parallax background
 

บูโต การเดินทาง "ระหว่าง" รอยต่อ

ผู้เขียน: วันรัก สุวรรณวัฒนา หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

บูโต (Butoh) หรือระบำแห่งความมืด (Dance of Darkness) เป็นการแสดง avant-garde ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น จัดแสดงต่อสาธารณชนครั้งแรกในปี 1959 โดยนักแสดงสองคนคือ โยชิโตะ โอโนะ Yoshito Ono และ ทัตสึมิ ฮิจิคะตะ (Tatsumi Hijikata) ชื่อการแสดง Kinjiki (คินจิขิ)

การแสดงบุกเบิกครั้งนี้ได้สร้างความฮือฮาระคนเสียงประณามเนื่องจากฉากวาบ หวามหลายฉาก อีกทั้งสไตล์การเต้นที่ท้าทายจารีตของนาฏศิลป์ จึงทำให้คุณลักษณะขบถ (provoking) อีโรติก รุนแรงและลึกลับกลายเป็นจิตวิญญาณของศิลปะการแสดงนี้

หลายคนมองว่าบูโตไม่ใช่ "การเต้น" บางคนมองว่ามันเป็น "ละคร" ประเภทหนึ่ง บูโตผสม ผสานองค์ประกอบหลากหลายที่มาจากนาฏศิลป์ญี่ปุ่น, Ausdrucktanz (German Expressionist Dance) และละครใบ้ มันจึงทำลายกฎเกณฑ์ของขนบการเต้นทั้งหลายอย่างสิ้นเชิง ในขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้กับการ improvisation

เรามักจะรู้อย่าง "ง่ายๆ" ว่านี่คือบูโต เมื่อเห็นนักแสดงศีรษะโล้น ทาตัวสีขาว ประกอบกับการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าผ่านร่างกายที่บิดเบี้ยว

การแสดง "For 49 days exhibition": Mind Journey Beyond Death ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เป็น "นิทรรศการร่วมสมัย" (A contemporary exhibition) ที่รวมการแสดงบูโตกับ ทัศนศิลป์ (วิดีทัศน์ แสงและเสียง) เข้าไว้ด้วยกัน แบ่งเป็นทั้งหมดสามตอนคือ ๑) ชีวิตและความปรกติในปัจจุบัน (Life and Habitual in the present) ๒) ความยึดติด เหตุแห่งทุกข์ (Life is a phenomena) ๓) ความแกว่งไปมาไม่หยุดหย่อน ในสูจิบัตรของการแสดงระบุไว้ชัดเจนถึงแนวคิดที่ต้องการนำเสนอคือ “สัจธรรมเกี่ยวกับชีวิตและความตายภายใต้สภาวะ "บาร์โด"

"บาร์โด" เป็นแนวคิดของพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยาน หมายถึง "การเปลี่ยนผ่าน" คือ "ภาวะที่อยู่ระหว่างความตายและการเกิดใหม่... ชีวิตและความตายไม่อาจแยกออกจากกันได้ ความตายเป็นเพียงภาวะหนึ่งที่สืบต่อจากชีวิตเท่านั้น"

ห้องจัดการแสดงชั้น ๔ ของอาคารหอศิลป์ที่ออกแบบให้เป็น "คอมเพล็กซ์" อันแสนอึดอัดนี้ ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนเมื่อมองจากที่นั่งคนดูคือ ส่วนด้านหน้าเป็นพื้นที่ของบูโต ส่วนด้านซ้ายเป็นพื้นที่ของแนวจอภาพและส่วนแสดงแสง และส่วนด้านขวาจะฉายภาพการแสดงสดอีกทีบนผนัง

กลุ่มนักแสดงปรากฏกายในเศษผ้าที่หลุดลุ่ย ที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายขาวโพลนของพวกเขา พร้อมกับท่าทางต่างๆ ที่อยู่ระหว่างการเต้นและการหยุด ระหว่างการเคลื่อนไหวและการไม่เคลื่อนไหว ระหว่างการฝืนธรรมชาติและการกลายเป็นธรรมชาติ เราจะได้ยินเสียงกรีดร้อง เสียงงึมงำระคนเสียงหายใจเป็นจังหวะๆ ปากและตาที่เปิดกว้าง พร้อมจะดูดหรือคายทุกอย่างเข้า-ออก ปรากฏให้เห็นเป็นระยะผ่านแสงและเสียงที่ระทึกและรบกวนใจในเวลาเดียวกัน

ฉากต่างๆ ที่ปรากฏบนแนวจอภาพ ไม่ว่าจะเป็นภาพวิดีทัศน์หรือกราฟฟิก ถูกเรียงร้อยออกมาให้เป็นเหมือนภาพคาไลโดสโคป (kaleidoscope) ที่สะท้อนความวุ่นวายของชีวิตในทุกยุคทุกสมัย ซึ่งหมายถึงการสะท้อนความว่างเปล่าของการมีชีวิตอยู่ ที่สะท้อนผ่านลักษณะคลุมเครือของนักแสดงบูโตอีกทีหนึ่ง

แต่สิ่งที่ตรึงความสนใจของเรากลับไม่ใช่ ความอลังการของสื่อทัศนศิลป์ต่างๆ ที่ดูเหมือนจะมากเกินไปด้วยซ้ำในงานชุดนี้ (ซึ่งสะท้อนความฟุ้งเฟื้อของความพยายามหยิบยื่นการตีความให้กับคนดูแบบเบ็ด เสร็จและสำเร็จรูป) หากกลับเป็น

"ความเงียบและการหยุดนิ่ง" ในช่วง "ระหว่าง" ต่างหาก

ระหว่างแสงสว่างกับความมืด ระหว่างความสวยงามกับความหยาบด้าน ระหว่างความประณีตกับความดิบ ระหว่างความเงียบกับเสียง ระหว่างสภาวะสัมผัสกับสภาวะสปิริชวล (spiritual) โดยผ่าน “ร่างกาย” ที่แตกหัก ไม่เป็นหนึ่งเดียวของนักแสดง เราถูกเชิญเข้าสู่สภาวะแห่ง “พิธีกรรม” สภาวะซึ่งจิตสำนึกและไร้สำนึกเชื่อมต่อกัน สภาวะไม่แน่นอนที่ความไร้ระเบียบและไร้ความหมายของชีวิตถูกปลดปล่อยให้เผย ตัวตน สภาวะที่เส้นแบ่งเขตต่างๆ พร่ามัว เผยให้เห็นปริมณฑลที่ไร้ปริมณฑล ซึ่งก็คือปริมณฑล “ระหว่าง” ความตายและการมีอยู่

โกรโตสกี (Jerzy Grotowski ชาวโปแลนด์มีชีวิตอยู่ช่วงปี ค.ศ. ๑๙๓๓ - ๑๙๙๙) นักทฤษฎีและนักการละครผู้ยิ่งใหญ่กล่าวถึงบูโตว่า เป็น "รูปแบบศิลปะโบราณที่พิธีกรรมและการสร้างสรรค์ทางศิลปะผสมผสานกันได้อย่างลง ตัว เป็นพื้นที่ที่กวีนิพนธ์คือเพลง เพลงคือการขับร้องคาถา การเคลื่อนไหวคือการเต้น"

หลายคนบอกว่าสารัตถะของบูโตอยู่ที่กระบวนการที่นักแสดงหยุดเป็นตัวของเขาเองและกลายเป็นคนหรือสิ่งอื่น...

ณ ที่นี้ การเต้นหาใช่การนำเสนอ (represent) อีกต่อไปไม่ หากคือ

"การกลายเป็น" สิ่งหรืออารมณ์นั้นๆ ภาวะกระอักกระอ่วนใจที่อธิบายยากซึ่งเกิดขึ้นกับผู้ชมนั้น ได้ถูกกระตุ้นให้เกิดผ่านมโนทัศน์ "เปลี่ยนผ่าน", ผ่านความดิบจากการไร้การฉาบเงาของท่วงท่า, ผ่านความจริงใจของอารมณ์ของร่างกาย, ผ่านการค้นหาพื้นที่ที่ไม่สามารถค้นพบได้ พื้นที่นั้นอยู่ระหว่างความตายและการมีอยู่ ระหว่างการแสดงและการเป็นปกติ

ระบำแห่งความมืดนี้หยิบยื่นความสวยงามจากการสร้างสรรค์ ในขณะเดียวกันก็ยัดเยียดให้เราต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่น่าเกลียดน่ากลัว นั่นก็คือความวุ่นวายไร้ระเบียบไร้ความหมายของการมีชีวิต

การยอมรับ "ความตาย" ในฐานะเป็นเพียง "ภาวะหนึ่งที่สืบต่อจากชีวิตเท่านั้น" คือเนื้อหาของการแสดงนี้ที่ผู้จัดต้องการเสนอให้กับเรา... และอาจจะเป็นทางเดียวที่จะทำให้เราลืมตาตื่นขึ้นมาทุกวันได้อย่างสงบและเข้าใจ?

"For 49 days exhibition" : Mind Journey Beyond Death
สร้างสรรค์และออกแบบงานทัศนศิลป์สื่อร่วมสมัย โดย อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ
กำกับการแสดง โดย กิตติพร อุดมรัตนกูลชัย
แสดงเมื่อวันที่ ๒๖ และ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๒
ณ สตูดิโอชั้น ๔ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

Count down ชีวิต

ประโยชน์ที่ผมได้จากการระลึกถึงความตาย รู้สึกว่าใช้ชีวิตง่ายขึ้น คือชีวิตเรามีสิ่งที่ต้องทำหลายอย่าง บางอย่างสำคัญบางอย่างก็ไม่สำคัญ ความตายทำให้สิ่งสำคัญกับสิ่งไม่สำคัญมันชัดเจนออกมา
13 พฤศจิกายน, 2560

มหัศจรรย์หนังสือบินของนายมอริส เลสมอร์

พ่อแม่หลายคนรู้สึกลำบากใจเมื่อต้องพูดเรื่องความตายกับเด็กๆ สำหรับหลายคนแล้ว ความตายเป็นเรื่องที่ยากจะสื่อสารกับเด็ก เด็กเล็กอาจไม่เข้าใจความตายเลย
20 กุมภาพันธ์, 2561

ฝ่า 7 นรก ไปกับพระเจ้า: โลกแฟนตาซีของชีวิตหลังความตาย

ฉากเปิดของภาพยนตร์แฟนตาซี แอคชั่น ดราม่า สัญชาติเกาหลี เรื่อง Along with the Gods: The two Worlds หรือ ‘ฝ่า 7 นรก ไปกับพระเจ้า’ บอกเล่าเรื่องราวของ ‘คิมจาฮง’ พนักงานดับเพลิงหนุ่มผู้กล้าหาญ