parallax background
 

ยาแก้ความเหงา

ผู้เขียน: ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ยามเมื่อเราเข้าสู่วัยชรา เราจะเริ่มพบกับการมาเยือนของแขกพิเศษสามท่านด้วยกัน พวกเขา คือความรู้สึก : เหงา ไร้ค่า และเบื่อหน่าย บ่อยครั้งแขกทั้งสามนี้ มักมาเยี่ยมเยือนโดยพร้อมเพียงหรือทยอยมาพบปะ ยิ่งหากผู้สูงวัยมีชีวิตโดดเดี่ยว ขาดไร้เครือข่ายสังคมที่มาเชื่อมโยง แขกทั้ง ๓ ก็ยิ่งมาเยี่ยมเยือนพวกเขามากและบ่อยขึ้น และนั่นคือ งานท้าทายของผู้สูงวัย เช่นกัน แม้พวกเราหลายคนซึ่งอยู่ในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว แขกทั้งสามก็อาจแวะเข้ามาทักทาย สบตาและอยู่กับเรามากน้อย สั้นยาวได้เช่นกัน บางโอกาส บางจังหวะของชีวิต เราต่างรู้จักและทุกข์ใจกับแขกพิเศษทั้งสามท่าน

ความเหงา ความรู้สึกไร้ค่า ความเบื่อหน่ายเป็นความรู้สึกที่สะท้อนถึงความปรารถนาบางอย่างที่เราไม่ได้รับการตอบสนอง ความปรารถนานั้นก็คือ การเชื่อมโยง ความเป็นพวกพ้อง การมีความหมายและคุณค่า ดังนั้นเมื่อใดที่มีเหตุ หรือเงื่อนไขที่ทำให้ความปรารถนาไม่ถูกตอบสนอง ความรู้สึกทั้งสามก็มักจะปรากฏตัว และในบรรดาความรู้สึกทั้งสามนี้ ความเหงาดูจะเป็นภัยคุกคามที่คุ้นเคยและร้ายกาจ

ดร.ซูซานเน เดกก์ไวท์ (Susanne Deggs-white, Ph.D.) ได้ให้งานศึกษาวิจัยที่ชี้ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ว่า

ความเหงา เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคล ความเหงาของแต่ละคนจึงอาจไม่ได้เป็นลักษณะเดียวกัน ผลกระทบความเหงาที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกลอยคอ โดดเดี่ยวกลางทะเล อาจไม่ได้สร้างผลกระทบแบบเดิมๆ เสมอ บางช่วงเรามีความสุขกับความโดดเดี่ยว บางช่วงเราทุกข์ทรมานกับความโดดเดี่ยว กลายเป็นความเหงา ว้าเหว้ ปวดร้าวอยู่ในใจ ความเหงาเป็นผลพวงจากความรู้สึกที่พบว่าเครือข่ายสังคมเท่าที่มีอยู่ไม่พอเพียง หรือไม่สามารถโอบอุ้ม สนับสนุนในสิ่งที่เราปรารถนาในเรื่องความปรารถนา

ความเหงา สำหรับหลายคนพวกเขารู้สึกเหมือนว่ามันเป็นหลุมดำ ว่างเปล่าที่ต้องการถมให้เต็ม ขณะที่ “เวลาส่วนตัว” เป็นสิ่งที่เราต่างต้องการ ประสบการณ์ต่อความเหงาของแต่ละคนจึงอาจไม่ได้เป็นลักษณะเดียวกัน เวลาส่วนตัวจึงเป็นเรื่องของคุณภาพชีวิต ขณะที่ความเหงาเป็นสภาพที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต

ความเหงา มีบทบาทหน้าที่สำคัญ คือ การสะท้อนถึงความต้องการที่สำคัญที่เราขาดการเชื่อมโยง ดังนั้นแม้เราอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย เราก็อาจรู้สึกถึงความเหงา ว้าเหว่ เพราะภาวะที่ขาดการเชื่อมโยง ไม่มีกิจกรรม หรือไม่มีความสามารถที่จะเชื่อมโยงกับคนรอบตัว ผู้คนที่มีความเหงามักมีลักษณะของการทำอะไรเพียงลำพัง แปลกแยก

ความเหงามีพลังงานที่ก่อกวนความรู้สึกเชิงลบให้ผุดลอยขึ้นมาในจิตใจ : อึดอัด เจ็บปวด รวดร้าวอยู่ภายใน สิ่งที่มักเกิดขึ้นคือ การพยายามผลักไส ขับไล่ หรือหลีกหนีความรู้สึกเหงา โดยการหากิจกรรม เกาะติดความสัมพันธ์ ใช้สารเสพติด สิ่งมึนเมา ดร.ซูซานเน่ ได้ชี้ลักษณะของความเหงา ดังนี้

ความเหงาทางอารมณ์ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาวะที่ขาดการเชื่อมโยงกับคนพิเศษ ท่ามกลางคนอื่นๆ ที่ต่างมีความผูกพันลึกซึ้งกับคนพิเศษ ขณะที่เราไม่มีความเชื่อมโยงผูกพันนั้น ความเหงาชนิดนี้จึงเกิดขึ้นเป็นความรู้สึกเหงา ว้าเหว่

ความเหงาทางสังคม เป็นความรู้สึกเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่รับรู้ว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะ ชุมชน ความรู้สึกเหงาเช่นนี้เกิดขึ้นได้แม้กับคนที่มีความผูกพันเชื่อมโยงกับคนพิเศษ ความรู้สึกเหงาทางสังคมก้ยังเกิดขึ้นกับเราได้ หากว่าเราไม่รู้สึกถึงสายสัมพันธ์ที่มีคุณภาพเพียงพอกับชุมชน หมู่คณะที่รายล้อม

ความเหงาตามสถานการณ์ เป็นความรู้สึกเกิดขึ้นในสถานการณ์ความไม่พร้อม ไม่คุ้นเคย เช่น ช่วงเวลาที่เรามีความเป็นคนใหม่ในที่ทำงานใหม่ สถานที่ใหม่

ความเหงาเรื้อรัง เป็นความรู้สึกเหงาที่ติดพัน ยาวนานและเรื้อรัง แม้เวลาผ่านไปเนิ่นนาน แต่ความเหงาก็ยังดำรงอยู่ เรายังคงรู้สึกไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับใคร หรือองคืกรแต่อย่างใด

ความเหงาของช่วงวัย ช่องว่างระหว่างช่วงวัยทำให้เกิดความไม่เชื่อมโยง มีภาวะสุญญากาศระหว่างช่วงวัยที่ต่างกัน เช่น ช่องว่างระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ที่มีต่อกัน

ความเหงา แก้ได้มั้ย
นักวิจัยพบคำตอบถึงแนวทางรับมือกับความเหงา ๔ แนวทาง คือ การเพิ่มพูนทักษะ ความสามารถ
1) ทักษะสังคม การให้การศึกษาถึงแนวทางปฎิสัมพันธ์กับแบบแผนสังคมให้มีคุณภาพมากขึ้น
2) การสนับสนุนการสัมพันธ์กับสังคม การจัดระบบ การจัดการกับความเชื่อมโยงต่อสังคม
3) การเพิ่มขึ้นในด้านปฏิสัมพันธ์กับสังคม ผ่านการอำนวยการ สนับสนุนให้มีโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับสังคม
4) การปรับเปลี่ยนมุมมอง ความเชื่อที่มีต่อการเชื่อมโยง ปฏิสัมพันธ์กับสังคม

งานวิจัยพบว่า การเพิ่มพูนความสามารถในการปฎิสัมพันธ์กับสังคมไม่ได้ช่วยคลี่คลายในเรื่องความเหงานัก หนทางที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คือ การเปลี่ยนแปลงความคิดที่มีต่อสถานการณ์สังคมรอบตัว และมุมมองที่มีต่อการปฏิสัมพันธ์ที่มีกับสังคมนั้นๆ

ความเหงาในฐานะภาวะจิตใจ
หากว่าความเหงาที่มากมายและทับถมจนกลายเป็นความซึมเศร้า ก็ยิ่งสร้างความเลวร้ายมากขึ้น ลักษณะของอาการซึมเศร้า คือ การขาดพลังและความสนใจต่อการปฏิสัมพันธ์กับสังคมรอบตัว ภาวะซึมเศร้าจึงเป็นอาการและเป็นประเด็นท้าทายอย่างมากในการเป็นอิสระจากความเชื่อเชิงลบเกี่ยวกับตนเองและต่อสัมพันธภาพ ภาวะซึมเศร้าจึงเป็นกับดักในตัวเราที่ติดจมพอกพูนมาจากความเหงาที่ทับถม

ผู้คนที่มีภาวะความเหงา ว้าเหว่มักมีระดับพลังงานของความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ และมีภาวะความเครียด กังวลสูง เช่น เมื่อใครคนหนึ่งรู้สึกไม่เชื่อมั่นในผิวสี ในเพศสภาพ ในหน้าตา ฯลฯ ของตน ภาวะความรู้สึกไม่เชื่อมั่น อ่อนไหวนี้ก็จะเป็นประเด็นความยากลำบากในการเชื่อมโยงกับสังคม หมู่คณะ อย่างไรก็ดีหากคนผู้นั้นสามารถปรับเปลี่ยนมุมมองในเรื่องอ่อนไหว ไม่เชื่อมั่นนี้ได้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยพวกเขาไถ่ถอนตนเองจากความเหงาได้

ความเหงาในฐานะตัวอันตรายต่อสุขภาพ
สุขภาพกาย ใจเป็นสิ่งที่เชื่อมโยง สัมพันธ์และกระทบต่อกัน การเชื่อมโยงกับสังคมจึงเป็นมิติกาย-จิตใจ ดังนั้นเพื่อปกป้องตนเองจากภัยอันตรายที่ความเหงามีต่อสุขภาพกาย-จิตใจ แนวทางสำคัญคือ การย้ำเตือนตนเองว่า

มีใครบางคนกำลังพยายามที่จะเชื่อมโยง สัมพันธ์กับตัวเรา แต่หากเราไม่มีความใส่ใจหรือพยายามในเรื่องการสร้างสัมพันธ์ ความล้มเหลวย่อมเกิดขึ้นแน่นอน

ยิ่งเรารู้สึกดีกับตนเองมากเพียงใด คนอื่นก็จะรู้สึกดีกับตัวเราด้วยเช่นกัน ความเหงาเป็นเหมือนโรคติดเชื้อที่กัดกินความภาคภูมิใจคุณค่าในตนเอง เมื่อเราได้กระทำในสิ่งที่สะท้อนการเป็นคนที่มีคุณค่า คู่ควรที่จะรู้จัก คนอื่นก็จะสัมผัส รับรู้สิ่งนี้ในตัวเรา และปฏิบัติต่อเราตามที่เขาสัมผัสได้ ภาวะนี้ก่อเกิดภูมิต้านทานความเหงาไปในตัว

ระลึกว่า เราไม่จำเป็นหาเพื่อนที่ดีที่สุดในจำนวนมากเพื่อได้ประโยชน์ของการเชื่อมโยง เราเพียงต้องการ ๑-๒ คนที่ยอมรับความเป็นตัวของตัวเองได้ แน่นอนว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นทันที แต่สิ่งนี้สามารถทำให้เกิดขึ้นได้และมีคุณค่าด้วย

ในเส้นทางชีวิต ด้านหนึ่งเราต้องการความเป็นอิสระเพื่อค้นหาความเป็นตัวเรา เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะแยกตัวออกจากสังคมเพื่อค้นหาศักยภาพ ค้นหาความถนัด ความชอบและความเป็นตัวของตัวเอง ความโดดเดี่ยวในฐานะองค์ประกอบของความเป็นส่วนตัวช่วยให้เราได้พบความต้องการนี้ พร้อมกับเราก็ต้องการความเชื่อมโยง ความเป็นพวกพ้องกับคนพิเศษ กับหมู่คณะชุมชน แต่หากเชื่อมโยงมากเราก็สูญเสียความเป็นตัวเอง ดังนั้นเพื่อปกป้องความเป็นอิสระ ปกป้องความเป็นตัวเอง หรือเพื่อความปลอดภัยจากความสัมพันธ์ที่ไม่พึงปรารถนา ภาวะโดดเดี่ยวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนต้องการ แต่หากมากเกินไป ภาวะโดดเดี่ยวกลายเป็นความเหงา และหากความเหงามีมากเกิน ทับถมรุนแรง ความเหงาก็อาจกลายเป็นความซึมเศร้า กัดกินชีวิตยิ่งๆ ขึ้น

ภาวการณ์เป็นผู้สูงวัยเพิ่มโอกาสการมีเวลาว่าง เวลาโดดเดี่ยว และง่ายที่ผู้สูงวัยจะพบพานภาวะความเหงา ยาแก้สำคัญคือ การเตรียมพร้อมเพื่อสร้างชุมชนรอบตัวที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีคุณค่า ความเป็นกัลยาณมิตรเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง และนี่คือ งานสำคัญของเราทุกคน เป็นงานที่ไม่เร่งด่วนแต่มีความสำคัญ และต้องการการลงทุน การดูแลและรักษา

อ้างอิง
Susanne Degges-White, Ph.D. WLoneliness : is it All in your head. www.psychologytoday.com. Post Aug 15,2018
บวรศม ลีระพันธ์ (ผู้แปล), 2559 ตาย-เป็น : การแพทย์สมัยใหม่ ความตายและความหมายของปลายทางชีวิต กรุงเทพ : สนพ.โอเพนเวิลล์ พับลิชชิ่ง เฮาส์

[seed_social]
4 เมษายน, 2561

การน้อมนำความตายในชีวิตประจำวันจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร?

มองทุกอย่างเป็นเครื่องเตือนใจว่าทุกอย่างไม่เที่ยง เช่น ของหายเป็นสัญญาณเตือนว่าอีกหน่อยอาจจะเจอหนักกว่านี้ และเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณพร้อมหรือยัง ถ้าแค่นี้คุณยังไม่ผ่าน แล้วถ้าเจอกับความตายจะสอบผ่านได้หรือไม่
13 เมษายน, 2561

อนุสติจากการตายของมาร์กาเร็ต แธตเชอร์

มาร์กาเร็ต แธชเชอร์  ได้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ทรงอิทธิพลต่อโลกในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการเป็นสตรีที่ต่อสู้จนประสบความสำเร็จในทางการเมือง
25 เมษายน, 2561

อานิสงส์ของการเตรียมตัวตาย

บ้านมีอาชีพขายโลงศพ เวลาขายโลง ลูกค้ามักจะขอให้ทำพิธีบรรจุศพใส่โลงด้วย ตอนเด็กๆ จะตามพ่อไปบ่อยมากทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล เพราะคนจีนมีประเพณีว่าพอมีคนใกล้ตาย จะไปจองโลงศพและเตรียมตัวเสื้อผ้าแต่งให้ศพไว้