parallax background
 

ทบทวนความตายผ่านเกมไพ่ไขชีวิต

ผู้เขียน: สุธิษณา เลิศสุขประเสริฐ หมวด: ชุมชนกรุณา


 

ความตาย เป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่มองเป็นเรื่องอัปมงคล และเป็นเรื่องที่คนมักไม่กล้าที่จะนำมาคุยกัน แต่ยามที่คนใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวต้องป่วยกะทันหัน หรือ เสียชีวิต คนส่วนใหญ่มักจะพบกับความรู้สึกไม่พร้อม เพราะไม่เคยได้นึกถึง หรือเตรียมตัว แต่หลายคนที่ตระหนักถึงประเด็นนี้ ก็ยังรู้สึกว่า เป็นเรื่องยากที่จะเอ่ยปากพูดถึงความตาย

เกมไพ่ไขชีวิต ผลิตโดยกลุ่ม Peaceful Death เพื่อช่วยให้ครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนเริ่มพูดคุยเรื่องชีวิตและความตายได้ง่ายขึ้น โดยการพูดคุยเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง จะทำให้ผู้เล่นได้ทบทวนตนเองและเข้าใจคนรอบข้างมากขึ้น เมื่อถึงเวลาวิกฤติของชีวิตก็จะสามารถรับมือได้อย่างเท่าทัน

เกมไพ่ไขชีวิต ถูกปรับปรุงและพัฒนามาจากเกม My Gift of Grace โดย Common Practice ซึ่งเป็นบริษัทนวัตกรรมการดูแลสุขภาพ ในสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาเรื่องการหลีกเลี่ยงการสนทนาเกี่ยวกับการเจ็บป่วยที่รุนแรง และการเสียชีวิต เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ ผู้ป่วย และครอบครัวมีการสนทนาที่ดียิ่งขึ้น

เกมไพ่ไขชีวิต มีลักษณะเป็นสำรับไพ่ ภายในมีไพ่หลายประเภท มีกติกาสำหรับเริ่มวงไพ่ และจดหมายที่จะช่วยให้ผู้นำวง เริ่มต้นการสนทนาและเล่นเกมได้ง่าย อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Peaceful Death มีการจัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการเกมไพ่ไขชีวิต เพื่อแนะนำวิธีการเล่น และช่วยให้ผู้เล่นมีประสบการณ์ตรง และมั่นใจที่จะนำเกมไปใช้นำการสนทนาในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อน

วิธีเล่นและกติกา

รูปแบบของการจัดกิจกรรม จะเริ่มจากการสร้างความคุ้นเคย ด้วยการ check in ให้ได้รู้จักกันและสะท้อนความรู้สึกในขณะนั้น ต่อมา กิจกรรมฝึกฟัง

การฝึกฟัง เป็นหัวใจสำคัญของการเล่นเกม กระบวนกรจะให้ผู้ร่วมกิจกรรมจับคู่กัน และมีคำถามให้คุยกัน โดยเริ่มจากรอบแรกให้คุยกันตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ฟังก็อาจไม่ได้ฟังอย่างแท้จริง อาจมีเรื่องที่อยากถาม ซึ่งทำให้การพูดคุยนั้นเป็นการลดทอนการฟัง บางครั้งก็มีการถามแทรก หรืออาจหันข้างให้ผู้พูด ซึ่งผู้นำกิจกรรมก็จะชี้ให้เห็นว่าการไม่ได้ฟังอย่างแท้จริงนั้น ก่อให้เกิดอะไรบ้าง และการฟังที่ดีนั้น ควรจะฟังทั้งกายและหัวใจ โดยผู้นำกิจกรรมจะให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้ฝึกเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งจะช่วยให้วงสนทนาเป็นไปด้วยความราบรื่น เกิดการแลกเปลี่ยนที่ลึกซึ้ง และผู้เล่นได้ทบทวนตนเองอย่างแท้จริง

จากนั้นจะเริ่มแลกเปลี่ยนด้วยชุดคำถามจากเกมไพ่ไขชีวิต วิทยากรจะแบ่งวงสนทนา วงละ 4 - 5 คน โดยผู้นำเกมจะแจกกระดาษและปากกาให้กับผู้เล่นทุกคนเพื่อให้แต่ละคนได้ทดคำตอบของตัวเองไว้หลังจากที่ได้ฟังคำถามซึ่งจะทำให้ผู้เล่นไม่ไขว้เขว หรือคล้อยตามเวลาที่ได้ฟังความคิดเห็นของผู้เล่นคนอื่นในวง จากนั้นผู้นำเกมจะแจกไพ่ถูกใจให้แต่ละคน คนละเท่าๆกัน ซึ่งระหว่างเล่นเกมถามตอบ หากผู้เล่นชอบคำตอบของใคร ก็สามารถยื่นไพ่ถูกใจให้กับคนนั้นได้ ซึ่งในหลายครั้ง ไพ่ถูกใจก็ช่วยสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานให้กับวง หรือบางครั้งผู้เล่นที่อยากให้กำลังใจผู้พูด ก็สามารถที่จะยื่นไพ่นี้ ให้กับผู้พูดได้

ผู้นำเกมจะเริ่มถามคำถามจากไพ่อุ่นเครื่อง ซึ่งมี 2 คำถามที่ให้ได้เริ่มแสดงความคิดเห็นกันในวง คือ“คุณมีความกังวลใจอะไรเกี่ยวกับการเล่นเกมไพ่นี้บ้าง” และ “คุณคาดหวังอะไรจากการเล่นเกมนี้” ซึ่งจะช่วยให้ผู้เล่นได้คลายความกังวลใจต่างๆ ได้

สิ่งสำคัญเวลาที่ผู้เล่นแต่ละคนได้ตอบคำถาม คือ สมาชิกในวงจะฟังคำตอบอย่างตั้งใจ และไม่ตั้งคำถามหรือพูดแทรก ผู้นำเกมเองก็จะไม่คาดคั้นให้ตอบคำถาม แต่จะชวนให้ทบทวน ใคร่ครวญในชีวิต เมื่อผู้เล่นได้ตอบจบแล้ว จึงค่อยถามหรืออภิปรายเพิ่มเติม หลังจากนั้นผู้เล่นจะได้สุ่มเปิดไพ่คำถาม 45 ใบ ซึ่งเป็นคำถามที่ชวนให้สำรวจว่าแต่ละคนคิดอย่างไรกับเรื่องชีวิตและความตาย เช่น “ในชีวิตนี้คุณต้องการเงินอีกจำนวนเท่าไหร่ เพราะเหตุใดจึงเป็นจำนวนเท่านี้” “สิ่งใดที่คุณนึกถึงแล้วมีพลัง มีกำลังใจในการดำเนินชีวิต” “คุณคิดว่าการตายดี คืออะไร?” เป็นต้น

ผู้เล่นสามารถเปิดไพ่และถามตอบได้จนกว่าจะหมดเวลา ผู้เล่นก็จะได้เปิดไพ่คำถามปิดการสนทนา ซึ่งมี 2 คำถามคือ “สิ่งสำคัญที่คุณได้เรียนรู้ คืออะไร” และ “หลังจากเล่นเกมนี้จบ คุณตั้งใจจะทำอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม” โดยผู้เล่นจะได้เขียนคำตอบที่2 นี้ลงไปในไพ่อธิษฐาน และเก็บกลับบ้านเพื่อย้ำเตือนความจำที่จะนำสิ่งนี้

เกมไพ่ไขชีวิตจะใช้เวลาเล่น 1-2 ชั่วโมง ซึ่งผู้นำเกมจะสามารถอ่านวิธีเล่น และจดหมายถึงเจ้ามือจากใบคู่มือในชุดเกม ซึ่งในคู่มือจะอธิบายเช่น ถ้ามีคำไหนที่น่าสนใจถูกกล่าวขึ้นมาในวง ผู้นำเกมสามารถนำมาชวนคุยต่อ เพื่อให้ในวงสามารถพูดคุยได้ลึกขึ้น โดยผู้นำเกมนั้นจะต้องระวังที่จะไม่ชักจูง หรือนำความเชื่อของตัวเองเข้าไปครอบงำความคิดผู้อื่น

ข้อแนะนำคือ ผู้จัดวง ควรเตรียมสถานที่ให้เป็นสัดส่วน มีความเงียบสงบ และไม่มีการรบกวน หรือการดึงความสนใจจากภายนอก อุณหภูมิให้ห้อง ต้องสบาย ไม่ร้อนหรือหนาวจนเกินไป ซึ่งองค์ประกอบต่างๆเหล่านี้ มีความสำคัญในการสร้างความรู้สึกให้ผู้ร่วมกิจกรรมนั้นรู้สึกปลอดภัย

สะท้อนประสบการณ์จากเกมไพ่ ไขชีวิต

คุณอาร์ต นาถศิริ โกมลพันธุ์ หนึ่งในผู้ที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมเกมไพ่ไขชีวิต ได้ให้เหตุผลในการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ว่า เคยได้ยินชื่อเกมนี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว อยากจะรู้ว่าเกมจะเป็นอย่างไร และยิ่งมีเพื่อนที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมแล้วเล่าให้ฟังว่า ชีวิตเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากที่ได้เล่นเกมนี้ ก็ยิ่งทำให้อยากเข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งการที่ได้ฟังผู้ร่วมกิจกรรมคนอื่นๆเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ตัวคุณอาร์ตเองก็ได้ทบทวนเรื่องของตัวเองไปด้วย เกิดความรู้สึกว่ายังไม่พร้อมในหลายอย่าง และก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่อยากทำ การเล่นเกมนี้เป็นเหมือนเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณอาร์ตลุกขึ้นมาดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัวมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าความตายหรือความสูญเสียนั้นมันอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เคยคิด

คุณอ๊อด วรรณวิภา มาลัยนวล กระบวนกรผู้จัดกิจกรรมเกมไพ่ไขชีวิต ให้กับทั้งบุคลากรการแพทย์ นักศึกษา ผู้ปฏิบัติธรรม และประชาชนทั่วไป ได้แสดงความคิดเห็นว่า ความตายเป็นเรื่องสากล การพูดถึงความตายมันจะสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ เราเริ่มหันกลับมามองว่าการใช้ชีวิตในปัจจุบัน จะทำอย่างไรให้สามารถตายดีได้ คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาร่วมกิจกรรม มักสนใจตั้งแต่ชื่อของกิจกรรม ว่าจะสามารถไขอะไรชีวิตได้ ซึ่งคนที่มาส่วนใหญ่ มักไม่ใช่ผู้ดูแลคนในครอบครัวที่ป่วย เพราะคนเหล่านี้มักจะไม่มีเวลาที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการจะคุยเรื่องความตายกับคนที่ป่วยนั้น ดูจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า การจะคุยในเวลาที่คนในครอบครัวยังมีสุขภาพปกติดี เป็นเวลาที่ทุกคนยังมีสติสัมปชัญญะ เพื่อที่เวลาเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันจะได้ไม่ตื่นตระหนก

ผู้ร่วมกิจกรรมหลายๆคนได้แสดงความคิดเห็นหลังจากร่วมกิจกรรม ว่าการพูดถึงความตายนั้นง่ายกว่าที่คิด เป็นกิจกรรมที่ดูไม่ยาก แต่ให้ความรู้สึกที่ลึกซึ้งที่ทำให้สบายใจที่ได้พูดสิ่งนี้ออกมา ได้เห็นว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรในชีวิตเพื่อจะใช้ชีวิตที่เหลือให้ดี หรือได้เห็นว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วรู้สึกเสียใจภายหลังก็จะเป็นการเตือนตัวเองเพื่อไม่ให้ทำสิ่งนั้นอีก ในวงของการแบ่งปันเรื่องราวนั้น ก็ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดี มีมิตรภาพเกิดขึ้นในวง แม้ผู้ร่วมวงจะเป็นคนที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน

บางคำถามในวงกิจกรรมเช่น “หากคุณช่วยตัวเองไม่ได้ แม้แต่การเข้าห้องน้ำด้วยตัวเอง ใครเป็นคนแรกที่คุณนึกถึงและอยากให้เขาเป็นคนช่วยคุณเข้าห้องน้ำ และใครที่คุณจะไม่มีวันขอให้เขาช่วยอย่างเด็ดขาด” ก็มีคำตอบที่น่าสนใจจากผู้ร่วมกิจกรรมคนหนึ่ง ที่ตอบทั้งสองคำตอบว่าแม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า แม่เป็นคนที่ใกล้ชิด และสนิทที่สุด แต่ก็ไม่อยากให้แม่ลำบาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทั้งอยากและไม่อยากให้ช่วยเหลือ คุณอ๊อดได้มองเห็นว่า หลายๆครั้งที่เราถูกปฏิเสธเรามักจะโกรธ หรือเสียใจ ทั้งๆที่ความจริงมันอาจจะเป็นความรักที่ซ่อนอยู่ในเหตุผล ถ้าเรามองหาความรักเจอ ชีวิตเราก็จะมีความสุข

หรือคำถามว่า “ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของคุณ ใครคือคนแรกที่คุณอยากกล่าวคำขอโทษ และใครคือคนแรกที่คุณอยากกล่าวคำขอบคุณ” เป็นคำถามที่หลายคนมักจะร้องไห้เวลาที่ตอบ บางคนเสียใจที่ไม่มีโอกาสได้พูด เช่น ผู้ร่วมกิจกรรมชายคนหนึ่ง ที่รู้สึกเสียใจที่เคยดุแม่ แล้วแม่ของเขาก็เสียชีวิตไป เขารู้สึกผิดที่ไม่ได้ขอโทษ ในขณะที่เขาเล่าไปนั้นเขาก็ร้องไห้ออกมา ผู้ที่ได้ร่วมฟังก็รู้สึกถึงพลังที่สำนึกอยากจะขอโทษ เหมือนผู้ชายคนนี้ได้ผ่านทะลุกำแพงออกมา ซึ่งมีผลต่อกลุ่มให้มีความกล้าที่จะเล่าขึ้นมา และได้สัมผัสถึงความเป็นเพื่อนมนุษย์ที่ลึกซึ้ง คุณอ๊อดได้เห็นว่าการคุยเรื่องความตาย ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้จากผู้อื่น จากประสบการณ์ที่แตกต่างที่นำมาซึ่งมุมมองที่หลากหลาย การตายดีของแต่ละคนมีความหมายที่แตกต่างกัน แต่ถ้าแต่ละคนได้เข้าใจความหมายของตัวเอง ก็จะรู้ได้ว่าตัวเองนั้นต้องการอะไร ต้องเตรียมตัวอะไร ซึ่งผู้ที่ใช้ชีวิตได้อย่างดีนั้น ก็จะนำไปสู่การตายที่ดีได้

สั่งซื้อเกมไพ่ไขชีวิต
ท่านสามารถสั่งซื้อชุดเกมไพ่ไขชีวิตมาเล่นเองได้ที่ https://peacefuldeath.co/product/เกมไพ่ไขชีวิต/
หรือติดต่อเฟจเพจ Peaceful Death หรือไลน์ @peacefuldeath

ขอขอบคุณวรรณวิภา มาลัยนวล และ คุณนาถศิริ โกมลพันธุ์ ที่สละเวลาให้สัมภาษณ์ รวมถึงการถ่ายถอดประสบการณ์ที่สร้างแรงบันดาลใจ
Link อ้างอิง : http://mygiftofgrace.com
บุคคลสำคัญ วรรณวิภา มาลัยนวล

[seed_social]
18 เมษายน, 2561

หวั่นไหวเรื่องความตาย

คุณร้องไห้คงเป็นเพราะเวลาได้ยินได้รับรู้เรื่องนี้แล้วทำให้ระลึกถึงความตายของตนเอง ในใจคุณนั้นยังมีความอาลัยในชีวิต ความหวงแหนในตัวตน รวมทั้งความกลัวตาย
4 เมษายน, 2561

วาระสุดท้ายแห่งชีวิตของแม่

การจากไปของแม่อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นแรงบันดาลใจให้เขียนบทความขึ้น เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างในสองมิติ ได้แก่ มิติ “ความแก่” หรือ “ชราภาพ” กับ มิติ “ความตาย”
22 เมษายน, 2561

วิถีแห่งจิตวิญญาณ

“ถามว่าทำอย่างไร ถ้าพี่ตอบเป็นข้อๆ เป็นขั้นเป็นตอนเลย ก็จะไม่เห็น How to ขอเล่าเรื่องการดูแลคนไข้ให้ฟังสักคนดีกว่า แล้วตอนท้ายเราอาจได้วิธีการประเมิน และเข้าถึงความต้องการของคนไข้ได้บ้างนะคะ”