หลายครั้งเมื่อคนเราตกอยู่ในความเศร้า จนไม่สามารถรับมือและหาทางแก้ไขได้ หลายคนเลือกที่จะเก็บภาวะเหล่านั้นไว้กับตัว โดยไม่รู้ว่าต้องพูดคุยกับใครหรือไปที่ไหน และมองว่าการพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นเพียงวิธีแก้ไขเดียว แต่ก็มองการเข้ารับบำบัดในเชิงลบ เข้าถึงยากและเป็นทางการมากเกินไป ดังนั้นคงเป็นเรื่องดีหากมีพื้นที่ที่คอยรับฟังเรื่องราวปัญหาที่มาของความเศร้าเหล่านี้บ้าง ด้วยเหตุนี้คุณธิดาวรรณ หยกอุบล จึงได้เปิดร้านรับฝากความเศร้า เพื่อเป็นพื้นที่ให้บริการแก่ผู้ที่กำลังเผชิญปัญหาได้เข้ามารับฝากความเศร้า ความทุกข์ และท้ายที่สุดเดินออกจากร้านไปพร้อมกับรอยยิ้ม
“ร้านรับฝากความเศร้า” เป็นร้านกาแฟในจังหวัดขอนแก่น เริ่มต้นมาจากคุณธิดาวรรณและกลุ่มเพื่อนที่มีทักษะในการรับฟังและชอบช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ โดยช่วงแรกจะรับฟังกันเองในกลุ่มเพื่อน จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและคนเข้าถึงได้น้อย ต่อมาเธอจึงเปิดเป็นร้านเพื่อขยายวงการพูดคุยรับฟัง โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณวรรณา จารุสมบูรณ์ กลุ่ม Peaceful Death ที่เล็งเห็นถึงความสามารถดังกล่าวของคุณธิดาวรรณ และเห็นว่าควรทำเรื่องดูแลความเศร้าให้เป็นกิจจะลักษณะ จึงสนับสนุนให้เกิดร้านรับฝากความเศร้าขึ้น เพื่อให้คนเข้ามาใช้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
การรับฝากความเศร้าของร้านจะมี 2 รูปแบบ คือแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม แบบรายบุคคลเป็นการพูดคุยแบบตัวต่อตัวกับทีมของทางร้านหรือทีมอาสาสมัครที่ได้รับการอบรมมาแล้ว ในเรื่องที่เป็นปัญหาของบุคคลนั้นๆ ใช้เวลาประมาณ 45-60 นาที ส่วนบางคนที่ไม่สบายใจกับการพูดคุยแบบรายบุคคล หรือไม่ทราบแน่ชัดว่าตนเองมีปัญหาหรือต้องการอะไร พร้อมทั้งอยากแลกเปลี่ยนเรื่องราวกับคนอื่นๆ การพูดคุยแบบกลุ่มจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง เพราะไม่ใช่การคุยประเด็นของแต่ละบุคคลโดยตรง แต่จะมีหัวข้อร่วมในการพูดคุย โดยผู้เข้าร่วมจะได้แลกเปลี่ยนพลังงานหรือเรื่องราว วิธีการแก้ไขปัญหากับคนที่มีปัญหาคล้ายๆ กัน ถือเป็นการช่วยเหลือดูแลกันและกันระหว่างผู้เข้าร่วมเอง โดยมีทางร้านทำหน้าที่ตัวกลางดูแลการพูดคุยให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น
ในการเข้ารับบริการ ทางร้านจะมีแบบประเมินความเศร้าเพื่อวัดระดับความเศร้าทั้งก่อนและหลังการพูดคุย ซึ่งไม่ใช่การวัดเพื่อดูความเข้มข้นของอารมณ์ แต่เพื่อประเมินผลหลังจากการพูดคุยว่ามีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ นอกจากนั้นลำพังการพูดคุยและรับฟังอย่างลึกซึ้งอาจไม่สามารถดึงพลังบวกของผู้เข้าใช้บริการได้เสมอไป ทางร้านจึงมีอุปกรณ์ทางศิลปะ ชุดการ์ดต่างๆ เช่น ไพ่ฤดูฝน ไพ่เม่นน้อย การ์ดเพื่อนใจ หรือการ์ดคำที่ให้แง่คิดอื่นๆ ช่วยสร้างพลังบวกร่วมด้วย
อาสาสมัครคือบุคลากรทางร้านกลุ่มหนึ่งที่เป็นผู้คอยให้บริการ อาสามสมัครกลุ่มนี้จะมีคุณสมบัติของหัวใจที่อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และมีทักษะในการรับฟัง เนื่องจากเคยผ่านการอบรมกระบวนการซาเทียร์ เรียนรู้การใช้แบบจำลองภูเขาน้ำแข็ง เพื่อวิเคราะห์ลึกลงไปถึงเบื้องหลังพฤติกรรมทางกายวาจาต่างๆ ที่แสดงออกซึ่งเปรียบเสมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่ทุกคนมองเห็น ลงไปรับรู้ความรู้สึก และสืบค้นความต้องการ คุณค่าที่ยึดถือที่เปรียบเสมือนสิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งซึ่งมองไม่เห็นด้วยตา จนตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ทำให้เกิดความคิดหรือพฤติกรรมต่างๆ และตั้งคำถามถึงวิธีการที่ผู้เข้ามาใช้บริการจะนำพาตัวเองออกไปจากวังวนปัญหาเดิมๆ
เมื่อเปิดร้านแล้ว นอกเหนือจากการดูแลผู้เข้ารับบริการแล้ว ทางร้านยังต้องมีกระบวนการดูแลกลุ่มอาสาสมัครด้วยเช่นกัน เนื่องจากความเศร้าของผู้เข้ารับบริการมีหลายระดับ บางครั้งอาสาสมัครอาจรับมือไม่ไหว ขึ้นอยู่กับความมั่นคงภายในและทักษะการดูแลของตัวอาสาสมัครแต่ละคน ถ้าไม่ไหวสามารถขอหยุดเพื่อเปลี่ยนตัวอาสาสมัคร หรือเลื่อนนัดได้ และในกรณีของผู้ป่วยที่เป็นซึมเศร้าหรือโรคเฉพาะทางอื่นๆ ที่ทางร้านเห็นว่าไม่สามารถดูแลได้ ก็จะส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษาโดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญต่อไป และนอกเหนือจากการรับมือต่อความเศร้าไม่ไหวแล้ว อาสาสมัครยังอาจได้รับผลกระทบด้านอื่นๆ เช่น เก็บเรื่องราวของผู้เข้าบริการมาคิดต่อ เป็นห่วง หรือหาหนทางว่าจะช่วยอย่างไรดี ทางร้านเองจึงต้องมีการพูดคุยกับกลุ่มอาสามาสมัครท้ายวันเป็นกระบวนการดูแลอาสาสมัคร แนะนำการวางใจว่าเราทำดีที่สุดแล้ว ถ้ายังอยากช่วยแต่ไม่สามารถทำได้ ก็ชวนให้เขากลับมาสำรวจแบบจำลองภูเขาน้ำแข็งของตนเองว่าทำไมถึงอยากช่วย มีความต้องการอะไร อาสาสมัคจะได้ตระหนักและรับรู้คุณค่าที่ตนเองยึดถือ ถือเป็นกระบวนการเยียวยาและตระหนักรู้ในตัวเองที่ดีไปพร้อมๆ กัน
สำหรับที่ผู้ต้องการเข้าใช้บริการ ทางร้านมีเพจ ร้านรับฝากความเศร้า (https://www.facebook.com/listeningcafeKK) สามารถส่งข้อความเพื่อนัดหมายเวลากับทางร้านได้ และสำหรับผู้สนใจที่จะเป็นผู้ให้บริการรับฟัง คุณธิดาวรรณแนะนำว่า นอกจากจะต้องมีพื้นที่ส่วนตัวที่ผู้คนไม่พลุกพล่านแล้ว การมีหัวใจที่อยากช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร้านรับฝากความเศร้าเกิดขึ้นได้จริงๆ
คุณธิดาวรรณยังเสนอว่า การรับฟังถือเป็นคุณค่าที่มนุษย์จะมอบให้กับเพื่อนมนุษย์ข้างกาย เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องฝึกฝนเป็นพิเศษแต่อย่างใด เพราะหัวใจของการรับฟังไม่ได้อยู่ที่ทักษะขั้นสูง แต่ต้องมีหัวใจที่เปิดรับ เปิดใจที่จะอยู่กับคนคนหนึ่งในช่วงขณะปัจจุบันนั้นได้ และสำหรับคนที่ต้องการเผชิญหน้ากับความเศร้าด้วยตนเอง มีวิธีการที่จะใช้ตรวจสอบและรับรู้สภาวะภายในของตนเองได้ เช่น การเขียน หรือมีเพื่อนที่ไว้ใจได้เพื่อพูดคุยเรื่องราวปัญหา หรืออาจจะใช้อุปกรณ์อื่นๆ เช่น การ์ดความรู้สึก ความต้องการ จะช่วยให้เราคลี่คลายความรู้สึกภายในของตนเองออกมาได้ว่าคืออะไร แล้วค่อยๆ ก้าวสู่การยอมรับความรู้สึกเหล่านั้นได้ในที่สุด
วันที่ออกอากาศ: 11 กรกฎาคม 2564
ผู้เรียบเรียง: สุรพิน อยู่สว่าง