บทบาทของการดูแล
ประคับประคองในช่วงการระบาดของ
covid-19
ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา, เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หมวด: ชุมชนกรุณา
หลังจาก Covid-19 กลายเป็นโรคระบาดระดับโลก เรายังไม่รู้ว่าการระบาดจะสิ้นสุดเวลาใด ทุกๆ พันคนจะมีร้อยคนที่ป่วย และในทุกร้อยคนจะมีสิบคนที่เสียชีวิต การระบาดอันรุนแรงส่งผลต่อการเสียชีวิตฉับพลัน และในบริบทเช่นนี้ การดูแลแบบประคับประคองมีบทบาทสำคัญในหลายด้าน ได้แก่
• การดูแลคุณภาพชีวิต
• การช่วยให้ผู้ป่วยวางเป้าหมายการดูแล
• การวางแผนสุขภาพล่วงหน้า
• การดูแลความปวดและอาการรบกวน
• การสนับสนุนผู้ดูแลเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ
ในช่วงเวลาที่สังคมเผชิญความสูญเสียขนานใหญ่ ไม่มีห้วงเวลาใดอีกแล้วที่การดูแลแบบประคับประคองจะสำคัญมากเท่านี้
นอกจากนี้ เรายังพบว่ากลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ Covid-19 มักเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่การดูแลแบบประคับประคองสามารถให้การดูแลได้ดี เราอาจใช้จุดแข็งของการดูแลแบบประคับประคองดูแลดังนี้
1. จัดการความปวด ลดความทุกข์ทรมานจากอาการรบกวน ดูแลให้ผู้ป่วยระยะท้ายอยู่ในพื้นที่ที่สบายกายและสบายใจ สนับสนุนการดูแลของครอบครัว
2. เร่งการตั้งเป้าหมายการดูแลของผู้ป่วยระยะท้ายที่อยู่ในการดูแล และตอบสนองความต้องการในกรณีที่ทำได้ เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว
3. ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อไวรัสรุนแรงขึ้น จะมีกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องการใช้ห้อง ICU และเครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนถึงขั้นขาดแคลน งานดูแลแบบประคับประคองมีบทบาทช่วยสื่อสารให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจว่าการพาผู้ป่วยระยะท้ายใช้ห้อง ICU หรือเครื่องช่วยหายใจ มิใช่สิ่งจำเป็นเร่งด่วน ผู้ป่วยระยะท้ายมีทางเลือกที่ดีกว่าคือการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการดูแลคุณภาพชีวิต โดยไม่ต้องทุกข์ทรมานกับการรักษาที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ และควรเผื่ออุปกรณ์ฉุกเฉินดังกล่าวให้ผู้ป่วยที่มีโอกาสฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้
4. ผู้ป่วย Covid ระยะท้าย มักจะถูกห้ามให้ครอบครัวเข้าเยี่ยมด้วยมาตรการกักกันโรค ความตึงเครียดนี้อาจทำให้เกิดการปะทะระหว่างบุคลากรสุขภาพและครอบครัว งานดูแลแบบประคับประคองสามารถอาศัยทักษะการประเมินจิตใจ ทักษะการสื่อสาร ช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างทีมสุขภาพ ครอบครัว และผู้ป่วย อันเป็นบรรยากาศในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ขณะเดียวกันช่วยดูแลจิตใจครอบครัวในการเผชิญความสูญเสีย
5. อาจมีบางกรณีที่บุคลากรจะเป็นผู้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ และต้องถูกกักตัวเป็นเวลา 14 วัน บุคลากรเหล่านั้นมักเกิดความกังวลใจ ความเครียด ความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถช่วยเพื่อนได้ งานดูแลแบบประคับประคองสามารถมีบทบาทในการดูแลจิตใจ และสนับสนุนบุคลากรกลุ่มดังกล่าวด้านสุขภาพจิต หรือแม้แต่การดูแลทางจิตวิญญาณ
ในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ การดูแลแบบประคับประคอง มีความจำเป็นไม่ต่างจากสบู่ล้างมือ ยาลดไข้ หรือเครื่องช่วยหายใจ Palliaitive Care มีจุดแข็งด้านการดูแลทางใจ การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ทั้งต่อทีมสุขภาพ ครอบครัว ผู้ป่วย และชุมชน หน้าที่ของเราคือการคงไว้ซึ่งการบริบาลในทีมสุขภาพ ระบบสุขภาพ อันจะเป็นปราการอันแข็งแกร่งในท่ามกลางการโอบล้อมแห่งการระบาดครั้งนี้
เขียนโดย Jennifer Moore Ballentine: Executive Director of the California State University Shiley Institute for Palliative Care
แปลโดย กฤติน ลิขิตปริญญา และ เอกภพ สิทธิวรรณธนะ
บทความนี้แปลและเรียบเรียงจาก https://csupalliativecare.org/palliative-care-and-covid-19
[seed_social]