parallax background
 

สายด่วนให้คำปรึกษา
ฟันเฟืองสำคัญของการดูแลแบบประคับประคอง

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

เมื่อไหร่ก็ตามที่โรคภัยไข้เจ็บโชยลมพัดมาเยือนตัวเราและญาติสนิท อินเตอร์เน็ตมักถูกใช้เป็นแหล่งสืบค้นอันดับต้นๆ เพื่อหาช่องทางคำตอบในการรักษาเสมอ แต่ทราบหรือไม่ว่าการสืบค้นผ่านอินเตอร์เน็ตมักจะถูกกรองด้วยอัลกอริทึ่ม จนทำให้บางครั้งผลลัพธ์ที่ปรากฏ หากไม่กว้างเกินไปและแคบเกินไปเสมอ และบางครั้งข้อมูลเหล่านั้นไม่สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้เลย

อย่างไรก็ดีดูเหมือนว่าปัญหาดังกล่าวจะไม่กระทบต่อผู้ป่วยและผู้ดูแลในระบบการดูแลแบบประคับประคองมากนัก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนแก่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลได้ พวกเขาสามารถยกสายโทรศัพท์ถึงสายด่วนให้คำปรึกษาได้ทันที

สายด่วนให้คำปรึกษามีที่ไหนบ้าง ?

ในบทความนี้จะขอกล่าวถึง สายด่วนให้คำปรึกษาในการรักษาแบบประคับประคองทั้งสามแห่ง อันประกอบไปด้วย สายด่วนให้คำปรึกษา ศูนย์การุณรักษ์, สายด่วนชีวามิตร และ สายด่วนให้คำปรึกษาทางใจ เครือข่ายพุทธิกา

1. สายด่วนให้คำปรึกษา ศูนย์การุณรักษ์ประจำโรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น

บริการสายด่วนให้คำปรึกษาของศูนย์การุณรักษ์เกิดขึ้นภายใต้เป้าประสงค์ของโรงพยาบาล ที่ต้องการให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสามารถเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดี แม้จะเป็นการดูแลรักษาตัวเองที่บ้านก็ตาม

ผู้ป่วยภายใต้การดูแลของศูนย์การุณรักษ์จะได้รับหมายเลขโทรศัพท์ของพยาบาลประจำตัว (ติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมง) นอกจากนั้นยังได้รับเบอร์โทรศัพท์ประจำศูนย์ ซึ่งมีพยาบาลคอยรับสายตลอดช่วง 16.00 – 08.00 น. อีกด้วย

อนึ่ง การที่ผู้ป่วยสามารถติดต่อกับพยาบาลประจำตัวได้โดยตรงตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ผู้ดูแลสามารถขอคำปรึกษาถึงการรับมือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของผู้ป่วยได้ทันใจนึก นั่นทำให้การดูแลที่บ้านมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาก เพราะพยาบาลประจำเคสจะรู้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของโรคและมีข้อมูลต่างๆ ในตัวผู้ป่วยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้จะทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นมาก แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยการทำงานหนักของผู้ให้บริการไม่น้อยเลย เพราะนอกจากสายด่วนให้คำปรึกษาจะต้องพร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงแล้ว ผู้ให้บริการของสายด่วนการรุณรักษ์ยังเป็นพยาบาล วิชาชีพที่มีภาระงานประจำรัดตัวอยู่เป็นทุนเดิม

นางสาวเฉลิมศรี ศรศิลป์หนึ่งในเจ้าหน้าที่พยาบาลของศูนย์การุณรักษ์เปิดเผยว่า

“ทุกคนที่หันมาทำงานการดูแลแบบประคับประคองก็จะเข้าใจดีอยู่แล้วว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาระบบนี้ การติดต่อได้ตลอด 24 ชั่วโมงเป็นเรื่องเกิดประโยชน์สูงสำหรับคนไข้มาก แต่บางครั้งก็ทำผู้บริการเหนื่อยล้าด้วยเหมือนกันค่ะ ตัวอย่างเช่น บางครั้งผู้ดูแลยังไม่คุ้นชินกับสภาพความเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วย บ่อยครั้งที่ผู้ดูแลหรือคนไข้จะติดต่อมาด้วยอาการตกใจ ในช่วงกลางดึก ตีสอง ตีสาม...”

สายด่วนของศูนย์การุณรักษ์ปัจจุบันให้บริการเฉพาะผู้ป่วยในการดูแลเท่านั้น แต่หากภาคประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการรักษาแบบประคับประคองก็สามารถติดต่อปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้ทางเพจเฟสบุ๊คที่มีชื่อว่า ‘ศูนย์การุณรักษ์’ หรือ @KPCKKU หรือ www.facebook.com/KPCKKU ได้เช่นกัน

2. สายด่วนชีวามิตร

โครงการนี้เกิดขึ้นภายใต้ชีวามิตร (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ผู้ให้บริการเป็นประชาชนที่อยู่ในแวดวงการดูแลแบบประคับประคอง ที่สำคัญโครงการสายด่วนชีวามิตรนี้เปิดบริการให้ประชาชนทุกคนสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง

เนื่องจากเป็นบริการที่เปิดให้คนทุกคนสามารถติดต่อขอคำปรึกษาได้ คำถามส่วนใหญ่ที่สายด่วนชีวามิตรได้รับจึงกว้างมาก เพราะมีตั้งแต่ การขอข้อมูลเบื้องต้นของการดูแลแบบประคับประคอง, สอบถามถึงวิธีการทำพินัยกรรมชีวิต, ระบายความรู้สึกในใจ ไปจนถึง ปรึกษาเพื่อขอความมั่นใจในสิ่งที่ตัวเองได้ตัดสินใจทำลงไป เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ช่องว่างประการหนึ่งที่โครงการสายด่วนชีวามิตรเผชิญในช่วงระยะที่ให้บริการก็คือ จะทำอย่างไรเมื่อบางครั้งผู้ใช้บริการต้องการคำแนะนำเชิงลึกที่ต้องอาศัยคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ?

นางสาวนันทวัน ทองสุข ผู้ดำเนินโครงการอธิบายการถมช่องว่างดังกล่าวเอาไว้ดังนี้

“บางครั้งผู้ใช้บริการต้องการตัวอย่างที่หลากหลายเพื่อประกอบการตัดสินใจเราก็แนะนำเว็ปไซต์ให้ได้ หรือถ้าเป็นคำถามที่ต้องอาศัยแพทย์เป็นผู้ตอบ เราก็จะแนะนำแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ เพื่อที่ว่าคำตอบของแพทย์จะให้ทั้งคำแนะนำที่ครอบคลุมและผู้ปรึกษาเองก็มีความมั่นใจด้วย”

ปัจจุบัน สายด่วนชีวามิตรหยุดให้บริการชั่วคราว แต่ในอนาคตอันใกล้โครงการสายด่วนภายใต้ชีวามิตรจะกลับมาดำเนินโครงการอีกครั้ง

3. สายด่วนให้คำปรึกษาทางใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย

โครงการสายด่วนนี้ถูกขับเคลื่อนโดยภาคประชาชนในแวดวงการดูแลแบบประคับประคองอีกเช่นกัน ผู้ดำเนินโครงการเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ในกระทรวงสาธารณสุขหรือ นางสาวนงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ นอกจากนั้นแล้วโครงการสายด่วนให้คำปรึกาทางใจยังเป็นบริการสายด่วนที่เกิดขึ้นภายใต้รูปแบบอาสาสมัครทำด้วยใจอีกด้วย

ปัจจุบันสายด่วนให้คำปรึกษาทางใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย ยังคงเปิดให้บริการและภาคประชาชนสามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 086-002-2302 นอกจากนั้นยังมีเพจในชื่อ ‘peaceful consult : สายด่วนให้คําปรึกษาทางใจผู้ป่วยระยะสุดท้าย’ หรือ https://www.facebook.com/peacefuldeathconsult/ อีกด้วย

โครงการสายด่วนให้คำปรึกษาทางใจนี้ ให้บริการมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่วงการ Palliative Care กำลังหยั่งรากลงในเมืองไทย นางสาวนงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ยืนยันว่า คำปรึกษาส่วนใหญ่ที่ติดต่อเข้ามานั้นแปรผันไปตามระยะเวลา ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการเบ่งบานของการดูแลรักษาแบบประคับประคองในเมืองไทย

“ช่วงแรกๆ ที่ให้บริการคำถามส่วนใหญ่จะเป็นการขอข้อมูลเสียมากกว่า เช่น ข้อมูลการใส่ท่อ การถอดท่อ รายละเอียดเป็นอย่างไร อะไรทำนองนี้ แต่พอมาทุกวันนี้ ความรู้ ความเข้าใจในการรักษาแบบประคับประคองก็แพร่หลายมาก มีหน่วยงานคอยขับเคลื่อนให้ภาคประชาชนได้รู้จักในเมืองไทยมากมายเลย ดังนั้นคำถาม คำปรึกษาก็เลยจะซับซ้อนกว่าเดิม ไม่ใช่แค่การขอข้อมูลอีกต่อไป แต่กลายไปเป็นการขอคำปรึกษาทางจิตวิญญาณและขอความมั่นใจในวิธีการดูแลผู้ป่วย”

ข้อเรียนรู้ทั่วไปจากบริการสายด่วนทั้งสาม

หากพิจารณาให้ดีแล้ว สายด่วนให้คำปรึกษาในระบบการดูแลแบบประคับประคองนอกจากจะคอยเป็นหัวจ่ายข้อมูลต่างๆ สู่ผู้ป่วย ผู้ดูแลแล้ว อีกหนึ่งหน้าที่ต้องดำเนินการก็คือการเป็นที่ปรึกษาทางใจให้แก่ผู้ที่กำลังสูญเสีย ดั่งที่ปรากฏในสายด่วนชีวามิตรและสายด่วนให้คำปรึกษาทางใจว่ามีการ ให้คำปรึกษาทางจิตวิญญาณและคอยรับฟังความรู้สึกในใจของผู้ดูแลผู้ป่วย เกิดขึ้น

ดังนั้นคงจะไม่เกินจริงไปนักหากจะกล่าวว่า งานบริการสายด่วนให้คำปรึกษาที่กล่าวมานี้เป็นงานที่ได้เยียวยาความทุกข์ของผู้อื่น หรือจะกล่าวอย่างรวบรัดว่าได้บริหารความกรุณาในใจ ซึ่งพิเศษกว่าใครเพราะต้องพร้อมฝึกความกรุณาตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

ดังที่ทั้งสามสายด่วนกลับยืนยันตรงกันเกี่ยวกับงานสายด่วนให้คำปรึกษาว่า บริการชิ้นนี้ไม่สามารถกำหนดเวลาตายตัวได้ เพราะผู้ป่วย ผู้ดูแลอาจต้องการความช่วยเหลือ ต้องการคำปรึกษาจากเราได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“งานนี้มันไม่เป็นเวลา ผู้ให้บริการควรพร้อมตลอดเวลา พี่เคยนะและเมื่อไหร่ก็ตามที่เผชิญหน้ากับปัญหาของผู้ใช้บริการ หนึ่งสิ่งที่เราควรทำก็คือการเก็บหัวใจของเขามาใส่หัวใจของเรา เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆ” นางสาวนันทวัน ทองสุขผู้ดำเนินโครงการสายด่วนชีวามิตรกล่าว

บทสรุป

แม้ว่าข้อมูลต่างๆ ของการรักษาแบบประคับประคองจะมีอยู่ในอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลายแล้ว แต่หากย้อนกลับไปในสมัยที่ระบบการรักษาแบบประคับประคองยังเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์เล็กๆ ในสังคมไทย ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องนั้นเข้าถึงยากเพราะเป็นภาษาต่างประเทศด้วยกันทั้งสิ้น

ดังนั้นคงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ในยุคเริ่มต้นของการรักษาแบบประคับประคอง สายด่วนให้คำปรึกษานั้นเป็นหัวจ่ายข้อมูลหลักสายหนึ่ง และแม้ว่าเมล็ดพันธุ์ของการรักษาแบบประคับประคองจะผลิบานเติบโตเป็นรูปเป็นร่างเฉกเช่นทุกวันนี้แล้ว สายด่วนให้คำปรึกษาก็ใช่ว่าจะถูกลดบทบาทจนเลือนหายไปเสียทีเดียว

เพราะอย่างน้อยที่สุดศูนย์การุณรักษ์ก็ได้นำระบบสายด่วนให้คำปรึกษานี้ไปประยุกต์ใช้งานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและได้ผลไปในแง่บวกแล้วโครงการหนึ่งและหากพิจารณาให้ดีแล้ว แง่มุมที่สายด่วนให้คำปรึกษามีความลึกซึ้งมากกว่าการสืบค้นข้อมูลในอินเตอร์เน็ตก็คือ การรับฟังความในใจของผู้ดูแลและผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วยหัวใจซึ่งอินเตอร์เน็ตไม่มีทางที่จะสามารถทดแทนได้เลย

เอกสารอ้างอิง : https://en.wikipedia.org/wiki/Filter_bubble

บุคคลสำคัญ :
นางสาวนันทวัน ทองสุข (ผู้ให้บริการสายด่วนชีวามิตร)
นางสาวนงลักษณ์ ตรงศีลสัตย์ (ผู้ให้บริการสายด่วนให้คำปรึกษาทางใจ)
นางสาวเฉลิมศรี ศรศิลป์ (ผู้ให้บริการสายด่วนการุณรักษ์)
คำสำคัญ : บริการสายด่วน การดูแลแบบประคับประคอง Palliative care

[seed_social]
4 เมษายน, 2561

วาระสุดท้ายแห่งชีวิตของแม่

การจากไปของแม่อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความขึ้น เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในสองมิติ ได้แก่ มิติ “ความแก่” หรือ “ชราภาพ” กับ มิติ “ความตาย”
21 ธันวาคม, 2560

ดูแลผู้ดูแล

จิตอาสาคนหนึ่งเขียนในใบประเมินว่า “แนวทางการเป็นจิตอาสาเทียบเคียงกับมรรคมีองค์แปดสัมพันธ์กันได้ดีมาก เห็นภาพชัดเจน” จริงๆ แล้วอยากบอกว่า มรรคมีองค์แปดของพระพุทธองค์ใช้ได้กับทุกอาชีพทุกสถานการณ์
12 เมษายน, 2561

เราควรจะบอกหรือไม่ เกี่ยวกับความจริงของอาการป่วย

พระไพศาล วิสาโล : ในสังคมตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิผู้ป่วย การบอกถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ แต่สังคมตะวันออกเรามักต้องดูคนรอบข้างด้วย