parallax background
 

หญิงสูงวัยยืนยันสิทธิ์ที่จะตาย
‘สัก’ อกซ้ายประกาศเจตนารมณ์

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

จอย ทอมกินส์ วัย ๘๑ ปี ตัดสินใจเด็ดขาดว่าไม่อยากฟื้นขึ้นมาในห้องฉุกเฉินในสภาพที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกต่อไป หลังจากเคยทุกข์ทรมานใจที่เห็นสามีค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ มาแล้ว

ต้นปี พ.ศ.๒๕๕๔ จอยแวะไปร้านสักและจ่ายเงิน ๕ ปอนด์ให้สักข้อความว่า 'Do Not Resuscitate' (ไม่ขอรับการช่วยฟื้นชีวิต) ที่หน้าอก เพื่อให้มั่นใจว่าหมอจะเคารพ ‘สิทธิ์ที่จะตาย’ ของตน
จอยยังสักตัวย่อ 'PTO' (please turn over) และรูปลูกศรไว้ที่ด้านหลัง เพื่อให้หน่วยแพทย์ฉุกเฉินจับเธอพลิกตัวและอ่านข้อความที่สักที่หน้าอก กรณีที่เธอหมดสติในท่านอนคว่ำ

“ฉันไม่อยากอยู่แบบตายทั้งเป็น แต่อยากตายไปเลยมากกว่า ถ้าเป็นเมื่อ ๓๐ ปีก่อนฉันอาจไม่คิดแบบนี้ แต่ตอนนี้ฉันอายุ ๘๑ แล้ว

“ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ฉันไม่อยากอยู่ในสภาพผัก เคยคิดว่าคงอยู่ถึง ๗๐ เท่านั้น แต่วันนี้ฉันยังมีความสุขกับชีวิตดีอยู่

“ฉันกลัวว่าหมอจะหวังดีตามประสาหมอ และช่วยให้ฉันฟื้นขึ้นมาในขณะที่ฉันไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว

“ฉันไม่อยากนอนอยู่บนเตียงเป็นชั่วโมง เดือน หรือกระทั่งปีก่อนตาย ไม่อยากให้ครอบครัวจดจำฉันในสภาพก้อนเนื้อ

“แม่สามีของฉันอยู่จนถึงอายุ ๑๐๖ ปี แต่ช่วง ๖ ปีสุดท้ายเธอทรมานมากและการตายน่าจะดีกว่าอยู่

“ฉันไม่อยากให้ใครรู้สึกไม่ดีเรื่องนี้ แต่ฉันตัดสินใจแล้วและจะไม่เปลี่ยนใจ ลูกสองคนก็เห็นด้วย ไม่ใช่เพราะพวกเขาไม่รักฉัน แต่เป็นเพราะทั้งสองคนรู้และยอมรับความปรารถนาของฉัน

“ฉันมีสติดี ไม่ได้อยากตาย แต่ก็ไม่อยากอยู่อย่างเจ็บปวดทรมาน”

จอยที่อาศัยอยู่ในนอร์โฟล์ก อังกฤษ และไม่ได้เป็นโรคร้ายอะไรนอกจากโรคข้ออักเสบ โรคเรโนลด์ (อาการเส้นเลือดส่วนปลายหดตัวผิดปกติจากความเย็น ทำให้มือเท้าซีด เย็น หรือชา) และเบาหวาน ทำงานเป็นเลขากองบรรณาธิการของนิตยสารฉบับหนึ่งในลอนดอน จนกระทั่งลาออกมาเลี้ยงดูลูกตอนอายุ ๒๗ ปี

มัลคอล์ม สามีของจอย เสียชีวิตในปี ๑๙๘๑ ขณะอายุ ๕๑ ปี หลังจากต่อสู้อย่างทรมานกับกลุ่มอาการคอนน์ที่เกิดจากต่อมหมวกไตทำงานหนักผิดปกติ นานถึง ๗ ปี

จอยบอกว่า ตอนแรกหมอวินิจฉัยอาการของมัลคอล์มผิดพลาด ทำให้การรักษาทั้งหมดล้มเหลว และสามีของเธอต้องตายอย่างช้าๆ และเจ็บปวดทรมาน

และปีนั้นเองที่จอยตัดสินใจว่า ไม่อยากให้เจ้าหน้าที่แพทย์ช่วยให้เธอฟื้นขึ้นมาจากสถานการณ์ฉุกเฉินทางการแพทย์
การตัดสินใจนี้ยังมาจากการเห็นแม่ พ่อ และแม่สามีทนทรมานก่อนตาย
นอกจากนั้น จอยยังได้แรงบันดาลใจจากพยาบาลคนหนึ่งที่สักข้อความเดียวกับเธอเมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๓

โจ คาร์ทไรต์ โฆษกคอมแพสชัน อิน ดายอิ้ง เผยว่ามีประชากรเพียงร้อยละ ๔ ที่ ‘พกประกาศการตัดสินใจล่วงหน้าติดตัว’ เพื่อบอกว่าไม่ต้องการให้ช่วยฟื้นชีวิต
“การกระทำ เช่น การสักข้อความ DNR มาจากความกังวลอย่างลึกซึ้งว่า เจ้าหน้าที่แพทย์พยาบาลอาจไม่เห็นประกาศการตัดสินใจล่วงหน้าในสมุดบันทึกของผู้ป่วย
“สมาชิกของเราบางคนสวมสายรัดข้อมือ เขียนการ์ดไว้ในกระเป๋าสตางค์หรือกระเป๋าถือ ซึ่งทั้งหมดนี้มีข้อความแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าวอยู่
“แต่บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่เห็นประกาศนั้น ขณะที่แพทย์ในห้องฉุกเฉินก็คงไม่มีเวลามาค้นหาสมุดบันทึก
“คุณมีเวลาจำกัดมากก่อนที่ทีมแพทย์ฉุกเฉินจะช่วยให้คุณฟื้นขึ้นมาโดยที่คุณไม่ต้องการ และเมื่อนั้นหมายความว่าทุกอย่างสายเกินไปแล้ว
“เราแนะนำให้ทุกคนแจ้งกับแพทย์ประจำตัว และตรวจดูว่ามีสำเนาประกาศในบันทึกการรักษาพยาบาลเพื่อให้มั่นใจว่าความปรารถนาดังกล่าวจะได้รับการตอบสนอง”

จอยไม่ใช่ผู้สูงวัยคนแรกที่สักเพื่อรักษาสิทธิ์ที่จะตาย เมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๓ ฟรานเชส พอลแล็ก ที่ขณะนั้นอายุ ๘๓ ปี สักข้อความ 'Do Not Resuscitate' ไว้บนหน้าอก และเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจของจอย

อดีตพยาบาลบอกว่า ที่ทำแบบนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้แพทย์หรือครอบครัวมีปัญหาจากการตอบสนองความปรารถนาของเธอและปล่อยให้เธอตายเมื่อป่วยหนัก

ฟรานเชสที่อาศัยอยู่ในแฮมเชียร์ อังกฤษ เล่าต่อว่าพกประกาศเจตนารมณ์ไว้ในกระเป๋าถือเป็นปี แต่สุดท้ายรู้สึกว่าวิธีนี้อาจไม่ได้ผลในกรณีฉุกเฉิน จึงเปลี่ยนมาสักแทน

------
จาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์ ๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕

[seed_social]
25 เมษายน, 2561

ความตาย พูดได้ แนวโน้มใหม่ในอเมริกา

ฉันอายุมากพอจะจำได้ถึงยุคที่ไม่มีใครพูดกันเรื่องมะเร็ง แม้ว่าเพื่อนรักของแม่สองคนและย่าของฉันจะตายด้วยโรคมะเร็งเต้านม แต่ไม่มีใครอยากจะถกกันถึงเรื่องความตาย ประสบการณ์แรกของฉันเกี่ยวกับความตายจึงดูน่ากลัวเพราะเป็นหัวข้อสนทนาต้องห้าม
20 เมษายน, 2561

Hospice – Palliative Care มิติใหม่เชื่อมสาธารณสุขไทยไร้รอยต่อ

นับว่าคุ้มค่ากับการต้องฝ่ารถติดข้ามเมืองเพื่อไปร่วมงานประชุมวิชาการเรื่อง “Hospice - Palliative Care : มิติใหม่เชื่อมสาธารณสุขไทยไร้รอยต่อ” ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ ซึ่งกรมการแพทย์ สช. และสมาคมวิชาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาการพยาบาล สมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย
4 เมษายน, 2561

สารานุกรมนานามรณะ

Bird Eye View ขอโฉบข้ามโลกย้อนอดีต ด้วยความอยากรู้อยากเห็นไปเจอบทความน่าสนใจเรื่องหนึ่งว่าด้วยนานามรณะของทางฝรั่ง อยากรู้ว่ามีอะไรบ้างเผื่อจะได้เอาดูเทียบกับบ้านเราบ้างเรื่องที่หยิบมาเล่า