parallax background
 

“ผู้ป่วยระยะสุดท้าย” คือใครบ้าง?

ผู้เขียน: เพ็ญจุรี วีระธนาบุตร หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะผู้ที่ใกล้จะเสียชีวิตในเวลาอันสั้นเท่านั้น แต่มีความหมายครอบคลุมไปมากกว่านั้น ดังนี้

1. ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่รักษาไม่ได้หรือรักษาไม่หาย หรือโรคที่ดำเนินมาถึงจุดหนึ่งที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ ซึ่งปัจจุบันนี้มีโรคที่รักษาไม่ได้มากมาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นโรคที่ไม่ได้เกี่ยวกับการติดเชื้อหรือเรียกว่า NCD (Non-communicable Disease) เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคความดัน โรคเบาหวาน ผู้ป่วยบางคนต้องทานยาไปตลอดชีวิต

2. โรคดำเนินมาจนถึงระยะท้าย เช่น โรคไต กินยา คุมอาหารมาตลอด แต่เมื่อผ่านมาระยะหนึ่งกินยาอย่างไรก็ไม่ดีขึ้นแล้ว มาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเรื่องการล้างไต ผู้ป่วยก็ล้างไตได้ แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง การล้างไตอาจไม่สามารถช่วยได้ ในกรณีนี้จึงมาถึงจุดที่เข้าสู่การเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย

3. ผู้ป่วยที่มีเวลาเหลือไม่นาน เช่น โรคมะเร็งระยะลุกลามซึ่งอาการเกิดขึ้นรวดเร็วมาก จากตอนแรกอาจจะพบมะเร็งที่สมอง แต่ผ่านไปสักระยะก็จะพบที่ตับและอวัยวะอื่นๆ ด้วย ทำให้ทราบได้ว่าเหลือเวลาไม่มาก

----------------------

ลักษณะสำคัญของผู้ป่วยระยะสุดท้าย 4 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 ผู้ป่วยมะเร็ง: หลังจากที่รู้ว่าเป็นมะเร็งก็รักษาตามขั้นตอน ซึ่งก็ยังใช้ชีวิตได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่มะเร็งลุกลามไป จะมีสัญญาณบ่งบอกว่าร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษา แล้วอาการจะทรุดลงอย่างชัดเจนจนเสียชีวิต ในลักษณะนี้ เนื่องจากมีช่วงที่ผู้ป่วยเห็นอาการทรุดลงชัดเจน ส่วนใหญ่จึงมักจะได้สื่อสารบอกลากับคนรอบข้างค่อนข้างและได้เตรียมใจอยู่แล้วระดับหนึ่ง

กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยเรื้อรัง: เช่น กรณีที่เป็นโรคเบาหวาน โรคไต ผู้ป่วยรู้ว่าเป็นโรคก็ทานยาและคุมอาหารจนดีขึ้น นานๆ ครั้งจะมีภาะแทรกซ้อนและอาการทรุดลงเล็กน้อย ดูแลไปสักระยะหนึ่งก็ดีขึ้นกลับออกมาใช้ชีวิตใหม่ แต่สักพักก็จะทรุดลงอีก แล้วก็ดีขึ้นอีก จะเป็นลักษณะนี้เรื่อยๆ จนอาการทรุดลงจนถึงจุดที่เสียชีวิต ลักษณะนี้ ผู้ป่วยมักจะไม่ค่อยได้สื่อสารบอกลาคนรอบข้าง เพราะเข้าโรงพยาบาลหลายครั้งจนคุ้นชิน คิดว่าเดี๋ยวก็ได้กลับบ้าน เดี๋ยวก็ดีขึ้น จึงอาจทำให้ประมาทได้ง่ายและไม่ได้เตรียมใจมากนัก ดังนั้น สำหรับกลุ่มนี้ หากเห็นว่ามีแนวโน้มเข้าโรงพยาบาลบ่อยขึ้น ผู้ป่วยอาการทรุดลงมากขึ้น น่าจะใช้เป็นสัญญาณให้ทราบได้ว่าเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้ว

กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยโรคชรา (ร่างกายเสื่อมถอย): คุณภาพชีวิตไม่ค่อยดี ดูแลตัวเองไม่ค่อยได้ แต่ผู้ป่วยจะอยู่ได้นาน แต่จะมาถึงจุดหนึ่งที่เข้าสู่ระยะสุดท้ายซึ่งแพทย์จะเป็นผู้บ่งชี้ เช่น เริ่มติดเชื้อบ่อย แสดงว่าระบบภูมิคุ้มกันไม่ปกติ หรือ เริ่มกลืนอาหารเองไม่ได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก็จะมีช่วงที่ตัดสินใจยากว่าเข้าสู่ระยะสุดท้ายแล้วหรือยัง ในส่วนนี้ต้องอาศัยแพทย์หลายท่านร่วมกันวินิจฉัย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มที่ต้องไปอยู่ในศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยระยะสุดท้ายซึ่งจะมีการดูแลป้องกันที่เหมาะสมกับสภาพอาการ

กลุ่มที่ 4 ปัจจุบันทันด่วน: เช่น Stroke เส้นเลือดในสมองแตก หรือเกิดอุบัติเหตุและสมองตาย ก็เห็นได้ชัดเจนจากพยาธิสภาพของโรค

ใน 4 แบบนี้ กลุ่มที่ท้าทายในการดูแลที่สุดคือ กลุ่มโรคชราหรือร่างกายเสื่อมถอย เพราะผู้ป่วยไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองและยากที่จะสื่อสารบอกสภาพอาการของตัวเอง จึงท้าทายสำหรับผู้ดูแลที่จะตัดสินใจในการดูแลรักษาในแต่ละขั้นตอน อีกประการหนึ่งคือ ระบบต่างๆ ในร่างกายยังทำงานได้ดีอยู่ แต่ส่วนของสมองเสื่อมลง เช่น จำไม่ได้ว่าทานข้าวแล้วหรือยัง เป็นต้น ทำให้เป็นความท้าทายของผู้ดูแล

----------------------

ความหวังของผู้ป่วย
ผู้คนมักจะเข้าใจว่าเมื่อบอกว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายคือ นอนรอความตาย หมดถอดใจ หมอไม่ยอมรักษาหรือคิดว่าตายแน่นอน แต่จริงๆ แล้ว การบอกว่าเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้น หมายถึงการเปลี่ยนเป้าหมายในการรักษา จากเป้าหมายเดิมที่มุ่งจะรักษาให้หายเป็นปกติ เมื่อรู้ว่าไม่สามารถทำได้ ก็เปลี่ยนเป็นโจทย์ใหม่ว่า “เราจะทำอย่างไรให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจวบจนลมหายใจสุดท้าย” และสำหรับผู้ป่วยเอง เขาก็ยังมีความหวัง ซึ่งความหวังของผู้ป่วยโดยทั่วไปมีดังนี้

1. หวังที่จะมีชีวิตอยู่นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
2. หวังว่าจะไม่ต้องพบความเจ็บปวด บางคนบอกว่าไม่กลัวตายแต่กลัวเจ็บปวดทรมาน จึงหวังว่าจะได้รับการดูแลไม่ให้เจ็บและทรมาน
3. หวังที่จะพึ่งตัวเองได้ในสิ่งที่เขาพอจะทำได้ ต่อให้ทานข้าวแล้วหก แต่ผู้ป่วยก็ยังอยากจะทานด้วยตัวเอง
4. หวังที่จะไม่ต้องกลับมาที่โรงพยาบาลอีก เช่น ผู้ป่วยล้างไต ที่ต้องมาโรงพยาบาลเสมอ บางคนถึงขั้นบอกว่าไม่อยากจะล้างไตอีกแล้ว
5. หวังว่าจะตายอย่างสงบ ไม่มีอะไรต้องห่วงหรือกังวลอะไร
6. หวังว่าจะมีใครสักคนที่ดูแลประคับประคองเขาไปจนถึงวาระสุดท้าย อาจจะเป็นลูก หลาน คุณหมอหรือพยาบาลก็ได้ ใครสักคนที่อยู่กับเขาในวาระสุดท้าย ไม่อยากถูกทอดทิ้งนอนรอคนเดียว อยากให้คุณหมอยิ้มให้ อยากให้พยาบาลมาทักทุกวัน ไม่ถูกเมินเฉยว่ารักษาไม่ได้แล้ว

ในการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เราจะทำให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต เราจะต้องทราบความต้องการของผู้ป่วยและดูแลให้สอดคล้องกับคุณค่าของเขา การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายจึงเป็นกระบวนการที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน

[seed_social]
22 เมษายน, 2561

แรงอธิษฐาน

สายลมเย็นยามดึกปะทะเข้ากับใบหน้าและผิวกายของข้าพเจ้าขณะขับขี่รถจักรยานยนต์เดินทางมาปฏิบัติงาน ทำให้รู้สึกได้ถึงความสดชื่นและผ่อนคลายความง่วงงุนไปได้มาก
18 เมษายน, 2561

แผ่เมตตา – จินตนาการ แปรพลังสู่การเยียวยา (๑)

เราสามารถบ่มเพาะความเมตตาให้เกิดขึ้นในใจได้ด้วยการแผ่เมตตาสม่ำเสมอหลังจากนั่งสมาธิ โดยใช้เวลาประมาณ ๕ - ๑๐ นาที อาจใช้บทสวดแผ่เมตตาทางศาสนาก็ได้ แต่ไม่ควรสวดแบบท่องตามไปเหมือนนกแก้วนกขุนทองโดยไม่ซาบซึ้งกับความหมาย
25 เมษายน, 2561

อานิสงส์ของการเตรียมตัวตาย

บ้านมีอาชีพขายโลงศพ เวลาขายโลง ลูกค้ามักจะขอให้ทำพิธีบรรจุศพใส่โลงด้วย ตอนเด็กๆ จะตามพ่อไปบ่อยมากทั้งที่บ้านและโรงพยาบาล เพราะคนจีนมีประเพณีว่าพอมีคนใกล้ตาย จะไปจองโลงศพและเตรียมตัวเสื้อผ้าแต่งให้ศพไว้