parallax background
 

วิธีช่วยเหลือให้เด็กอายุ ๓ – ๑๕ ปี
เผชิญความตายอย่างสงบ

ผู้เขียน: พระไพศาล วิสาโล และคณะ หมวด: How to


 

คำถาม : เราจะมีวิธีช่วยเหลือให้เด็กอายุ ๓ – ๑๕ ปี เผชิญความตายอย่างสงบได้ อย่างไร

ตอบ : คำถามนี้ค่อนข้างกว้าง นอกจากครอบคลุมทั้งทารกและวัยรุ่นซึ่งมีพัฒนาการแตกต่างกันมากแล้ว ยังไม่มีรายละเอียดด้วยว่าเด็กนั้นอยู่ในภาวะใด ปกติหรือเจ็บป่วย ดังนั้นจึงขอตอบอย่างกว้าง ๆ ว่า ในกรณีที่เขากำลังเจ็บป่วยอยู่ การให้ความรักและความอบอุ่นแก่เขาเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยทำให้จิตใจของเขามีความทุกข์น้อยลง แม้กายจะป่วยก็ตาม ประการต่อมา คือชวนเขาทำบุญหรือระลึกนึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาของเขา ถ้าเป็นชาวพุทธ ก็ระลึกนึกถึงพระพุทธเจ้า ตลอดจนครูบาอาจารย์ที่เขามีความศรัทธา อาจชวนเขาเข้าวัด กราบพระ หรือสวดมนต์ร่วมกับเขา นอกจากช่วยให้เขาสงบใจแล้ว ยังช่วยให้เขามีความอบอุ่นใจ หรือมีที่พึ่งทางจิตใจ ซึ่งจะมีความสำคัญมากเวลาที่เขาป่วยหนักหรือใกล้ตาย การระลึกนึกถึงพระพุทธองค์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้เขามีกำลังใจและรู้สึกมีที่พึ่งทางใจ

นอกจากนั้นยังควรหาโอกาสแนะนำให้เขาตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต ว่าเกิดกับตายเป็นของคู่กัน ไม่มีอะไรเที่ยงแท้ อาจเริ่มต้นจากการชี้ให้เห็นวัฏจักรของธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ แล้วโยงมาถึงคน และคนใกล้ชิด เช่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย แล้วโยงมาถึงตัวเขาเอง หากเขาเห็นว่ามันเป็นธรรมดาของทุกชีวิต ก็จะทำใจได้มากขึ้นเมื่อความตายมาถึง อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือการช่วยสนองความฝันของเขา หากเขามีความฝันว่าอยากจะทำอะไร หรือไปเที่ยวไหน ก็ควรช่วยให้ฝันของเขาเป็นจริง หากเขาอยากได้อะไร ถ้าไม่ใช่เรื่องใหญ่โต หรือเป็นแค่ความอยากชั่วครู่ชั่วยามตามกระแส ก็ควรหาให้เขา ยิ่งถ้าเป็นความฝันที่มาจากความปรารถนาส่วนลึกที่มีคุณค่าต่อชีวิตของเขา การช่วยให้ฝันนั้นเป็นจริง ก็จะทำให้เขาพร้อมจากโลกนี้ไปได้มากขึ้น

ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การอยู่กับเขาหรือเป็นเพื่อนเขาในวาระสุดท้าย การเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดและอยู่เคียงข้างเขา ในยามที่เขากำลังจะจากไป จะช่วยให้เขาตื่นตระหนกน้อยลง และหากพูดแนะนำเขาให้ระลึกถึงบุญกุศลที่เคยทำหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขานับถือ ก็จะทำให้เขากล้าที่จะเผชิญกับความตาย

สำหรับเด็ก ๓ ขวบนั้น ความรักของพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดจะมีความสำคัญต่อจิตใจเขามาก หากพ่อแม่และคนใกล้ชิดมีสติมั่นคง ไม่ตื่นตระหนก ก็จะช่วยให้เขาจากไปอย่างสงบได้มากขึ้น แต่ก่อนจะถึงตอนนั้น พ่อแม่ควรทำให้เขามั่นใจว่าพ่อแม่รักเขาอย่างยิ่ง และพร้อมจะอยู่เคียงคู่เขาจนวาระสุดท้าย สำหรับเด็กเล็กแล้วความรักของพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด อาจจะสำคัญยิ่งกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเขาอาจจะยังไม่ถึงกับมีศรัทธาแน่นแฟ้นเหมือนกับผู้ใหญ่

[seed_social]
16 พฤษภาคม, 2561

ลายเกร็ง ผ่อนคลายสไตล์ชีวจิต

ผู้เขียนเคยกล่าวถึงวิธีผ่อนคลายความเครียดด้วยลมหายใจมาแล้วในฉบับก่อนๆ ซึ่งเป็นวิธีการผ่อนคลายความเครียดทางใจ แต่เวลาที่ใจเราเครียดร่างกายก็เครียดตามไปด้วย หากเราลองสังเกตและรับรู้ร่างกายเวลาเครียด
19 เมษายน, 2561

สมองตายในทางพุทธถือว่าตายไหม

ในกรณีที่คนๆ หนึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าสมองตายอย่างแน่นอนแล้ว ญาติได้ยินยอมให้ผ่าตัดเอาอวัยวะบางอย่างที่ใช้งานได้ไปบริจาคให้ผู้ที่ต้องการโดยที่เจ้าตัวไม่รับรู้แล้ว แพทย์ผู้ผ่าตัดเอาอวัยวะออกไปจะบาปไหมคะ
13 มีนาคม, 2561

๑๕ วิธีฟื้นชีวีให้มีพลัง

เชื่อว่าทุกคนคงเคยประสบกับช่วงเวลาที่พลังชีวิตหดหาย ส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ เครียด ท้อ เบื่อ เซ็ง หงุดหงิด อารมณ์เสีย โกรธง่ายหายยาก พาลคนทั้งโลก หากเป็นหนักก็อาจหมดกำลังใจ ไร้พลังสร้างสรรค์ รู้สึกชีวิตไม่มีคุณค่า