parallax background
 

สมุดเบาใจ
เครื่องมือเตรียมความพร้อม
สู่ชีวิตช่วงท้ายที่ปรารถนา

ผู้เขียน: สุธิษณา เลิศสุขประเสริฐ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

“คุณอยากจะตายแบบไหน?”

หลายคนอาจได้ยินคำถามนี้ เป็นครั้งแรกในชีวิต และอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร ความตายเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยอยากจะยุ่งเกี่ยว แต่ถึงกระนั้นเราก็มักจะได้รู้ข่าวคนเสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ ที่มีทั้งอายุมากกว่า เท่ากับ และ น้อยกว่าเรา บางคนป่วยอยู่นานกว่าจะเสียชีวิต บางคนป่วยและเสียชีวิตในช่วงข้ามคืน บางคนร่างกายแข็งแรงดีแต่ประสบอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝัน บางคนใช้ชีวิตตามปกติพอนอนไปแล้วก็ไม่ตื่นขึ้นมาอีกเลย

มีคนเสียชีวิตในอายุที่แตกต่างกันไปและในสาเหตุที่หลากหลาย และสักวันหนึ่งเราก็ไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า คนเสียชีวิตนั้นก็ต้องเป็นเรา โดยที่เราอาจจะจินตนาการไม่ถึงด้วยซ้ำ ว่าหากเราต้องป่วยหนักแล้วสื่อสารไม่ได้ จะมีใครเข้าใจความต้องการของเราหรือเปล่า ในละครหลายๆเรื่อง เรามักจะเห็นว่าหลังจากตัวละครเจ้าของบ้านที่อายุเยอะเสียชีวิตไปจะมีการเปิดพินัยกรรมยกสมบัติให้ลูกหลานแต่ละคน แม้เราจะไม่ได้อยู่ตระกูลที่มีทรัพย์สินมากมาย และไม่ใช่เพียงเรื่องของเงินทองเท่านั้นที่เราต้องจัดการ สิ่งหนึ่งที่เราควรจะเรียนรู้และเป็นหน้าที่สำคัญในชีวิตของเราทุกคนนั้นคือ การทำพินัยกรรมชีวิต

สมุดเบาใจคืออะไร

สมุดเบาใจเป็นสมุดพินัยกรรมชีวิตขนาดเหมาะมือ ที่ช่วยให้เราได้กรอกความต้องการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเมื่อเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต ความต้องการในด้านต่างๆ ถูกแบ่งเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น

- การรักษาพยาบาลเมื่อเราเข้าสู่ภาวะวิกฤต
- การดูแลเพื่อความสุขสบายกาย
- ความต้องการที่จะให้ผู้อื่นปฏิบัติกับเราอย่างไร
- ใครจะเป็นผู้แทนการตัดสินใจด้านสุขภาพของเรา หากเราป่วยหนักและไม่สามารถสื่อสารได้
- การจัดการร่างกายและงานศพ

คำถามต่างๆจะช่วยให้เราได้วางแผนและสื่อสารกับ คนใกล้ชิด ครอบครัว และทีมแพทย์ที่จะสามารถตัดสินใจในเรื่องของการดูแลและการรักษาให้ตรงกับความต้องการของเราได้มากที่สุด ทั้งนี้ยังรวมถึงการวางแผนหลังจากที่เราเสียชีวิตไปแล้ว ว่าเราจะจัดการกับร่างกายและงานศพอย่างไร เพื่อให้เราสบายใจได้ว่าไม่เป็นภาระของคนใกล้ตัว

สมุดเบาใจ คือรูปแบบหนึ่งของเอกสารแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้ายและการตายดี ตามพ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา12 ที่มีส่วนหนึ่งระบุว่า“บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนหรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้”

การอบรมเพื่อทำความรู้จักกับสมุดเบาใจ
คุณอ๊อด วรรณวิภา มาลัยนวล กระบวนกรผู้จัดกิจกรรมสมุดเบาใจ ได้เล่าถึงรูปแบบการจัดกิจกรรมว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อในสมุดเบาใจที่ครอบคลุมมุมมองทางกาย ใจ จิตวิญญาณและสังคม

กิจกรรมสำหรับมุมมองทางกาย จะให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้จับคู่กัน และสลับกันนวดโดยที่ไม่คุยกัน หลังจากนั้นจะให้แสดงความคิดเห็น บางคนอาจจะชอบ หรือไม่ชอบ ทำให้รู้จักตัวเองว่าอะไรทำให้เรารู้สึกสบาย หรือไม่สบายทางใจทั้งยังสะท้อนว่าการตัดสินใจแทนคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่ยาก เวลาที่เราป่วยในภาวะวิกฤต และให้ครอบครัวต้องตัดสินใจแทน ก็อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ ทั้งยังอาจทำให้ครอบครัวรู้สึกผิดพลาดภายหลัง กระบวนกรจะชี้ให้เห็นว่า ชีวิตเป็นของเรา ไม่ควรเป็นภาระการตัดสินใจของผู้อื่น หรือบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งลำบากใจที่ต้องตัดสินใจในเวลาที่ญาติไม่ตัดสินใจ ในหลายครั้งที่ทางทีมแพทย์รู้ว่าบางครั้งการช่วยชีวิตเป็นเพียงการยื้อความตาย แต่ก็ยากจะปฏิเสธความต้องการของญาติ เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน ฟ้องร้อง ค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นการสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับครอบครัว

กิจกรรมที่ให้ได้ย้อนมองความสัมพันธ์กับคนรักที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น ให้เขียนจดหมาย หรืออาจจะโทรสื่อสารกับคนใกล้ชิดว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเรา เราจะบอกอะไรกับเขา เรามีอะไรติดค้างในใจที่ยังไม่ได้พูด กิจกรรมนี้ทำให้ตระหนักถึงสถานะความสัมพันธ์กับคนรอบข้างผู้ร่วมกิจกรรมหลายคนสะท้อนว่าได้มองเห็นประเด็นความไม่แน่นอน การตัดสินใจที่สำคัญในเวลาจำกัด และการดูแลด้านจิตวิญญาณ

การนำเรื่อง กาย ใจ จิตวิญญาณ และสังคมมาพูดคุยในกิจกรรมนั้น ทำให้เห็นองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่ไม่ใช่การใส่ใจเพียงเรื่องทางกายอย่างเดียว แล้วทางอื่นถูกมองข้าม การได้เขียนด้านที่เห็นว่าจำเป็นลงไปในสมุดให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดได้รับรู้ ก็จะสร้างโอกาสการตายดีได้ ทั้งการเขียนเรื่องการจัดการร่างกายและงานศพ ก็เป็นการสร้างความสบายใจว่าคนข้างหลังจะจัดการงานศพได้อย่างไม่เป็นภาระ

สะท้อนมุมมองจากกิจกรรม

คำถามต่างๆ ในสมุดเบาใจ จะมีข้อให้ชวนคิด เพื่อกลับไปเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น บางคนคิดว่าอยากจะเสียชีวิตที่บ้าน อาจจะต้องคุยกับคนที่บ้านว่าพร้อมหรือไม่ ถ้าไม่พร้อมจะจัดการอย่างไร กระบวนกรจะจุดประกายให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ตระหนักว่า การเตรียมตัวดูแลสุขภาพช่วงท้ายนั้น ควรคุยกันในเวลาที่พร้อม และควรคุยแต่เนิ่นๆ เพราะหากเมื่อตัวเราเองป่วย หรือมีคนในครอบครัวเราป่วยแล้ว ผู้ดูแลก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับภารกิจในแต่ละวัน ส่วนตัวผู้ป่วยที่ไม่สบายกายอยู่แล้วก็ยิ่งยากที่จะคิดวางแผนในเรื่องต่างๆ

ผู้ร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่มีความเห็นหลังจากร่วมกิจกรรมว่า เราทุกคนจำเป็นต้องเขียนสมุดเบาใจ และเริ่มมองเห็นว่าการรักษานั้นมีทางเลือกที่หลากหลายไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องพยุงชีพก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องตายที่โรงพยาบาลก็ได้ เขาอยากจะตายแบบไหน และสามารถวางแผนให้ตัวเองตายดีได้

ผู้เข้าร่วมหลายคนเห็นข้อควรพัฒนาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดให้ดีขึ้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่มาด้วยกันหลายคนก็มีโอกาสได้พูดคุย ได้ขอโทษ และได้ขอบคุณซึ่งกันและกัน

ชีวิตเป็นเรื่องสวยงาม

มีกรณีของภรรยาที่เป็นนักเขียน และสามีที่เป็นนักกวี ภรรยานั้นป่วยหนัก และได้เขียนสั่งเสียทุกอย่างไว้ให้กับสามี ซึ่งเป็นการจากลาที่ดี คือไม่มีอะไรค้างคาต่อกัน สามีก็มีโอกาสได้ทำทุกสิ่งให้กับภรรยาตามที่ภรรยาต้องการ ซึ่งในวาระสุดท้ายของชีวิต สามีได้ดูแลและส่งภรรยาในวินาทีสุดท้าย ในงานศพ ลูกๆ มีความเข้าใจต่อการเสียชีวิตของแม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การวางแผนในทุกเรื่องที่เราให้ความสำคัญนั้น จะทำให้ผู้จากไปหมดห่วง ส่วนผู้ที่มีชีวิตอยู่สามารถจัดการเรื่องราวต่างๆ ตามความต้องการของผู้จากไปได้อย่างสบายใจ

กิจกรรมสมุดเบาใจนั้น ช่วยให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เตรียมตัวในทุกๆ ด้านให้ครบ เมื่อได้เขียนก็จะรู้สึกสบายใจที่ได้วางแผนไว้แล้ว ได้สะสางและ ไม่ทำสิ่งใหม่ที่จะก่อให้เกิดการค้างคา เรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ได้แก้ไข เป้าหมายที่ยังไม่ได้ทำ ก็จะได้เริ่มลงมือทำ เมื่อได้เตรียมทุกๆ ด้าน เหมือนว่าได้ทำงานเสร็จแล้ว ยามที่ใช้ชีวิตก็ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณค่า ยามที่จะตาย ก็ไม่มีสิ่งใดที่ค้างคา สามารถที่จะตายได้เบาใจ

สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ดาวน์โหลดหรือสั่งซื้อสมุดเบาใจได้ที่ http://peacefuldeath.co/baojai/

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

เหมือนรู้ว่าต้องจากกัน

“หมอๆ ช่วยดูให้ฉันหน่อยสิว่า ผัวฉันมีข้าวกินหรือเปล่า” นั่นเป็นเสียงของป้าแสงคนไข้ที่มาด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ
2 มกราคม, 2561

ยอมรับความตาย ยอมรับความจริง

หลายๆ คนที่เคยเลี้ยงหมา แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ย่อมต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่สัตว์เลี้ยงเจ็บป่วยมาบ้าง ไม่ว่าจะป่วยน้อยหรือมาก ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อความรู้สึกหรือการตัดสินใจของเจ้าของทั้งสิ้น เริ่มจากการสังเกตอาการผิดปกติ ที่บ่งบอกว่า “ป่วย”
12 เมษายน, 2561

ยายนิ

เรื่องนี้ทำให้ฉันได้มองเห็นอีกมุมหนึ่งซึ่งไม่เคยนึกถึงเลย ความรู้สึกกังวล ไม่มั่นใจ ความหวาดกลัว การเผชิญหน้ากับภาวะความเจ็บป่วยของญาติ