ในฐานะนักเขียนและคอลัมนิสต์ที่สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และศาสตร์การพัฒนาตนเอง ที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับความตายหลายเล่ม เช่น ฉลาดทำศพ วันนี้คือของขวัญของชีวิต ประสบการณ์ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของอรทัย ชะฟู และทำงานกระบวนการพัฒนาตัวเองด้านการสื่อสารและการตายดี ฉันจึงได้รับคำเชิญชวนจากเทศบาลบ้านเกิดให้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพสตรีในตำบลบ้านเกิดของตัวเอง โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน ซึ่งล้วนเป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกับสุขอนามัยในชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าหน้าที่เทศบาล กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน
"ฉันเริ่มต้นสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกและผ่อนคลายผ่านเกมสันทนาการ ตามด้วยกิจกรรมการฟัง"
ฉันเริ่มต้นสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่สนุกและผ่อนคลายผ่านเกมสันทนาการ ตามด้วยกิจกรรมการฟัง ฉันให้ทุกคนมีโอกาสเล่าเรื่องราวของตัวเองในกลุ่ม กลุ่มละ 3 คน เรื่องที่ให้เล่าคือ เรื่องประทับใจในวัยเด็กหรือวัยทำงาน และเรื่องที่อึดอัดใจในปัจจุบันหรือช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ส่วนคนที่รับหน้าที่ฟัง ให้ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตั้งคำถามขณะเล่า เมื่อฟังจบ ให้ผู้ฟังสะท้อนว่าได้ยินคำสำคัญอะไร เห็นภาษากายอะไรบ้าง
นอกเหนือจากการรู้จักกันและกันมากขึ้น เรื่องราวสุขทุกข์ที่แบ่งปันทำให้พวกเขาเห็นอกเห็นใจกัน บางคนเล่าเรื่องความทุกข์จากความเจ็บป่วยทั้งทายกายและใจของตัวเองและคนในครอบครัว เมื่อมีผู้รับฟังก็รู้สึกสบายใจขึ้น ผลพลอยได้ที่มากกว่าการมีคนรับฟังคือ ผู้เข้าอบรมบางคนที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องสุขอนามัยในชุมชนเสนอตัวไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านและพาผู้ป่วยจิตเวชไปโรงพยาบาล
ทว่าเป้าหมายหลักของการอบรมครั้งนี้ คือการสนับสนุนให้ผู้ดูแลสุขภาพของคนในชุมชนกลุ่มนี้พูดคุยและใคร่ครวญเกี่ยวกับชีวิตและความตาย เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและวางแผนเรื่องชีวิตและความตายของตัวเอง คนใกล้ตัว และชุมชน ผ่านการตั้งคำถามที่เรียกได้ว่าเป็นคำถามเปลี่ยนชีวิต
คำถามเปลี่ยนชีวิต
“การตายดีเป็นอย่างไร” ฉันตั้งคำถามแรก เสียงพึมพำวิพากษ์วิจารณ์ดังทั่วห้อง แล้วเงียบเสียงไปพักใหญ่เพื่อครุ่นคิดและใคร่ครวญหาคำตอบ
“การตายดีคือการตายที่ไม่เจ็บปวดทุกข์ทรมาน หรือนอนหลับตายเฉยๆ” คือคำตอบของคนส่วนใหญ่
“แล้วคนเป็นมะเร็งที่เจ็บปวดทรมานแสนสาหัสไม่มีโอกาสสัมผัสการตายดีหรือ” ฉันตั้งคำถามต่อ และยกตัวอย่างพี่ชายของฉันที่ป่วยเป็นมะเร็งตับและเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ และคนส่วนใหญ่ในห้องรู้จัก
หลังจากแพทย์วินิจฉัยพี่ชายของฉันว่า อาการของเขาอยู่ในระยะสุดท้าย ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดหรือให้ยาเคมีได้ ทำได้เพียงการดูแลความปวด ครอบครัวฉันและผู้ป่วยตกลงใจว่าจะรักษาที่บ้าน โดยรับยาจากโรงพยาบาล
ในช่วงเวลาประมาณหนึ่งเดือนที่พี่ชายนอนรักษาตัวที่บ้าน ญาติพี่น้องและคนในชุมชนต่างมาเยี่ยมเยียนอยู่เนืองๆ บ้างเห็นด้วยกับการรักษาที่บ้านและให้กำลังใจ บ้างกดดันให้พาผู้ป่วยไปนอนโรงพยาบาล บางคนแนะนำว่า “หมอย่อมรู้ดีที่สุด” บ้างพูดผ่านเพื่อนบ้านมาเข้าหูฉันว่า “ปล่อยให้ตายอยู่บ้าน”
ในที่สุดพี่ชายของฉันก็เสียชีวิตที่บ้านอย่างสงบ ท่ามกลางการดูแลของคนใกล้ชิด ได้ทำพิธีกรรมตามความเชื่อ และสวดมนต์บทที่ผู้ป่วยเตรียมไว้จนลมหายใจสุดท้ายและสวดต่อไปอีกเกือบครึ่งชั่วโมง ตามความเชื่อว่าแม้จะหมดลมหายใจไปแล้ว จิตสุดท้ายจะยังคงอยู่อีกระยะหนึ่ง หลังจากนั้นคนในครอบครัวก็ช่วยกันเช็ดตัวและแต่งชุดที่เตรียมไว้
“เพิ่งเคยเห็นคนตายต่อหน้าต่อตาและไปอย่างสงบเหมือนนอนหลับไปเฉยๆ” ญาติผู้ใหญ่วัยกว่าแปดสิบปีที่มาร่วมเฝ้าไข้และสวดมนต์พูดด้วยน้ำเสียงและสีหน้าโล่งใจระคนประหลาดใจกับความตายที่ปรากฎตรงหน้า
ฉันถือว่านี่คือการตายดีในเชิงจิตใจและความสัมพันธ์ เพราะทั้งผู้ป่วยและครอบครัวได้พูดคุยสิ่งค้างคาใจและฟื้นคืนความสัมพันธ์ต่อกันในห้วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งมิเพียงดีต่อผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังเยียวยาจิตใจคนที่ยังมีชีวิตอยู่ต่อไปมิให้รู้สึกผิดอีกด้วย
“ผู้ปั๊มหัวใจต้องใช้แรงอย่างมาก และผู้ถูกปั๊มต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัส”
เมื่อคำถามข้อแรกเริ่มต้นขึ้นแล้ว คำถามข้อต่อไปก็ติดตามมาพร้อมกับเรื่องเล่าและกรณีตัวอย่าง ซึ่ง “ดูจริง” และ “รู้สึกร่วม” เสียยิ่งกว่าเรื่องเล่าความตายที่เห็นภาพสื่อต่างๆ เสียอีก เพราะเป็นเรื่องที่เกิดจากประสบการณ์ตรงของแต่ละคน และบางคนรู้จักผู้คนในเรื่องเล่าเป็นอย่างดี เช่น อสม. ชายคนหนึ่งเล่าว่า เขาเคยผ่านการอบรมการช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการปั๊มหัวใจมาแล้ว จึงรู้ว่าผู้ปั๊มหัวใจต้องใช้แรงอย่างมาก และผู้ถูกปั๊มต้องทุกข์ทรมานแสนสาหัส ส่วนผู้เข้าร่วมหญิงอีกคนหนึ่งเล่าถึงญาติผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคไตวาย เขาหยุดหายใจและญาติตัดสินใจให้แพทย์ใส่เครื่องช่วยหายใจ เขาจึงอยู่ในสภาพ “ผัก” ไม่รับรู้หรือตอบสนองใดๆ เป็นเวลานานถึงสามเดือน ก่อนจะเสียชีวิตในที่สุด
ชุมชนตายดีสร้างได้
ชุมชนดั้งเดิมมักมีขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือต่อเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่มองเห็นความตายเป็นเรื่องต้องห้าม มิควรพูดคุยแบบเปิดเผย กอรปเข้ากับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้เราเห็นความตายเป็นเรื่องน่ากลัวและห่างไกลจากความตายไปทุกที
เรายกภาระความรับผิดชอบเกี่ยวกับความตายให้แก่นักวิชาชีพอย่างแพทย์หรือพยาบาลอย่างเบ็ดเสร็จ เราพึ่งพานักวิชาชีพมานานจนลืมไปว่าแท้จริงเราสามารถดูแลและประคับประคองคนในครอบครัวและชุมชนให้ตายดีได้ในเชิงจิตใจและความสัมพันธ์ ดังที่ปู่ย่าตายายของเราเคยตายที่บ้านอย่างสงบและอบอุ่นท่ามกลางการ “ดูใจ” ของญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน
ขณะที่การดูแลความเจ็บป่วยทางกายเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมานจากอาการของโรคยังอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของนักวิชาชีพ เราสามารถร่วมสร้างการตายดีทางด้านจิตใจและความสัมพันธ์ได้ ด้วยความเข้าใจและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการตายดี ซึ่งมิเพียงจะช่วยตัวเราและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นการกรุณาต่อคนที่เลือกการตายดีที่บ้าน ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจและสนับสนุนเกื้อกูลจากคนในชุมชนอย่างมาก
จากประสบการณ์ครั้งนี้ฉันเห็นว่าการพูดคุยเรื่องชีวิตและความตายเช่นนี้เป็นอิฐก้อนแรกหรือบันไดขั้นแรกในการสร้างชุมชนกรุณาที่มีความเข้าใจเรื่องชีวิตและความตาย กุญแจแห่งความสำเร็จคือการตั้งคำถามที่ดีและเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างอิสระ ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้าใจเรื่องชีวิตและความตายที่ลึกซึ้ง โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านเรื่องเล่าจากประสบการณ์ตรงของผู้ร่วมอบรม และบางครั้งเป็นเรื่องราวของคนรู้จัก
หมายเหตุ
ผู้สนใจสั่งซื้อเกมไพ่ไขชีวิตไปเป็นเครื่องมือสร้างบทสนทนาเรื่องชีวิตและความตาย สามารถติดต่อได้ที่ Line @peacefuldeath ราคาเฉพาะชุดเกมไพ่ไขชีวิตชุดละ 160 บาท (ไม่รวมค่าจัดส่ง)