parallax background
 

ชีวิต . ความกลัว . ลมหายใจ

ผู้เขียน: ต้นชมพู่ หมวด: รีวิวสุนทรียะในความตาย


 

ในวันที่อากาศร้อนๆ และมีฟ้าใสๆ เป็นช่วงที่เหมาะกับการพักร้อนและไปทะเล เราเลือกกิจกรรมหนึ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน คือการเรียนดำน้ำลึก หรือ Scuba Diving โลกใต้น้ำที่มีสิ่งมีชีวิตแปลกตา และมีสีสันมากมาย ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายกับความกลัว ทั้งการที่จะได้พบเจอกับสถานการณ์ที่ไม่เคยเจอ สิ่งที่คาดไม่ถึง ความยากที่จะต้องทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และที่สำคัญคือ แม้การดำน้ำลึกจะเป็นสันทนาการชนิดหนึ่ง แต่ก็นับเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต

เราและญาติๆ นั่งเรือไปยังเกาะเต่า วันแรกของการเรียนดำน้ำขั้นพื้นฐานหรือ Open Water Diving เริ่มด้วยการกรอกเอกสารว่าร่างกายของเรานั้นแข็งแรง ไม่มีโรคภัยที่เป็นอันตรายต่อการดำน้ำลึก และต่อด้วยการดูวีดีทัศน์ที่อธิบายและแสดงขั้นตอนการใช้อุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงวิธีการดำน้ำลึก ขั้นตอน, ชื่ออุปกรณ์ต่างๆ, ความดันอากาศ ล้วนเป็นข้อมูลใหม่ที่ถูกอธิบายออกมาอย่างพรั่งพรู แบบที่ต้องตั้งสติในการฟังตลอดเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจำได้ขึ้นใจคือ เมื่อดำน้ำลงไปลึกแล้ว หากเผลอกลั้นหายใจในขณะที่พุ่งตัวขึ้นผิวน้ำ หรือขึ้นสู่ผิวน้ำเร็วเกินไป จะทำให้อากาศในปอดขยายตัวจนเนื้อปอดฉีก ซึ่งอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นเป็นเป็นลม หมดสติ และอาจเป็นอัมพาตได้

เมื่อเราได้เรียนการใช้อุปกรณ์ต่างๆ แล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะได้ลงน้ำจริงๆ การนั่งเรือไปกับหมู่คณะหลายคน ไม่ได้มีเวลาให้เราได้เตรียมใจอะไรมากนัก ทำได้แค่เพียงตั้งสติ และจับในสิ่งที่ต้องทำในแต่ละขั้นตอนนั้นๆ ตามที่ครูบอก เรามาตื่นเต้นมากๆ อีกที ก็ตอนที่เรือจอดอยู่กลางทะเล เราใส่ชุดอุปกรณ์เต็มยศรวมถึงถังบรรจุอากาศที่หนักอึ้งถึง 15 กิโลกรัม และยืนอยู่ตรงขอบเรือ เตรียมก้าวลงน้ำทะเล “มือข้างหนึ่งกดหน้ากาก และ Regulator (อุปกรณ์สำหรับหายใจใต้น้ำ) ไว้ - อีกมือหนึ่งจับเข็มขัดใส่ลูกตะกั่วไว้ - ก้าวขาที่ไม่ถนัดออกไปไกลๆ - เงยหน้าไว้ – แล้วทิ้งตัวลงน้ำ” ตู้มมม แล้วเราก็ค่อยๆ ปล่อยลมออกจากเสื้อชูชีพ แล้วหายใจออก ตัวเราค่อยๆ จมลงสู่ใต้ทะเล เริ่มเกิดความรู้สึกปวดหู เนื่องจากความดันในหูส่วนกลางไม่เท่ากับความดันของน้ำภายนอก ซึ่งถ้าเราฝืนปล่อยตัวเองให้ลงไปลึกขึ้น ในขณะที่ความดันอากาศภายนอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แรงดันนี้อาจทำให้เยื่อหูฉีกขาดได้ สิ่งที่ควรทำคือ เมื่อรู้สึกปวดหู เราควรรักษาระดับการลอยตัวนั้น และพยายามเคลียร์หู ด้วยการบีบจมูกและเป่าลมในแก้ม ถ้าหากยังไม่สามารถทำได้ ต้องพยายามค่อยๆ ขึ้นมาในระดับน้ำที่ตื้นขึ้น และทำการเคลียร์หูจนสำเร็จ จึงค่อยๆ ลงสู่ระดับน้ำที่ลึกขึ้น การหายใจทางปากที่ค่อนข้างลำบากเนื่องจากความดันอากาศที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ความรู้สึกไม่คุ้นเคยในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ หน้ากากกันน้ำที่เริ่มมีน้ำทะเลเข้าไปเนื่องจากเผลอหายใจทางจมูก รวมถึงความรู้สึกไม่สบายตัวต่างๆ ทำให้เริ่มรู้สึกเสียสติและตกใจกลัว จนอยากจะผลุนผลันขึ้นไปที่ผิวน้ำ แต่ก็ยิ่งกลัวจะเกิดอันตรายที่มากขึ้น จึงทำได้แค่เพียงท่องพุทโธ พุทโธไว้ในใจ และพยายามตั้งสติ นึกถึงสิ่งที่ได้เรียน และค่อยๆ ทำทีละอย่างตามที่ครูสื่อสาร

การสื่อสารใต้น้ำเป็นอีกสิ่งที่ไม่ง่ายเลย แม้ว่าเราจะได้เรียนรู้ท่าทางการสื่อสารใต้น้ำเช่น โอเค, ไม่โอเค, ขึ้น, ลง แต่พอลงไปใต้น้ำจริงๆ แล้ว กลับมีหลายสิ่งที่ไม่เข้าใจในการสื่อสารของครู หรือแม้แต่ตัวของเราเองก็ไม่รู้จะบอกอย่างไร จนต้องหาท่าทางในการสื่อสารด้วยตัวเอง ซึ่งทำให้ทั้งเกิดความเข้าใจและไม่เข้าใจ ในบางช่วงที่รู้สึกคอแห้งอย่างมาก ทำได้แค่เพียงอดทน ค่อยๆ พยายามกลืนน้ำลาย และตั้งสติอยู่กับการหายใจเข้าและหายใจออก ‘หายใจไว้ ยังไงก็ไม่ตาย’

การดำน้ำมากครั้งขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ได้คล่องขึ้น เริ่มจัดการแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น และเริ่มรู้สึกผ่อนคลายในการดำน้ำ ได้มองดูสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ว่ายน้ำอยู่รอบๆ ตัว ธรรมชาติช่างมหัศจรรย์และสวยงาม แต่ว่าถ้าชีวิตของเราเกิดเหตุไม่คาดฝัน ที่เราต้องเข้าโรงพยาบาลฉุกเฉินล่ะ ถ้าเรารู้สึกตัวขึ้นมาแล้วนอนอยู่บนเตียงที่โรงพยาบาลแล้วมีสายอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ระโยงระยางรอบตัว แล้วถ้าเราสื่อสารบอกความต้องการต่างๆ ไม่ได้ล่ะ ภาวะที่เริ่มหายใจไม่สะดวกเป็นภาวะที่น่าตื่นตระหนกอย่างมาก เราไม่เคยได้เรียนว่าถ้าเราเจ็บหนัก หรือกำลังจะตาย เราควรทำอย่างไร และการสื่อสารไม่ได้ หรือสื่อสารแล้วไม่มีใครเข้าใจก็เป็นอีกสิ่งที่ทรมานใจอย่างยิ่ง พลันนึกถึง “สมุดเบาใจ” ที่เราได้รับมาจากการร่วมกิจกรรมของเครือข่ายพุทธิกา เราไม่เคยกรอกข้อมูลจนเสร็จสมบูรณ์เลย ด้วยในใจก็ยังหวั่นกลัวที่จะนึกถึงภาวะของตัวเองยามใกล้จะตาย

อีกใจก็ปลอบตัวเองไปว่าอายุยังน้อย เรายังไม่เป็นอะไรหรอกน่า แต่การได้เรียนดำน้ำลึกครั้งนี้ ทำให้เราได้เจอสถานการณ์หลายๆ อย่างที่ทำให้เห็นว่า ความกังวลใจต่อความกลัวต่างๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติ และเมื่อเราเจอในสถานการณ์จริงๆ นั้น ก็มักไม่ค่อยจะเหมือนกับที่เคยกังวล หรือจินตนาการไว้ การเพิกเฉยไม่ได้ทำให้ความกังวลนั้นหายไปอย่างแท้จริง แต่ว่าการที่ได้เข้าไปเรียนรู้ หรือเตรียมตัวเองไว้ล่วงหน้าต่างหากที่กลับเป็นสิ่งที่ช่วยเราได้ในยามที่เราเสียขวัญ เพียงแค่ตั้งสติขึ้นมาได้ เราก็จะค่อยๆ เรียบเรียงสิ่งที่ควรทำ และทำให้ผ่านสถานการณ์นั้นๆ ไปได้อย่างดีและเบาใจ

_____________

1. สมุดเบาใจ คือรูปแบบหนึ่งของเอกสารเจตนาล่วงหน้าเกี่ยวกับสุขภาพช่วงสุดท้ายและการตายดี จัดทำโดยโครงการความตาย พูดได้ เครือข่ายพุทธิกา, โครงการศึกษาพัฒนาระบบสาธารณสุขในการบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย สามารถหาข้อมูลเพิ่มได้ที่ http://happydeathday.co/portfolio-item/สมุดเบาใจ/
2. แนะนำหลักสูตร การอบรมเผชิญความตายอย่างสงบ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://semsikkha.org/tha/index.php/about-us/course/general-special/565-death
3. ขอบคุณภาพฟองอากาศใต้น้ำของ คุณMartinStr ในPixabay

[seed_social]
25 เมษายน, 2561

โตเกียว 8.0 วันโลกแตก (Tokyo Magnitude 8.0)

เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เนปาล ทำให้นึกถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายๆ แห่ง ล่าสุดคือสึนามิที่ญี่ปุ่น ท่ามกลางความเลวร้ายของภัยพิบัติแผ่นดินไหว สึนามิ และต่อเนื่องด้วยปัญหากัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์รั่วไหล
25 เมษายน, 2561

A Simple Life ชีวิตคือความจริงใจและเรียบง่าย

เป็นเรื่องของความผูกพันและการดูแลกันและกันระหว่างชุงชุนเถา หรืออาเถา (แสดงโดย เยี่ยเต๋อเสียน) หญิงรับใช้ผู้ซื่อสัตย์ของตระกูลเหลียงมานานถึง ๔ รุ่นกว่า ๖๐ ปี กับลูกชายของตระกูลเหลียง
5 เมษายน, 2561

ฉันจะดำรงอยู่เพื่อเธอ

ฉันจะดำรงอยู่เพื่อเธอ และฉันเรียนรู้เสมอ เป็นอย่างนี้ เราเก็บเกี่ยวเรื่องราวมากมี มาหลอมเป็นวิถีเป็นทางของเรา