parallax background
 

สหวิชาชีพบรรเทาทุกข์ บทเรียนจากโรงพยาบาลชลประทาน

ผู้เขียน: อาบทิพย์ สุวลักษณ์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

โรงพยาบาลคือหนึ่งในสถานที่ซึ่งสามารถพบเห็นความทุกข์ได้ไม่ยาก แม้ว่าความปรารถนาในการบำบัดทุกข์ขจัดความป่วยไข้คือเหตุผลในการมีอยู่ของสถานพยาบาล แต่การเผชิญหน้ากับความเสื่อมถอย พลัดพราก จนนำมาซึ่งทุกข์ก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงในที่แห่งนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความทุกข์ของผู้ป่วย ทุกข์ของญาติ หรือแม้กระทั่งทุกข์ของบุคลากรผู้ให้การดูแลรักษาเองก็ตาม

ผู้ป่วยระยะท้ายที่เผชิญอยู่กับโรคที่คุกคามต่อชีวิตนั้นฉายภาพความทุกข์ได้อย่างชัดเจน ยิ่งเห็นทุกข์ยิ่งไม่อาจหลีกหนี การบรรเทาทุกข์นอกจากจะต้องคำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจแล้ว มิติทางสังคมและจิตวิญญาณก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงความเชื่อส่วนบุคคลนั้นมีผลต่อการตัดสินใจรับการรักษา และอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้วาระสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยเป็นไปในทางใดทางหนึ่ง อาจจากไปตามธรรมชาติ หรือถูกรั้งไว้โดยไม่จำเป็น

บรรเทาทุกข์แบบองค์รวมด้วยความร่วมมือ

ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หรือชื่อเดิมคือ โรงพยาบาลชลประทาน ได้ดำเนินโครงการปฏิบัติการ การดูแลผู้ป่วยและญาติแบบองค์รวมเชิงพุทธ โดยความร่วมมือจากองค์กรศาสนาคือ กลุ่มอาสาคิลานธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มพระสงฆ์ที่รวมตัวช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ประสบความทุกข์ใจ ก่อตั้งขึ้นจากกลุ่มพระนิสิตจิตอาสา สาขาวิชาชีวิตและความตาย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) โดยใช้กระบวนการให้คำปรึกษาแนวพุทธ ประยุกต์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาร่วมกับการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและญาติบรรเทาทุกข์ภายในใจ สามารถยอมรับและกล้าเผชิญทุกข์ตามความเป็นจริง ทั้งยังดูแลจิตใจบุคลากรทางการแพทย์ผู้ให้การดูแลรักษาด้วยเช่นกัน

คลินิกพระคุณเจ้า อันเป็นกระบวนการที่พระอาสากลุ่มคิลานธรรมเข้าเยี่ยมและให้การปรึกษาผู้ป่วยรวมถึงญาติ ได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2560 เจ้าหน้าที่พยาบาลคือผู้ประเมินผู้ป่วยในความดูแลว่าต้องการความช่วยเหลืออย่างไร และบันทึกข้อมูลลงแบบฟอร์มอย่างเป็นระบบแล้วรายงานแก่พระอาสาโดยตรง รวมทั้งมีตัวชี้วัดเป็นระดับความทุกข์ทางใจของผู้ป่วยทั้งก่อนพบและหลังพบพระอาสา ต่อมามีการขยายระบบคลินิกจากผู้ป่วยระยะท้ายไปสู่ผู้ป่วยกลุ่มอื่นที่ต้องการการดูแลด้วย เช่น ผู้ป่วยที่อาการทรุดลงอย่างไม่คาดคิด และผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา เป็นต้น

การสนทนาระหว่างเจ้าหน้าที่และพระอาสาในคลินิกพระคุณเจ้า

การพัฒนาและดูแลใจบุคลากรได้ดำเนินการควบคู่กันไปด้วย ทั้งการอบรมปฏิบัติธรรมที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ โครงการดูแลใจบุคลากร โครงการสวดมนต์ทำวัตรเย็น รวมทั้งกระบวนการถอดบทเรียนในคลินิกพระคุณเจ้า ผลที่ได้รับนอกจากผ่อนคลายความตึงเครียดจากการทำงานแล้ว ยังช่วยพัฒนาทักษะการฟังและการสื่อสารให้แก่พยาบาล

การให้ความร่วมมือในองค์กรนั้นช่วยให้การดำเนินงานราบรื่นต่อเนื่อง ทั้งการที่ผู้บริหารเห็นความสำคัญ การจัดสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวก การจัดรถเพื่อส่งพระอาสากลับวัด และที่ต้องคำนึงถึงอย่างมากคือการจัดระบบที่ช่วยให้บุคลากรจัดสรรเวลามาได้ เช่นในโครงการดูแลใจบุคลากร ที่ให้แต่ละหน่วยของพยาบาลแบ่งเวรเป็นอาสาเข้าร่วมกิจกรรม การร่วมมือกันไม่ว่าในระดับใดจึงสำคัญยิ่ง

ทีมสหวิชาชีพพระอาสาและพยาบาล

ช่วงบ่ายวันศุกร์ภายในบริเวณประจำของอาคารที่จัดเตรียมไว้ สมาชิกต่างค่อยๆ ทยอยมา เจ้าหน้าที่กราบนมัสการพระอาสาหรือที่กล่าวเรียกกันทั่วไปว่าพระอาจารย์ หลังจากพูดคุยทักทายอย่างเป็นกันเองและเจ้าหน้าที่มาถึงพร้อม คลินิกพระคุณเจ้าจึงได้เริ่มต้นด้วยการส่งเคสหรือถวายเคส พยาบาลรายงานข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับผู้ป่วยในความดูแลให้พระอาสาทราบ เริ่มจากลักษณะและระดับอาการทางร่างกาย สาเหตุที่ต้องการให้พระอาสาไปเยี่ยม ผู้ป่วยต้องการอะไรและมีความทุกข์ใจอย่างไร

บรรยากาศการถวายเคสในคลินิกพระคุณเจ้า

นอกจากผู้ป่วยแล้วบันทึกเกี่ยวกับญาติก็เป็นส่วนสำคัญ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ญาติคือเป้าหมายหลักของการช่วยเหลือดูแลใจ และหนึ่งในกรณีนี้ที่ขอยกเป็นตัวอย่างคือ ผู้ป่วยไอซียูเด็กอายุสามขวบที่อาการทรุดความดันตก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ พ่อแม่รับทราบอาการและจะไม่ยื้อลูกไว้ด้วยวิธีการที่ทำให้ทรมาน แต่การจากลาที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทำให้ผู้เป็นแม่ซึ่งแม้จะเข้มแข็งดูแลลูกมาตลอด ก็ยังไม่พร้อมจะยอมรับนัก และผู้เป็นพ่อที่ยังค้างคาใจ เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ได้ดูแลลูกใกล้ชิดเท่าที่ควร

เมื่อทราบข้อมูลของผู้ป่วยและญาติ พระอาสาก็แยกย้ายเพื่อเข้าเยี่ยมในหอผู้ป่วยด้วยการนำของพยาบาลพร้อมเครื่องสังฆทาน นอกจากจะเข้าเยี่ยมเพื่อช่วยเยียวยาใจคลี่คลายความทุกข์ด้วยการพูดคุยรับฟัง ไม่ว่าจะทุกข์ของผู้ป่วยหรือทุกข์ของญาติ การให้ผู้ป่วยได้ถวายทานแก่พระสงฆ์ก็ช่วยเสริมคุณค่าทางจิตวิญญาณ โดยอาศัยพิธีกรรมเป็นตัวเชื่อมศรัทธา ช่วยเติมเต็มความเชื่อมั่นในการยอมรับความจริง ดังเช่นครอบครัวผู้ป่วยไอซียูเด็กข้างต้น การถวายสังฆทานทำให้เชื่อว่าลูกได้สร้างกุศล และเป็นสิ่งที่พ่อแม่พอจะทำเพื่อลูกได้ในช่วงเวลาที่ต้องเตรียมใจ

พยาบาลประจำหอผู้ป่วยไอซียูเด็กนำพระอาสาเข้าเยี่ยมผู้ป่วยและญาติ

การถอดบทเรียนเพื่อเรียนรู้ร่วมกันคือกิจกรรมปิดท้าย หลังจากเสร็จสิ้นการเยี่ยมผู้ป่วย พระอาสาและเจ้าหน้าที่กลับมารวมกลุ่มแล้วแลกเปลี่ยนสิ่งที่พบเห็น ทั้งบรรยากาศในการเยี่ยมพูดคุย และท่าทีของผู้ป่วยหรือญาติ ที่ถึงแม้ในบางกรณีผู้ป่วยไม่ค่อยพร้อมเจอพระเท่าใดนักก็จะไม่ฝืนบังคับกัน และในบางกรณีที่ญาติเองตัดสินใจให้แพทย์รักษาเพิ่มด้วยความหวังทั้งที่มีความเสี่ยง แต่การได้พูดคุยกับพระอาสาก็ช่วยแบ่งเบาความทุกข์และความรู้สึกผิดลงได้บ้าง ถึงที่สุดแล้วการแลกเปลี่ยนบอกเล่าทำให้พยาบาลเข้าใจผู้ป่วยในความดูแลมากขึ้น รวมทั้งเข้าใจมุมมองและความรู้สึกของญาติ ทั้งยังได้รับข้อคิดและสัจธรรมชีวิตเป็นผลพวง

เข้าถึงดูแลใจบุคลากรสะท้อนการพัฒนา

ทุกวันศุกร์คลินิกธรรมะรักษาใจ (โครงการดูแลใจบุคลากร) ในช่วงบ่ายและโครงการสวดมนต์ทำวัตรเย็นได้จัดให้มีขึ้นด้วยเล็งเห็นว่า บุคลากรทางการแพทย์คือผู้ที่ต้องพบเจอความทุกข์ทั้งของผู้ป่วยและญาติ รวมถึงความทุกข์ของตนเอง กิจกรรมสนทนากลุ่มในคลินิกธรรมะรักษาใจนำโดยพระอาสา จึงช่วยให้สมาชิกในกลุ่มได้ระบายความทุกข์ และรับฟังซึ่งกันและกัน

ด้วยระบบการแบ่งเวรอาสาให้แต่ละหน่วยพยาบาลเข้าร่วมกิจกรรม ในช่วงแรกจึงเจอแรงต้านอยู่บ้าง เพราะถึงอย่างไรก็เป็นการเพิ่มภาระเวลาที่ต้องจัดสรร แต่ผลตอบรับก็เป็นไปในทางที่ดี แม้จะไม่เต็มใจตอนเข้าร่วมแต่ได้รับพลังและการเยียวยาตอนกลับออกไป เป็นเพราะประโยชน์ที่สัมผัสได้ของตัวกิจกรรม บุคลากรที่ได้รับการดูแลและมีความพร้อมในการทำงาน ก็จะยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วย เพื่อนร่วมงาน และองค์กรสืบไป

กิจกรรมสนทนากลุ่มคลินิกธรรมะรักษาใจ

กิจกรรมทำวัตรเย็นและฝึกภาวนา

ท้ายที่สุดแล้วการเรียนรู้และเข้าใจความทุกข์ของตนเอง จะช่วยให้มองเห็นความทุกข์ของผู้อื่นชัดเจนขึ้น และด้วยความเข้าใจในทุกข์นั้น ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในฐานะใด มนุษย์เราล้วนเป็นเพื่อนทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น

ขอขอบคุณผู้อำนวยความสะดวกและให้ข้อมูล
กลุ่มอาสาคิลานธรรม และ คุณวิมลรัตน์ เชาวินัย หัวหน้างานการพยาบาลผู้ป่วยวิกฤต ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

[seed_social]
2 มกราคม, 2561

ยอมรับความตาย ยอมรับความจริง

หลายๆ คนที่เคยเลี้ยงหมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ย่อมต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วยมาบ้าง ไม่ว่าจะป่วยน้อยหรือมาก ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อความรู้สึกหรือการตัดสินใจของเจ้าของทั้งสิ้น เริ่มจากการสังเกตอาการผิดปกติ ที่บ่งบอกว่า “ป่วย”
19 เมษายน, 2561

หมออย่าบอกแม่นะครับว่าเป็นมะเร็ง

ฉันรู้สึกประหลาดใจที่เห็นผู้ชายร่างใหญ่พูดไปร้องไห้ไป ผิดกับภาพลักษณ์ของเขาในครั้งแรกที่พบกันที่แผนกตรวจผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นวันที่ฉันได้รับปรึกษาให้ช่วยดูแลครอบครัวของเขาที่มีแม่เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
28 กุมภาพันธ์, 2561

ความหมายที่ซ่อนอยู่ในสัญญาณเตือน

จริงไหมว่าที่ผ่านมา เมื่อมีสัญญาณเตือนส่งมา แต่เราในฐานะผู้รับไม่เข้าใจ หรือบางครั้งก็ละเลย ไม่สนใจ ทำให้สิ่งที่พอจะแก้ไขหรือรักษาได้ กลายเป็นเกินกว่าจะเยียวยาหรือรักษา