parallax background
 

ชวนนักเรียนผู้สูงอายุทำสมุดเบาใจ
ณ บ้านบางแค

ผู้เขียน: กฤติน ลิขิตปริญญา หมวด: ชุมชนกรุณา


 

แม้การตั้งวงสนทนาเรื่องความตาย (เพื่อการตายดี) จะฟังดูน่ากระอักกระอ่วนใจไม่น้อยสำหรับสังคมไทย แต่หากเป็นวงสนทนาภายใต้บรรยายกาศแห่งการเรียนรู้การทำความเข้าใจแล้ว ก็มีโอกาสเป็นไปได้เหมือนกัน ที่ผลลัพธ์ของวงสนทนาความตายนั้น จะไม่ลงเอยด้วยความกระอักกระอ่วนใจเช่นที่เคยเป็น

ดังที่ครั้งหนึ่งทีมงาน Peaceful Death ได้จัดอบรมกิจกรรมความตายพูดได้ ขึ้น ณ โรงเรียนผู้สูงอายุบ้านบางแค ผลลัพธ์ของกิจกรรมในวันนั้นเป็นไปด้วยดี นักเรียนผู้สูงอายุบ้านบางแคให้ความสนใจต่อการทำความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของความตายเป็นอย่างยิ่ง

ย่อหน้าข้างต้นอาจฟังดูเหนือความคาดหมายของใครหลายๆ คน แต่แท้จริงแล้ว เรื่องนี้ไม่สมควรอยู่เหนือความคาดหมายหรือชวนให้แปลกใจแต่ประการใดเลย เพราะเรื่องราวของความตายก็เป็นเพียงเรื่องธรรมดาเรื่องหนึ่งในโลกมนุษย์เท่านั้น

ความตายพูดได้คืออะไร ?

ความตายพูดได้คือ วงเสวนาเตรียมพร้อมสำหรับวาระสุดท้ายของชีวิต ผ่านการทำสมุดเบาใจหรือพินัยกรรมชีวิต ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนั้นมีราวๆ 30 คน เป็นผู้สูงอายุทั้งหมด เพราะกิจกรรมถูกจัดขึ้น ณ โรงเรียนผู้สูงอายุบ้านบางแค

ในวันนั้นมีวิทยากรสองท่านจากทีม Peaceful Death ค่อยๆ นำพานักเรียนผู้สูงอายุทำสบุดเบาใจไปทีละข้อ ทีละบรรทัด ในขณะที่ทีมงานที่เหลือจะเป็นหน่วยสนับสนุนคอยให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุเป็นรายคนสำหรับปัญหาสายตาการอ่านและความสงสัยต่างๆ

กระนั้นก็ดีแม้แต่ละหัวข้อของสมุดเบาใจจะได้รับคำอธิบายพื้นฐานจากวิทยากรและมีเขียนอธิบายเพิ่มเติมในหนังสืออยู่แล้ว แต่ในบางหัวข้อก็ยังจำเป็นต้องอาศัยคำอธิบายเชิงลึกจากวิทยากรด้วยเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น

หัวข้อสิ่งของที่ผู้ป่วยวาระสุดท้ายต้องการอยู่ใกล้ชิด นั้นไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของในแง่มุมศาสนาเท่านั้น แต่สามารถเป็นอะไรก็ตามที่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายปรารถนา เช่น ของรัก หนังสือเล่มโปรด บันทึก ฯลฯ
หรือ...
หัวข้อการยื้อชีวิต วิทยากรได้สมมุติเหตุการณ์ให้ผู้สูงอายุต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะยอมให้แพทย์ยื้อชีวิตญาติสนิทที่เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงหรือไม่ โดยที่การยื้อชีวิตนั้นจะทำให้ญาติคนกล่าวมีชีวิตอยู่ต่อได้ แต่...เป็นชีวิตที่อยู่ในสภาพผัก มีสายยางให้อาหาร ต้องเจาะคอและใส่ท่อช่วยหายใจ

วันนั้นเสียงส่วนใหญ่เลือกยื้อชีวิตญาติสนิท กระทั่งเมื่อทีมงานลองสมมติเสียใหม่ เปลี่ยนให้ผู้ที่อยู่ในขั้นวิกฤตนั้นเป็นตัวเราเอง ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นปฏิเสธการยื้อชีวิต ข้อสมมติข้างต้นนำไปสู่คำอธิบายที่ว่า ทางเดียวที่ญาติจะไม่สามารถตัดสินใจแทนตัวเราเมื่ออยู่ในห้องฉุกเฉินยามประสบอุบัติเหตุจนอยู่ในขั้นวิกฤตก็คือ การทำพินัยกรรมชีวิตหรือสมุดเบาใจในหัวข้อ การยื้อชีวิต เอาไว้

เพราะตามกฏหมาย แพทย์ต้องทำตามประสงค์ที่ถูกลงเป็นลายลักษณ์อักษรเอาไว้ในสมุดเบาใจ เนื่องจากถือว่าเป็นความประสงค์ของผู้เจ็บป่วยเอง และจะไม่สามารถทำตามความประสงค์ของญาติที่ไม่ใช่ผู้เจ็บป่วยได้ เว้นเสียแต่ไม่ได้ทำพินัยกรรมชีวิตเอาไว้

เพื่อไม่ให้เป็นการเข้าใจผิดในกระบวนการยื้อชีวิต วิทยากรในวันนั้นยังอธิบายอีกด้วยว่า ความจริงแล้วขั้นตอนการยื้อชีวิตเป็นสิ่งที่มีประโยชน์มาก สำหรับผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุทั่วไป หรือผู้ป่วยที่ยังแข็งแรง ซึ่งสามารถช่วยให้กลับมามีชีวิตปกติอีกครั้งได้

แต่จะเกิดประโยชน์น้อยหากเป็นการกู้ชีพจากผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่โรคลุกลามไปมากแล้ว เพราะแม้จะยื้อชีวิตต่อไปได้ แต่ก็ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตที่ปกติสุขดังเดิมได้อีก ชีวิตส่วนใหญ่หลังจากนั้นเป็นการมีชีวิตอยู่ในสภาพผัก พร้อมกับสายระโยงระยาง และเป็นปัจจัยที่ไม่เอื้อให้เกิดการตายดีเลย

บรรยากาศของกิจกรรม
ระหว่างดำเนินกิจกรรม ทีมงานแบ่งเวลาพักเบรคเอาไว้ตามความเหมาะสม โดยช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่เต็มไปด้วยกรุณาและความอบอุ่น เช่น การนวดมือผ่อนคลายและฝึกลมหายใจ

นอกจากนั้นแล้วบรรยากาศภายในงานกิจกรรมยังเจือไปด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในแง่มุมต่างๆ ของผู้สูงอายุอีกด้วย ตัวอย่างเช่น...
เมื่อวิทยากรนำนักเรียนผู้สูงอายุมาถึงหัวข้อการบริจาคร่างกาย หลายเสียงที่เลือกบริจาคร่างกายโดยให้เหตุผลว่า อย่างน้อยเขายังได้สร้างประโยชน์แม้หมดลมหายใจ ในขณะที่ผู้ไม่ประสงค์บริจาคร่างกายส่วนใหญ่จะมีเหตุผลเป็นเรื่องของความเชื่อทางศาสนาเรื่องการเกิดใหม่

หรือการแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการตายดีในทัศนะของแต่ละ บางคนเชื่อว่าการที่สิ้นลมหายใจไปพร้อมกับสภาวะที่ดับสิ้นแล้วซึ่งกิเลส (ตามความเชื่อของศาสนาพุทธ) คือการตายอย่างสงบที่แท้จริง บางคนให้ทัศนะว่าเป็นการหมดลมหายใจโดยรายล้อมไปด้วยครอบครัวและคนที่รัก หรือบางคนก็คิดว่าการได้กลับมามีวาระสุดท้ายที่บ้านคือการตายที่ดีที่สุด เป็นต้น

อำลา
จบเมื่อบรรทัดสุดท้ายของสมุดเบาใจ ทีมงาน Peaceful death อำลาโรงเรียนผู้สูงอายุไปพร้อมกับเสียงเพลง เป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและการให้จริงๆ เพราะนอกจากจะระคนไปด้วยเสียงเพลงแล้ว ผู้สูงอายุในวันนั้นเรียกร้องขอสมุดเบาใจเพิ่มอีกคนละหนึ่งเล่ม

ส่งท้าย : สมุดเบาใจคืออะไร ?
สมุดเบาใจ คือรูปแบบหนึ่งของพินัยกรรมชีวิต ช่วยบันทึกความต้องการในระยะสุดท้ายของชีวิต เป็นวิธีการสื่อสารความในใจต่อครอบครัวและทีมสุขภาพให้รับรู้ เมื่อเจ้าของสมุดเบาใจไม่สามารถสื่อสารได้
ใช่หรือไม่หรือว่าการตัดสินใจของญาติต้องแบกรับความลำบากใจอยู่ไม่น้อย เพราะมีชีวิตของเราเป็นเดิมพัน แต่ความลำบากใจนี้จะคลี่คลายได้ง่ายๆ หากตัวเราได้ทำพินัยกรรมชีวิต มีลายลักษณ์อักษรยืนยันถึงเจตนารมณ์ถึงสถานการณ์วิกฤตเหล่านี้เอาไว้
*หมายเหตุ หนังสือพินัยกรรมชีวิตหรือสมุดเบาใจยังมีสถานการณ์วิกฤตอื่นๆ อีก สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://peacefuldeath.co/product/baojai/ ในราคา 30 บาท

[seed_social]
20 เมษายน, 2561

ดินแดนแห่งธรรม ธรรมชาติ แยกไม่ออกจากชีวิต

เดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาที่บ้านเมืองเรากำลังร้อนจัดทั้งอุณหภูมิแดดและสถานการณ์ความรุนแรงกับการชุมนุมคนเสื้อแดง ประชาชนคนไทยโดยทั่วไปต่างเฝ้ามองห่วงใยจนไม่เป็นอันทำอะไรอย่างราบรื่นนัก
18 เมษายน, 2561

อุบัติเหตุ อุบัติธรรม

อริยสัจสี่เห็นเลยว่ามันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อย่างไร คือไม่ถึงกับว่าหลุดพ้น แต่อย่างน้อยเราเข้าใจกระบวนการเกิดทุกข์ เพียงแต่สติเรายังไม่มากพอที่จะชึบๆๆ ยังไม่คมพอ ปัญญาเรายังไม่เฉียบคมพอ ต้องลับไปเรื่อยๆ
4 เมษายน, 2561

เบาคลายความเจ็บปวด ด้วยนวดสัมผัสแห่งรัก

คนส่วนใหญ่อาจรู้อยู่แล้วว่า การนวดเป็นวิธีการผ่อนคลายร่างกายจากความเมื่อยล้าอย่างง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า นอกจากประโยชน์ทางด้านร่างกายแล้ว การนวดยังมีคุณค่าทางใจ