parallax background
 

วันปีใหม่

ผู้เขียน: อนัญญา ผลจันทน์ หมวด: ประสบการณ์ชีวิต


 

ช่วงเวลาของปีใหม่ เป็นช่วงเวลาของการเฉลิมฉลองของคนส่วนมากทั้งโลก
เป็นช่วงเวลาแห่งรอยยิ้ม ความสุขและหยุดพักจากการงาน แต่สำหรับงานรักษาพยาบาลนั้นเรื่องราวของคนไข้และผู้ดูแลนั้นไม่มีคำว่าหยุดพัก
ความเจ็บป่วยไม่เคยมีวันหยุด ความทุกข์ไม่เคยติดป้ายงดให้บริการ เช่นไร
พวกเราจึงต้องหมุนเวียนกันมาทำงาน เช่นนั้น

๑ สัปดาห์ก่อนปีใหม่

ใจฉันยิ่งร้อนรนเพราะรับปากเพื่อนสนิทไว้ว่าจะพยายามแลกเวรให้ได้ เพื่อไปสวดมนต์ ฟังธรรมที่วัดกันแบบ Non Stop ชนิดข้ามวันข้ามคืนในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จิตใจจึงจดจ่ออยู่กับการหาแลกเวร มีเวลาว่างแม้พียงน้อยนิดก็ยังหยิบตารางเวรขึ้นมาดู หาช่องทางร้อยแปดพันประการก็ยังมืดมนจนกระทั่งต้องดูแลคนไข้รายหนึ่ง ทำให้ลดการหมกมุ่นไปได้

หลวงตาคูณ อายุ ๗๐ ปี บวชได้ประมาณ ๑๕ พรรษา ที่วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ครอบครัวของท่านมีเพียง น้องชาย น้องสาว และหลานชาย วันที่ท่านย้ายเข้าห้องไอซียูนั้น ท่านมีอาการหายใจเหนื่อยหอบมาก จากโรคถุงลมปอดโป่งพอง ปอดอักเสบ แต่ยังรู้สึกตัวดี น้องพยาบาลได้ให้ถุงย่ามอันหนักอึ้งของหลวงตาแก่น้องสาวของท่านไปตามระเบียบการคืนของมีค่าแก่ญาติ เมื่อท่านทราบ ทำให้อาการกระสับกระส่ายเหนื่อยหอบเพิ่มขึ้น ด้วยความเป็นห่วงคิดถึงย่ามของท่าน พระร่วมวัดบอกว่าของมีค่าทั้งหมดอยู่ในนั้น โดยเฉพาะของสะสมของท่านคือพระเครื่อง

………………..

พวกเราโทรติดต่อหาญาติซึ่งมีเพียงเบอร์โทรศัพท์ของน้องชาย จึงได้แต่ฝากบอกให้เอาย่ามมาคืนท่านด้วย แต่น้องสาวคนเอาย่ามท่านไปนั้น ไม่เคยติดต่อหรือมาเยี่ยมท่านอีกเลย

ในขณะเดียวกับที่อาการของหลวงตาทรุดลงเรื่อยๆ จนต้องใส่ท่อช่วยหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ
มีเพียงน้องชายและหลานชายมาเยี่ยมโดยยินยอมที่จะไม่ทำการฟื้นคืนชีพเมื่อถึงวาระสุดท้าย
หลังจากนั้นไม่มีญาติมาเยี่ยมท่านอีกเลย
ย่ามของหลวงตาที่อยากได้กลับมา ก็ไม่มา
เวรของฉันที่อยากแลกออกไป ก็ยังอยู่
แม้เรื่องราวต่างกัน แต่ผลนั้นคือมีบางสิ่งบางอย่างกระสับกระส่ายอยู่ในหัวใจ
ทำอย่างไรดี..
ขณะกำลังสรงน้ำให้หลวงตาบนเตียงคนไข้นั้น ฉันถามท่านว่า

“หลวงตายังนึกถึงเรื่องอยากได้ย่ามกลับคืนมาอยู่ตลอดเลย ใช่ไหมคะ?”

หลวงตารู้สึกตัวดีตลอด ส่วนอาการหายใจเหนื่อยหอบนั้น หลังจากการพ่นยาแล้วจะดีขึ้น ถึงแม้จะสื่อสารด้วยการพูดไม่ได้ แต่ท่านมองหน้าฉันแล้วพยักหน้า

“หนูเข้าใจความรู้สึกของหลวงตาค่ะ ยังพยายามติดต่อน้องสาวให้อยู่นะคะ น้องชายท่านก็จะช่วยติดตามให้ด้วย อยู่กันคนละที่และไกลด้วย จะมาเยี่ยมก็ไม่สะดวก” ยิ่งอยากพูดให้หลวงตาสบายใจมากเท่าไหร่ ฉันยิ่งรู้สึกอึดอัดและห่างไกลความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ พลันนึกถึงเรื่องเล่าเรื่องหนึ่งได้

“หลวงตาคะ มีพระรูปหนึ่งเป็นอาจารย์ของหนูเล่าให้ฟังว่า ในสมัยพุทธกาลมีภิกษุรูปหนึ่ง...”

แล้วฉันก็เล่าสิ่งซึ่งได้ฟังจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เรื่องภิกษุที่หวงจีวรใหม่แล้วมรณภาพไปเกิดเป็นตัวเลนอยู่ที่จีวรนั้น เมื่อครบวงจรชีวิต ๗ วันแล้วตายไปถึงจะได้ไปเสวยผลบุญที่เคยทำไว้

“หลวงตาเคยได้ยินเรื่องเล่านี้ไหมคะ” ท่านพยักหน้าแทนคำตอบ

ส่วนฉันรู้สึกไม่ค่อยสบายใจนัก คล้ายๆ ไปสอนสังฆราชให้เทศน์หรือเปล่า ฉันจึงขอขมาหลวงตาเรื่องนี้ ท่านยกมือขวาขึ้นเชิงตอบรับแล้วประสานไว้ระดับอกหลับตานิ่ง ฉันคลุมผ้าจีวรเหนือผ้าห่มให้ท่าน ก่อนไปดูแลคนไข้รายอื่นต่อ

เพื่อนโทรมาถามเรื่องที่นัดหมายไว้ ฉันบอกว่าไม่ไปแล้ว เรื่องที่เล่าให้หลวงตาฟังนั้นเหมือนเล่าให้ตัวเองฟังด้วย เรื่องกระสับกระส่ายในใจหายไปแล้ว รู้สึกโล่งอก สบายใจ...

หลังจากวันนั้นอาการหลวงตาแย่ลงเรื่อยๆ ท่านมีอาการเหนื่อยหอบตลอดเวลาแม้ให้ยาต่างๆ แล้วก็ยังไม่ดีขึ้น แต่ท่านดูสงบมากขึ้นแม้จะอ่อนแรง อย่างไรก็ตามท่านยังมีสติดีรับรู้ในทุกเรื่อง สื่อสารด้วยการกระพริบตา ขมวดคิ้ว พยักหน้าน้อยๆ หรือขยับมือ กำมือ ฉันไม่เคยถามท่านเรื่องย่ามอีกเลย เพียงแต่ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้กับทุกคน และตั้งมั่นระลึกในบุญกุศลแห่งการบวช หลวงตากระพริบตา
ฉันเปิดซีดี โอวาทสำหรบคนเจ็บไข้ของท่านพุทธทาสให้หลวงตาฟัง…

วันปีใหม่

กายหายไข้ ใจหายทุกข์ ของท่านปยุตฺโต เป็นหนังสือของขวัญปีใหม่ที่พวกเรามอบให้แก่คนไข้และครอบครัว อย่างน้อยในยามป่วยไข้ ธรรมกถาในหนังสือจะช่วยเยียวยาจิตใจได้ดี

วันนี้ ฉันเวรบ่ายแม้จะไม่ได้รับมอบหมายหน้าที่ให้ดูแลหลวงตา แต่ได้ยินตอนรับส่งเวร ว่าระดับความรู้สึกของหลวงตาลดลง มีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตวัดไม่ได้ หายใจเหนื่อยแบบ air hunger ตั้งแต่ ๑๔ น. และไม่มีญาติมาเยี่ยม

เมื่อไม่มีครอบครัวมาอยู่ร่วมกับท่านในวาระสุดท้าย พยาบาลคือญาติของท่าน ฉันหวังให้ท่านมีจิตใจจดจ่อกับบุญกุศล หรือสิ่งที่ทำให้ท่านสงบ มีความสุข คิดได้ว่าตลอด ๑๕ พรรษา ที่ผ่านมาการการทำวัตรเช้า-เย็น น่าจะเป็นกิจของสงฆ์ที่รูปธรรมได้ชัดเจนต่อการระลึกรู้มากที่สุด และตั้งแต่นอนโรงพยาบาลท่านยังไม่ได้ยินเสียงสวดมนต์เลย

“หลวงตาคะ วันนี้เป็นวันขึ้นปีใหม่และเป็นวันพระด้วย หลวงตาสวดมนต์ทำวัตรเย็น พร้อมๆ กับพระที่สวนโมกขพลารามนะคะ”
...อะระหังสัมมา สัมพุทธโธภะคะวา... เสียงดังมาจากเครื่องเล่นซีดีข้างๆ เตียงของหลวงตา

ภายหลังเสียงสวดมนต์ทำวัตรเย็นจบลง อัตราการเต้นของหัวใจหลวงตาลดลงที่ ๖๖ ครั้ง/นาที น้องดาวพยาบาลเจ้าของเคส โทรแจ้งอาการให้น้องชายหลวงตารับทราบ ยังกำชับว่าใครเอาย่ามท่านไปให้ขออโหสิกรรมกับท่านด้วย ส่วนฉันเตรียมดอกไม้ ธูป เทียนให้หลวงตา

“หลวงตาคะ ตอนนี้สบง จีวร คลุมอยู่บนตัวหลวงตา” แล้วฉันยกผ้าจีวรที่คลุมอยู่บนตัวให้ท่านดูเพื่อยืนยันว่าท่านยังครองผ้าเหลืองอยู่ “ขอหลวงตาปล่อยวางในสังขารร่างกายนี้ ตั้งจิตให้มั่นในบุญกุศลของการบวช ระลึกถึงองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และนำดอกบัว ธูป เทียนนี้ ไปสักการะพระพุทธเจ้า” ท่านขมวดคิ้วเล็กน้อย สักพักหยุดหายใจ air hunger (หายใจใกล้ตาย หรือหายใจพะงาบๆ) ฉันเหลือบไปเห็นของขวัญปีใหม่ที่เตรียมไว้ให้หลวงตา เปิดดูสารบัญ พลิกไปหน้าบทสวดโพชฌังคปริตร

“หลวงตาคะ สวดโพชฌังคปริตรพร้อมๆ กันนะคะ”
...โพชฌังโค สะติสังขาโต ธัมมานัง วิจะโย ตะถา...

เมื่อฉันเริ่มอ่านบทสวด หลวงตาขมวดคิ้วมากขึ้น จนฉันเริ่มไม่แน่ใจว่าอ่านถูกต้องหรือไม่ หรือหลวงตาไม่คุ้นสำเนียงแบบนี้ แต่ฉันยังคงสวดต่อไป สักพักคิ้วที่ขมวดของหลวงตาค่อยๆ คลายออก และคลายออก เส้นกราฟหัวใจกว้างออก อัตราการเต้นของหัวใจค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ
...เอเตนะ สัจจะวัชเชนะ โสตถิ เต โหตุ สัพพะทา...

บทสวดโพชฌังคปริตรจบลงในขณะเดียวกับ เส้นกราฟหัวใจเป็นเส้นตรง
สองมือของหลวงตายังพนมอยู่ที่หน้าอกใบหน้าท่านสงบนิ่ง
หลวงตาคูณมรณภาพอย่างสงบ…
ขอบคุณที่ท่านเมตตาให้โอกาสฉันสวดมนต์ให้ท่านฟัง

…………………………………..

...ปีใหม่ ผู้คนไปทำบุญที่วัด...
...ปีใหม่ พวกเราทำบุญที่โรงพยาบาล...
ขออนุโมทนากับเพื่อนร่วมงานทุกคนที่ได้ทำสิ่งที่ดีร่วมกัน
ทุกวันคือวันปีใหม่ เราทำบุญ มีความสุข และเบิกบานได้ในที่ทำงาน...

[seed_social]
21 ธันวาคม, 2560

ดูแลผู้ดูแล

จิตอาสาคนหนึ่งเขียนในใบประเมินว่า “แนวทางการเป็นจิตอาสาเทียบเคียงกับมรรคมีองค์แปดสัมพันธ์กันได้ดีมาก เห็นภาพชัดเจน” จริงๆ แล้วอยากบอกว่า มรรคมีองค์แปดของพระพุทธองค์ใช้ได้กับทุกอาชีพทุกสถานการณ์
19 เมษายน, 2561

ชีวิตที่ต้องอยู่ตามลำพัง

สิ่งที่เรากลัวของคนในสังคมปัจจุบัน คือกลัวว่าจะต้องอยู่ตามลำพังมากกว่า เพราะห่วงว่า จะดูแลตนเองอย่างไรดี เจ็บป่วยจะทำอย่างไร ไม่มีรายได้มีแต่รายจ่าย ที่กลัวกว่านั้นลึกๆ คือความเหงา ไร้คุณค่า
13 ธันวาคม, 2560

คุณค่าจากฟันปลอม

จากประสบการณ์เมื่อครั้งไปหาหมอที่คลินิก ในขณะที่แม่ของเธอกำลังนอนให้น้ำเกลืออยู่นั้น คุณหมอหันมาถามเธอซึ่งขณะนั้นอายุ 7-8 ขวบว่า “หนูกินข้าวกลางวันหรือยัง” ในสายตาคนอื่นอาจจะดูเป็นคำถามธรรมดา ไม่มีอะไรพิเศษ