parallax background
 

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้อง
คดีขอยกเลิกกฎกระทรวง
เรื่องหลักเกณฑ์ “สิทธิการตาย”
ชี้ไม่ขัดกฎหมาย

ผู้เขียน: กองสาราณียกร หมวด: ในชีวิตและความตาย


 

เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่สำนักงานศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ องค์คณะศาลปกครองสูงสุด นำโดยนายมนูญ ปุญญกริยากร ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ได้อ่านคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.๑๔๗/๒๕๕๔ คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.๑๑/๒๕๕๘ ซึ่ง นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล ยื่นฟ้องนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของกฎที่ออกโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีออก “กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย พ.ศ.๒๕๕๓” โดยอาศัยอำนาจของมาตรา ๔ และมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐

โดยศาลให้เหตุผลว่า การออกกฎกระทรวงฯ นี้ มิได้เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์และองค์ประกอบอันมีความหมายในการปล่อยให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาเสียชีวิตลงโดยงดเว้นไม่ให้การรักษา หรือการใช้ยาและเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต แต่เป็นการรักษาอย่างประคับประคองเพื่อให้ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาดังกล่าวตายอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อมิให้ยื้อความตายอย่างสิ้นหวังหรือทำให้ผู้นั้นต้องทรมานจากการเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่หากไม่มีบริการสาธารณะที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยแล้ว ผู้นั้นควรจะตายอย่างธรรมชาติแล้ว

“เมื่อวินิจฉัยเนื้อหาสาระของกฎกระทรวงฯ นี้แล้ว ไม่ปรากฏว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ และกฎหมายอื่นแต่อย่างใด จึงพิพากษายกฟ้อง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากผู้ฟ้องคดีทั้งสาม ซึ่งเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ได้ยื่นฟ้องนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต่อศาลปกครอง เนื่องจากเหตุว่า กฎกระทรวงฯ นี้ จะก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำบริการสาธารณะด้านการสาธารณสุข และไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เพราะคำว่า “การุณยฆาต” (Mercy Killing หรือ Euthanasia) เป็นการปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลงโดยงดเว้นไม่ให้การรักษาหรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อยุติชีวิต อันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไป นอกจากนี้ ยังขัดต่อมโนสำนึกในความเป็นแพทย์ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสาม และผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั้งปวงได้ถูกปลูกฝัง ฝึกอบรม และปฏิบัติต่อผู้ป่วยสืบต่อกันมา การออกกฎกระทรวงฯ นี้ เกินขอบเขตของ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.๒๕๒๕ และไม่เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างทั่วถึง ตามมาตรา ๕๗ แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนกฎกระทรวงฯ นี้

สำหรับกฎกระทรวงฯ นี้ มีสาระสำคัญคือ ให้ผู้ป่วยสามารถยื่นหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าว่าไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย โดยในหนังสือจะต้องลงลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำหนังสือ พยาน และผู้เขียนหรือผู้พิมพ์ไว้ด้วย ทั้งนี้ อาจมีการระบุรายละเอียดอื่นๆ เช่น ความประสงค์จะเสียชีวิต ณ สถานที่ใด ความประสงค์จะได้รับการเยียวยาทางจิตใจ และการปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อทางศาสนา และให้สถานบริการสาธารณสุขให้ความร่วมมือตามสมควร โดยหนังสือแสดงเจตนาสามารถทำ ณ สถานที่ใดก็ได้ และสามารถทำได้หลายฉบับ โดยให้ยึดฉบับที่ทำหลังสุด เป็นฉบับที่มีผลบังคับ

ที่มา: http://thaipublica.org/2015/06/living-will-1

[seed_social]
17 เมษายน, 2561

นายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายฯ จี้ สปสช. ผลักดัน Palliative Care เข้าไปอยู่ในระบบ ๓๐ บาท

เมื่อเร็วๆ นี้ พญ.ศรีเวียง ไพโรจน์กุล โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมบริบาลผู้ป่วยระยะท้ายแห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
17 เมษายน, 2561

ตายที่บ้าน “ดีกว่า” แต่คนส่วนใหญ่กลัวที่จะพูดถึง

พวกเรารู้ว่า การพูดคุยเรื่องความตายเป็นเรื่องยาก งานวิจัยใหม่ในวารสารความปวดและการจัดการความปวด แสดงให้เห็นว่าทำไมพวกเราควรจะทำให้ดีกว่าเดิม
21 ธันวาคม, 2560

แอบฟังคนทำงานเคาะประตู ชวนเรียนรู้เรื่องความตาย

ในงานประชุมวิชาการเอเชียแปซิฟิกฮอสพิซและพาลลิเอทีฟแคร์ (APHC) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ เมื่อวันที่ ๑๐-๑๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ ในวันสุดท้ายมีหัวข้อการประชุมหนึ่งที่น่าสนใจและพูดคุยกันสนุกมากคือ