parallax background
 

พื้นที่ระยะสุดท้าย : การวางผังเมืองเกี่ยวข้อง
กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้อย่างไร ?

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

แม้ว่าเราจะรู้จักความตายในนามของความว่างเปล่า แต่บางครั้งความว่างเปล่าของความตายก็สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมด้วยเหมือนกัน

“End Game ชวนให้คิดถึงวันสุดท้ายบนโลกในแบบที่ไม่ใช่โศกนาฏกรรมอันเจ็บปวด” คืองานเสวนาที่ยืนยันคำตอบดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

น่าแปลก งานเสวนานี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ป่วยระยะสุดท้าย กลับเป็นงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายใต้สังกัดโรงพยาบาลหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษาแบบประคับประคอง แต่งานเสวนาในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (2 ธันวาคม เวลา 17.00-18.30 นาฬิกา) โดยมี UddC (Urban Design and Development Center) เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน

แต่ UddC คืออะไร ?

“มันเป็นภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง โดยความร่วมมือจากสองที่ก็คือ สสส.(สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และ ภาควิชาการวางแผนภาพและเมืองคณะสถาปัตยกรรมจุฬา UddC ทำหน้าที่เหมือนเป็นศูนย์วิจัย เป็นอาร์ตสนับสนุนทางด้านวิชาการ ทำ 2 เรื่อง คือ การออกแบบพื้นที่ วางพื้นที่ เป็นมาสเตอร์แปลนที่เป็นอาณาบริเวณกว้าง ๆ กับอีกอันนึงคือเป็น Issue Base นี่คือจะจับประเด็นเรื่องของเมือง เช่น เรื่องการทำทางเดินในเมือง การส่งเสริมเรื่องแนวคิดการทำ Walk ability การผ่านโครงการ Good Walk หรือการสร้าง Empowerment การหาจุดร่วมศักยภาพของคนในสังคม เช่น โครงการ Noise map โครงการแผนที่เสียงในเมือง กระตุ้นการตอบรับเรื่องมลภาวะทางเสียงว่า เป็นมลพิษที่เกิดขึ้นในเมืองรองจากมลพิษด้านอื่น ๆ เช่น มลพิษในอากาศที่เราเพิ่งรู้จัก แต่จริงๆ แล้วมลภาวะทางเสียงเป็นมลพิษของเมืองที่มีความสำคัญ แต่คนกลับรู้น้อย สำคัญก็คือคนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ความจริงแล้วมีผลการวิจัยในเชิงการแพทย์ยืนยันว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในเมืองโดยส่วนใหญ่กว่า 70% เป็นเสียงที่เกิดขึ้นจากการคมนาคมมากที่สุด นี่ก็ตัวอย่างจากโครงการ Issue Base” อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ฝ่าย Urban Intelligence กล่าว

การวางแผนเมืองเกี่ยวข้องกับความตายได้อย่างไร ?

บางครั้งความว่างเปล่าของความตายก็สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างเป็นรูปธรรม อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ยืนยันว่า ความตายนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่ ซึ่งสัมพันธ์กับการวางแผนเมืองโดยตรง ตัวอย่างเช่น ที่ดินบริเวณถนนสุขุมวิทที่มีราคาสูง ซึ่งปรากฏพื้นที่บางส่วนถูกใช้เป็นหลุมศพของวัฒนธรรมชาวจีน

“กรุงเทพฯ เองมีพื้นที่ฮวงซุ้ยในเส้นถนนสุขุมวิท ราคาที่ดินสูงมาก แต่สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามก็คือคุณค่าของหลุมศพสอดคล้องกับเมืองที่เหลือน้อยลงไปทุกทีหรือเปล่า สำคัญก็คือคนที่จะไปฝังหรือเอากระดูก เอาอัฐิไปไว้ตรงนั้นได้จะต้องเป็นคนมีฐานะ ดังนั้นภาวะหลังความตายกับ Space ของเมืองก็เป็นเรื่องที่จะต้องพูดถึง หรือต้องกล่าวถึงในการบริหารจัดการพื้นที่ซึ่งมันเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ”

พื้นที่ระยะสุดท้าย : SPACE กับการรักษาแบบประคับประคับประคอง

งานเสวนา “End Game ชวนให้คิดถึงวันสุดท้ายบนโลกในแบบที่ไม่ใช่โศกนาฏกรรมอันเจ็บปวด” แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการชมสารคดีที่บรรจุเรื่องราวช่วงชีวิตผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้งสี่ ที่ไม่ได้สัมพันธ์เพียงการรักษา และความป่วยไข้เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องราวระยะสุดท้ายของชีวิตที่เต็มไปด้วย พื้นที่ภายในสถานพักพิงผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice) ความสัมพันธ์ของคนรอบตัว ความต้องการของญาติและความต้องการของผู้ป่วยเอง ฯลฯ

(สารคดีนี้สามารถรับชมได้ทาง Netflix ชื่อเรื่องว่า END GAME ถึงเวลาปิดฉาก)

เมื่อสารคดีสิ้นสุดลง ส่วนที่สองของงานเสวนาก็เริ่มต้นขึ้น โดยมี อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ฝ่าย Urban Intelligence เป็นผู้ดำเนินรายการ และ ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หนึ่งในทีมวิจัย คนเมือง 4.0 เป็นแกนหลักในการเสวนา ชวนให้ผู้เข้าร่วมงานทำความรู้จักกับการรักษาแบบประคับประคองและการใช้พื้นที่ของผู้ป่วย (Space)

อย่างไรก็ดี แม้การรักษาแบบประคับประคองจะให้ความสำคัญกับความสบายกายและจิตใจของผู้ป่วย เช่น ในการรักษาแบบ Palliative care ส่วนใหญ่จะไม่นิยมใช้เครื่องช่วยหายใจยื้อชีวิตของผู้ป่วยเพราะแม้จะยื้อชีวิตต่อไปได้ แต่ก็แลกมาด้วยความทรมานของผู้ป่วยแทน (ซึ่งตรงกันข้ามกับการประคองให้ผู้ป่วยจากไปด้วยความสงบ) หรือ ความสบายใจในการอยู่ท่ามกลางครอบครัว คนรัก ฟังเสียงสวดมนต์และดนตรีที่ชอบ เป็นต้น แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งแล้ว การรักษาแบบประคับประคองนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่โดยไม่อาจเลี่ยง

เพราะความสบายกายและใจในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็อาจหมายความรวมไปถึง สถานที่ (Space) สุดท้ายที่ผู้ป่วยประสงค์จะอาศัยด้วยเหมือนกัน ผู้ป่วยบางรายอาจสบายกายที่จะใช้ช่วงชีวิตสุดท้ายในโรงพยาบาล หรือ บางคนสบายใจที่จะกลับไปอยู่ในสถานที่ๆ คุ้นเคยท่ามกลางคนรัก

นอกจากนั้นแล้ว พื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องและจำเป็นโดยตรงสำหรับ Palliative Care แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในเมืองไทยมากนักก็คือ สถานที่พักพิงดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย หรือ ฮอสพิซ (Hospice) ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์กล่าวในงานเสวนาว่า ความจริง Hospice ในเมืองไทยยังเป็นที่รู้จักน้อยและเข้าใจผิดมาก เพราะคนส่วนใหญ่ตั้งธงเอาไว้แล้วว่าเมื่อเข้าโรงพยาบาลหมายถึงการหายจากอาการป่วย แต่ Hospice มีไว้สำหรับดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายจากอาการป่วยได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยมะเร็งโดยเฉพาะ และมี Hospice สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง แต่คนก็ยังไม่เข้าใจว่า Hospice คืออะไรอยู่ดี จากการมีมโนทัศน์ที่คิดว่าเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาให้หายเท่านั้น

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ดำเนินรายการยังชวนคิดอีกด้วยว่า ความจริงแล้วรัฐควรมองว่าการใช้สถานพักพิงดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วย

“Space ก่อนความตาย อย่าง Hospice เป็น Issue สำหรับเราตรงที่ พื้นที่ตรงนี้ควรเป็นบริการของเอกชนหรือรัฐ ? ถ้าตีความว่ามันเป็นบริการของรัฐ รัฐจะต้องดำเนินการแบบไหน เรื่องของ Hospice ควรที่จะเป็นสิ่งที่คนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ไม่ใช่เป็นความเหลื่อมล้ำ เพราะเป็นไปได้ว่าถ้าให้เอกชนเข้ามาจัดการก็กลายเป็นว่า คนที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสามารถเข้าถึงคุณภาพสุดท้ายของชีวิตได้ แต่คนที่มีกำลังทรัพย์น้อยกลับไม่สามารถเข้าถึง แต่ถ้ารัฐมองว่ามันเป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการบริหารจัดการหรือเป็นเซอร์วิสให้กับคนที่อยู่ในเมือง (อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว) มันก็จะไม่เป็นเรื่องของการเหลื่อมล้ำ”

สุดท้าย

แม้ว่าเดิมทีเราจะรู้จักความตายในนามความว่างเปล่า แต่การเสวนาในครั้งนี้ทำให้เกิดความเข้าใจที่ว่า นามสกุลของความตายนั้นยังพ่วงมาด้วยสิ่งที่จับต้องได้อย่าง คุณภาพชีวิตในพื้นที่ของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ด้วยเหมือนกัน ความตายไม่ใช่เรื่องของความว่างเปล่าแบบที่เราเคยเข้าใจอีกต่อไป.

บุคคลสำคัญ : อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้, ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

หวั่นไหวเรื่องความตาย

คุณร้องไห้คงเป็นเพราะเวลาได้ยินได้รับรู้เรื่องนี้แล้วทำให้ระลึกถึงความตายของตนเอง ในใจคุณนั้นยังมีความอาลัยในชีวิต ความหวงแหนในตัวตน รวมทั้งความกลัวตาย
25 เมษายน, 2561

ของแถมล้ำค่าจากความตาย

แม้ชีวิตจะเคยผ่านเหตุการณ์เฉียดตายมาถึง ๕ ครั้งติดๆ ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ตั้งแต่ขับรถไปติดคาอยู่บนรางรถไฟจนเกือบจะถูกรถไฟชน พลัดตกลงมาจากที่สูง ขับรถแฉลบน้ำขังบนถนนจนไปชนกับรถคันอื่น
10 มกราคม, 2561

กอด…เพิ่มพลัง สู้โรค

แปดปีก่อน ผู้เขียนได้ฟังเรื่องราวความมหัศจรรย์ของการกอดในงานเสวนาเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายครั้งหนึ่ง ซึ่งจัดโดยเครือข่ายพุทธิการ่วมกับภาคีเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายโรงพยาบาล