จากไปอย่างสมศักดิ์ศรี
ผู้เขียน: เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ภาพ : จุฑารัตน์ พรมุณีสุนทร หมวด: ประสบการณ์ชีวิต
เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เครือข่ายพุทธิกาได้ทดลองจัดการอบรมเรื่องการเผชิญความตายอย่างสงบ แบบ ๑ วัน เพื่อตอบสนองต่อความต้องการเรียนรู้เรื่องดังกล่าวของคนจำนวนหนึ่งที่มีข้อ จำกัดเรื่องเวลา ไม่สามารถเข้าร่วมการอบรมในหลักสูตร ๓ วัน ๒ คืนที่จัดเป็นประจำได้ ทำให้พบว่า นอกจากจะมีผู้สนใจหน้าใหม่ๆ แล้ว ยังมีอดีตอาสาข้างเตียง หรือผู้เคยเข้าอบรมฯ มาร่วมงานด้วยเป็นจำเป็นไม่น้อย หลายคนบอกเหตุผลที่มาว่า นอกจากจะได้มาเจอเพื่อนๆ แล้ว พวกเขายังต้องการเวทีสำหรับการเรียนรู้ต่อจากการอบรมหรือเป็นจิตอาสาอีกด้วย เพราะเรื่องดังกล่าวจำเป็นต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปปฏิบัติอย่างต่อ เนื่องจึงจะเข้าใจ
ภายในห้องประชุมบนชั้น ๑๐ ของตึก สก. โรงพยาบาลจุฬาฯ จึงแน่นขนัดไปด้วยผู้คนเกือบสองร้อยคน ตั้งแต่คนวัยหนุ่มสาวจนถึงผู้สูงอายุ ทั้งที่ญาติเป็นผู้ป่วย และเคยผ่านประสบการณ์ป่วยหนักจนเฉียดตายด้วยตัวเองมาแล้ว
การอบรมเริ่มด้วยการดู “VCD มรณานุสรณ์ สุภาพร พงศ์พฤกษ์ เรียนรู้การเผชิญความตายอย่างสงบและงดงาม” ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมได้ไม่น้อยว่า การเผชิญความตายอย่างสงบสำหรับคนทั่วไปนั้นมีความเป็นไปได้จริง ก่อนที่แพทย์หญิงศรีเวียง ไพโรจน์กุล จะมาบอกเล่าทำความเข้าใจเรื่องการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง รวมถึงสถานการณ์ในเมืองไทย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมคนหนึ่งได้บันทึกเอาไว้และตีพิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ ๒๑ – ๒๗ กันยายน ๒๕๕๕
อาทิตย์อัสดง จึงขอมาแบ่งปันให้ได้อ่านกัน ณ ที่นี้ – กองสาราณียกร
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ มีความซับซ้อน มหัศจรรย์ มนุษย์มีทั้งกาย ทั้งจิต และจิตวิญญาณ ถ้าเป็นไปได้มนุษย์ก็ต้องการที่จะใฝ่หาความสมบูรณ์ในทุกขั้นตอนของชีวิต
ความสมบูรณ์ของครอบครัวของสัมพันธภาพของการงาน และแม้กระทั่งเมื่อเวลาสุดท้ายของการอยู่บนโลกนี้มาถึง มนุษย์ก็ต้องการจากไปอย่างสงบสวยงาม สมบูรณ์แบบที่สุด
อย่างในเรื่องประโลมโลก ความสวยงามขณะลมหายใจสุดท้ายถูกถ่ายทอดออกมาด้วยการจากไปในอ้อมกอดของคนที่รัก นั่นมักเป็นการจากไปแบบกะทันหัน ไม่คาดฝัน เช่น นางเอกหรือพระเอกโดนยิงตายหรือป่วยหนัก แต่ในชีวิตจริงระยะเวลาก่อนตายนั้นยาวนานนัก หลายคนนอนแซ่วอยู่บนเตียงเป็นเดือนเป็นปี แล้วก็ค่อยๆ จากไป ไม่เหมาะที่จะให้ใครมาประคองกอดอย่างเช่นในเรื่องประโลมโลก
ในทางพระพุทธศาสนา สมบูรณ์หรือไม่สมบูรณ์อยู่ที่จิตรับรู้ขณะจากไป อยู่ที่ความพร้อมเมื่อจะจากไป หรือที่พระท่านว่าตายก่อนตาย
ดังนั้นการที่จะเตรียมตัวก่อนตายจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาทำความคุ้นเคยไว้อยู่เหมือนกัน ความคิดเดิมๆ ที่ว่าอย่าพูดเรื่องตายไม่เป็นมงคลในที่สุดก็จะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปทีละเล็กทีละน้อย
ถ้าเราอายุเลยวัยเกษียณแล้วมันก็เป็นธรรมชาติที่จะตระหนักว่าเรากำลังอยู่ในขาลง ความโลดโผนเปลี่ยนเป็นการต้องการความสงบ ความต้องการ สิ่งตื่นเต้นสุขสบายนอกกายเปลี่ยนเป็นการมองเข้าไปข้างใน และเริ่มสัมผัสได้ถึงความสุขจากการอยู่นิ่งๆ เฉยๆ กับจิตของตัวเอง
ความสุขในความนิ่งเฉยนี่เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมตัวตายที่ดี
ในประเทศที่ “เจริญแล้ว” การบริหารจัดการเรื่องการดูแลคนที่กำลังจะเสียชีวิตนั้นเจริญก้าวหน้าถึงขั้นแบบอารยะ ในโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีทีมแพทย์ที่เข้ามาดูแลระยะสุดท้ายเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าหมดโอกาสที่จะมีชีวิตต่อไป
แพทย์หญิงศรีเวียง ไพโรจน์กุล หัวหน้าฝ่ายการุณย์รักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น ซึ่งเป็นผู้ทำงานด้านการรักษาแบบประคับประคองผู้ป่วยวาระสุดท้าย ได้เล่ากรณีศึกษาหนึ่งให้ผู้เข้ามาฟังการสัมมนาของเครือข่ายพุทธิกา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า
คนไข้สมมุติว่าชื่อลุง ส เคยเป็นผู้บริหารทำงานหนัก เมื่อเกษียณมาเกิดเป็นมะเร็งปอด ในการรักษาร่างกายไม่ตอบสนองต่อเคมี มีความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน
คุณลุงได้บอกแพทย์ว่า “คุณหมอต้องช่วยผม ผมอยู่ต่อไปไม่ได้” มีอาการหอบ แพทย์ได้ส่งให้ทีมการุณย์รักษ์ของคุณหมอศรีเวียงดูแล
ตามหลักวิชาแพทย์ เมื่อจำเป็นคือ เมื่อคนไข้เจ็บปวดทรมาน สามารถให้มอร์ฟีนบรรเทาอาการปวด และสามารถให้ยานอนหลับควบคู่กัน ซึ่งคุณลุงก็ได้รับทั้งคู่ คุณลุงสามารถกลับบ้านมาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวได้ โดยมีทีมแพทย์มาเยี่ยมที่บ้าน
ก่อนหน้านั้นคุณลุงนอนไม่หลับ เพราะหายใจไม่ออก ต้องนอนยกหัวสูง เมื่อการรักษาที่บ้านผ่านไปสองสัปดาห์ คุณลุงได้พักผ่อนพอ สามารถเล่นกับหลาน ออกมาดูต้นไม้ในสวนได้ พร้อมทั้งศึกษาธรรมะ
เมื่อผ่านไป ๒ เดือน แพทย์ถามไถ่ว่ารู้สึกอย่างไร คุณลุงบอกว่า “พออยู่ได้ครับ” และเมื่อถามว่าคุณลุงให้คะแนนคุณภาพชีวิตเท่าไหร่จากร้อย คุณลุงตอบว่า ๘๐%
หลังจากที่ทีมการุณย์รักษ์เข้าไปดูแล ๓ เดือน คุณลุงก็จากไปอย่างมีความสุขกับครอบครัว
คุณหมอยังเล่าให้ฟังว่าในประเทศตะวันตกมีระบบดูแลผู้ป่วยหนัก คือถ้าผู้ป่วยนั้นจะอยู่ไม่เกิน ๖ เดือน ก็จะส่งต่อไป Hospice Center ซึ่งจะอนุญาตให้คนไข้กลับบ้านได้ มีทีมไปเยี่ยมที่บ้าน ปรับยาให้เพื่อให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
จากการศึกษาวิจัยผู้ป่วยระยะสุดท้าย คุณหมอศรีเวียงสรุปให้ฟังว่า ผู้ป่วยมีความต้องการตรงกัน ๓ อย่าง อย่างแรกคือ อยากกลับไปอยู่บ้าน อย่างที่สอง คือ ไม่อยากให้ใส่ท่อโน่นท่อนี่ และสุดท้ายคือ ให้แพทย์และคนใกล้ชิดมีความเมตตากรุณา
ปัจจุบันในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ได้แก่ รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ ศิริราช และวชิรฯ จะมีหน่วยการุณย์รักษ์ ส่วนโรงพยาบาลอื่นๆ จะมีกลุ่มแพทย์พยาบาลจัดตั้งกันเองเพื่อช่วยผู้ป่วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการทำงานตรงนี้ให้ความสุขใจกับคนทำงาน
มีการรวมกลุ่มกัน อย่างเช่น ชมรมบริบาลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งคุณหมอศรีเวียงบอกว่าถ้าใครสนใจสามารถพิมพ์ชื่อไปในกูเกิล และส่วนองค์กรอื่นที่เป็นเครือข่ายก็จะปรากฏขึ้นมาให้เห็น
ในช่วงบ่าย มีการแบ่งกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความทุกข์ที่สุดและวิธีการก้าวผ่าน ความทุกข์เหล่านั้นมาได้ ซึ่งเป็นช่วงที่บรรยากาศเข้มข้นมาก เพราะผู้เข้าร่วมได้นำประสบการณ์ตรงของตัวเองที่เคยผ่านความทุกข์ยากมาแบ่ง ปันกันอย่างตรงไปตรงมา และมีหลายเรื่องที่ผู้คนทั่วไปมักมองข้าม เช่น พฤติกรรมอะไรที่ผู้ป่วยหนักไม่ชอบเวลาคนมาเยี่ยม อาทิ คำพูดตอกย้ำว่า “ฉันว่าแล้ว” การแสดงความสงสาร หรือการแนะนำหมอดียาดีโดยไม่สนใจว่าผู้ป่วยและญาติต้องการหรือไม่ เพราะได้รับมาจนล้น เป็นต้น ซึ่งน่าสนใจไม่น้อย และเป็นโจทย์ที่ อาทิตย์อัสดง จะพยายามสืบค้นและรวบรวมเพื่อนำมานำเสนอในโอกาสต่อไป – กองสาราณียกร
[seed_social]