parallax background
 

ทันตกรรมผู้สูงอายุ ดูแลกันแม้ยามโรยรา

ผู้เขียน: วรพงษ์ เวชมาลีนนท์ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

คนส่วนใหญ่อาจจะเห็นสุขภาพช่องปากไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไร เพราะคิดว่าไม่ค่อยเป็นปัญหาต่อชีวิตเราสักเท่าไหร่ มีแค่เรื่องฟันผุหรือฟันคุดนี่แหละที่ทำให้รู้สึกทุกข์ทรมานบ้าง แต่ไปให้หมอฟันรักษาแค่นิดเดียวก็หมดปัญหาแล้ว ทว่าจริงๆ แล้วปากมีความสำคัญกว่าที่คิด เพราะเป็นกระจกสะท้อนอย่างดีของสุขภาพ ปัญหาสุขภาพหลายอย่างส่งสัญญาณความผิดปกติออกมาผ่านกลิ่น สี และความรู้สึกทางช่องปาก และในทางกลับกัน ถ้าสุขภาพช่องปากไม่ดีอาจนำโรคร้ายไปสู่เจ้าของได้ด้วย เพราะมีช่องทางเชื่อมต่อไปสู่อวัยวะสำคัญอย่างเช่น ปอด หัวใจ และระบบเส้นเลือดของร่างกาย การมีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงไม่อาจละเลยเรื่องสุขภาพช่องปากได้ ไม่ว่าจะเรื่อง กิน พูด ยิ้มและหัวเราะ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะยิ่งสูงวัยความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพช่องปากยิ่งมีมาก เพราะสภาวะร่างกายเสื่อมถอยลง ผลข้างเคียงของยาที่รักษาโรคต่างทำให้ต้องการการดูแลที่แตกต่างและซับซ้อนกว่าคนทั่วไป จึงมีการพัฒนาการดูแลจนเป็นศาสตร์ที่เรียกว่าทันตกรรมผู้สูงอายุ

ความเป็นมาของทันตกรรมผู้สูงอายุ

แนวคิดเรื่องทันตกรรมผู้สูงอายุถือกำเนิดจากประเทศทางแถบตะวันตกเมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว เพราะเป็นกลุ่มประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยก่อนหน้าประเทศในแถบอื่นๆ จึงพบปัญหาในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุมาก่อน และพยายามหาพัฒนาองค์ความรู้และออกแบบระบบการดูแลเพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปตามบริบททางสังคม งานทันตกรรมผู้ป่วยสูงอายุในระยะแรกจะมีลักษณะเป็นการช่วยเหลืออย่างไม่เป็นระบบ นั่นคือเมื่อผู้ป่วยสูงวัยจนเดินทางออกไปคลินิกทันตกรรมไม่ได้ หรือได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่บ้านพักผู้สูงอายุแล้ว บุตรหลานหรือบุคลากรของบ้านพักผู้สูงอายุจะอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวขอให้ทันตแพทย์ประจำตัวผู้ป่วยหรือทันตแพทย์ในชุมชนมาช่วยดูแลเรื่องฟันเป็นครั้งคราวเมื่อมีอาการในฐานะคนคุ้นเคย ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาจนเป็นระบบที่มีทันตแพทย์หรือทันตานามัยดูแลประจำโรงพยาบาล ประจำบ้านพักผู้สูงอายุอย่างในปัจจุบัน

ปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ส่วนมากจะเป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างช้าๆ นับแต่วัยเด็กจนสูงวัย เช่น โรคเหงือก ฟันผุ ฟันสึก ส่วนหนึ่งมาจากความเสื่อมถอยของร่างกาย อีกส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการดูแลรักษาความสะอาดช่องปาก และปัญหาที่เกิดจากโรค วิธีการรักษา หรือยารักษาโรคที่ทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปากแห้ง น้ำลายน้อย ซึ่งจะทำให้เสี่ยงฟันผุหรือเหงือกอักเสบมากจนฟันโยกหลุดได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดแผลในช่องปาก มีอาการแสบหรือกลืนลำบากได้

แต่เดิมทันตบุคลากรจะถูกสอนให้ดูแลแค่ช่องปากของผู้ป่วย เน้นการรักษาโรคให้หายขาด ซึ่งไม่เพียงพอต่อการดูแลผู้สูงอายุที่มีเงื่อนไขทางร่างกาย จิตใจ และสังคมที่ซับซ้อน จึงต้องคำนึงถึงความต้องการและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและญาติเป็นหลักด้วย หากผู้ป่วยไม่พร้อมจะรักษา ทันตแพทย์ต้องหาทางเลือกอื่นๆ ในการดูแลหรือรอจนผู้สูงวัยยอมรักษาเองโดยไม่บังคับ

สำหรับนโยบายในประเทศไทยนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขแต่เดิมมาจะให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กเป็นหลัก เพราะมองว่าเป็นกลุ่มประชากรที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ก่อนจะค่อยๆ เพิ่มความสำคัญเรื่องทันตกรรมผู้สูงอายุในเวลาต่อมาเมื่อมองเห็นแนวโน้มของประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย โดยเริ่มจากสถาบันการศึกษา

ทันตแพทย์ได้บรรจุวิชาทันตกรรมผู้สูงอายุเข้าไปในการเรียนการสอน และส่งคนไปเรียนหลักสูตรผู้เชี่ยวชาญทันตกรรมผู้สูงอายุในประเทศที่เป็นผู้นำในด้านดังกล่าว ก่อนจะกลับมาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นมาตรฐานสากลเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ควบคู่ไปกับหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องทันตสุขภาพของประชากร เช่น สำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กรมการแพทย์ มูลนิธิทันตนวัตกรรม เริ่มสร้างหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบดูแลเรื่องทันตกรรมผู้สูงอายุโดยตรงจนพัฒนาเป็นแผนทันตสุขภาพผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ส่งเสริมทุนพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่มีความต้องการพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มอาการโรคสมองเสื่อม พาร์กินสัน ผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากและใบหน้า ผู้ป่วยที่มีความยากลำบากในการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะจากอุบัติเหตุทางสมอง หรือ ผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง รวมทั้งผู้ป่วยจิตเวช ผู้ป่วยติดเตียง และ ผู้ป่วยระยะวิกฤตอีกด้วย

ทันตกรรมกับการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย

ผู้ป่วยระยะท้ายเป็นส่วนย่อยของผู้ป่วยสูงอายุ ส่วนใหญ่แล้ว ทันตแพทย์จะไม่ได้รับการติดต่อให้ร่วมทีมดูแลโดยตรง แต่จะมีส่วนร่วมในงานดูแลผู้ป่วยระยะท้ายต่อเมื่อแพทย์เจ้าของไข้หรือทีมพยาบาลส่งปรึกษาให้ไปช่วยดูอาการเกี่ยวกับช่องปาก เช่น ผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะหรือใบหน้า เพราะไม่ว่าจะคีโมหรือฉายแสง ต่างส่งผลต่อช่องปาก ทำให้ปากแห้ง ปากอักเสบเป็นแผล มีความเจ็บปวดทรมานหรือมีเลือดออก มีแผลที่ส่งกลิ่นเหม็น หรือ ผู้ป่วยห้องไอซียูที่มีฟันโยกที่อาจหักหลุดลงคอหรือมีอาการเกร็งจนฟันทำให้เกิดแผลที่ริมฝีปากหรือในช่องปาก หรือในช่วงสุดท้ายของโรคทางสมองที่มีเสมหะแห้งคลุมในช่องปาก หากไม่สามารถเสริมเรื่องความชุ่มชื้นหรือทำความสะอาดในช่องปากได้ ก็จะมีความรู้สึกไม่สบายหรือเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสำลักน้ำลายและเสมหะได้ง่าย หากยังพอทานอะไรทางปากได้บ้าง อาการในช่องปากก็จะทำให้กินอะไรไม่ได้ ทันตแพทย์จึงมีบทบาทในการดูแลลดความเจ็บปวด เพิ่มความชุ่มชื้นในช่องปาก ควบคุมอาการ และทำให้ผู้ป่วยสุขสบายที่สุด หรือป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากฟันหลุดหรือเศษคราบอาหารและเสมหะไปอุดหลอดลม เป็นต้น

งานขับเคลื่อนและความท้าทาย

ปัจจุบัน คนทำงานด้านทันตสุขภาพของภาครัฐไทยมีครึ่งหนึ่งของทันตแพทย์ทั้งหมด และส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมือง ไม่กระจายตัวพอที่จะดูแลประชากรทุกกลุ่มวัยได้อย่างเหมาะสม การพัฒนาทันตบุคลากรเพื่อดูแลผู้สูงอายุอย่างเป็นรูปธรรมแม้มีการจัดอบรมและพัฒนาบุคลากรอย่างมากมายในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังไม่ทันต่อสถานการณ์ ความเคลื่อนไหวสำคัญที่ทำให้เรื่องการพัฒนาบุคลากรเริ่มเป็นระบบที่ชัดเจน คือการเกิดแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย ปี พ.ศ. 2558-2565 และเริ่มมีจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมศักยภาพของทันตบุคลากรในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นการส่งบุคลากรไปศึกษาเรื่องต่อยังต่อประเทศเป็นจำนวนมาก การผลิตความรู้และคู่มือปฏิบัติงานเรื่องทันตกรรมผู้สูงอายุแก่ทันตบุคลากร และที่น่าสนใจคือ การยกระดับความรู้ของทันตบุคลากรเพื่อไปเป็นแกนหลักในการสร้างทีมดูแลช่องปากผู้สูงอายุในพื้นที่รับผิดชอบของตน ผ่านหลักสูตรการอบรม 4 เดือนที่คณะทันตแพทยศาสตร์ 8 มหาวิทยาลัยจัดการเรียนการสอน บางหลักสูตรครอบคลุมการดูแลที่เป็นองค์รวม โดยผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้แนวคิดเรื่องระบบการดูแลผู้ป่วยระยะยาว การออกแบบคลินิกเพื่อเป็นมิตรกับผู้สูงอายุตามหลักสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กรณีศึกษายากๆ จากประสบการณ์จริงของผู้ร่วมอบรม โดยมีอาจารย์ทันตแพทย์และแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวช่วยให้คำแนะนำเรื่องการดูแล การรับฟัง และพูดคุยกับผู้ป่วย มีเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อการเข้าใจตนเอง เช่น เกมไพ่ไขชีวิตหรือการทำความเข้าใจพฤติกรรมผ่านซาเทียร์โมเดล รวมถึงเทคนิคการดูแลที่ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ไม่เคยศึกษามาก่อน

นอกจากนี้นโยบายหมอครอบครัวหรือการให้บริการปฐมภูมิที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการทำงานแบบทีมสหวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ผ่านคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอที่ทำงานดูแลสุขภาพของคนในชุมชนร่วมกัน ก็เป็นอีกแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่ทำให้ทันตแพทย์ได้ทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่น เช่น พยาบาล นักกายภาพ แพทย์แผนไทย ไม่ได้อยู่แต่ในห้องทำฟัน และได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในทีมเยี่ยมบ้านของผู้สูงอายุอีกด้วย

แม้ว่างานขับเคลื่อนเรื่องทันตกรรมผู้สูงอายุในประเทศไทยจะเริ่มมีทิศทางและเป็นระบบมากขึ้น แต่ยังมีความท้าทายรออยู่อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระงานของทันตบุคลากรที่มีงานดูแลประชากรกลุ่มอื่นๆ อยู่แล้ว การดูแลกลุ่มแม่และเด็กที่ก็ให้ความสำคัญเช่นเดิม และมีการเพิ่มเติมการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงซึ่งเป็นเรื่องใหม่และยาก ทำให้การจัดการตารางเวลางานค่อนข้างลำบาก และด้วยองค์ความรู้ที่ไม่คุ้นชิน ทำให้ทันตบุคลาการบางส่วนยังไม่กล้าทำอะไรเมื่อพบสถานการณ์ผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ป่วยวิกฤต

หรือปัญหาเชิงโครงสร้างหลายๆ เรื่อง เช่น ปัญหาตัวชี้วัดของกระทรวงสาธารณสุขไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและหลักการดูแลผู้สูงอายุ อย่างเช่นการกำหนดความสำเร็จในการดูแลจากจำนวนฟันของผู้สูงอายุทุกกลุ่มเหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่แข็งแรงหรือกลุ่มที่ได้รับการพึ่งพา และยังไม่ได้เน้นตัวชี้วัดการใช้งานของปากและฟันหรือการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี

ปัญหาการขาดแคลนคนทำงาน นอกจากทันตแพทย์แล้วยังมีอีกหนึ่งวิชาชีพสำคัญนั่นคือ ทันตาภิบาลที่อยู่ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลของรัฐซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการทำงานดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุในชุมชน แต่ปัญหาสำคัญคือทันตภิบาลมีความก้าวหน้าในวิชาชีพน้อยมาก มีปัญหาเรื่องตำแหน่งบรรจุ นับเป็นเรื่องใหญ่ในวงการที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ โดยปัญหาเรื่องการขาดแคลนคนทำงานยังเชื่อมโยงไปถึงข้อจำกัดของ พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรมฉบับปัจจุบัน ที่อนุญาตให้เฉพาะบุคลาการรัฐไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยได้ แต่ห้ามทันตแพทย์เอกชนไปเยี่ยม ทำให้ประเทศขาดกำลังคนที่จะมาช่วยกันดูแลผู้ป่วยสูงอายุไปอีกจำนวนไม่น้อย ในอนาคตการมีส่วนร่วมของทันตแพทย์เอกชนจะเป็นทางแก้ปัญหาหลักทางหนึ่ง

ปัญหาการขาดแคลนผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อการดูแลช่องปากผู้สูงอายุ เช่น น้ำลายเทียม หรือยาสีฟันฟลูออไรด์สูง ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยนไม่แสบไม่แพ้ ซึ่งช่วยควบคุมโรคและทำให้ผู้ป่วยที่แปรงฟันเองไม่ได้รู้สึกสบาย เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม แต่บริษัทนำเข้ามาขายน้อยมากเพราะทันตแพทย์ไทยยังใช้กันน้อยเนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจ เมื่อถึงเวลาจำเป็นจึงไม่มีใช้งาน ปัจจุบัน ดร. ทพญ. มัทนา เกษตระทัต แห่งคณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังศึกษาวิจัยเรื่องความจำเป็นของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อการดูแลโรคเกี่ยวกับช่องปาก เพื่อนำไปขอความร่วมมือจากบริษัทต่างๆ ให้นำเครื่องมือดังกล่าวเข้ามา พร้อมกับสนับสนุนให้คนไทยผลิตใช้เองไปด้วย

ดูแลกันแม้ยามโรยรา

ขณะเดียวกับที่มีความเคลื่อนไหวจากหลายภาคส่วนเพื่อปลดล็อกอุปสรรคต่างๆ ดังกล่าว ก็มีความคิดริเริ่มที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานทันตกรรมผู้สูงอายุหลายเรื่อง เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถดูแลตัวเองได้ไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์ กำลังจัดทำเว็บไซต์เผยแพร่ความรู้เรื่องการดูแลช่องปากด้วยตัวเองเป็นภาพการ์ตูนเพื่อให้ผู้ป่วย ญาติ และคนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย เช่น ทำอย่างไรถ้าผู้ป่วยไม่ยอมอ้าปาก การเลือกใช้ขนาดของแปรงหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในกรณีต่างๆ พร้อมทั้งเป็นช่องทางให้คำปรึกษา และนำเสนอกรณีตัวอย่างการดูแลผู้ป่วยที่ประสบความสำเร็จ

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ การออกแบบคลินิกนักศึกษาทันตแพทย์ระดับปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มีพื้นที่ในการบำบัดเยียวยาผู้ดูแล เนื่องจากญาติมักจะนั่งคุยกันเองระหว่างรอให้ผู้สูงอายุทำฟันอยู่แล้ว การมีกิจกรรมให้พวกเขาทำระหว่างรอ เช่น เกมไพ่ไขชีวิต ซึ่งเป็นเกมสร้างบทสนทนาเรื่องชีวิตและความตาย จะช่วยทำให้ผู้เล่นได้ทบทวนตนเองและเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น อาจารย์มัทนาให้ข้อสังเกตถึงพฤติกรรมของญาติผู้ป่วยสูงอายุว่า “บางทีเพียงแค่คำถามเดียวอาจทำให้ผู้ดูแลพรั่งพรูอารมณ์ความรู้สึกออกมา เช่น ไม่เคยมีใครถามเขาเลยว่าเหนื่อยแค่ไหน หรือชีวิตประจำวันของเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง” ทำให้การมาหาทันตแพทย์เหมือนการมาเจอเพื่อนระบายความทุกข์ยากกับคนรู้จัก เป็นการช่วยเยียวยากันและกันอีกทางหนึ่ง

นี่คือเรื่องราวการเตรียมความพร้อมอีกด้านหนึ่งเพื่อเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย เพื่อจะดูแลประชากรที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศมาอย่างยาวนาน ไม่ให้ถูกทอดทิ้งเอาไว้ข้างหลังในยามที่โรยรา

ข้อมูลและภาพประกอบ:
สัมภาษณ์ ทพญ. ดร. มัทนา เกตระทัศ ที่คณะทันตแพทย์ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2561 ทพญ. ดร. มัทนา เกษตระทัต เป็นทันตแพทย์ไทยคนแรกที่จบสาขาทันตกรรมผู้สูงอายุเมื่อปี พ.ศ. 2551 แล้วจึงกลับมาสอนวิชาทันตกรรมชุมชนและทันตกรรมผู้สูงอายุ ที่คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการผลักดันให้สังคมไทยเกิดความตื่นตัวและเคลื่อนไหวเรื่องทันตกรรมผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา

[seed_social]
10 มกราคม, 2561

กอด…เพิ่มพลัง สู้โรค

แปดปีก่อน ผู้เขียนได้ฟังเรื่องราวความมหัศจรรย์ของการกอดในงานเสวนาเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายครั้งหนึ่ง ซึ่งจัดโดยเครือข่ายพุทธิการ่วมกับภาคีเครือข่ายช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายหลายโรงพยาบาล
19 เมษายน, 2561

ตำราเล่มใหญ่คือคนไข้

“พี่ทำงานแบบนี้ตั้งแต่ยังไม่มีการสั่งการ” ระยะเวลายาวนานที่พี่เกื้อ หรือคุณเกื้อจิตร แขรัมย์ ทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ ทำให้ได้พบคนไข้และญาติจำนวนมากซึ่งมีความต้องการต่างกัน
31 มกราคม, 2561

ณ กาลครั้งนั้น

บนเส้นทางความรู้ก้าวแรก คือการตั้งคำถามถ้าวันนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะทำอะไรก็ได้บนโลกใบนี้เราจะทำอะไร?