parallax background
 

การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
ของโรงพยาบาลพุทธชินราช (3)
นวัตกรรมและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

การดูแลประคับประคองถือว่าเป็นงานใหม่ในระบบบริการสุขภาพของไทย ยังต้องอาศัยเวลาในการสร้างความรู้ความเข้าใจกับบุคลากรสุขภาพฝ่ายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การทำงานมีความสอดคล้องกลมกลืนไปกับโครงสร้างเดิมและช่วยหนุนเสริมกัน แต่การดูแลแบบประคับประคองที่ต้องเป็นองค์รวม จึงไปเพิ่มภาระงานในขณะที่บุคลากรสุขภาพมีจำนวนน้อยอยู่แล้ว การเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการแบ่งเบาเรื่องการดูแลผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นการเปิดรับเอาความคิดสร้างสรรค์จากแง่มุมของผู้รับบริการเข้ามาช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาระบบการทำงานใหม่ๆ อีกด้วย

คณะทำงานการดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาลพุทธชินราช เห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมแสดงเจตจำนงในเรื่องการรักษาของตนเองผ่านสมุดเบาใจ การเปิดพื้นที่ให้จิตอาสาเข้ามาร่วมดูแลผู้ป่วยในมิติทางจิตใจ และการใช้แนวคิดกิจการเพื่อสังคมแสวงหาทุนสนับสนุนการทำงานนอกเหนือจากงบประมาณของรัฐ ซึ่งจะกล่าวต่อไปในบทความนี้

จิตอาสา
การสร้างทีมงานที่เข้มแข็งมีความจำเป็นในการดูแลแบบประคับประคอง แต่ลำพังบุคลากรสุขภาพอาจไม่เพียงพอ เนื่องการดูแลแบบประคับประคองเป็นการดูแลแบบองค์รวม ไม่ใช่การดูแลเฉพาะมิติทางกายที่บุคลากรสุขภาพมีความเชี่ยวชาญ แต่ยังมีการดูแลทางใจ สังคม และจิตวิญญาณด้วย การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้ได้ผลดี จึงมีความจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้กับผู้ป่วย ญาติ และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยดูแลอย่างจริงจัง

แต่เดิมโรงพยาบาลจะมีจิตอาสาที่เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยอยู่แล้วในหลายรูปแบบ เช่น จิตอาสาดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง มาสวดมนต์ทุกเช้าบ้าง พาคนมาเล่นดนตรีบ้าง แต่เป็นเรื่องเฉพาะตัว คิดเองทำเอง สร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับหอผู้ป่วยต่างๆ ด้วยตัวเอง ไม่มีระบบรองรับหรือทำในเชิงการดูแลแบบประคับประคองโดยตรง ซึ่งต้องมีการฝึกอบรมจิตอาสาให้เข้าใจวัตถุประสงค์และภาพรวมของการทำงานอาสาสมัครไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงข้อควรระวังในการทำงานด้วย

โรงพยาบาลสะท้อนว่า ที่ผ่านมา มีคนจำนวนหนึ่งอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ไม่รู้ว่าจะเข้ามาอย่างไร ไม่เข้าใจกฎระเบียบและข้อควรระวังของโรงพยาบาล หรือทำด้วยความเข้าใจผิด จนบางครั้งแทนที่จะเข้ามาช่วยกันดูแลผู้ป่วยกลับกลายเป็นภาระของบุคลากรในโรงพยาบาลไป

ปัจจุบัน คณะทำงานริเริ่มจัดการอบรมเพื่อนอาสารับฟัง ฝึกฝนทักษะการฟังให้แก่พยาบาลและคนทั่วไป เพื่อช่วยให้พยาบาลตระหนักถึงข้อจำกัดของตัวเองในการดูแล และเริ่มรับฟังผู้ป่วยมากขึ้น โดยทำควบคู่ไปกับการอบรมเรื่องการเขียนสมุดเบาใจหรือหนังสือแสดงเจตนาการรักษาในวาระสุดท้าย ที่คุณอรทัย ชะฟู จิตอาสาคนสำคัญของโรงพยาบาล ร่วมมือกับเทศบาลนครพิษณุโลกจัดอบรมให้แก่ผู้สูงอายุในเขตเมือง ก่อนจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อกับคณะทำงานการดูแลแบบประคับประคองและเข้าไปสู่ระบบการทำงานของโรงพยาบาลพุทธชินราชในที่สุด

สมุดเบาใจ
สมุดเบาใจเป็นรูปแบบหนึ่งของเอกสารแสดงเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้ายและการตายดี ที่โครงการความตาย พูดได้ เครือข่ายพุทธิกา ปรับให้ใช้ง่ายและนุ่มนวลกว่า Living Will ที่สำนักงานสุขภาพแห่งชาติเผยแพร่

แต่เดิมคณะทำงานการดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาลพุทธชินราชมีการวางแผนการรักษาล่วงหน้าร่วมกับผู้ป่วยและญาติอยู่แล้ว ต่อมาได้เพิ่มเรื่องสมุดเบาใจหรือหนังสือแสดงเจตนาการรักษาในวาระสุดท้ายเข้าไปด้วย โดยเริ่มเปิดให้พยาบาลแต่ละหอผู้ป่วยที่สนใจสมัครมาเข้าอบรม เพื่อสร้างความเข้าใจกระบวนการเขียนก่อนจะไปแนะนำคนอื่นต่อ พบว่าพยาบาลส่วนใหญ่จะชอบสมุดเบาใจเพราะช่วยให้เห็นรายละเอียดและขั้นตอนการเขียนอย่างเป็นรูปธรรม แต่ให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่าการเขียน Living Will ที่ดูแข็งกระด้างและรู้สึกถูกกดดัน จึงช่วยทำให้การสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติเรื่องการดูแลในวาระสุดท้ายเป็นไปได้ง่ายขึ้น เพราะมีสมุดเบาใจเป็นสื่อกลางในการพูดคุย ไม่ต้องกลัวว่าการพูดถึงความตายเป็นการแช่งเหมือนแต่ก่อน

ปัจจุบัน มีการนำบางส่วนของสมุดเบาใจ คือเรื่องเจตนาการรักษาในวาระสุดท้ายบรรจุเข้าไประบบไอทีของโรงพยาบาลได้ประมาณครึ่งปีแล้ว มั่นใจได้ว่า หากผู้ป่วยที่แสดงเจตนาไว้เข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลพุทธชินราช บุคลากรทางการแพทย์จะเห็นป็อบอัพเอกสารแสดงเจตนาการรักษาในวาระสุดท้ายของผู้ป่วยทันที ร้านเกื้อกูล

ร้านเกื้อกูลเป็นรูปธรรมล่าสุดของการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานดูแลแบบประคับประคอง หลังจากเปิดตัวกองทุนพุทธรักษ์ ไปเมื่อปี 2559 เพื่อระดมทุนสนับสนุนการทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ไม่นาน โดยคณะกรรมการฯ ได้ร่วมกับสโมสรโรตารีพิษณุโลกขอรับบริจาคเสื้อผ้ามือสองมาขายหาทุนในงานสงกรานต์ ปี 2559 จนได้เงินเข้ากองทุนประมาณ 8 หมื่นบาท และยังมีเสื้อผ้านำมาวางขายรับบริจาคในโรงพยาบาล เป็นการจุดประกายที่ทำให้เห็นโอกาสจะระดมทุนอย่างยั่งยืนในลักษณะของกิจการเพื่อสังคม ซึ่งต่อมากลายเป็นร้านค้าถาวร ชื่อ “ร้านเกื้อกูล” ตั้งอยู่ในบริเวณโรงพยาบาล ที่รับบริจาคสินค้ามือสองมาขายต่อ โดยมีคุณวิชุตา สิมะเสถียร อดีตนายกสโมสรโรตารีพิษณุโลก รหัส 3306 รับหน้าที่เป็นผู้จัดการร้านโดยไม่รับค่าตอบแทน

ในช่วงแรก ทีมงานมีความกังวลเรื่องการระดมของบริจาคว่าจะมีความต่อเนื่องมากน้อยเพียงใด แต่ความจริงกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เพราะมีผู้บริจาคของเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะจากผู้เข้ามาซื้อจากร้านที่มักจะนำของมาบริจาคให้วันถัดมา จนกลายเป็นปัญหามีของบริจาคมากเกินไปจนพื้นที่เก็บของไม่พอ ต้องหาทางกระจายสินค้าออกไปจำหน่ายนอกร้านผ่านช่องทางอื่น เช่น ให้สโมสรโรตารีรับไปขายในงานสงกรานต์ หรือให้พ่อค้าแม่ค้ารับไปขายต่อ เป็นต้น จนปัจจุบัน ร้านมีรายได้เกือบเดือนละ 3 แสนแล้ว

แม้ว่างานจิตอาสา สมุดเบาใจ และร้านเกื้อกูล ที่คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพงานการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โรงพยาบาลพุทธชินราช ได้ต่อยอดมาจากแนวคิดเดิมและริเริ่มใหม่ จนเกิดผลที่น่าพอใจอย่างรวดเร็ว จะเป็นเพียงการดำเนินงานในระยะเริ่มต้น ยังต้องการพัฒนาเพื่อให้มีความยั่งยืนต่อไป แต่นับเป็นปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงพลังความร่วมมือระหว่างบุคลากรในระบบสุขภาพและภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ว่าเป็นพลังสำคัญที่จะขาดเสียมิได้ในการขับเคลื่อนงานดูแลแบบประคับประคองในสังคมไทยให้เข้มแข็ง

บุคคลสำคัญ:
คุณอรทัย ชะฟู, คุณวิชุตา สิมะเสถียร

บทความที่เกี่ยวข้อง https://peacefuldeath.co/ร้านเกื้อกูล-ธุรกิจ/

[seed_social]
19 เมษายน, 2561

จะนำทางสามีตอนใกล้สิ้นลมอย่างไรดี

นับตั้งแต่หมอบอกว่าสามีป่วยเป็นมะเร็ง เธอและสามีไม่เคยอยู่ห่างกันเลย เธอจะคอยดูแลและให้กำลังใจมาตลอด จนผ่านไปปีกว่า หมอบอกว่าสามีเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว แม้จะรู้ว่าต้องเตรียมใจรับกับสภาพดังกล่าว
19 เมษายน, 2561

เริ่มต้นดีไปได้ดี

เคยไหมคะ ที่เวลาเราเริ่มต้นเรื่องใดดี มักจะไปได้ดีไม่มีอุปสรรคใดๆ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ผู้เขียนเพิ่งมาประจักษ์คำพูดนี้อย่างแจ่มแจ้งเมื่อตอนที่อยากจะเย็บปลอกคอให้บรรดาแมวๆ ที่บ้านใส่
18 เมษายน, 2561

เหมือนรู้ว่าต้องจากกัน

“หมอๆ ช่วยดูให้ฉันหน่อยสิว่า ผัวฉันมีข้าวกินหรือเปล่า” นั่นเป็นเสียงของป้าแสงคนไข้ที่มาด้วยอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มหัวใจ