเมตร เพื่อระดมทุนสร้าง “ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน (เชียงดาว)” สร้างพื้นที่แห่งโอกาสสู่อาชีพที่ยั่งยืนให้แก่คนพิการทั่วประเทศ

ขณะที่หลายคนที่มีทุกอย่างครบหรือบางครั้งความเป็นอยู่โดยรวม อาจจะเรียกว่า ‘มีเกิน’ ความจำเป็น หากคนเหล่านั้นยังมีความสับสนเวียนวนอยู่ในห้วงความคิด ทั้งเรื่อง ‘ความฝัน’ และ ‘แรงบันดาลใจ’ เพื่อไต่บันไดไปหาฝัน อาจารย์วิริยะกลับชวนคุยอย่างสนุกสนาน ด้วยรอยยิ้มเป็นกันเอง ถึงแรงบันดาลใจที่อาจารย์ใช้คำแทนว่า ‘ปณิธาน’ และเล่าย้อนถึงอดีตเมื่อครั้งที่ได้รับโอกาสจาก Miss Genevieve Caulfied สตรีตาบอดชาวอเมริกันผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ เธอบอกกับอาจารย์ประโยคหนึ่ง ซึ่งมันยังดังก้องอยู่ในหัวใจจนทุกวันนี้

"...วิริยะ ถ้าเธอเติบโตขึ้นแล้วประสบความสำเร็จ เธอไม่ต้องตอบแทนฉัน แต่ขอให้เธอไปช่วยเหลือคนพิการในประเทศไทย..."

โลกนี้ต้องการคนที่ต่อสู้เพื่อ ‘ความถูกต้อง’ มากกว่าคนที่ต่อสู้เพื่อ ‘ความสำเร็จ’
ความฝัน ที่พิสูจน์เพียงความสำเร็จของบุคคลหนึ่ง หากปราศจากความถูกต้อง
คุณค่าของความฝันนั้น ควรนิยามว่าอะไร?
‘ คุณลองขึ้นไปบนชั้น 2 สิ่งที่คุณกำลังตามหา อาจรอคุณอยู่’ อาจารย์กล่าวด้วยน้ำเสียงแฝงความเมตตาและปรารถนาดีต่อ ‘ผู้เยี่ยมชม’ ก่อนเสริมว่า ‘คุณอาจจะค้นพบช่วงเวลาที่ดีที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต…ที่นั่น’

ด้านบนเป็นห้องจัดแสดงภาพวาดของชายคนหนึ่งที่รวบรวมภาพแสดงถึงแรงบันดาลใจในรูปแบบต่างๆ หากสะท้อนถึง ‘พลังชีวิต’ ที่บอกผู้ชมว่า หนึ่งชีวิตที่อาจดูธรรมดานั้น… มีคุณค่าเพียงใด

“การเป็นคนที่ถูกจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหว แทบไม่มีอะไรจะเป็นแรงบันดาลใจในชีวิตได้เลย 
แต่สิ่งที่พอจะเป็นแรงบันดาลใจได้ คือ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบนอก…” เป็นคำกล่าวของสุภาพบุรุษท่านหนึ่งที่ธรรมชาติให้มาครบ 32 แต่ต้องคืนไปเร็วกว่าคนอื่นเมื่อวัยเพียง 12 ปี ด้วยเริ่มมีอาการผิดปกติ อายุ 18 ปี ขาทั้งสองหยุดทำงาน พอครบ 25 ปี แรงแขนทั้งสองจากไปอย่างถาวร ปัจจุบันร่างกายใช้งานได้น้อยกว่า 10 เปอร์เซนต์

“ถ้าหากคิดว่า ผมทำงานศิลปะด้วยภาวะจำยอม ผมขอปฏิเสธ เพราะว่าผมชอบทำงานนี้มาตั้งแต่เด็ก”

ในบรรดาคนที่รักงานศิลปะ หลายคนมักรู้จักท่านในนาม คุณทนง โคตรชมภู ศิลปินผู้ใช้ปากจับพู่กันวาดศิลป์ราวกับเนรมิต ภาพวาดที่คนรักศิลปะทั้งหลายปรารถนาสะสม การันตีลีลาศิลป์ด้วยรางวัลอันดับ 1 เหรียญทองจากการแสดงศิลปกรรม The Hebe Ransford Memorial Melbourne, Australia ไม่นับรวมผลงานเผยแพร่ความรู้ทางศิลปะแก่สังคม ผลงานศิลปะเพื่อช่วยเหลือสังคม รวมทั้งงานแสดงศิลปกรรมในประเทศและต่างประเทศ

หากน้อยคนที่จะรู้ชื่อเดิมท่าน ‘บุญทิ้ง’
“ผมคิดว่าทุกศาสตร์ คือ การเชื่อมเข้าหากัน และเกิดการจุดประกาย”
คุณทนงเล่าถึงความแตกต่างระหว่าง ‘จิตรกร’ กับ ‘ศิลปิน’ ไว้ในหนังสือ ‘ชีวิตทนง’ อย่างน่าสนใจว่า
จิตรกร (painter) คือนักวาดภาพที่สามารถถ่ายทอดภาพออกมาได้ตามที่ตาเห็น หรือตามความคิดของตัวเองหรือผู้อื่นก็ได้ แต่ ศิลปิน (artist) คือผู้ใช้ความคิดสร้างสรรค์งานโดยอาศัยความสามารถทางศิลปะถ่ายทอดออกมาอีกทีหนึ่ง…”

ครั้งหนึ่ง คุณทนงเคยใช้ความคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงเข้ากับความสามารถในการวาดภาพโดยใช้เศษผ้าขาวห่อศพจากหลวงปู่ มาขึงแทนแคนวาสราคาแพง เพราะไม่มีเงินซื้อ

“…ผ้าขาวห่อศพขึงตึงๆ ทาสีให้มัน ก็กลายเป็นแคนวาสได้เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าภาพเขียนในเฟรมมันมี ‘คุณค่า’ พอ ย่อมไม่มีใครสนใจว่า ‘พื้นผิว’ มาจากไหน…”

หากความคิดสร้างสรรค์คือ ‘ความฝัน’ และ ความสามารถในการวาดภาพได้ตามที่ตาเห็นหรือคิดนึกคือ ‘เป้าหมาย’ ที่เกิดขึ้นบนโลกของความเป็นจริง คำตอบที่พยายามค้นหาอาจอยู่ตรงหน้า…ทำ ‘ตาม’ ฝัน นั่นแหละคือเรื่องจริง

ก่อนเดินกลับออกมาจากห้องนิทรรศการ คล้ายได้ยินเสียงแว่วมาจาก ‘ภาพวาด’ ชิ้นสุดท้ายที่ผู้เขียนใช้เวลา ‘ตั้งคำถาม’ ในใจกับภาพนั้นนานเป็นพิเศษ ทำให้ต้องเดินย้อนกลับไปยืนมองภาพนั้นซ้ำอีกครั้ง…ผู้ชายใส่เสื้อม่อฮ่อมสีน้ำเงินเข้ม คาดผ้าสีแดงบนหน้าผาก แววตาอบอุ่น รอยยิ้มอ่อนโยนสะท้อนอุปนิสัยนุ่มนวล ใจเย็น ปีกสีขาวด้านหลังบุรุษผู้นี้เหมือนจะขยับน้อยๆ ราวกับปลอบโยนผู้เขียนที่ครุ่นคิดเรื่อง ‘ความฝันกับเป้าหมาย’ ว่า…

ให้ใจ...บันดาล...แรง…
ให้แรง...บันดาล…งาน.
ให้งาน...บันดาล…ใจ…สู่คนรุ่นต่อไป

ถ้าตื่นมาพบว่ายังมีชีวิตอยู่ นั่นถือว่า เราทุกคนโชคดีมหาศาล และถึงแม้จะเหลือเพียงลมหายใจสุดท้าย หากเรารู้จักคุณค่าของสิ่งที่เรากระทำแล้ว ชีวิตนี้มันคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม

ผลงานทั้งหมดที่จัดแสดงใน ‘หอศิลป์ยิ้มสู้’ มิเพียงบอกถึง ‘อิสรภาพ’ ของชายคนหนึ่ง ที่มองว่า มิได้หมายถึงการแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยว ไร้ซึ่งการสมาคมกับผู้คนอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ

หาก ‘อิสรภาพที่แท้จริง’ คือ การมี ‘สิทธิ์’ และ ‘โอกาส’ เลือกลงมือทำในสิ่งที่ตนเองรักและปรารถนาอย่างมีความสุข ภาพวาดทุกภาพคอยย้ำเตือนผู้เขียนถึงเรื่อง ‘คุณค่าอันยิ่งใหญ่ของหัวใจ’ ผ่านงาน ‘เสกศิลป์ด้วยปาก’ ว่า

‘จงอย่าได้รีรอหรือร้องขออะไรจากโชคชะตา หากจงเติมหัวใจด้วยความเพียรพยายาม แล้วทุกคนจะได้พบกับความกล้าแกร่งของหัวใจในที่สุด’

‘ศิลปะ’ มิเพียงทำให้หัวใจมนุษย์เติบโตและงดงาม…หากมอบ ‘แสงแบ่งปัน’ ให้หัวใจทุกดวงของทุกชีวิตกล้าดำรงอยู่เพื่อสืบทอดศรัทธาของตนอย่างเข้มแข็งและมีคุณค่า…มิใช่เศษซากอารมณ์ที่เกิดจากความว่างเปล่าของจิตวิญญาณ

วันนี้ เราควรขอบคุณธรรมชาติที่ให้เราหยิบยืม อากาศ ดิน น้ำ ไฟ ลม เพื่อสร้างสรรค์ผลงานฝากไว้บนโลกใบนี้ ก่อนที่วันข้างหน้า ‘ผลงานของธรรมชาติ’ จะถูกมอบคืนกลับสู่วัฏจักรธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลง

ใจเหมือนใจ…แต่ใจใครไม่เหมือนเธอ….คนหัวใจตะวัน…คนหัวใจ ‘ทนง’

ข้อมูลอ้างอิง:

  1. หนังสือ ‘ชีวิตทนง’ ทนง โคตรชมภู, คุณภานุมาศ ภูมิถาวร สำนักพิมพ์โพสต์บุคส์
  2. หนังสือ ‘ยิ้มสู้’ ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ
  3. สถานที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ: หอศิลป์ยิ้มสู้ Art for All/ยิ้มสู้ คาเฟ่/ซอยอรุณอมรินทร์ 39 เปิดทำการทุกวัน เวลา 07.30 น.- 18.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม (02) 055-1901
  4. เพลง คนหัวใจตะวัน, คำร้อง/ทำนอง/ขับร้อง: คุณศักดิ์ศิริ มีสมสืบ จากบทเพลงชุดพิเศษ ‘ทนง โคตรชมภู’ Limited Edition 2017
  5. เพลง สุดปลายปีกฝัน, ขับร้อง: คุณพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ คำร้อง/ทำนอง: คุณทนง โคตรชมภู
  6. เพลง รางวัลแด่คนช่างฝัน, คำร้อง/ทำนอง/ขับร้อง: คุณจรัล มโนเพ็ชร
[seed_social]
22 เมษายน, 2561

แรงอธิษฐาน

สายลมเย็นยามดึกปะทะเข้ากับใบหน้าและผิวกายของข้าพเจ้าขณะขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางมาปฏิบัติงาน ทำให้รู้สึกได้ถึงความสดชื่นและผ่อนคลายความง่วงงุนไปได้มาก
22 กันยายน, 2560

ใครอ่านข้อความนี้ต้องตาย

คุณอ่านไปแล้ว อย่าทำเป็นไม่เห็น เพราะถ้าคุณอ่านมาถึงประโยคนี้ มันก็สายเกินไปแล้ว จากนี้ไปเตรียมตัวได้เลย “คุณ ต้อง ตาย” เพราะนี่คือข้อความต้องคำสาป
28 พฤศจิกายน, 2560

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า