แน่นอนว่า ในวันที่เขียนบทความนี้ ผู้เขียนยังไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของตนเอง แต่เมื่อมีความตายเกิดขึ้น ก็ย่อมมีทั้งคนที่จากไปและคนที่อยู่ข้างหลัง วันนี้จะพูดถึงคนที่อยู่ข้างหลังกัน
ผู้เขียนเชื่อว่าหลายท่านคงเคยมีประสบการณ์การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้เขียนก็เช่นกัน
ยิ่งความผูกพันใกล้ชิดมีมากเท่าไร ความเจ็บปวดโหยหาก็จะยิ่งหนักหน่วงทบทวีคูณ เหมือนเมื่อครั้งที่ผู้เขียนสูญเสียอากับปู่ซึ่งเป็นคนที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่ยังเด็ก ชีวิตวัยเด็กของผู้เขียนวนเวียนอยู่รอบๆ จักรเย็บผ้า และสิ่งละอันพันละน้อยของอา หรือไม่ก็ของเล่นที่ปู่ประดิษฐ์ให้ เสื้อผ้าที่ใส่ มาจากฝีมือของอาทั้งนั้น
ตั้งแต่วันที่อาป่วยหนัก ผู้เขียนถูกกันออกมาจากบ้านหลังนั้นไปโดยปริยาย ต้องมาอยู่อีกบ้านหนึ่ง เนื่องจากเหตุผล 2 ข้อ คือ เพราะความเป็นเด็ก และเพราะโรคที่อาเป็น เนื่องจากความเข้าใจเกี่ยวกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีเมื่อ 20 กว่าปีก่อนยังมีน้อยมาก เช้าตรู่วันที่อาเสียชีวิต ผู้เขียนทำได้แต่เพียงรับรู้จากคำบอกเล่าของแม่เท่านั้น ไม่มีโอกาสได้เข้าไปกอดเป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีโอกาสได้กราบลา
4 – 5 ปีถัดมา เหตุการณ์เดิมวนกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง เมื่อปู่ป่วยหนักด้วยอาการไตวาย ครั้งนี้ผู้เขียนเดินทางมาทันได้กอดปู่ที่เตียงผู้ป่วย ตั้งใจว่าจะอยู่เฝ้าไข้ แต่ถูกไล่กลับให้ไปรออยู่ที่บ้าน ด้วยเหตุผลใหม่ว่า เพิ่งเดินทางมาจากต่างจังหวัดเหนื่อยๆ (ตอนนั้นผู้เขียนเดินทางไปเรียนที่ต่างจังหวัดไกลออกไป) ให้ไปพักเสียก่อน แม้จะอยู่ในวัยที่เกือบจะเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ผู้เขียนก็ยังถูกกีดกันออกจากการรับรู้เช่นเคย
ปู่จากไปตอนรุ่งสาง ที่เสียใจและค้างคาใจ คือ มีคนบอกว่าปู่รออยู่ ต้องทนทรมานเพื่อรอหลานรัก แต่ลูกชายของปู่ไม่เข้าใจ หลังความตายของปู่ ความขัดแย้งมึนตึงระหว่างผู้เขียนกับพ่อจึงก่อตัวขึ้นทีละน้อย โดยเฉพาะช่วงที่จัดงานศพของปู่ เรามีความเห็นขัดแย้งกันแทบทุกเรื่อง แม้ว่าผู้เขียนจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ แต่การที่เราเป็นหลานปู่ ใกล้ชิดกับปู่มากกว่า จะรู้ว่าปู่อยากให้งานเป็นอย่างไร ซึ่งตรงข้ามกับสิ่งที่พ่ออยากให้เกิดขึ้น สาเหตุหนึ่งเพราะพ่อไม่อาจเสียหน้า พ่อมีแขกเหรื่อมากมายที่ต้องต้อนรับ ในขณะที่ปู่เป็นคนที่เรียบง่ายและสมถะมากๆ
ชีวิตหลังความตายของอากับปู่ ในช่วงแรกๆ จึงเต็มไปด้วยความมึนชา จุกแน่นในอก ไม่อาจร้องไห้ ไม่มีน้ำตา เหมือนโสตประสาทส่วนรับรู้ความรู้สึกถูกฉีดยาชา มีสิ่งที่ต้องตระเตรียม จัดการ มากมายไม่ได้หยุดมือ ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ร่างกายเคลื่อนไหวเหมือนหุ่นยนต์ที่ไม่รู้จักหลับจักนอน
กระทั่งวันงานผ่านไปแล้วนั่นแหละ เมื่อแขกชุดสุดท้ายเดินพ้นประตูบ้าน ข้าวของที่หยิบยืมมาถูกส่งคืนจนครบ ยามนั้นเองที่ความเงียบเหงาวังเวงค่อยๆ ปรากฏตัว แต่เราก็ยังไม่รับรู้อะไรมากนัก เพราะร่างกายถูกปลดล็อกให้ได้รับการพักผ่อนเสียที
จนกระทั่งครบกำหนดวันลา ด่านแรกที่ต้องเผชิญ คือ ความเคยชินเดิมๆ ที่ที่เคยมีอา เคยมีปู่ รอผูกข้อมือพร้อมคำอวยพรยาวเหยียด และเป็นที่รอรับเวลาที่รู้ว่าหลานจะกลับบ้าน ทั้งพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่ทางความรู้สึก แปรเปลี่ยนเป็นความว่างเปล่า
กระนั้น เราก็ยังไม่ชิน พอกลับบ้านก็จะคอยมองหา เผลอซื้อของฝาก เผลอกดเบอร์โทรศัพท์ไปหา ฯลฯ พอๆ กับความรู้สึกติดค้างที่มีต่อพ่อ
ในกระบวนการ อบรมเผชิญความตายอย่างสงบ ผู้เขียนเขียนจดหมายถึงอากับปู่หลายครั้ง แม้จะช่วยคลายความคิดถึงไปได้บ้าง แต่ใจยังไม่คลายความเศร้าโศก และใจก็ยังไม่ให้อภัยพ่อ
โชคดีที่ผู้เขียนไม่ต้องอยู่ในบ้านหลังเดิม แม้จะรู้สึกว่างโหวงในใจ แต่ก็ไม่ต้องมีเงาความคุ้นชินวนเวียน ความอาลัยค่อยๆ เลือนหายไปกับภารกิจตรงหน้า ยังเหลือแต่ความคิดถึง ที่ช่วงแรกๆ เป็นความโหยหา แล้วค่อยๆ แปรเปลี่ยนเป็นความทรงจำ และที่สำคัญ ผู้เขียนมีมรดกเล็กๆ น้อยๆ จากทั้งสองคน คือ เข็มขัดของอา และกระบอกไม้ไผ่เก็บเอกสารสุดล้ำของปู่ เป็นสิ่งของที่ผู้เขียนนำมาใช้สอยในชีวิตประจำวันด้วย ทำให้รู้สึกว่าอากับปู่ยังอยู่ใกล้ๆ
แต่สิ่งที่พิเศษกว่านั้น คือ มรดกทางความคิดและความถนัดบางอย่างที่ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว นั่นคือ ความประณีตละเอียดอ่อนจากอา และความรื่นรมย์ในความเรียบง่ายจากปู่ จนถึงทุกวันนี้ ความทรงจำที่มีต่ออากับปู่ยังคงงดงามอยู่ในใจของผู้เขียน เวลานึกถึงทีไรก็มักจะมีรอยยิ้มอยู่เสมอ
การพลัดพรากจากคนเป็น เรายังมีโอกาสต่อรองร้องขอ แต่การตายจากกัน บางครั้งเราไม่มีแม้โอกาสที่จะบอกรักกันด้วยซ้ำไป ความตายจึงน่าหวาดหวั่น และมักจะนำมาซึ่งความเจ็บปวด โหยหา อาลัยอาวรณ์
การตายเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่ควรนำมาขบคิด ในขณะเดียวกัน การอยู่หลังความตาย โดยเฉพาะความตายของคนที่รัก คนที่ใกล้ชิดพึ่งพาอาศัยกันมากที่สุด เมื่อคนหนึ่งหายไป อีกคนหนึ่งจะอยู่ต่อไปอย่างไร ก็เป็นเรื่องที่ชวนขบคิดไม่น้อย
วันนี้เราส่งมอบมรดกทางความทรงจำให้กับคนที่รักแล้วหรือยัง?
[seed_social]