เมื่อกล่าวถึงธนาคาร เรามักคุ้นเคยกับการรับฝากเป็นตัวเงิน แต่มีธนาคารอีกรูปแบบหนึ่งที่เป็นการรับฝากเวลา คือ “ธนาคารเวลา” ที่บันทึกชั่วโมงการทำกิจกรรมของสมาชิก เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนเป็นการรับบริการในอนาคต โดยมีกลไกในการทำงานเหมือนกับธนาคารทั่วไปคือ การฝาก การโอน และการถอน แนวคิดเรื่องธนาคารเกิดขึ้นเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่หลายประเทศนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนประเทศไทย กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นำแนวคิดนี้มาใช้ทั่วประเทศเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีโรงพยาบาลพุทธชินราชเป็นพื้นที่หนึ่งที่เปิดธนาคารเวลาขึ้น มีคุณโอ๋ สุณิตา หอมกลิ่น อดีตพยาบาลวิชาชีพที่ผันตัวเป็นผู้จัดการธนาคารฯ และพยาบาลประจำคลินิกเบาใจ
คุณโอ๋เล่าว่า เธอต้องการกลับมาช่วยเหลือโรงพยาบาลพุทธชินราช เพราะทราบว่าโรงพยาบาลมีปัญหาบุคลากรมีงานล้นมือ และธนาคารเวลาสามารถสนับสนุนหรือแบ่งเบาภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้ เพราะนิสัยพื้นฐานของคนไทยจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันเป็นปกติ เพียงแต่ไม่มีการบันทึกข้อมูลเวลาอย่างเป็นระบบ และหลายครั้งการอาสาอาจไปกระทบการทำงานของผู้อื่น ธนาคารเวลาจึงเป็นเสมือนพื้นที่ให้ผู้ที่ต้องการทำความดีและช่วยเหลือผู้อื่น มีช่องทางช่วยเหลือตามความถนัดของตนเอง ขณะเดียวกันผู้ต้องการความช่วยเหลือก็ได้รับความช่วยหลือเมื่อต้องการ ซึ่งการจัดเก็บข้อมูลเวลาจะช่วยให้การช่วยเหลือเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคต เพราะธนาคารเวลาโรงพยาบาลพุทธชินราชกำลังคิดโครงการสวัสดิการตอบแทนจิตอาสาที่มาช่วยงาน เช่น มีส่วนลดค่าห้องพิเศษให้กับจิตอาสาที่สะสมแต้มเวลาทำความดีกับโรงพยาบาลมาแล้วระยะหนึ่ง หรือจัดหาคนเฝ้าไข้ในกรณีที่ต้องการคนดูแล
ธนาคารเวลาโรงพยาบาลพุทธชินราชดำเนินงานมาร่วม 1 ปีแล้ว มีจิตอาสาประมาณ 100 คน ทำ กิจกรรม เช่น นับเม็ดยา ซึ่งปกติจะต้องใช้เจ้าหน้าที่เภสัชฯ อย่างน้อย 1-2 คนทำ การมีจิตอาสามาช่วยงานดังกล่าว แล้วให้เภสัชส่งต่อยาให้คนไข้พร้อมกับอธิบายเรื่องการใช้ยา ช่วยให้บุคลากรได้ทำงานตามทักษะของตนและช่วยลดต้นทุนการจ้างงานลง หรืองานอาสาอื่นๆ อย่างเช่น กิจกรรมอาสาเย็บหน้ากากอนามัยและบริการตัดผมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงโควิด-19 ระบาด เป็นต้น โดยกิจกรรมต่างๆ จะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทความต้องการของพื้นที่และช่วงเวลาขณะนั้น
ธนาคารเวลาในแต่ละพื้นที่จะมีรูปแบบกิจกรรมอาสาและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน อย่างเช่นธนาคารเวลาในโรงพยาบาลจะแตกต่างจากธนาคารเวลาในที่อื่นๆ เนื่องจากต้องเคารพสิทธิของผู้ป่วย ระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยของคนไข้ และไม่รบกวนงานของบุคลากรอื่นๆ การตั้งธนาคารเวลาจึงต้องคำนึงถึงบริบทเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ ว่ามีปัญหาอะไรอยู่ มีงานอะไรให้ช่วยเหลือ การเข้าไปจะกระทบงานของผู้อื่นหรือไม่ สามารถเข้าไปช่องทางใดได้บ้าง และในฐานะผู้จัดการธนาคารเวลา คุณโอ๋แนะนำว่าสิ่งสำคัญยิ่งคือการเตรียมใจของตนเองให้พร้อม เพราะธนาคารเวลาเป็นเรื่องใหม่ที่องค์ความรู้การดำเนินงานยังไม่ตกผลึกดีนัก บ่อยครั้งอาจกระทบกับการทำงานหรือปะทะกับอัตตาของคนจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการดูแลใจของตนเอง ให้กลับมาตั้งสติแล้วคิดหาทางแก้ปัญหาต่อไป
คุณโอ๋มีความเห็นว่า ธนาคารเวลาในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น หากจะทำให้ดำรงอยู่ได้ในระยะยาว รัฐควรให้ความช่วยเหลือเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนเข้าถึงประโยชน์และรู้จักธนาคารเวลาให้มากขึ้น ส่วนธนาคารเวลา โรงพยาบาลพุทธชินราช คุณโอ๋กำลังพยายามผลักดันให้แยกออกจากคลินิกเบาใจ เพื่อสร้างรูปแบบการทำงานที่ชัดเจน เป็นตัวเชื่อมระหว่างงานที่ต้องการคนและคนที่ต้องการทำงาน
และสร้างพื้นที่รองรับจิตอาสาของโรงพยาบาลที่มีมากขึ้นอย่างเหมาะสม
ผู้สนใจจัดตั้งธนาคารเวลา กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะสนับสนุนเรื่องความรู้ในการจัดตั้ง และหากต้องการข้อมูลธนาคารเวลาของโรงพยาบาลพุทธชินราชเพิ่มเติม สืบค้นได้ที่ เฟซบุ๊ก ธนาคารเวลา ร.พ.พุทธชินราช พิษณุโลก (https://www.facebook.com/TimeBankPhitsanulok)
วันที่ออกอากาศ: 14 มีนาคม 2564
ผู้เรียบเรียง: สุรพิน อยู่สว่าง