นอกเหนือจากบทบาทหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.ชมภู อ.สารภี จ.เชียงใหม่ แล้ว พ่อหลวงอนันต์ แสงบุญ ยังทำหน้าที่จิตอาสาเรื่องคนพิการ โดยมีแรงบันดาลใจมาจากการรับรู้ว่า “คนเราพิการ แต่ไม่สามารถรับรู้ว่าตัวเองพิการ” การเห็นปัญหาว่าคนส่วนใหญ่ในชุมชนไม่เข้าใจสภาพความพิการ สภาพแวดล้อมที่พิการ ทำให้พ่อหลวงอนันต์เริ่มต้นด้วยการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และสร้างกระบวนการชุมชน โดยพาคนพิการเป็นจิตอาสาเยี่ยมบ้านคนพิการด้วยกัน ปรับสภาพแวดล้อมของบ้าน ส่งเสริมอาชีพ หรือให้กำลังใจผู้สูงอายุและคนพิการติดเตียง ก่อนจะขยับเป้าหมายไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานเพื่อให้เกิด “ชุมชนกรุณา”
“การที่อาสาสมัครและตัวเราไปเยี่ยมบ้านคนพิการ ผู้สูงอายุติดเตียง เรามักจะได้ยินข่าวว่าคนที่เราไปเยี่ยมมาเมื่อวันก่อนอาทิตย์ก่อนเสียชีวิต เราก็เอะใจว่า เพราะพวกเราไปทำให้เขาเกิดความลำบากหรือไปรุกรานความเป็นปกติ เราไปรบกวนเวลาพักผ่อนของเขาหรือไม่ เรากลับมาคุยกับคณะทำงานด้วยกัน (แล้วเห็นว่า) คนพิการที่ป่วยติดเตียง เขาดูมีความสุขดีตอนที่เราไปเยี่ยม ... เล่าเรื่องราวอย่างมีความสุข เราก็บอกว่า “ไม่ใช่”
แล้วเรามาคิดต่อว่าการเยี่ยมครั้งต่อไปจะทำอะไรดี เราคุยกันว่าคนพิการจิตอาสามีใครไหว้พระสวดมนต์ได้ การไปแต่ละครั้ง เราชวนเขาไหว้พระสวดมนต์จะดีไหม ปรากฎว่าได้ผลดี คนไปเยี่ยมก็ไหว้พระสวดมนต์กับผู้ป่วย คนที่รับการเยี่ยมก็มีความสุข เราจึงทำมาเรื่อย”
การทำงานในระยะต่อมาเป็นการเชื่อมโยงกับหน่วยงานและบุคลากรสุขภาพที่เป็นอาสาสมัครทำงานในชุมชน จนเกิดเป็นชุมชนกรุณาที่สอดคล้องเหมาะสมกับชุมชน โดยสิ่งที่พ่อหลวงใช้เป็นหลักคิดในการดำเนินงานมาตลอด และเป็นคำถามกับคณะกรรมการและจิตอาสาคือ “บนความทุกข์ยากขาดแคลนของเพื่อนมนุษย์ที่อยู่ร่วมโลกเดียวกับเรา เราจะมีส่วนช่วยเหลือเอื้อเฟื้อดูแลเขาได้อย่างไร” ถ้าหากจะทำเรื่องชุมชนกรุณา เราจะต้องกรุณาต่อตัวเอง เอื้อเฟื้อต่อตัวเองและครอบครัวก่อน โดยการไม่เบียดเบียนร่างกายตัวเอง ไม่ข้องแวะกับปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ไม่ทำตัวเป็นภาระของครอบครัวที่ต้องทำมาหากินและดูแลเรา แนวคิดดังกล่าวเป็นพื้นฐานการทำงานในชุมชน ที่มองว่าการให้ความช่วยเหลือแก่คนที่สมควรได้รับ เป็นทั้งความเอื้อเฟื้อความกรุณา ความเป็นมิตร ความเป็นญาติ ความเป็นเพื่อน คือชุมชนกรุณาอย่างแท้จริง
พ่อหลวงอนันต์ได้นำเครื่องมือ “ไพ่ไขชีวิต” เข้ามาช่วยจัดกิจกรรมดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยพิการ มีการนำการ์ดต่างๆ มาเชื่อมโยงความรู้สึกของผู้คน การ์ดทุกใบมีทั้งความสงสัย ความทดท้อ ความเหนื่อยล้า และมีคำตอบคลายปม คลี่คลายความสงสัยต่างๆ การนำการ์ดมาปรับใช้ในการเยี่ยมผู้ป่วย จึงเหมือนการเตรียมตัวจิตอาสาให้ทำความเข้าใจสิ่งที่จะพบเจอ จากการเป็นตัวกลางชวนคุยเรื่องความสัมพันธ์ของผู้ป่วยกับผู้ดูแลที่บางกรณีมีความไม่เข้าใจกัน มีความตึงเครียด โดยใช้เครื่องมือดังกล่าวช่วยคลี่คลายปัญหาต่างๆ ไม่ว่าการช่วยดูแลบ้าน สภาพแวดล้อม สุขอนามัยในพื้นที่พัก ความเป็นอยู่ หรือสิ่งสนับสนุนต่างๆ และสิ่งสำคัญที่สุดคือการดูแลภาวะทางใจและสนับสนุนให้เกิดสุขภาวะทางปัญญา ด้วยการระลึกถึงคุณงามความดีหรือคำสอนของบุคคลที่ผู้ป่วยนับถือบูชา
ในสถานการณ์โควิด-19 มุมมองของการจัดงานศพในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปเป็นการจัดอย่างประหยัด กระชับ เรียบง่าย สงบ โดยทำความเข้าใจกับสังคมและชุมชนผ่านการพูดคุยกับญาติพี่น้องของผู้ตายและชุมชน ช่วยคลี่คลายความกังวลของญาติผู้เสียชีวิต และช่วยนำไปสู่การเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องการเตรียมตัวเพื่อการตายดีในท้ายที่สุด
ปัจจัยความสำเร็จของการพูดคุยกับผู้คนในชุมชนคือ การสอบถาม การเก็บข้อมูลผู้ป่วยพิการ ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยพิการ และผู้สูงอายุในเกือบทุกครัวเรือน ทำให้พ่อหลวงเข้าไปเชื่อมโยงกับกลุ่มคนเหล่านี้ในชุมชนได้ และหยิบหัวข้อต่างๆ เรื่องการดูแลผู้ป่วยมาพูดคุยเพื่อคลี่คลายความกังวล รวมถึงทำความเข้าใจและรับมือเรื่องความตาย เป็นการสร้างพื้นที่แบ่งปัน เรียนรู้ร่วมกัน และให้กำลังใจกันและกัน
วันที่ออกอากาศ: 22 พฤศจิกายน 2563
ผู้เรียบเรียง: ศิริรุ่ง ศรีสิทธิพิศาลภพ