สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกในหลายเดือนที่ผ่านมานี้ กลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด19 ไม่ต่างไปจากพี่น้องในภาคอื่นๆของประเทศไทย โดยได้รับผลกระทบในหลายเรื่อง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
ในด้านเศรษฐกิจ แม้พี่น้องชาติพันธุ์ส่วนใหญ่เลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ทำมาหากินด้วยการค้าขายทั้งในท้องถิ่นและกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน ต่างได้รับผลกระทบจากการปิดประเทศ งดการค้าขาย
คนที่ทำงานภาคธุรกิจท่องเที่ยวหรือรับจ้างในเมืองใหญ่ ต่างถูกเลิกจ้างหรือให้หยุดทำงานชั่วคราว ทำให้ขาดรายได้ การหยุดเรียนเป็นเวลานาน ทำให้ผู้ปกครองกลุ่มชาติพันธุ์กังวลเรื่องการศึกษาของบุตรหลาน
การอยู่บ้านร่วมกันเป็นเวลานานโดยที่พ่อแม่ขาดงาน ขาดรายได้ ทำให้ครอบครัวเปราะบาง โดยเฉพาะบางบ้านที่มีความขัดแย้งอยู่แล้วหรือไม่คุ้นชินที่ต้องอยู่ร่วมกันนานๆ นำไปสู่ประเด็นปัญหาความขัดแย้ง การทะเลาะวิวาท คดีความต่างๆ อันมีผลมาจากการที่ผู้ปกครองไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม ไม่มีทักษะในการสื่อสารกับบุตรหลาน ไม่ทราบว่าจะออกแบบการใช้เวลาอย่างไรเมื่อเด็กและเยาวชนไม่ได้ไปโรงเรียน
นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางด้านสุขภาพที่เกิดจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ตามปกติจากการปิดเมือง ที่ผ่านมา เมื่อมีความเจ็บป่วยที่รุนแรงหรือเกินความสามารถของโรงพยาบาลท้องถิ่น ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ๆในเชียงใหม่ เมื่อมีมาตรการควบคุมโรคระบาดเกิดขึ้น ทำให้การไปมาหาสู่ระหว่างจังหวัดลำบากขึ้น ผู้ที่เดินทางไปกลับจากเมืองใหญ่ต้องถูกกักตัว 14 วัน ทำให้เกิดความลังเลในการไปรับการรักษาพยาบาล ความล่าช้าในการตัดสินใจ ยิ่งสำหรับผู้สูงวัย ผู้พิการที่ต้องมีผู้ดูแลไปด้วย ยิ่งมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่ม หลายครอบครัวต้องจ้างคนที่ว่างงานไปส่งผู้ป่วย เนื่องจากต้องทำงาน ไม่สามารถกักตัวหลังกลับจากเมืองใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม คนในชุมชนเองได้ช่วยเหลือกันโดยการเยี่ยมเยือนกันในชุมชน หากบ้านไหนลำบาก เจ็บป่วย ต้องการความช่วยเหลือ ก็นำข้าวปลาอาหารของจำเป็นไปเยี่ยมกัน มีการแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตนเองจากเชื้อโรค ทั้งเจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย มีคนในชุมชนไปเรียนรู้ มาเผยแพร่ มาทำแบ่งปันกัน
การช่วยเหลือแบ่งปันกันนี้มีที่มาจากทุนทางสังคมที่ดี ความเป็นเครือญาติและชุมชนยังเหนียวแน่น ระบบความคิดความเชื่อเรื่องผีที่ให้คุณให้โทษกับชุมชน หากไม่ช่วยเหลือดูแลกัน
จุดเด่นของการทำงานในชุมชนชาติพันธุ์ที่แม่ฮ่องสอน คือการมีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เข้มแข็งคอยหนุนเสริมการทำงานของภาครัฐ อาทิ การให้ความรู้และข้อมูลต่างๆ เป็นภาษาชาติพันธุ์ที่เหมาะสมกับผู้คนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย โดยใช้ทุกช่องทางที่สามารถเข้าถึงพี่น้องชาติพันธุ์ ทั้งการไปเจอหน้ากันตัวต่อตัว การสื่อสารทางหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน หรือการทำคลิปเสียง คลิปวีดีโอเผยแพร่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการป้องกันโรคให้ได้มากที่สุด ขจัดอุปสรรคการเข้าถึงข้อมูลที่เกิดจากกำแพงภาษา
เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย ทีมพี่เลี้ยงชุมชนมีแนวทางว่าจะค่อยๆ ตั้งสติ สังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น วิเคราะห์สถานการณ์ แล้วจึงค่อยออกแบบการทำงาน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เริ่มจากกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดก่อน ควบคู่ไปกับการทำความเข้าใจแต่ละภาคส่วนที่ต้องทำงานร่วมกัน ทั้งในภาพใหญ่ นโยบายของรัฐ ไปจนถึงรายละเอียดความต้องการของคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน
แม้วิกฤติโควิด 19 จะทำให้เกิดผลกระทบด้านลบหลายประการ แต่สถานการณ์นี้ก็ยังทำให้มองเห็นแสงสว่าง เห็นความเป็นไปได้ในการรวมกลุ่มของพี่น้องชาติพันธุ์ ในการช่วยเหลือกันในมิติอื่นๆ ที่หลากหลายกว่าที่เคยเป็นมา อาทิ การรวมกลุ่มกันทางเศรษฐกิจ เสริมทักษะทางด้านเทคโนโลยีให้แก่กัน มีการไลฟ์สดขายอาหารชาติพันธุ์ ขายเครื่องแต่งกายเสื้อผ้า ซึ่งทำให้เห็นว่าเรายังมีศักยภาพในการปรับตัว พัฒนาแนวทางการอยู่ร่วมกัน เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์
คุณวิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์
นักวิชาการอิสระและแกนนำสื่อภาคประชาชนที่ทำงานร่วมกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
โดยนางสาวสุธีลักษณ์ ลาดปาละ
จิตอาสาชุมชนกรุณาขะไจ๋