ทราบกันดีว่าบุคลากรทางการแพทย์มีภาระงานค่อนข้างมาก ประกอบกับการเดินทางเพื่อไปพบแพทย์หรือโรงพยาบาลสำหรับชุมชนห่างไกลถือเป็นเรื่องยาก การมีระบบสุขภาพที่คนในชุมชนสามารถดูแลตนเองได้ แม้จะเป็นเพียงการดูแลขั้นพื้นฐาน จึงเป็นเรื่องดี เพราะมีผลประโยชน์ถึง 2 ทาง คือ 1) ลดการสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง 2) ลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์
คุณวรัญญา จิตรบรรทัด จึงเล็งเห็นความสำคัญของการให้ความรู้แก่ชุมชนในการดูแลตนเอง พึ่งพาระบบสุขภาพของภาครัฐให้น้อยที่สุด โดยการขยายองค์ความรู้และความกรุณาสู่ชุมชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยจุดเริ่มต้นในการทำชุมชนกรุณา เกิดจากการเป็นบุคลากรทางการศึกษาและทางการแพทย์ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครศรีธรรมราช และสังกัดอยู่ในกลุ่มพยาบาลอนามัยชุมชน ที่รับผิดชอบงานบริการวิชาการด้านการดูแลสุขภาพแก่ชุมชน ประกอบกับเธอจบปริญญาโทด้านสังคมศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข มีความสนใจการทำวิจัยกับชุมชนมากกว่าโรงพยาบาล จึงเลือกชุมชนนาเคียนที่ไม่มีวิชาชีพพยาบาลอยู่เลยเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนงาน เนื่องจากตอบโจทย์เรื่องการให้ความรู้และวางแผนดูแลสุขภาพผู้ป่วยด้อยโอกาส เช่น ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ เป็นต้น
คุณวรัญญาเริ่มด้วยการพัฒนา อสม.ให้มีความรู้ในการดูแลผู้ป่วย ประเมินสภาพผู้ป่วยเบื้องต้นได้ ตั้งแต่การวัดชีพจร วัดความดัน เจาะน้ำตาล การกายภาพฟื้นฟู การป้องกันแผลกดทับ ทำแผลบริเวณต่างๆ ไปจนถึงการให้อาหารทางสายยาง การอาบน้ำเช็ดตัวบนเตียง และการขับถ่าย โดยเรียนรู้ผ่านผู้ป่วยในชุมชนเอง ซึ่งจะทำให้ อสม.และผู้ป่วยมั่นใจในเรื่องการดูแล
นอกจากการให้ความรู้ด้านการพยาบาลแล้ว ชุมชนกรุณายังส่งเสริมเรื่องการประสานงานกับองค์กรระดับท้องถิ่นต่างๆ เรื่องสิทธิที่ผู้ป่วยจะได้รับ เวลาลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยในชุมชน นอกจากทีมสุขภาพแล้ว ยังมีผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันด้วย เพื่อช่วยกันประเมินสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยว่าเหมาะแก่การอยู่อาศัยเพียงใด เป็นการทำให้ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เกิดการพัฒนาเครือข่ายทางสังคมที่แน่นแฟ้น จากการทำงาน สัมผัสได้ว่าผู้คนในชุมชนร่วมมือกันดูแลสุขภาพกาย ใจ ความสัมพันธ์ และเริ่มให้ความสนใจเรื่อง "การสร้างเสริมสุขภาพ" มากขึ้น
เมื่อกิจกรรมดูแลผู้ป่วยดำเนินไปได้ระยะหนึ่ง มีผู้สนใจที่ไม่ใช่ อสม.มาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย คุณวรัญญาจึงปรึกษากลุ่ม Peaceful Death ถึงการทำชุมชนกรุณาที่นาเคียน และเริ่มต้นรับสมัครจิตอาสาหลากหลายวัย 20 คน เน้นการเยี่ยมเยือน พูดคุย และให้กำลังใจ ไม่ใช่การบริการด้านสุขภาพ มีการอบรมทักษะการฟัง กระบวนการเข้าเยี่ยม และจะให้จิตอาสาอายุน้อยไปกับจิตอาสารุ่นพี่ โดยเลือกผู้ป่วยที่จะเยี่ยมเอง แล้วถอดบทเรียนภายหลังจากการปฏิบัติงาน
คุณวรัญญาได้นำเครื่องมือไพ่ไขชีวิตและแคร์คลับ มาใช้ในการทำชุมชนกรุณา โดยเลือกผสมไพ่ที่ตอบโจทย์และใช้พูดคุยกับคนในวงได้ เนื่องจากมีจิตอาสาหลากหลายช่วงอายุ เธอยังนำไพ่ไขชีวิตไปใช้พูดคุยกับนักเรียนพยาบาลที่ตนเองสอน พบว่านักเรียนมีพัฒนาการทางด้านจิตใจที่ละเอียดอ่อนขึ้น และมีการสื่อความเมตตาออกมาทางการกระทำ นอกจากนี้ ชุมชนกรุณานครศรีธรรมราชยังเปิดตลาดแบ่งปัน เพื่อนำเงินทุนที่ได้ไปซื้อของใช้ให้กับผู้ป่วยติดเตียงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การดูแลสุขภาพด้วยตนเองของชุมชนยังทำได้เพียงระดับพื้นฐานสำหรับผู้ป่วยที่อาการคงที่ หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง จะเป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง คุณวรัญญาจึงเห็นว่าเรื่องที่ควรคำนึงถึงและพัฒนา คือการทำให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปดูแลคนในชุมชนได้มากขึ้น และทำให้โรงพยาบาลให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องจิตใจของผู้ป่วยและญาติมากขึ้น โดยสร้างระบบการส่งต่อที่ดีระหว่างชุมชนกับ รพ.สต. จะต้องมีทีมสุขภาพที่เข้มแข็งและเข้าไปช่วยเหลือญาติผู้ป่วยในช่วงแรก ก่อนให้ญาติดูแลต่อ โดยความเป็นเครือญาติจะช่วยส่งเสริมระบบสุขภาพในชุมชนให้เข็มแข็ง
สำหรับคุณวรัญญา การช่วยเหลือเกื้อกูลทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ ความต้องการส่วนตัวเปลี่ยนไปสู่การให้แก่ผู้อื่น ทำแล้วมีความสุข อยากทำอีก และเผื่อแผ่ความกรุณาไปให้คนอื่นๆ ด้วย คุณวรัญญาแนะนำว่าผู้ที่ต้องการทำชุมชนกรุณาอาจเริ่มด้วยการเปิดโอกาสให้ตนเองเข้าฟังหรืออบรมเรื่องดังกล่าว แล้วทดลองทำกับคนใกล้ตัวก่อน จากจุดเล็กๆ ที่ตนเองถนัด เมื่อสั่งสมประสบการณ์ถึงระดับหนึ่งแล้ว จึงขยายหรือต่อยอด โดยชุมชนกรุณานาเคียน นครศรีธรรมราช ยินดีให้คำปรึกษา บอกเล่าประสบการณ์ในการทำงานชุมชนกรุณา ติดต่อได้ทางเฟซบุ๊ก ชุมชนกรุณา นครศรีธรรมราช (https://www.facebook.com/WaranyaJitbantad) หรือเฟซบุ๊ก Waranya Jitbantad
วันที่ออกอากาศ: 23 พฤษภาคม 2564
ผู้เรียบเรียง: สุรพิน อยู่สว่าง